“พะวอ” ขอความเป็นธรรมให้ลูกหลาน

GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

(ภาพ : กระทรวงวัฒนธรรม)

1.

ทุกวันที่ 31 ตุลาคมของปี หากใครเดินทางไปอำเภอแม่สอดผ่านเส้นทางตาก – แม่สอด ถึงบริเวณเชิงเขา “พะวอ” ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “ศาลเจ้าพ่อพะวอ” จะพบคนจำนวนมากเดินทางมาร่วมงานบวงสรวงศาลเจ้าพ่อพะวอ งานนี้ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และในปีนี้ก็ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดตากและนายอำเภอแม่สอดมาร่วมงานด้วย คนที่เดินทางมาร่วมงานมีทั้งคนกะเหรี่ยงและคนทั่วไป

ผมสะดุดกับคำถามของ คุณวุฒิ บุญเลิศ นักวิชาการอิสระชาวกะเหรี่ยง ที่ตั้งคำถามต่องานพิธีบวงสรวงศาลเจ้าพ่อพะวอในปี พ.ศ. 2565 นี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยคุณวุฒิ ตั้งคำถามว่า

#กะเหรี่ยงลูกหลานพะวออยู่ไหน.!!?

ถ้าจะถามว่าบทบาทตัวตน ตำแหน่งแห่งที่ ของเครือข่ายต่างๆของคนปกาเกอะญอ จังหวัดตาก กับงานพิธีประเพณีนี้อย่างนึ้อยู่ตรงไหน หรือเหมือนกับพอใจที่จะเป็นคนอยู่ขอบเวที 

เห็นมีรำกะเหรี่ยงให้เห็นเป็นเช่นองค์ประกอบเพิ่มสีสันเท่านั้น

คนอื่น..!? เขาใช้พลังของวีระบุรุษทางวัฒนธรรมเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผลิตซ้ำ ความเชื่อ ศรัทธาใน พะวอ.ขับเคลื่อน กิจกรรมเพื่อประโยชน์ของกลุ่มเขา..

ดูเหมือนกะเหรึ่ยงจะชื่นชมอวดพะวอในฐานะวีระบุรุษ  แต่ไม่เคยแสดงตน ..กิจกรรม..อย่างเปิดให้.คนเขาเห็นว่าเป็นลูกหลานพะวอ.?

(ภาพ : กระทรวงวัฒนธรรม)

2.

“พะวอ” คือใคร มีความสำคัญอย่างไร

ผมเคยศึกษาประวัติศาสตร์ของกะเหรี่ยงเมื่อสามปีที่แล้ว เมื่อครั้งทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทย ผมจึงสนใจตัวตนในประวัติศาสตร์ของ “พะวอ” ผมพยายามค้นหาข้อมูลจากห้องสมุดและในอินเตอร์เน็ตแต่มีข้อมูลเกี่ยวกับ “พะวอ” น้อยมาก ประวัติเท่าที่พอหาได้ สรุปความได้ว่า 

“พะวอ นายด่านแม่ละเมา ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของไทยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พะวอนำกองกำลังทหารกะเหรี่ยงคอยปักหลักต่อสู้กับชาวพม่า อย่างกล้าหาญ ทำหน้าที่รักษาด่านขัดทัพพม่าไม่ให้ยกเข้ามารุกราน และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2318 กองทัพพม่าเคลื่อนทัพมายังไทยเพื่อเข้าตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ พะวอนำกำลังทหารของตนเองเข้าปะทะกับข้าศึกศัตรูอย่างกล้าหาญ และเด็ดเดี่ยว พะวอและทหารกะเหรี่ยงทุกนายในที่นั้นได้ต่อสู้กับข้าศึกจนตัวตายทุกคน” 

(ภาพ : กระทรวงวัฒนธรรม)

3.

