หากไทยจะไปถึงเป้าลดโลกร้อน COP26 “ภาคพลังงานต้องทำอะไร”

เปิดงานวิจัยล่าสุด “ต้องทำอะไรในภาคพลังงาน” ถึงทำให้ไทยเข้าใกล้หรือกระทั่งบรรลุเป้าที่ได้ลงนามไปแล้วใน COP26 : ภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคความร้อนในอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง

ส่วนหนึ่งของผลการศึกษา 3 ปีจาก “โครงการ CASE (Clean Affordable Secure Energy for Southeast Asia : พลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)” เผยแพร่วันนี้ที่กรุงเทพฯ

(ภาพ : freepik)

“หาเส้นทาง” สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภาคพลังงาน

“โครงการวิจัยนี้เริ่มดำเนินการมาประมาณ 3 ปี แล้ว ตัวโครงการมี 4 ประเทศ ไม่ใช่เฉพาะไทย มี อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ด้วย โดยในไทยมีสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รับผิดชอบ

งานที่นำเสนอวันนี้ เราคิดว่าน่าจะเป็นจังหวะที่ดี ที่หลังจากรัฐบาลไป commit (รับปาก) เรื่อง เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 เราก็เลยทำแผน ทำภาพมาว่าถ้าจะทำให้ได้ตามเป้าที่ไปรับปากไว้ มันจะต้องไปปรับในภาคพลังงานในส่วนไหนบ้าง

ที่เราทำภาคพลังงานก็เพราะว่า เป็นภาคพลังงานเป็นภาคที่ใหญ่ที่สุดที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีการปล่อยก๊าซมากกว่า 50 เปอร์เซ็น” 

ดร.สิริภา จุลกาญจน์ นักวิจัยโครงการ CASE จาก สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการนำเสนอผลการศึกษา “เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคพลังงาน 2050” ที่จัดขึ้นวันนี้ (2 พ.ย. 2565) ณ โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ), กระทรวงเศรษฐกิจ และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งรัฐบาลเยอรมัน (BMWK), สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ดร.สิริภา จุลกาญจน์ (ภาพ : Thailand Development Research Institute : TDRI)

“หลัก ๆ ที่เราไปรับปากไว้ใน COP26 ก็จะมีเรื่องการจะบรรลุเป้าหมายแรกคือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2050 และการบรรลุเป้าหมาย ที่สอง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ความแตกต่างระหว่าง 2 เป้าหมายก็คือ เป้าหมายแรกเราต้องการลดคาร์บอน ส่วนเป้าหมายที่ 2 เราดูทุกตัวของก๊าซเรือนกระจกซึ่งคาร์บอนก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น

โครงการ CASE จากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ทำการศึกษาโดยเน้นไปที่ภาคพลังงาน แล้วก็ดูกำหนดเป้าหมายในระยะสั้น กลาง ยาว ว่า 3 ภาคในภาคพลังงาน (ไฟฟ้า, อุตสาหกรรม, ขนส่ง) ต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมาย Carbon neutrality ภายในปี 2050 ได้

โดยตัวแผนปัจจุบันที่เราใช้ในการอ้างอิง เป็นแผนจากทางการไม่ว่าจะเป็น PDP หรือ AEDP ต่าง ๆ ที่มีการเผยแพร่ในปัจจุบัน” ดร.สิริภาอธิบาย

แผนภาพแสดงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน เส้นสีฟ้า คือ การดําเนินงานตามเป้าหมาย และนโยบายปัจจุบัน เส้นสีส้มคือ การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050 ซึ่งเส้นสีฟ้าห่างจากเส้นสีส้มเป็นอย่างมาก (ภาพ : CASE for Southeast Asia)

เส้นทางที่ค้นพบ ณ วันนี้

“จากการศึกษาของเราได้พบว่าการที่จะได้บรรลุเป้าหมายคาร์บอนเฉพาะในภาคพลังงานในอีก 30 ปี ข้างหน้ามีความเป็นไปได้ แต่ก็ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเริ่มต้นวันนี้

โครงการฯ มุ่งศึกษาแนวทางลดคาร์บอนในภาคพลังงาน เนื่องจากภาคพลังงานมีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง จึงต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้มากที่สุดเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก (hard-to-abate sector) ลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการใช้แหล่งกักเก็บคาร์บอน (carbon sink)

ผลการศึกษาชี้ว่าแผนพลังงานและนโยบายที่มีในปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอสำหรับการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคพลังงานได้ และเส้นทางไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามการศึกษาของ CASE ก็ต้องอาศัย เป้าหมายการลดคาร์บอนที่เข้มข้มขึ้นในภาคไฟฟ้า อุตสาหกรรม และขนส่ง” ดร.สิริภา เปิดเผยจากผลการศึกษาที่คืบหน้าล่าสุดของโครงการ (ดูรายละเอียดในตาราง)

 

