ท่ามกลางความพยายามผลักดันของรัฐบาลประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐบาลไทย ในการเดินหน้า “โครงการเขื่อนปากแบง” โครงการก่อสร้างเขื่อนบนลำน้ำโขงในสปป.ลาว เพื่อผลิตไฟ (เกือบทั้งหมด)ส่งมาขายให้ไทย ด้วยเงินลงทุนจากไทยและจีน
ความเคลื่อนไหวล่าสุดในไทยมีศูนย์กลางอยู่ที่สองแห่ง “ในรัฐสภาและในเชียงราย”
ในสภา คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ กำลังพิจารณาประเด็น “การชะลอการลงนามซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงของ กฟผ.” ว่าควรดำเนินการอย่างไรจึงจะดีที่สุดต่อประเทศในทุกมิติ ขณะที่ในเชียงราย พื้นที่หลักที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญหากมีการสร้างเขื่อนปากแบง ชาวบ้านและเครือข่ายสิ่งแวดล้อมกำลังเคลื่อนไหวเรียกร้องการแก้ไขในประเด็นผลกระทบโครงการที่มีแนวโน้มจะมากกว่าที่เจ้าของโครงการคาดมาก ในหลายมิติ
“ผลกระทบและพื้นที่กระทบในไทย-ขั้นตอนการเดินหน้าโครงการ-มาตรฐานการทำสัญญาซื้อขายไฟโครงการข้ามแดน (PPA)” คือ 3 ความคลุมเครือสำคัญเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ณ วันนี้ ที่ต้องการความชัดเจน หากรัฐบาลไทยต้องการดำเนินโครงการการลงทุน-ความร่วมมือข้ามแดนนี้อย่างมี “ธรรมาภิบาล” โปร่งใส และตรวจสอบได้
นราวิชญ์ เชาว์ดี ผู้สื่อข่าว GreenNews รายงานจากเชียงราย

“ผลกระทบ-พื้นที่กระทบโครงการในไทย” คลุมเครือ
“(เรา)อยากรู้ว่าผลกระทบมันจะมีถึงจุดไหน อยากให้หน่วยงานรัฐ และบริษัทมาชี้แจงกับชาวบ้านว่าผลกระทบมันจะเกิดถึงไหน น้ำมันจะถึงกี่เมตร ถึงตรงไหน อยากทราบตรงนี้ ชาวประมงหาปลา หาสาหร่ายขายตามฤดูกาล จะได้รับผลยังไง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่รู้ว่าน้ำจะขึ้นถึงระดับไหน ก็อยากให้ทางบริษัทและหน่วยงานที่รับผิดชอบมาชี้แจง
ในพื้นที่มีการปลูกส้มโอกว่า 3,450 ไร่ ซึ่งเป็นมูลค่ากว่า 200 – 300 ล้าน ชาวบ้านในพื้นที่ก็กังวลว่าพื้นที่และรายได้ในส่วนนี้อาจจะถูกน้ำท่วมจากผลกระทบของเขื่อน”
หนึ่งในผู้นำชาวบ้านจากอ.เวียงแก่น กล่าวในการประชุม ณ สำนักงานเทศบาลตำบลม่วงยาย เมื่อวันที่….ที่ผ่านมา สะท้อนสถานการณ์และระดับความกังวลของคนลุ่มโขงในพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนปากแบงล่าสุดได้เป็นอย่างดี
“ประเด็นสำคัญของเขื่อนทั้ง 3 เขื่อนที่ถูกผลักดันการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยเฉพาะเขื่อนปากแบงก็คือ ปัญหาเรื่องการรับรู้หรือข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลเรื่องน้ำเท้อ การอพของของปลา การเปลี่ยนสัญฐานของแม่น้ำ การหายไปของตะกอน สิ่งพวกนี้ไม่ได้รับการศึกษาอย่างชัดเจนและสมบูรณ์ ซึ่งนักวิชาการและหน่วยงานของรัฐก็ยอมรับว่ายังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังมีการดันทุรังจะสร้างขึ้น” ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของฉายภาพรวมความกังวลของคนในพื้นที่จากการทำงานของเครือข่ายคนลุ่มโขงเชียงราย
“เรื่องผลกระทบ ตอนนี้ก็เอือมระอากับเขื่อนจีนที่ปล่อยน้ำลงมาทุกวัน บางครั้งน้ำมันขึ้นเป็น เมตร 2 เมตรก็มี เวลาปิดน้ำ น้ำก็ลดไปกล่าวเมตร 2 เมตร เรือจะหาปลาก็ลำบาก ผมเกรงว่าถ้าเกิดเขื่อนขึ้นมาจริง ๆ พวกชาวบ้านที่หาปลาก็จะลำบาก
