‘กัดเซาะชายฝั่ง-กำแพงกันคลื่น-กรมโยธา-ชุมชน’ ทรรศนะ Beach For Life

5 แนวโน้ม ว่าด้วย “โครงการกำแพงกันคลื่น” “วิกฤตกัดเซาะชายฝั่ง” “กระแสการผลักดันของรัฐโดยเฉพาะกรมโยธาฯ” และ “กระแสต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่”

1. กรมโยธาฯ ยังคงยึดกำแพงกันคลื่นเป็นสรณะ แม้พยายามเปิดรับทางเลือกเพิ่มขึ้น

2. “การให้ข้อมูล-การจัดเวทีรับฟัง” ปัญหาสำคัญ

3. “ไม่เป็นจริง” กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการกัดเซาะชายฝั่ง

4. ท้องถิ่นไม่ไว้วางใจกรมโยธาฯ-หน่วยงานรัฐ มากขึ้น

5. ชุมชนคัดค้านกำแพงกันคลื่นมากขึ้น

ทรรศนะจาก “น้ำนิ่ง” อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ชายหาด Beach For Life หนึ่งในผู้ที่ติดตามตรวจสอบโครงการพัฒนาตลอดชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามันมานับ 10 ปี ผ่านบทสัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว GreenNews “ธัญพิชชา ลอยกลิ่น” 

พร้อม 1 ข้อเสนอ “ต้องมี EIA – กลไกที่ให้อำนาจท้องถิ่นจัดการได้จริง”

ภาพ : Namning Apisak

1. กรมโยธาฯ ยังคงยึดกำแพงกันคลื่นเป็นสรณะ แม้พยายามเปิดรับทางเลือกเพิ่มขึ้น

“ในมุมของรัฐ ผมก็คิดว่ารัฐก็ยังมีวิธีคิดแบบเดิม โดยเฉพาะกรมโยธาฯ ในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ด้วยความที่โครงการมันเกิดขึ้นได้ง่าย ในแง่ที่ว่าไม่ต้องทำผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็เลยทำให้หน่วยงานใช้วิธีนี้เป็นหลักในการแก้ปัญหา (การกัดเซาะชายฝั่ง)

เรามีวิธีการอีกเยอะมาก เช่นที่นักวิชาการบางสายบอกว่าใช้วิธีการปักไม้ อย่างที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทำอยู่ บางกลุ่มบอกว่าใช้มาตรการชั่วคราว บอกว่าให้มันควรจะถอยร่นนะ มาตรการ 3-4 อย่างนี้แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย

รัฐยังใช้วิธีเดิมก็คือ กำแพงกันคลื่น เพราะว่า1. มันใช้งบประมาณ 2. มันไม่ต้องทำ EIA และเป็นโครงการขนาดใหญ่ คำว่าขนาดใหญ่หมายถึง เทียบกันระหว่างการปักไม้ ที่ใช้งบแค่หลักแสน แต่ว่ากำแพงกันคลื่นกิโลเมตรละ 120 ล้านโดยเฉลี่ย ณ เวลานี้ถ้าเป็นแบบอื่น ก็ 80 ล้านต่อกิโล 

ซึ่งผมคิดว่ามันเห็นการเดินหน้าของรัฐอยู่เรื่อย ๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ทำให้เห็นความพยายามที่จะดำเนินโครงการอยู่ดี ประเด็นเมื่อไม่ทำ EIA ก็ยังคงระบาดแล้วก็ยังใช้วิธีคิดแบบเดิม ในการแก้ปัญหา ในการเอามาตราการอื่น ๆ มาใช้

กรณีของสมุย มีความแปลกใจนิดนึงกระบวนการในการดำเนินโครงการการของกรมโยธาฯ มันรวดเร็วมากถ้าเอาไทม์ไลน์ของการมีหนังสือร้องขอจากท้องถิ่นขึ้นไปที่กรมโยธาฯ น่าจะสักประมาณพฤษภาคม-สิงหาคมที่กรรมาธิการวิสามัญส่งหนังสือขึ้นไปโยธาฯ เพื่อให้มาศึกษาแล้วเพียง 4 เดือน จากเดือนกันยา กรมโยธาฯ ก็เข้ามาศึกษาเลย 

