เครือข่ายประชาสังคม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ (P-Move) เคลื่อนไหวด้วยการยื่นจดหมายผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัดทั่วประเทศวันนี้ (7 พ.ย.2565)
เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการ “ยกเลิกนโยบายขายที่ดิน-หันมาใช้นโยบายกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรม-ลดความเลื่อมล้ำให้ประชาชนแทน” ภายใน 7 วัน

ยื่นผ่านหลายผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ
วันนี้ (7 พ.ย. 2565) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม : P-move (ขปส.) และตัวแทนเครือข่ายจากทั่วประเทศ เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมาตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดจากทั่วประเทศ เพื่อให้รัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ.…… หลังจากมีวาระการพิจารณาไปเมื่อ 25 ต.ค. 2565
ซึ่งร่างกฎกระทรวงข้างต้นกล่าวถึงการให้สิทธิชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง โดยรัฐบาลจะให้สิทธิสามารถซื้อ และถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท อย่างน้อย 3 ปี โดยคาดการณ์กันว่าจากมาตรการดังกล่าว ภายใน 5 ปี (2565-2569) จะช่วยเพิ่มเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจในประเทศกว่า 1 ล้านล้านบาท จากชาวต่างชาติที่คาดว่าจะมาพำนักมากกว่า 1 ล้านคน

ย้ำเป็นนโยบาย “เอื้อทุนใหญ่-ฟอกเขียว”
โดยทาง ขปส. กล่าวถึงปัญหาการถือครองที่ดินในประเทศซึ่งเป็นปัญหาในประเทศมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งนโยบายเกี่ยวกับที่ดินของรัฐที่ผ่านมาสร้างความเลื้อมล้ำ โดยการเอื้อให้กับกลุ่มทุน และบริษัทขนาดใหญ่ แต่กลับมีประชาชนมากกว่าครึ่งของประเทศที่ไม่มีสิทธิ์เข้าถึงที่ดิน
“ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เห็นว่า การดำเนินการเช่นนี้ของรัฐบาล จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน โดยเฉพาะคนจนและกลุ่มเกษตรรายย่อย ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินและปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยนั้นอยู่ในระดับที่รุนแรงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมาอย่างต่อเนื่อง
เห็นได้จากการที่มีกลุ่มทุนและบริษัทยักษ์ใหญ่สามารถถือครองที่ดินได้สูงสุดถึง 630,000 ไร่ ในขณะที่ประชาชนอีกประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 50 ล้านคน ไม่อาจเข้าถึงที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมายได้เลยแม้เพียงตารางนิ้วเดียว รวมถึงสถานการณ์ดังกล่าวยิ่งทวีรุนแรงขึ้นอีกหลังพิษโควิด-19 ที่ปรากฏตัวเลขของคนไร้บ้านที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล
เมื่อประชาชนไม่สามารถเข้าถึงที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ จึงจำต้องอยู่อาศัยและทำกินอยู่ในผืนดินผืนป่าที่รัฐประกาศทับ ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ปรากฏภาพการแย่งยึดที่ดินโดยหน่วยงานภายใต้นโยบายรวมศูนย์อำนาจการจัดการที่ดินและทรัพยากรของรัฐอย่างต่อเนื่อง ด้วยข้ออ้างว่ารัฐบาลต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวาทกรรมการพัฒนา ซึ่งมีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ให้นายทุนและกลุ่มชนชั้นนำมากกว่าประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม” จำนงค์ หนูพันธ์ุ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวผ่านแถลงการณ์ที่เผยแพร่วันนี้
นอกจากนั้นแถลงการณ์กล่าวถึงความกังวลที่อาจจะเกิดขึ้นของการ “ฟอกเขียว” ของเหล่านายทุน เมื่อกระทรวงทรัพฯ เปิดโอกาสให้เกิดการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าได้ตามกฎหมาย แต่กลับปิดโอกาสประชาชนผู้อยู่อาศัยในเขตป่ากลับถูกจำกัด และถูกดำเนินคดีจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
“อีกทั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้ชงวาระนายทุนเข้าทำประโยชน์ในผืนป่าผ่านมติ ครม. เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้เพื่อปลูกป่าและทำสวนป่าตามกฎหมาย อ้างเรื่องการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน เปิดโอกาสให้นายทุนได้ “ฟอกเขียว” ตัวเอง
ในขณะที่ประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่ากลับถูกข้อจำกัดสิทธิด้วยกฎหมายมากมายจนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามวิถีคนอยู่กับป่าได้อย่างปรกติสุข โดยพบว่ามีประชาชนในเขตป่าที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าภายหลังมีนโยบายทวงคืนผืนป่าในปี 2557 มากถึง 38,692 คดี” แถลงการณ์กล่าว

เรียกร้อง 5 ข้อ-ต้องคืบหน้าใน 7 วัน
“ขปส. เห็นว่า ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำในทางนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น ภาคประชาชนได้พยายามผลักดันนโยบายด้านการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามกลับไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรจากรัฐบาล
โดยเฉพาะกลไกว่าด้วยการเก็บภาษีที่ดินที่ภาคประชาชนพยายามผลักดันให้เกิดการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เพื่อให้นายทุนผู้ถือครองที่ดินมากต้องกระจายที่ดินออกมาให้หน่วยงานด้านการกระจายการถือครองที่ดินจัดการ แต่กลับเป็นกลไกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่อาจแก้ปัญหาได้ เปิดช่องทางให้นายทุนยังคงสามารถกว้านซื้อที่ดินและเลี่ยงการจ่ายภาษีได้ต่อไป
รวมถึงการปฏิบัติงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. กลับไม่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน ยังคงใช้แนวคิดแบบสถาบันการเงินทั่วไปที่ค้ากำไรกับชาวบ้าน ขูดรีดดอกเบี้ยมหาศาลจากเกษตรกร ไม่เคยจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเร่งดำเนินการกระจายการถือครองที่ดินและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมได้
เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและลดวิกฤตปัญหาที่ดินไทย ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ขปส. จึงขอเรียกร้องมายังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
- ให้รัฐบาลมีมติยกเลิกนโยบายการค้าที่ดินที่มุ่งเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนโดยทันที โดยเฉพาะมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 เพื่อเปิดทางสู่การเดินหน้ากลไกการแก้ไขปัญหาที่ดินในด้านอื่นๆ
- ให้รัฐบาลเดินหน้ากลไกภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า แทนการดำเนินการเก็บภาษีภายใต้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินออกจากมือของกลุ่มทุนที่ถือครองที่ดินมากเกินความจำเป็น
- ให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชนในการเป็นสถาบันเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินสู่มือเกษตรกรรายย่อย โดยเริ่มจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่นำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ และจัดสรรงบประมาณหนุนเสริมสู่พื้นที่ขยายผลต่อไป
- ให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าผลักดันแนวทางการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ในมาตรา 10 (4) ตามที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ว่าด้วยแนวทางในการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
- ให้เร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ ทั้งนี้เพื่อเยียวยาแก้ไขประชาชนที่ได้ผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร และในระหว่างรอการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ดังกล่าว ขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้านและเยียวยาประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรม โดยให้สามารถกลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้
โดยขอให้รัฐบาลได้ดำเนินการให้มีความคืบหน้าภายใน 7 วัน” แถลงการณ์พีมูฟระบุ