ทุกวันนี้ปลาก็น้อยมาก ที่สูญหายไปก็เยอะ เมื่อก่อนเคยหาปลาได้วันนึงเป็นหมื่น แต่ 20 ปีมานี้ตั้งแต่มีเขื่อนจีนหาปลาลำบากมาก ต้องลงทุนเยอะ น้ำมันแพง ปลาน้อยลง ปลาที่เคยมีก็ไม่มี พืชที่ปลาจะพักไปวางไข่เวลาน้ำหลากแต่ตอนนี้น้ำแห้ง อะไรมันก็ตายหมด 20-30 ปีก่อน ก็จะมีปลาใหญ่ ปลาบึก ปลารึม ก็มีมาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว
การทำประมงเคยทำเงินให้ผมปีนึงกว่า 3-4 แสน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ถึงแสนแล้ว หมดไปกับต้นทุนเยอะ ความเป็นห่วงของพวกผมคือ ถ้าน้ำเอ่อมาจริง ๆ จะทำประมงก็ไม่ได้ ทำเกษตรก็ไม่ได้ แล้วจะทำอะไร รับจ้างเข้ากรุงเทพฯ หรือ” ตัวแทนชาวประมงกล่าว
“ผมเคยไปประชุมร่วมกันกับทางอีสานก็มีความกังวลร่วมกัน เราไม่ทราบข้อมูลว่าสร้างเขื่อนแล้วจะเป็นยังไง น้ำเท้อ ตะกอน ทางฝ่ายที่จะดำเนินการไม่ว่าจะรัฐบาลไทย ลาว หรือบริษัท ก็ไม่ได้บอกเลยว่าเขื่อนสูงเท่าไหร่ เก็บน้ำเท่าไหร่ จะระบายตะกอนยังไง ตรงนี้เป็นความกังวลของพี่น้องประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ
ในส่วนของประเทศลาวเค้าบอกกังวลแต่เค้าพูดอะไรไม่ได้ แต่ที่ไทยเราสามารถพูดได้ แล้วก็อยากรู้ข้อมูลว่า แก่งผาได ที่เราทำเป็นที่ท่องเที่ยว ถ้าเราไม่รู้ข้อมูลเราก็ไม่รู้ว่าจะท่วมถึงไหน (เพราะ)ถ้ามันท่วมมันก็กระทบกับทางท่องเที่ยว
ถ้าหากน้ำมันเท้อขึ้นมาเยอะ จะเอาแนวไหนเป็นแนวร่องน้ำลึก เขตแดนมันก็เปลี่ยน มันไม่ได้กระทบแค่ด้านใดด้านหนึ่งมันกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านสาธารณสุข เชื้อโรคต่าง ๆ
ชาวบ้านก็อยากทราบข้อมูล ถ้าข้อมูลมันชัดเจนจะให้ความมั่นใจกับชาวบ้านที่เค้ากระทบมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้ามันกระทบมันก็ทำให้วิถีสังคม ชุมชน เปลี่ยนไปเลย จะเอากลับคืนมาก็ยาก” อดีตนายกอบต.กล่าว
“ข้อกังวลแต่ละข้อมันก็เป็นเรื่องใหญ่ ๆ ทั้งนั้น แต่กังวลที่สุด ที่มันเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุดก็เป็นเรื่องของน้ำเท้อ น้ำท่วม มันเปลี่ยนไวที่สุด
น้ำเท้อมันจะเห็นผลไวที่สุดเลยไง สร้างเสร็จปุ๊บมันจะเกิดเลย อย่างเรื่องปลาเรื่องอะไรมันก็จะตามมาเรื่อย ๆ ใช่มะ การอพยพของปลาอะไรต่าง ๆ ต้องมีการศึกษาว่าลดไปกี่ชนิด สิ่งที่มันเห็นชัดเจนเลยก็คือ สร้างปุ๊บเนี่ย ที่ว่าเอาความสูงระดับเดิมเนี่ย ท่วมแน่ ถ้าท่วมมันก็เห็นชัดเจนเลยไง
ถ้าเขื่อนปากแบงสร้างขึ้น แล้วเกิดน้ำมันเท้อขึ้นมา แก่งผาได แก่งก้อนคำ น้ำมันก็จะท่วม จากที่ชาวบ้านเคยใช้ประโยชน์เป็นแหล่งท่องเที่ยว จัดกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะใช้ไม่ได้
มันเป็นเรื่องของการเสียแผ่นดินที่เราเคยใช้ประโยชน์ใช่ไหม ตอนนี้มันเป็นเรื่องระดับประเทศแล้ว เป็นเรื่องของดินแดนที่จะต้องเสียไป ซึ่งเรื่องพวกนี้ฝ่ายความมั่นคงไม่เคยพูดถึง เราไปถึงกรรมาธิการ เราเห็นชัดเจนว่าความเข้าใจเรื่องนี้ยังมีไม่มีไม่พอ ความเสี่ยงที่จะสูญเสียดินแดนเนี่ย รัฐไทยและเจ้าหน้าที่จะต้องรับรู้เรื่องนี้” ครูตี๋กล่าว
“ระดับการกักเก็บน้ำของเขื่อนปากแบงที่มีความสูง 340 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) จะทำให้เกิดน้ำเท้อ น้ำจากปลายอ่างเก็บน้ำยกระดับเข้ามาในประเทศไทยกว่า 10 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะถึงสะพานมิตรภาพเแห่งที่ 4 จากผลกระทบนี้จะทำให้บริเวณแก่งผาไดถูกน้ำท่วมหมด