ซึ่งอันนี้กรมโยธาฯ ก็อ้างว่ามีการร้องขอมาจากท้องถิ่น เขาก็เลยศึกษามา ผมว่าโดยระบบราชการจริง ๆ คือผมเข้าใจว่ามันทำรวดเร็วอย่างนั้นไม่ได้นะ มันคงต้องมีโครงการมาก่อนอยู่แล้ว ก็คือเป็นพื้นที่หมายตาอยู่แล้ว และเขาก็มาดำเนินการแล้วหนังสือของท้องถิ่นมันก็สอดรับกันพอดี

ซึ่งอันนี้เป็นข้อสังเกตว่ากรมโยธาฯ ตั้งใจที่จะศึกษาโครงการที่เกาะสมุยแล้วในส่วนตัวของผม

ที่ผ่านมากรมโยธาฯ ก็พยายามที่จะปรับวิธีการในการทำงานเช่น ช่วงหลังจะเห็นโครงการในลักษณะที่มีรูปแบบผสมผสานมากขึ้น คือจากเมื่อก่อนถ้าสังเกตง่าย ๆ เวลาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เรื่องในการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมดมี 5 ทาง จะเป็นกำแพงกันคลื่นทั้งหมดเลย 

แต่พอมาปัจจุบันนี้มีตั้งแต่ระยะถอยร่น เติมทราย เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ กำแพงกันคลื่นรูปแบบต่าง ๆ มันเริ่มมี Choice ให้ชาวบ้านเลือกเพิ่มมากขึ้น อันนี้ก็เป็นผมคิดว่าเป็นความตั้งใจที่จะทำให้เห็นว่ามันมีทางเลือกที่หลากหลาย 

ในขณะที่กรมเจ้าท่าเขาเปลี่ยนไปเติมทรายตั้งแต่ปี 2556 ที่จอมเทียน ที่พัทยา ซึ่งอันนี้มันเห็นวิธีการเอารูปแบบวิธีการใหม่ ๆ มาตรการใหม่ ๆ มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหา เพราะว่าเจ้าท่าก็มีบทเรียนหลายปีว่ามันทำแล้วมันมีปัญหา และชาวบ้านก็ไม่ได้อยากได้ เขาก็เลยเลือกเติมทรายมาใช้ในพื้นที่ที่มีความสำคัญในแง่ของการท่องเที่ยวในขณะที่กรมโยธาฯ ถึงแม้เราจะค้านกันมา เราก็ยังไม่เห็นมาตรการที่มันจะไปไกลกว่ากำแพงกันคลื่น”

2. “การให้ข้อมูล-การจัดเวทีรับฟัง” ปัญหาสำคัญ

“การให้ข้อมูลข้อดีข้อเสียแต่ละทางเลือก อันนี้ต้องไปนั่งดูว่ากรมโยธาฯ ได้ให้ข้อมูลตรงไปตรงมากับชาวบ้านหรือเปล่า 

ในกรณีหาดบางดี ที่นครศรีธรรมราช กรมโยธาฯ ก็ไปบอกว่ากำแพงกันคลื่นมันดีกว่าเพราะว่า มันจะได้ในเรื่องของการท่องเที่ยว การใช้ลานกิจกรรมด้านหลังกำแพงเป็นพื้นที่นันทนาการได้ ซึ่งเราเห็นการชี้นำในลักษณะแบบนี้ค่อนข้างที่จะเยอะมาก

ถึงแม้จะมีทางเลือกให้หลากหลาย แต่ว่าวิธีปฏิบัติในการรับฟังความคิดเห็น ในแง่ของการให้ผลดีผลเสียของทางเลือกต่าง ๆ ผมคิดว่าน้ำหนักมันยังให้กำแพงกันคลื่นมาก เพื่อจะชี้นำให้คนเลือกกำแพงกันคลื่น เรายังไม่เห็นมาตรการที่เป็นมาตรการที่จะป้องกันที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นโดยกรมโยธาฯ เลย 

โดยสรุปผมคิดว่าท่าทีของกรมโยธาฯ ในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเหมือนจะปรับ แต่ผมคิดว่าข้างในอาจจะยังมีปัญหาอยู่ในแง่ของการให้ข้อมูลกับชาวบ้าน หรือแม้กระทั่งการบอกว่าหาดมันกัดเซาะจริง ๆ เพราะมันยังเจอบางพื้นที่ที่มันไม่กัด แต่ว่าก็มีโครงการ”

ภาพ : Beach Lover

3. “ไม่เป็นจริง” กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการกัดเซาะชายฝั่ง

“ในส่วนของท้องถิ่น กรมโยธาธิการก็จะบอกว่า มีการร้องขอโครงการจากท้องถิ่นขึ้นมาเยอะแยะมากมายเลย ซึ่งอันนี้มันสะท้อนเรื่องการกระจายอำนาจได้อย่างน่าสนใจ

ส่วนตัวผม พอการกัดเซาะชายฝั่งมันเกิดขึ้น แต่ท้องถิ่นไม่สามารถจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้  สิ่งที่ท้องถิ่นทำคือ ร้องขอโครงการไปยังกรมโยธาฯ ร้องขอไปที่รัฐส่วนกลาง

จากปัญหาท้องถิ่นอย่างเช่น กัดเซาะชายฝั่งสัก 50 เมตร หรือ กิโลนึง แต่อาจจะกัดชั่วคราว แบบปีนึงกัดสัก 3 วันที่รุนแรง ที่เหลืออาจจะเดือนนึงที่มีผลกระทบต่อชาวบ้าน

แต่ว่าท้องถิ่นไม่จัดการปัญหาพวกนี้เพราะว่า หน่วยงานท้องถิ่นว่าไม่มีงบประมาณ ไม่มีแนวทาง คือไม่มีงบประมาณไม่เพียงพอ ไม่มีแนวทาง และ องค์ความรู้ว่าถ้ามันเกิดภัยแบบนี้แล้วจะจัดการยังไง 

ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าการกระจายอำนาจ ณ วันนี้มาสู่ท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง มันไม่สามารถเกิดการกระจายอำนาจได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ท้องถิ่นจัดการปัญหาได้ก็ถูกผลักภาระให้กลายเป็นเรื่องของรัฐส่วนกลางที่ลงมาจัดการปัญหาของท้องถิ่น” 

ภาพ : Beach for life

4. ท้องถิ่นไม่ไว้วางใจกรมโยธาฯ-หน่วยงานรัฐ มากขึ้น

“เวทีที่เกิดขึ้นทั้งหาดแม่น้ำ และหาดบางมะขามที่เกาะสมุย หาดแม่น้ำยังดีหน่อยที่ชาวบ้านไม่ได้มีทีท่า ที่ไม่ไว้วางใจกรมโยธาฯ มากแต่กรณีที่บ้านบางมะขามค่อนข้างจะมีเยอะนะครับ

แล้วมันมีถึงขั้นที่ชาวบ้านขอให้ยกมือ แล้วก็ทางผู้ดำเนินการจัดเวทีก็บอกว่าผมไม่ได้มาจัดเวทีเพื่อให้พวกคุณยกมือ แล้วก็มีการแย่งยื้อไมค์กัน 

ทำให้เห็นความไม่ไว้วางใจเห็นความขัดแย้งที่มันกำลังปะทุขึ้นมา พอหลังจากเวทีนั้น ชาวบ้านก็เริ่มมีทีท่าที่ไม่อยากให้กรมโยธาฯ เข้ามาศึกษาโครงการอีกต่อไปเพราะว่า เขามองว่ามันเป็นการศึกษาเพื่อที่จะดำเนินโครงการต่อ

ดังนั้นในกรณีของเกาะสมุยความไว้วางใจต่อกรมโยธาฯ มันมีสูงมากและก็มันอาจจะนำไปสู่การเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ค่อนข้างที่จะสูง 

พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในเวทีของบ้านบางมะขามทางนายกก็มีการสรุปกันอย่างชัดเจนว่า จะไม่ใช้มาตรการที่เป็นโครงสร้างแข็งกับพื้นที่หาดบางมะขาม และในกรณีของหาดแม่น้ำด้วยเช่นกัน ก็เหมือนพูดรวม ๆ  ไปอย่างนั้น

แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นก็ให้กรมโยธาฯ เขาดำเนินการศึกษาว่าจะเป็นทางเลือกไหนเป็นสิ่งที่นายกสรุป แต่ว่าปรากฏการณ์วันนี้กลับกลายเป็นว่า ชาวบ้านไปยื่นเลย ไปยื่นหนังสือบอกว่าไม่ให้ศึกษาแล้ว หมายความว่าไม่ต้องมาทำอะไรกับบ้านเขาแล้ว 

อย่างกรณีหาดแม่รำพึงมันก็ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ซึ่งคนสมุยเขาก็พูดอย่างนั้นนะว่าเขาไม่ไว้ใจกรมโยธาฯ เลย ในการรับฟังความคิดเห็นถึงแม้กรมโยธาฯ จะบอกว่าไม่ได้เป็นการไปดำเนินการโครงการเป็นการไปศึกษาและออกแบบไว้ แล้วชาวบ้านเลือกอะไรเขาจะมาทำอีก แต่ว่าชาวบ้านบอกว่าไม่ต้องมาทำแล้ว ฉันไม่ไว้ใจคุณ

