GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

1.
ช่วงปลายเดือนตุลาคมฝนก็จะไม่ค่อยตกแล้ว เป็นช่วงที่เข้าสู่ต้นฤดูหนาว ท้องฟ้าจะใสเป็นคราม มีก้อนเมฆสีขาวหรือเทาๆ ลอยอยู่สูงๆ ช่วงเช้าอากาศจะเย็น น้ำค้างหนา พอสายๆ ตะวันลอยขึ้นสูงแดดก็จะแรงมาก
ช่วงนี้ข้าวในนาเพิ่งจะเริ่มออกรวงเท่านั้น แต่สำหรับข้าวไร่นั้นปลายรวงเริ่มเป็นสีเหลืองแล้ว และจะเหลืองเพิ่มมากขึ้นจนเต็มรวง เมื่อสีเหลืองปรากฎที่ปลายรวงข้าวที่มีสีเขียว ก็เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าอีกไม่นานก็จะได้เกี่ยวแล้ว ซึ่งช่วงเวลาที่คนปลูกข้าวตั้งตารอมานานประมาณ 5 เดือนแล้ว
ตามประเพณีดั้งเดิมของคนม้ง เมื่อรวงข้าวเหลืองประมาณครึ่งรวง จะเป็นช่วงที่ต้องไปเกี่ยวมาทำ “ข้าวใหม่” หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “ข้าวเม่า” สำหรับทำพิธีเลี้ยงผีบ้านผีเรือน และเพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับผลผลิตข้าวในรอบปี เพราะข้าวเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับความเป็นอยู่ของคน หากปีไหนได้ผลผลิตข้าวดีครอบครัวก็จะไม่ลำบาก

2.
การทำ “ข้าวใหม่” ของคนม้งนั้น จะต้องไปเกี่ยวในช่วงที่รวงข้าวเหลืองเกือบเต็มรวง ซึ่งช่วงนี้บริเวณปลายรวงและกลางรวงจะเริ่มเป็นข้าวสารเต็มเม็ด เมื่อแกะเปลือกออกเม็ดข้าวสารจะยังคงอ่อน สำหรับบริเวณต้นรวงบางเม็ดจะยังคงเป็นน้ำนมข้าวอยู่ เมื่อบีบแรงๆ จะแตกและน้ำนมข้าวสีขาวๆ กระเด็น โดยที่ใบและลำต้นจะยังคงเขียว
เมื่อเกี่ยวได้ปริมาณตามต้องการแล้วจะต้องตีด้วยมือทันที ซึ่งการตีข้าวใหม่จะตียาก จะต้องใช้แรงแต่พอดีและตีนานๆ จนกว่าเม็ดข้าวจะหลุดออกหมด เพราะข้าวที่ยังไม่สุกเต็มที่ ขั้วเม็ดยังแข็งแรง ทำให้เม็ดหลุดอออกยาก ข้าวบางชนิดจะตียากกว่าปกติ ดังนั้น ฟางที่ตีเสร็จแล้วจะต้องนำมาเคาะเม็ดข้าวที่ยังหลุดไม่หมดอีกที หากทิ้งทันทีก็จะเสียข้าวจำนวนมากพอสมควรอยู่