ผมคิดว่าเรื่องราวของ “พะวอ” ถูกบอกเล่าและให้ความหมายกับสังคมไทย (โดยเฉพาะกะเหรี่ยง) น้อยเกินไป อันที่จริงคือแทบไม่มีเลย แม้แต่คนกะเหรี่ยงเองก็แทบไม่สนใจประวัติศาสตร์ของ “พะวอ” นอกจากรับรู้ในฐานะสิ่งศักด์สิทธิ์ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการใช้ประวัติศาสตร์ของ “พะวอ” ในฐานะที่เป็นบรรพบุรุษของคนกะเหรี่ยง มาสร้างความชอบธรรมทางสังคมและการเมืองให้แก่คนกะเหรี่ยงในสังคมไทย 

ถ้าให้ผมเล่าเรื่องราวบางส่วนของ“พะวอ” ด้วยภาษาร่วมสมัยผมจะบอกว่า “ศาลเจ้าพ่อพะวอ” คือสัญลักษณ์ที่แสดงว่าชนชาติกะเหรี่ยงถูกสังคมยอมรับในระดับหนึ่ง และเป็นหลักฐานที่สามารถยืนยันประวัติศาสตร์ได้ว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเมย ครอบคลุมตั้งแต่อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด อำเภอพบระ และอำเภออุ้มผาง เป็นแผ่นดินของบรรพบุรุษคนกะเหรี่ยง อย่างน้อยพวกเขาอยู่มาก่อนก่อเกิดกรุงรัตนโกสินทร์ นั่นจึงถือได้ว่าคนกะเหรี่ยงในลุ่มแม่น้ำเมย เป็นชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous people) โดยแท้  

จากเรื่องเล่าเพียงเล็กน้อยของ “พะวอ” หมายความว่าในตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี บรรพบุรุษของคนกะเหรี่ยงในแถบลุ่มแม่น้ำเมยขึ้นตรงต่อศูนย์กลางอำนาจของไทย พวกเขารับหน้าที่ปกป้องดินแดนของไทยไม่ให้คนในเมืองถูกอริราชศัตรูรุกราน เมื่อเกิดศึกสงคราม พวกเขาใช้เลือดเนื้อและชีวิตของตนเอง รบจนตัวตายเพื่อปกป้องศูนย์กลางอำนาจของไทย

ตัดฉากมาดูสถานะทางสังคมของลูกหลานของ “พะวอ” และเหล่าทหารหาญ ที่เคยเอาชีวิตตัวเองไปแลกกับความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคมไทยในวันนี้ ปัจจุบันมีเฉพาะในลุ่มแม่น้ำเมย มีประชากรกะเหรี่ยงประมาณ 3 แสนคน เป็นจังหวัดที่มีคนกะเหรี่ยงเยอะที่สุดในประเทศไทย แต่สถานะทางสังคมของคนกะเหรี่ยงในสังคมไทยถือว่ามีปัญหาเป็นอย่างมาก หากอธิบายผ่านความคิดชายขอบ ถือว่าคนกะเหรี่ยงเป็นคนที่ถูกถีบไปอยู่ชายขอบสุดของสังคมไทย หากมองผ่านแว่นชนชั้น ถือว่ากะเหรี่ยงถูกกดให้อยู่ในลำดับชั้นต่ำแทบจะที่สุดในสังคมไทย

เรื่องที่น่าเจ็บปวดที่สุด คือ สิทธิในที่ดินอยู่อาศัยและทำกิน แม้พื้นที่นี้จะเคยเป็นดินแดนของบรรพบุรุษคนกะเหรี่ยงมาก่อน แต่ทุกวันนี้ที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของคนกะเหรี่ยงในพื้นที่เกินกว่า 90% ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนหรือป่าอนุรักษ์ทับหมดแล้ว ซึ่งหมายความว่าดินแดนของบรรพบุรุษคนกะเหรี่ยงถูกแย่งยึดไปหมดแล้ว และทำให้พวกเขามีสถานะเป็นคนบุกรุกป่าในพื้นที่ที่เคยเป็นแผ่นดินของบรรพบุรุษ 

เชื่อว่าเรื่องนี้ หาก “พะวอ” รู้ความจริง ท่านคงจะโกรธมาก ท่านคงจะสบถเป็นล้านๆ ครั้งว่า “ไอ้ห่า กูอุตสาห์เอาชีวิตไปแลกมา ดูพวกมันทำกับลูกหลานกูสิ”