ดังนั้น อันนี้มันคือสิ่งที่ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นกับกรมโยธาฯ แล้วมันทำให้ประชาชนออกมาคัดค้านกันแบบเยอะแยะมากมาย 

ถ้าทำให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มาดำเนินการศึกษาเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมาก่อน ก่อนที่จะให้กรมโยธาฯ มาศึกษาในกระบวนการศึกษา และกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการออกแบบโครงการ

ในส่วนของนายก และท้องถิ่นโดยพื้นฐานก็คงมีข้อสรุปตรงกันแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการสร้างโครงสร้างแข็ง แต่ว่าชาวบ้านไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างแข็งคือเขาไม่ให้กรมโยธาฯ มาศึกษาที่นี้

แล้วถ้ากรมโยธาฯ ไม่หยุดผมก็คิดว่าชาวบ้านคงมีท่าทีที่จะคัดค้านโครงการนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะว่ามันชัดมากเลยว่าพวกเขาไม่ไว้วางใจ

การบริหารที่เกาะสมุยโดยความเข้าใจของผมกรมโยธาเขาอาจจะทำแผนแม่บท ในเอกสารก็เขียนข้างชัดว่าเป็นการศึกษาแผนแม่บท แต่ว่า ผมคิดว่าด้วยบทเรียนจากหลาย ๆ ที่ ที่กรมโยธาไปทำแล้วมีปัญหามันทำให้ความไม่ไว้วางใจของชาวบ้านต่อกรมโยธามันมีมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าถ้ากรมโยธาเดินหน้าต่อสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งค่อนข้างสูงระหว่างประชาชนกับรัฐ

แล้วก็ผมคิดว่าถ้ากรมโยธาจะทำได้ดีหลังจากนี้ก็คือคุณต้องทำให้เห็นว่าคุณไม่พยายามผลักดันกำแพงกันคลื่น แต่คุณไปรับฟังชาวบ้าน กรมโยธาต้องมี React ต่อชาวบ้านที่เป็น Positive มากขึ้น เพราะที่ผ่านมามันมีท่าทีที่มันมีความขัดแย้ง ท่าทีที่พยายามผลักดันโครงการที่ค่อนข้างสูง อย่างเช่น การไปเกณฑ์คนมา กรณีการรับฟังล่าสุดที่ชาวบ้านยกมือ แล้วก็บอกว่าผมไม่ให้ยกแล้วมีการดึงไมค์ของผู้อภิปรายออกจากปากเลยซึ่งอันเนี้ยมันทำให้เห็น มันเป็นการกระทำที่ทำให้ถ่างความไว้วางใจออกไปให้มากขึ้น

กรมโยธาฯ จะต้องปรับท่าทีต่อประชาชนใหม่แล้วก็ทำให้ประชาชนวางใจมากขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นคุณก็จะเจอเหตุการณ์ที่มีการคัดค้านแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ”

ภาพ : Beach for life

5. ชุมชนคัดค้านกำแพงกันคลื่นมากขึ้น

“ผมคิดว่าถ้าเอาเหตุการณวันนี้ไปอยู่ในช่วงเวลาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว การมีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นมากมาย เหมือน ณ ตอนนี้ผมคิดว่าชาวบ้านอาจจะไม่ได้ออกมาคัดค้านเยอะขนาดนี้นะ

ณ วันนี้สิ่งที่เราเห็นมีชาวบ้านออกมาบอกว่าเราไม่เอากำแพงกันคลื่นเยอะมาก เราเลยเห็นภาพในข่าวว่า ที่สมุย สงขลา ปราณบุรี ประจวบก็ไม่เอา ที่นราธิวาสก็ไม่อยากให้มี แม่รำพึงก็ไม่เอา ม่วงงามก็ไม่เอา คือมันมีหลายที่มาก ซึ่งอันนี้มันสะท้อนการตื่นตัวของประชาชน และ ความตระหนักถึงผลกระทบของกำแพงกันคลื่นมากขึ้นว่า ทำแล้วมันมีปัญหา ยิ่งทำหาดมันยิ่งหายไป ทำแล้วมันกัดเซาะมากขึ้น

