มติ ครม. ยกป่าให้นายทุน

GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

(ภาพ : กรุงเทพธุรกิจ)

1.

เชื่อไหมครับ เมื่อต้นเดือนนี้ (5 ตุลาคม 2565) รัฐบาลไทยเพิ่งจะออกมติ ครม. ยกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้นายทุน (ผมไม่ได้เขียนผิดครับ รัฐบาลไทยกำลังจะยกพื้นที่ป่าให้นายทุนเช่าระยะยาว) 

แม้จะอ้างว่าเป็นการอนุญาตให้เพื่อปลูกสร้างสวนป่า แต่ก็เป็นการยกพื้นที่ป่าให้นายทุนใช้ประโยชน์ พวกเขาไม่ได้ยากจน ไม่ได้เป็นเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน ไม่ได้ครอบครองทำกินมาก่อน พวกเขาอาจเป็นคนต่างถิ่นที่เพียงเดินเข้ามาพร้อมตัวเลขเงินในบัญชีที่สูงลิ่ว แต่สิ่งที่พวกเขามี คืออะไรบางอย่างที่เราไม่มีทางรู้ 

แต่ทำให้รัฐบาลสนใจได้ถึงขนาดยอมออก มติ ครม. เปิดทางให้ พวกเขาเหล่านี้จะมีสักกี่คนเราไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คือพวกเขามีอำนาจต่อรองและเป็นที่สนใจของผู้มีอำนาจมากกว่าคนไทยที่ถือครองที่ดินในเขตป่าหลายล้านคน  

(ภาพ : รีวิวเชียงใหม่)

2.

โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ได้คัดค้านการให้สิทธินายทุนสร้างสวนป่าในที่ดินของรัฐ 

ในทางตรงกันข้ามผมกลับสนับสนุนให้นายทุนมีโอกาสทำธุรกิจสร้างป่าด้วยซ้ำ ถ้าทำอย่างเป็นธรรมและทุกคนได้ประโยชน์ เพราะที่ดินและป่าเป็นทรัพยากรที่ควรนำมาบริหารเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้ประชาชนในชนบทมีความเป็นอยู่ที่ดี

แต่สิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยคือ วิธีการของรัฐบาลที่เลือกปฏิบัติต่อคนอย่างเปิดเผย โจ่งแจ้ง ไม่เกรงใจประชาชนเจ้าของประเทศ 

ผมติดตามและร่วมผลักดันเรียกร้องสิทธิในที่ดินในเขตป่ามานาน รวมทั้งผมเองก็ยังต้องอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินในเขตป่าเช่นเดียวกับคนอีกหลายล้านคน แม้เราจะอยู่มานานก่อนประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติก็ตาม แต่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลจริงๆ 

การออกมติ ครม. ฉบับนี้ จึงเหมือนรัฐบาลเหยียบหัวพวกเราอย่างไม่ใยดี แม้พวกเราจะได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถพัฒนาการใช้ที่ดินที่มีอยู่น้อยนิด ทำให้ไม่สามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ได้ หลายคนถูกดำเนินคดี บางคนติดคุกทั้งที่ไม่มีความผิด ทุกวันนี้มีคนออกมาเรียกร้องรายวัน แต่รัฐบาลไม่ได้คิดจะทำอะไรให้จริงๆ 

แต่กับนายทุนแล้วทำไมรัฐบาลทำให้อย่างรวดเร็ว โดยที่ทุกองคาพยยพของระบบราชการต่างพร้อมใจกันตอบสนอง

(ภาพ : RECOFTC)

3. 

มติ ครม. เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ข้อ 16 เรื่องการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ เพื่อการปลูกสร้างสวนป่าภาคเอกชน (รายละเอียด https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/60098

ใจความสำคัญคือ ที่ผ่านมามีการอนุญาตให้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอยู่แล้ว โดยเฉพาะการอนุญาตให้เอกชนทำเหมืองแร่ 

รัฐบาลจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะเพิ่มอนุญาตให้เอกชนปลูกสร้างสวนป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสวนป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 มีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมให้มีการปลูกสร้างสวนป่าในที่ดินของรัฐและที่ดินของเอกชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังยกข้ออ้างที่ดูช่างน่าขัดแย้งกันว่า ประชาชนยังมีปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน ควรมีการจัดสรรอย่างเป็นธรรมกับประชาชน จึงสมควรให้ “เอกชนรายใหญ่” เข้ามาทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าได้มากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มพื้นที่ป่าและการกักเก็บคาร์บอนและการลดปริมาณคาร์บอน 

สิ่งที่ผมคิดว่าไม่ถูกต้องคือ ในการจัดทำนโยบายบริหารจัดการพื้นที่ป่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มองแต่เพียงผลประโยชน์ของนายทุนแต่เพียงด้านเดียว โดยละเลยต่อสิทธิและประโยชน์ของชาวบ้านหรือชุมชนที่อยู่ในเขตป่า ในการเอาใจนายทุน 