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ คือ เดิมทีผู้ที่ริเริ่มก่อตั้งศาลเจ้าพ่อพะวอเป็นเอกชนที่เคารพและศรัทธาในตัว “พะวอ” แต่เมื่อไม่นานมานี้ถูกส่งมอบไปให้ส่วนราชการดูแล และในปีนี้การจัดพิธีบวงสรวงก็อิงกับรูปแบบที่เป็นทางการ เน้นทำพิธีตามศาสนาพุทธ หากศาลเจ้าพ่อพะวอตกอยู่ในมือของราชการส่วนกลาง เชื่อได้เลยว่าเรื่องราวและความหมายของ “พะวอ” จะถูกส่วนกลางช่วงชิงไปหมด ทำให้เป็นเพียงสถานที่ศักด์สิทธิ์ โดยที่ตัวตนในทางประวัติศาสตร์ของ “พะวอ” จะไม่ถูกกล่าวถึง อย่างดีก็จะถูกให้ความหมายเพียงแค่เป็นนายทหารที่จงรักภักดีต่อศูนย์กลางอำนาจของไทยเท่านั้น สำหรับความหมายที่สื่อถึงความเป็นเจ้าของดินแดนแถบตะวันตกของคนกะเหรี่ยง จะถูกปกปิดและบิดเบือนไปจากความจริง จะยิ่งตอกย้ำความเชื่อในเรื่องเล่ากระแสหลักเกี่ยวกับคนกะเหรี่ยงในสังคมไทยว่า เป็นคนที่อพยพเข้ามา ทำไร่เลื่อนลอยและบุกรุกทำลายป่า ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติไทย

(ภาพ : Maesot Media)

4.

“ชนเผ่าพื้นเมือง หรือ Indigenous people” มีความหมายอย่างง่ายว่า กลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในพื้นถิ่นนั้น ก่อนที่จะถูกผนวกรวมเป็นประเทศ หรือถูกล่าอาณานิคม โดยมีวิถีปฏิบัติตามจารีตประเพณีที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ตลอดจนมีภาษาและแบบแผนทางวัฒนธรรมของตนเองมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น หากมองกะเหรี่ยงผ่านเรื่องราวของ “พะวอ” ก็ถือได้ว่าคนกะเหรี่ยงลุ่มน้ำเมยเป็น “ชนเผ่าพื้นเมือง หรือ Indigenous people” โดยแท้ แน่นอนว่าเรื่องนี้รัฐจะไม่ยอมรับโดยง่ายๆ เพราะหากรัฐยอมรับว่าคนกะเหรี่ยงลุ่มน้ำเมยเป็นชนเผ่าพื้นเมือง สิ่งที่ตามมาคือ จะรัฐต้องยอมรับว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีความชอบธรรมบางอย่างเหนือดินแดนนั้นด้วย โดยเฉพาะความชอบธรรมในการมมีสิทธิในที่ดิน

ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น มีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่แสดงว่าคนกะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่นี้มาก่อน เพียงแต่ถูกอำนาจรัฐสมัยใหม่กลืนและออกกฎหมายจำกัดสิทธิต่างๆ รวมทั้งสร้างเรื่องเล่ากระแสหลักขึ้นมาลดทอนความชอบธรรมของคนกะเหรี่ยงลงไป จนเหลือเพียงเป็นผู้อพยพเข้ามาและเป็นพวกทำลายป่า ผลคือประชาชนชนคนกะเหรี่ยงถูกจำกัดและกีดกันสิทธิต่างๆ มากมาย

ผมคิดว่าปัญญาชนของคนกะเหรี่ยงคงจะต้องคิดทบทวนเรื่องนี้ให้มากๆ ว่าจะใช้สัญญลักษณ์ของ “พะวอ” ช่วงชิงความหมาย ความชอบธรรม สิทธิและเสรีภาพในฐานะชนเผ่าพื้นเมืองกลับคืนมาได้อย่างไร