“ยังไม่มีการอนุมัติ-จะสอบประชามติมิชอบ” เหมืองคำโตนด ปราจีนฯ

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ยันยังไม่มีการอนุมัติอนุญาตใด ๆ กรณีการขอประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้ว พื้นที่คำโตนด อ.ประจันตคาม ปราจีนบุรี

รองอธิบดีฯ รับปากสอบกรณี “ย้ายคนนอกมาลงประชามติ” แต่ไม่รับปากยกเลิกเพิกถอนตามข้อเรียกร้องชาวบ้าน ขอดูข้อกฏหมายก่อน ยอมรับกฏหมายแร่ใหม่เปิดชาวบ้านมีส่วนร่วมมากขึ้น

ด้านชาวบ้านเผยกังวลมาก ผลกระทบชุมชนหลายมิติ-ความปลอดภัยในพื้นที่ ยันทางออกเดียว “ยกเลิก”

(ภาพ : Thai Post)

ส่งตัวแทนเข้ากรุง ยื่น กพร.

วันนี้ (18 ต.ค. 2565) ตัวแทนชาวบ้านจากพื้นที่ ต.คำโตนด อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรีในนาม “กลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว” 20 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ณ สำนักงาน กพร. 

“เพื่อขอให้กรมฯ ดำเนินการยกเลิก เพิกถอน หรือให้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอประทานบัตรที่ 3/2560 และการทำประชามติเพื่อทำเหมืองแร่ทรายแก้ว ในเนื้อที่ 256 ไร่ 51 ตารางวา ของบริษัท สินทรัพย์ธรรมชาติ จำกัด  ในพื้นที่ บ้านหนองลิง หมู่ 12 ต.คำโตนด อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ให้มีผลเป็นโมฆะ ด้วยเหตุผลกระบวนการดำเนินการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เรามีข้อกังวลเกี่ยวกับคำขอประทานบัตรที่ 3/2560 เนื่องจาก เป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมตามมาตรา 17 วรรคสี่  ซึ่งจะนำไปประกาศเป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ เพื่อนำไปขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ชนิดใดๆ ไม่ได้”ตัวแทนกลุ่มฯ กล่าว

(ภาพ : Thai Post)

4 ข้อเรียกร้อง

“1. ยกเลิก/เพิกถอน หรือให้มีคำสั่งให้การทำประชามติคำขอประทานบัตร ที่ 3/2560 ของบริษัทฯในวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 เป็นโมฆะเสีย

2. ขอให้ยกเลิก/เพิกถอน หรือให้มีคำสั่งให้เอกสารคำขอประทานบัตรที่ 3/256 ของบริษัทฯ เป็นโมฆะเสีย เหตุเนื่องจากว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรา 54 ที่ผูกพันกับมาตรา 188 ในเรื่องการยื่นคำขอประทานบัตรที่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ให้ครบถ้วน ด้วยเอกสารการสำรวจแร่ที่บริษัทฯ นำมายื่นไม่ได้ระบุถึงปริมาณแร่สำรองของแหล่งแร่ อันเป็นเนื้อหาหรือสาระสำคัญที่ละเว้นมิได้ตามระเบียบกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ว่าด้วยหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าพบแร่ชนิดที่ประสงค์จะทำเหมือง พ.ศ. 2561 

3. ขอให้มีคำสั่งให้บริษัทฯ ไปดำเนินการขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษเสียก่อน จึงค่อยมาดำเนินการยื่นคำขอประทานบัตรที่ 3/2560 ในภายหน้าเพื่อจะได้มีรายงานผลการสำรวจแร่ที่สามารถคำนวณปริมาณแร่สำรองของแหล่งแร่ได้อย่างโปร่งใส ไม่ปกปิดข้อมูลหรือปิดบังอำพราง หรือแสดงออกถึงความตั้งใจ มุ่งมั่น จริงจังในการที่จะทำเหมืองที่ใส่ใจหรือไม่ละเลยต่อกระบวนการ/ขั้นตอนต่าง ๆ อันมีสาระสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการมีส่วนร่วมและการรับรู้ของประชาชนในพื้นที่

4. ขอให้ กพร.ประสานร่วมมือกับคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ดำเนินการกำหนดพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรที่ 3/2560 ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมตามมาตรา 17วรรคสี่ ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเสียก่อน จึงค่อยปิดประกาศอนุญาตให้เอกชนมาดำเนินการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินทรายแก้วได้ในภายหน้า” ตัวแทนชาวบ้านกล่าว

(ภาพ : Thai Post)

“ยังไม่มีการอนุมัติอนุญาตใด ๆ-จะสอบกรณีคนนอกย้ายมาลงประชามติ” กพร.