ความเป็นไปได้ ที่จะไม่เพิ่มต้นทุน-เล็งหลายผลได้

“เส้นทางไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามการศึกษาของ CASE ต้องอาศัยเป้าหมายการลดคาร์บอนที่เข้มข้นขึ้นในทั้ง 3 ภาคที่กล่าวมาข้างต้น โดยภาคไฟฟ้า และอุตสาหกรรม พร้อมแล้วและสามารถเริ่มก่อนได้เลย 

สำหรับภาคขนส่งเองก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อนไม่ว่าจะเป็นขนส่งสาธารณะ ระบบราง และรถส่วนตัว ซึ่งภาคขนส่งก็ต้องเริ่มวางแผนเลย เพื่อที่จะได้เห็นผลของภาคขนส่งในช่วงปี 2030-2050 เพื่อให้ทันในช่วงนั้น

ข่าวดี คือ หากเราสามารถทําตาม pathway ที่นําเสนอภายใต้ การศึกษานี้ได้ เรามีโอกาสบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนนี้ได้โดยที่ไม่ทําให้ต้นทุนในภาคการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น

นอกจากต้นทุนที่ลดลงแล้วก็ยังมีประโยชน์อื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  1. เราสามารถบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศได้
  1. ลดความเสี่ยง และความผันผวนด้านราคาจากการต้องนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งในปัจจุบันประเทศเราที่พึ่งพิงพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ต้องได้รับผลกระทบจากราคาที่สูงขึ้นจากปัจจัยภายนอก
  1. ก่อให้เกิดจากจ้างงานในประเทศ ซึ่งจะมีการจ้างงานสุทธิ (การจ้างงานใหม่มากกว่างานที่หายไป) เพิ่มขึ้น 8 ล้านงานระหว่างปี 2020-2050 จากการเพิ่มโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์และลม
  1. การลงทุนก็กระตุ้นเศรษฐกิจด้วย และจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุน 4.5 ล้านล้านบาท ระหว่างปี 2020-2050
  1. ลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ที่ในตอนนี้ต้องคำนึงถึงการส่งออกที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องคาร์บอนด้วย

เราควรตัดสินใจที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพียงแต่ว่าความเร็วความช้าก็ต้องมาคุยกันอีกทีว่า จะมีความเป็นไปได้มากขนาดไหน เพราะทาง CASE เอง ก็ศึกษาเพียงภาคพลังงาน มันก็ยังมีภาคส่วนอื่น ๆ อีกที่ยังไม่ได้ไปแตะ” ดร.สิริภากล่าว พร้อมให้ความเห็น

“โดยสรุป ผลการศึกษาชี้ว่าแผนพลังงานและนโยบายที่มีในปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอสำหรับการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคพลังงานได้ จึงเสนอภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบายพิจารณาเส้นทางไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ที่ต้องอาศัยเป้าหมายการลดคาร์บอนที่เข้มข้นขึ้นในภาคพลังงาน  

ข้อเสนอจากผลการศึกษา ระบุว่า ภาคการผลิตไฟฟ้าควรเน้นเพิ่มการผลิตที่มาจากแสงอาทิตย์และลม ขณะที่ภาคความร้อนในอุตสาหกรรมควรเน้นการเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้า (Electrification) ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในการทำความร้อน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นและในภาคขนส่งควรปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนระบบขนส่งสาธารณะ ระบบราง และพาหนะส่วนบุคคล

“เราคาดว่าต้นทุนเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า มีแนวโน้มลดลง สวนทางกับราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้น 

หากเราสามารถทำตามเส้นทาง Carbon Neutrality ที่ โครงการ CASE นำเสนอภายใต้การศึกษานี้ได้ เรามีโอกาสบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทาง คาร์บอนได้โดยที่ไม่ทำให้ต้นทุนในภาคการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น โดยเส้นทางดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ระบบไฟฟ้ามีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยมีต้นทุนต่ำ (least cost optimization) และอาศัยเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานตามแนวทางที่เสนอแนะดังกล่าวข้างต้น ยังสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้อีกหลายทาง อาทิ การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และการลดความเสี่ยง และการผันผวนจากราคาพลังงาน และการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังเกิดการสร้างประโยชน์ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้ถึง 4.5 ล้านล้านบาทระหว่างปี 2020-2050 ช่วยลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป(CBAM) ที่จะทำให้ไทยส่งออกได้ลดลง หรืออุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ยังสามารถสร้างการจ้างงานในประเทศให้เพิ่มขึ้นได้ราว 8 ล้านตำแหน่งระหว่างปี 2020-2050 จากการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และลม อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม เพราะจะช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ และทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้คน จากปัญหามลพิษทางอากาศลดลงได้ถึง 26,000 ราย ในระหว่างปี 2020-2050” ดร.สิริภา จุลกาญจน์ กล่าว

(ภาพ : CASE for Southeast Asia)