มันสูญเสียวิถีชีวิต สูญเสียการท่องเที่ยว สูญเสียเศรษฐกิจที่มันจะเกิดขึ้น ถ้ายังคงมีชายหาดอยู่อาจจะมีการท่องเที่ยวใน ลักษณะที่คนไปเที่ยวกันริมชายฝั่งทะเล แต่พอเป็นกำแพงกันคลื่นเขาไม่อยากไปซึ่งคนเริ่มเห็นมากขึ้น

กรณีที่ชนะในแง่ของที่เกิดกำแพงขึ้นแล้วชาวบ้านสามารถหยุดมันได้อย่างม่วงงาม อย่างหาดดอนทะเลที่สุราษฎร์ อำเภอท่าชนะ มันก็เป็น Inspiration ให้กับชุมชนได้เห็นว่าเขาก็สามารถที่จะปกป้อง ชายหาดของเขาได้ ถ้ามันโดนกระทำจากหน่วยงานของรัฐ”

ภาพ : สารคดี

ข้อเสนอ “ต้องมี EIA – กลไกที่ให้อำนาจท้องถิ่นจัดการได้จริง”

“ผมคิดว่าทั้งหมดนี้มันยังคงมีปัญหาต่อไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่กระบวนการในการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่าความขัดแย้งก็จะเกิดเยอะมากขึ้น เพราะว่า ท้ายที่สุด มันไม่ได้มีใครมาเป็นคนกลางในการพิจารณาว่า ถ้าทำแล้วมันจะมีผลกระทบอย่างไร การศึกษาตอนนี้มันเป็นการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ทำ IEE แค่นั้น

การดูเรื่อง ผลกระทบต่อคลื่นลม การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ มันดูแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่ได้ดูแบบระยะยาว ตลอดของวงจรธรรมชาติของชายหาด ดังนั้นมันมีโอกาสที่มันจะมีผลที่มันจะกระทบต่อชายหาดค่อนข้างมาก เช่น ทำไปแล้วหาดหายไปเพราะว่า คุณไม่ได้มองเรื่องของคลื่นเรื่องของกระแสน้ำที่มันครอบคลุมทั้งฤดูกาลทั้งหมด

พอมันไม่มีกลไก ในการกลั่นกรองโครงการ อย่างเช่น มีการทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มันก็เหมือนกับรัฐเปิดประตูแค่บานเดียว แล้วก็เข้าบ้านได้เลย ซึ่งมันง่ายมากที่จะทำให้เกิดโครงการในหลาย ๆ พื้นที่ 

แต่ถ้ามีกลไกในการกลั่นกรองโครงการขึ้นมาในแง่ของการทำ EIA กระบวนการจะเกิดมันก็จะช้ามากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ความขัดแย้งไม่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดแบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

สุดท้ายต้นตอของปัญหาจริง ๆ คือมันเป็นการกัดเซาะที่มันเป็นชั่วคราว หลายที่มันเป็นลักษณะแบบชั่วคราว ถ้าตราบใดที่เรายังผลักภาระให้เป็นปัญหาให้กับหน่วยงานราชการส่วนกลางต้องมาจัดการมันไม่มีทางที่จะยุติความขัดแย้งนี้ได้เลย

ถ้าจะแก้ ต้องให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการปัญหานี้ด้วยตัวเอง มีอำนาจทั้งในเชิงกฎหมายมีอำนาจในเรื่องของบประมาณ และมีความรู้ว่าถ้ามีการเกิดการกัดเซาะชายฝั่งในลักษณะแบบชั่วคราวท้องถิ่นทำอะไรได้บ้างเพื่อที่จะป้องกันทรัพย์สินของประชาชน ป้องกันทรัพย์สินของราชการแล้วชายหาดยังคงอยู่ได้

เช่นใช้มาตรการชั่วคราว ก็คือวางในช่วงที่มันเกิดภัยเราพอผ่านภัยปุ๊บเอามันออก ซึ่งถ้าเราไม่ให้อำนาจตัดสินลักษณะแบบนี้ไม่ให้แนวทางเขาไม่ให้งบประมาณเขาไม่กระจายอำนาจไปให้เขาเราก็ยังคงเจอปัญหาที่ท้องถิ่นจัดการไม่ได้ แล้วก็ร้องขอโครงการไปที่กรมโยธาฯ ปัญหาไหนจบได้ถ้ากระจายอำนาจให้ท้องถิ่น” ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ชายหาด Beach For Life กล่าว