“รับจะดำเนินการตรวจสอบตามข้อร้องเรียนของทางกลุ่มฯ และไม่ได้นิ่งนอนใจ 

ตามที่ทางกลุ่มฯ ได้มีข้อร้องเรียนมาในวันนี้ในประเด็นปัญหาการทำประชามติที่มีคนนอกพื้นที่นั้น ก็จะรับไปตรวจสอบโดยยึดตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องและเร่งรัดการดำเนินการเพื่อตอบกลับแก่ทางกลุ่มฯ โดยเร็ว กรมฯ จะตรวจสอบขอให้ไม่ต้องกังวล 

ถ้ามันผิดปกติจริงๆ ก็ต้องพิจารณาต่อ ว่าจะทำประชามติอีกครั้ง หรือยกเลิกตามที่ชาวบ้านร้องเรียนมาหรือไม่ 

ต้องดูข้อกฎหมายด้วยถ้ามันเป็นไปตามระเบียบแล้วไปยกเลิก ทาง กพร. อาจจะเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบเองก็ได้ ซึ่งกรมต้องเป็นกลางในเรื่องนี้ด้วย  โดยจะพยายามเร่งรัดให้เร็วที่สุด 

ส่วนในเรื่องขั้นตอนการอนุมัติเหมืองแร่นั้นก็ต้องตรวจสอบว่าถึงขั้นตอนไหนแล้ว ยืนยันว่าตอนนี้กระบวนการยังไม่มีการอนุมัติอนุญาตใดๆ ทั้งสิ้น

เป็นข้อดีของ พ.ร.บ.แร่ 2560 ที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม จากเดิมพระราชบัญญัติแร่ฉบับเก่าไม่ได้กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากนัก แต่ฉบับปี 2560 มีเรื่องการรับฟังความคิดเห็น มีการจัดทำประชามติ ซึ่งเป็นข้อดีของพระราชบัญัติแร่ พ.ศ. 2560”

อดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ตัวแทนรับหนังสือร้องเรียนตอบกลุ่มชาวบ้านประจันตคาม 

(ภาพ : Thai Post)

ประชามติที่น่าสงสัย

“8 พ.ค.65 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำประชามติ ซึ่งกลุ่มฯ ได้ติดตามสังเกตการณ์และพบว่าผลการลงประชามติมีผู้มาใช้สิทธิ 190 คน เห็นด้วย 91 ไม่เห็นด้วย 82 ไม่ประสงค์ลงคะแนน 7 บัตรเสีย 10 

เรามีข้อสังเกตว่าผลการประชามติอาจไม่ถูกต้อง เนื่องจากพบว่ามีคนนอกพื้นที่ที่ไม่เคยอยู่อาศัยในชุมชนเดินทางเข้ามาลงประชามติถึง 35 คน ซึ่งผลการลงประชามติที่เกิดขึ้นอาจไม่สะท้อนเสียงของผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้มีส่วนได้เสียในชุมชนอย่างแท้จริง” พิรุฬห์พิช สิทธิมงคล ผู้ประสานงานกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้วเปิดเผยสถานการณ์ในพื้นที่ล่าสุด

บริษัท สินทรัพย์ธรรมชาติ จำกัด ได้ยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ ชนิดแร่ทรายแก้วในพื้นที่ ต.คำโตนด อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี เมื่อ 16 มิ.ย. 60 แก่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 3 คำขอ รวมพื้นที่ประมาณ 527 ไร่ ต่อมาบริษัทฯ ได้ยื่นถอนคำขอที่ 1/2560 และ 2/2560 เมื่อ 30 ก.ย. 2563 โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดได้ถอนคำขอดังกล่าวแล้ว

ที่ผ่านมามีชาวบ้านแสดงความคิดเห็นว่า “ไม่เห็นด้วย” กับการทำเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ดังกล่าว แต่ปรากฎว่าก็ยังมีการดำเนินการอยู่ต่อเนื่อง 

5 พ.ค.65  กลุ่มคำโตนดฯ รวมตัวกันประมาณ 80 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ขอให้ยุติกระบวนการประชามติ เพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่ทรายแก้ว เนื่องจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับความชอบธรรมในกระบวนการดังกล่าว

(ภาพ : Thai Post)

ผลกระทบต่อชุมชน ข้อกังวลหลัก

“นอกจากนี้ยังมีประเด็นการยื่นคำขอประทานบัตรของเอกชนที่อาจไม่เป็นไปตามที่ พ.ร.บ.แร่ฯ กำหนดไว้ รวมถึงชุมชนมีข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบจากมลพิษที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง” ผู้ประสานงานกลุ่มฯ เปิดเผย

“เรามีความกังวลถึงผลกระทบทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ พืชผลทางการเกษตร การแย่งชิงทรัพยากรในชุมชน และที่สำคัญผลกระทบจากขณะเป็นพิษ กากอุสตสาหกรรมที่จะสะสมหรือปนเปื้อนในดินและน้ำ ถ้าหากมีการอนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้ามาทำเหมืองแร่ 

ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางเสียงจากการทำเหมือง และฝุ่นละอองที่จะเกิดขึ้นจากการขุดตักดิน ทราย และการขนส่งแร่โดยรถบรรทุก

ที่เรามาวันนี้เพื่อขอให้อธิบดี กพร. ยกเลิกการทำเหมืองแร่ ไม่ให้มีการทำเหมืองใดๆ ทั้งสิ้น เพราะชาวบ้านเดือดร้อน ซึ่งบ้านเราเป็นแหล่งน้ำซับซึมจากเขาใหญ่เป็นแหล่งต้นน้ำ หากมีเหมืองก็จะเกิดปัญหาฝุ่นละอองขึ้นกระทบกับสุขภาพของชาวบ้านโดยเฉพาะเด็กๆ” ศรัญญา ธีรศาสตร์ ตัวแทนชาวบ้านหมู่ 8 ต.คำโตนด กล่าว

“ไม่อยากให้เขาทำเหมืองแร่ทรายแก้ว เพราะชาวบ้านเดือดร้อน มองภาพไปข้างหน้าลูกหลานจะเดือดร้อนมาก เกิดความเสียหายกับในชุมชน ถนนหนทางก็ลำบาก ชำรุดและพัง ตากเสื้อผ้าก็จะลำบากเพราะมีฝุ่น น้ำใต้ดินก็จะเหือดหายเพราะพื้นที่เป็นแหล่งน้ำซับซึม น้ำบ่อ น้ำบาดาลก็จะหมด

ไม่อยากให้เหมืองอนุมัติผ่าน เพราะจะทำให้ชาวบ้านลำบาก ไม่ใช่แค่หมู่ที่  8, 10, 12 แต่ลำบากแทบทุกหมู่บ้านที่เป็นทางออก  ตนจึงมีความกลัวแต่ก็ต้องสู้  คนอื่นเขาสู้ได้ ทำไมเราจะสู้ไม่ได้ ตนมีที่ดินใกล้พื้นที่ทำเหมืองก็เลยมีความกังวลว่าอาจจะมีปัญหาทีหลัง เราก็ค่อยเป็นค่อยไป คอยดูไปเรื่อยๆ ว่าเขาจะมาในรูปแบบไหนบ้าง ถ้ามีญาติพี่น้องช่วยกันสู้ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องหมู่ 8 หมู่ 10  หรือหมู่ 12 

ถ้าเหมืองเกิดขึ้นจริงๆ จากที่เคยเห็นมาระยะทาง 3 กม. เขาจะไม่ให้คนนอกเข้าเลย ระยะขอบที่เขาทำไว้ก็ไม่สามารถที่จะไปเดินดูได้ เพราะมีลูกน้องคอยดูตลอด  ตอนแรกเขาบอกชาวบ้านว่าเป็นเรื่องดีทำให้มีงานทำ แต่หากเหมืองเกิดขึ้นแล้วเท่าที่เคยเห็นว่าไม่มีทางปฏิบัติได้จริงเลย” ” สมหมาย ขยันชิด ชาวบ้าน หมู่ 8 ต.คำโตนด กล่าว

(ภาพ : Thai Post)

ความปลอดภัยในพื้นที่ อีกข้อกังวล

“ทุกวันนี้ชาวบ้านกินไม่ได้นอนไม่หลับ กลัวว่าจะไม่มีใครช่วยเหลือ ชาวบ้านช่วยกันเองไม่รู้กฎหมาย ก่อนที่จะมาก็มีคนข่มขู่ เราต้องอยู่กันอย่างระวังตัว 4-5 โมงเย็นต้องรีบกินข้าวและปิดบ้านแล้ว เพราะไม่รู้ใครจะถูกหมายหัวบ้างตนก็เคยได้รับการติดต่อให้ไปพบแต่ตนไม่ไป 

ที่ผ่านมาก็มีคนถูกชาย 7-8 คนเข้ามาข่มขู่ตามบ้านในเวลากลางคืน ซึ่งชาวบ้านกังวลในเรื่องภัยมืดลักษณะนี้มาก” ศรัญญา กล่าว