3.
เมื่อตีข้าวเสร็จแล้วก็นำมาตั้งไฟคั่วฟืนทันที หากทิ้งไว้นานข้าวจะเสียและรสชาดไม่อร่อย โดยตั้งกระทะใบใหญ่ๆ หน่อย ใช้ไฟที่ความแรงพอดี เทข้าวเปลือกประมาณครึ่งถังลงไปในกระทะ เติมน้ำสะอาดประมาณ 2-3 ขัน แล้วใช้ตัวคนซึ่งมีลักษณะคล้ายจอบแต่ทำด้วยไม้ คอยคนบ่อยๆ ให้ความร้อนกระจายให้ทั่ว
ช่วงแรกๆ ที่ยังมีน้ำอยู่ในกระทะก็ไม่ต้องคนถี่มาก ปล่อยให้เดือดสักพักแล้วค่อยคนต่อ แต่พอคนจนน้ำที่ก้นกระทะแห้งหมดแล้วก็จะต้องคนถี่ๆ หากปล่อยไว้นานก็จะใหม้เกรียม คนไปเรื่อยๆ เม็ดข้าวสารที่อยู่ข้างในที่ยังเป็นข้าวสารที่อ่อนๆ กับบางส่วนที่ยังเป็นน้ำนม เมื่อถูกความร้อนนานๆ จะค่อยๆ แข็งกลายเป็นข้าวสาร โดยเฉพาะเม็ดที่ยังเป็นน้ำนมเมื่อแห้งกลายเป็นข้าวสารจะมีสีใสๆ
เราก็จะต้องคอยสังเกตจนกว่าข้าวจะแห้งกลายเป็นข้าวสารหมด และคนบ่อยๆ จนกว่าน้ำจะแห้งจนหมด แล้วตักออกนำไปผึ่งเตรียมเอาไปตากแดดให้แห้งสนิทพร้อมสี แต่ในสมัยอดีตบางคนก็คั่วให้แห้งจะกว่าจะเอาไปตำกินได้เลย
การคั่วหนึ่งรอบจึงต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาทีขึ้นไป ดังนั้น ในหนึ่งวันจึงสามารถทำข้าวใหม่ได้ไม่เกิน 3 ถัง ข้าวที่ทำได้นี้เรียกเป็นภาษาม้งว่า “หมอ เบล้ ชะ” (Mov Nplej Tshab) หรือแปลตรงตัวว่า “ข้าวใหม่”
ข้าวเหลือกที่ผ่านกระบวนการคั่วไฟข้างต้นนี้ จะมีกลิ่นหอม ขณะคั่วเราก็สามารถได้กลิ่นหอมนี้เช่นกัน เมื่อนำไปตำหรือสีเป็นข้าวสารแล้ว เม็ดจะมีสีแตกต่างจากข้าวทั่วไป ที่สำคัญคือจะส่งกลิ่นหอมคลุ้งชวนให้กิน เม็ดข้าวสารเมื่อนำมาเคี้ยวก็จะมีรสมันๆ เมื่อนำไปหุง (หุงได้ทั้งหม้อฟืนหรือหม้อไฟฟ้า) จนสุกจะมีกลิ่นหอมคลุ้งและมีรสชาดมัน อร่อยกว่าข้าวทั่วๆ ไปมาก
การทำพิธีกินข้าวใหม่ของคนม้ง จะใช้ข้าวใหม่และเนื้อ โดยจะหุงข้าวใหม่และฆ่าหมูหรือไก่ พออาหารสุกพร้อมแล้ว ก็นำข้าวใหม่และเนื้อมาตั้งสำรับที่กลางบ้าน เจ้าบ้านหรือผู้อาวุโสก็จะทำพิธีและบริกรรมคำอัญเชิญผีบ้านผีเรือน รวมทั้งผีบรรพบุรุษมากินสำรับอาหาร พอทำพิธีในบ้านเสร็จก็เอาอาหารประมาณหนึ่งช้อนโต๊ะไปวางไว้บริเวณที่สูงๆ ข้างนอกบ้าน แล้วบริกรรมคำเช่นไหว้เจ้าที่เจ้าทาง เป็นอันเสร็จพิธี
พอทำพิธีเสร็จแล้วเจ้าบ้านก็จะเชิญญาติ พี่น้อง และเพื่อนบ้านมาร่วมกินอาหารมื้อนี้ด้วยกัน โดยเจ้าบ้านก็จะเดินไปเคาะประตูเรียกคนทีละบ้าน ก็จะมีเพื่อนบ้าน ผู้เฒ่าคนแก่ ญาติพี่น้อง มาร่วมกินอาหารมื้อนี้ด้วยกัน เรียกเป็นภาษาม้งว่า “น่อ หมอ เบล้ ชะ” (Noj Mov Nplej Tshab) ดังนั้น ช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ในชุมชนของคนม้ง เราจะถูกเรียกไปกินข้าวใหม่ยังบ้านโน้นบ้านนี้บ่อยๆ เรียกว่ากินกันจนเบื่อ
การทำข้าวใหม่แบบนี้จะไม่ใช่เพียงทำสำหรับใช้เฉพาะในพิธีกรรมเท่านั้น บางคนที่ขยันเขาก็จะทำไว้เยอะหน่อย เผื่อเอาไว้หุงกินเองหรือเอาไว้แบ่งปันเพื่อนบ้าน เพราะข้าวใหม่จะหอมและอร่อยกว่าข้าวทั่วๆ ไป นอกจากนี้ในสมัยอดีต คนม้งอาศัยอยู่ตามป่าเขา หากินกับป่า มีความยากลำบาก โดยเฉพาะบางกลุ่มต้องอพยพหลบหนีภัยสงครามบ่อยๆ ทำให้คนไม่สามารถปลูกข้าวได้สะดวก ทำให้ข้าวมักจะไม่พอกิน ดังนั้น คนก็จะอาศัยการทำข้าวใหม่ในช่วงที่ข้าวเริ่มเหลือง เพื่อกินประทังชีวิตจนกว่าจะเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ



4.
สำหรับผม ปีนี้ผมปลูกข้าวไร่สายพันธุ์ที่ใช้บนดอย ทั้งสายพันธุ์ข้าวขาวและข้าวดำ ผมจึงทำข้าวใหม่ทั้งสองสายพันธุ์ ข้าวขาวปลูกไว้เยอะหน่อยจึงทำเยอะหน่อย ได้ข้าวประมาณ 3 ถัง สำหรับข้าวดำปลูกไว้น้อยหน่อยและผลผลิตไม่ค่อยเต็มที่ จึงเลือกทำน้อยหน่อย ได้ข้าวประมาณ 2 ถัง เมื่อเอามาทำพิธีเสร็จแล้วยังคงเหลืออีกหน่อย
การทำข้าวใหม่ปีนี้ ผมตั้งใจทำเผื่อไว้กินนานๆ หน่อย จึงทำไว้เยอะกว่าปีก่อนๆ ตอนนี้ยังพอมีบางส่วนที่สามารถแบ่งปันให้เพื่อนๆ หรือใครที่อยากลองชิม โดยจะขายกิโลกรัมละ 300 บาท รวมค่าส่ง ใครที่สนใจก็ทักเข้ามาไถ่ถามในข้อความเฟสบุ๊คของผม Laofang Bundidterdsakul ได้เลยครับ แต่ของมีจำกัดไม่รับประกันว่าจะได้ทุกคนครับ