รัฐบาลนี้ได้ดำเนินกระบวนการยกพื้นที่ป่าให้นายทุนอย่างเป็นระบบ เริ่มจากทำการแก้ไข พ.ร.บ. สวนป่า พ.ศ. 2535 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 กำหนดให้มีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมให้มีการปลูกสร้างสวนป่าในที่ดินของรัฐและที่ดินของเอกชน และคุ้มครองสิทธิในการทำไม้ที่ได้จากการปลูกสร้างสวนป่า 

หลังจากนั้นก็ออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตปลูกสร้างสวนป่าภาคเอกชน  โดยออกกฎกระทรวงขออนุญาตและการอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า พ.ศ. 2558 และระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2565 

และล่าสุดคือ มติ ครม. ฉบับที่กำลังพูดถึงนี้ ซึ่งหากดูเนื้อหาของมติ ครม. จะมุ่งให้สิทธิแก่เอกชนรายใหญ่เท่านั้น ไม่ได้ให้สิทธิแก่ชาวบ้านที่ถือครองที่ดินทำกินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือแม้กระทั่งกลุ่มชาวบ้านที่ดูแลจัดการพื้นที่ป่าชุมชนอยู่แล้ว

สิ่งที่ผมอยากตั้งคำถามคือ ในเมื่อให้สิทธิแก่นายทุนได้ ทำไมจะให้สิทธิแก่ชาวบ้านบ้างไม่ได้ ?

อย่าลืมว่า ในสังคมไทยมีชาวบ้านจำนวนมากที่มีศักยภาพในการสร้างพื้นที่ป่าเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรายบุคคลหรือชุมชน พวกเขาต่างก็ต้องการสิทธิในการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าเช่นกัน ตัวอย่างเช่น กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผลไม้ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กลุ่มชาวบ้านที่ปลูกบุกและขุดบุกจากป่าในพื้นที่ตะวันตกของประเทศไทยตั้งแต่แม่ฮ่องสอนลงไปถึงเพชรบุรี กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกชาและกาแฟในป่า เป็นต้น 

การใช้พื้นที่ป่าเหล่านี้ไม่ต้องตัดฟันต้นไม้ทิ้งแบบ Clear cutting เหมือนยกให้นายทุน โดยเฉพาะการใช้เพื่อปลูกและขุดบุก และปลูกชาและกาแฟนั้น จะต้องรักษาสภาพป่าใหสมบูรณ์เอาไว้ จึงจะได้ผลผลิตดีและมีคุณภาพตามความต้องการของตลาด 

แม้จะเป็นชาวบ้านรายย่อยหรือชุมชนแบบย่อยๆ แต่มีอยู่กระจายทั่วทุกภูมิดภาคของประเทศไทย เมื่อรวมกันทั้งประเทศจะมีจำนวนและขนาดพื้นที่มหาศาล ซึ่งมีศักยภาพมากกว่ากลุ่มนายทุนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของรัฐบาล ที่สำคัญคือหากให้ชาวบ้านและชุมชนมีสิทธิบ้าง จะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้และสร้างป่าได้มหาศาล โดยที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องลงทุนมากมาย ผลประโยชน์จากกระจายและตกถึงคนรากหญ้าได้จริง 

การให้สิทธิชาวบ้านและชุมชนที่อยู่ในเขตป่าใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมโลก มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ (รายละเอียด https://greennews.agency/?p=28981

ประเทศเหล่านั้นมีความคิดในการบริหารจัดการป่าที่ก้าวหน้า ให้สิทธิแก่ชุมชนและเอกชนรายย่อยในท้องถิ่น ปลูกสร้างสวนป่าและเก็บผลิตจากป่า มีการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจเกี่ยวกับป่าอย่างหลากหลาย ผลก็คือคนท้องถิ่นมีงานและมีรายได้ที่มั่นคง สามารถส่งออกผลผลิตที่หลากหลายไปขายต่างประเทศ สร้างรายได้เข้าประเทศได้มหาศาล และที่สำคัญคือ ทำให้ประเทศมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นโดยรวม

(ภาพ : forest.go.kr)

4.

การดำเนินกระบวนการยกพื้นที่ป่าสงวนให้นายทุนอย่างเป็นระบบดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นปัญความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรในสังคมไทยได้อย่างชัดเจน 

แม้ปัจจุบันสังคมไทยจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างง่ายดาย สามารถรู้และวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจได้อย่างกว้างขวาง แต่การเลือกปฏิบัติโดยยกพื้นที่ป่าให้แก่นายทุน แต่ยังคงเดินหน้ากดหัวไม่ให้ชาวบ้านหลายล้านคนได้สิทธิในที่ดิน ยังคงดำเนินไปอย่างโจ่งแจ้งและไม่สนใจความรู้สึกของประชาชน 

ภายใต้ระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ผู้มีอำนาจไม่ได้รับผิดชอบต่อประชาชน พวกเขาเพียงรับผิดชอบต่อนั่งร้านที่คอยพยุงค้ำชูเท่านั้น ภายใต้ระบบเช่นนี้คนที่เข้าถึงเครือข่ายผู้มีอำนาจ จะมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนทั่วๆ ไป สำหรับชาวบ้านอย่างเราๆ ก็จะถูกกดหัวต่อไป ความเหลื่อมล้ำที่มีมากอยู่แล้วจะเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