นอกจากนั้นระดับน้ำเท้อยังมีผลต่อพื้นที่ราบในเขตลุ่มน้ำหง่าว ต.ไหลงาว ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำระดับน้ำที่สูงขึ้นจะส่งผลให้น้ำท่วมทุ่งนา ที่อยู่อาศัย ซึ่งนอกจากน้ำเท้อแล้วฤดูฝนก็มีน้ำที่ไหลลงมาจากดอยอีก
คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปชี้แจง ได้รับคำตอบว่ายังไม่มีการทำรายงานผลกระทบข้ามแดนมายังฝั่งไทย” มนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) กล่าว
“แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่เชื่อมโยงกัน 6 ประเทศตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยจนถึงเวียดนาม ผลกระทบที่มันเกิดขึ้นมันไม่ได้หยุดอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่มันเป็นผลกระทบข้ามพรมแดน เราบอกไม่ได้ว่าผลกระทบมันเกิดจากเขื่อนใดเขื่อนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่มันเกิดความเสียหายกับระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่มันเชื่อมโยงกัน” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าว

“กระบวนการตัดสินใจเรื่องการประเมินผลกระทบโครงการ” คลุมเครือ
หนึ่งในคำถามพื้นฐานสำคัญสำหรับโครงการลงทุนข้ามเขตแดนประเทศอย่างโครงการเขื่อนปากแบงคือ จะยึดหลักเกณฑ์–กฎหมายประเทศไหนเป็นหลัก ในการดำเนินโครงการด้านต่าง ๆ รวมถึงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ เพราะแต่ละประเทศระดับความเข้มข้นของแต่ละเรื่องย่อมแตกต่างกัน
ข้อตกลงทวิภาคี (ระหว่างสองประเทศ) และข้อตกลงระดับภูมิภาคภายใต้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission – MRC) ได้เข้ามามีผลในทางปฏิบัติของการดำเนินโครงการลักษณะนี้ ในระดับที่แตกต่างกันในแต่ละด้าน
ในขณะที่รายละเอียดข้อมูลด้านวิศวกรรม การลงทุน และการค้าไฟฟ้าของโครงการเขื่อนปากแบงมีความชัดเจนมาก ข้อมูลด้านผลกระทบโครงการฯ กลับมีแนวโน้มไปในทางตรงกันข้าม ในทางปฏิบัติ
“โครงการเขื่อนปากแบง (Pak Beng hydropower project) เป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน สร้างอยู่ในบริเวณดอน เทด แม่น้ำโขง เมืองปากแบง สปป.ลาว โดยเขื่อนปากแบง ตั้งอยู่บริเวณท้ายนำ้ของแก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ประมาณ 97 กิโลเมตร โดยมีสันเขื่อนสูง 340 ม.
มีกำลังผลิต 930 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตที่รับซื้อ 897 เมกะวัตต์ โดยมีราคารับซื้อ/กิโลวัตต์ 2.9179 โดยมีระยะเวลาการทำสัญญา 29 ปี โดย ปีที่เริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพานิชย์ (COD) คือปี พ.ศ. 2576
ผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัท Pak Beng Power Company Limited (PBPC) โดย บริษัทไชน่าต้าถังโอเวอร์ซี บริษัทสัญชาติจีน ถือหุ้น 51% และ บริษัทสัญชาติไทย กัลฟ์ เอเนอยี ถือหุ้น 49%” รายละเอียดด้านที่ชัดเจนของโครงการปากแบง ที่เผยแพร่สู่สาธารณะในหลากหลายช่องทางที่ตรงกัน อ้างอิงจากมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช) และหน่วยงานรับผิดชอบหลัก
ในขณะที่ข้อมูลด้านการศึกษา วิเคราะห์ และตัดสินใจเรื่องผลกระทบโครงการเขื่อนปากแบงระบุว่า ให้ใช้กลไก PNPCA (กระบวนการแจ้งล่วงหน้า ปรึกษาหารือ และตกลง (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538)
“โดยกระบวนการ PNPCA จะมีระยะเวลาสิ้นสุดในระยะเวลา 6 เดือน และต้องมีฉันทามติก่อนที่จะนำไปสู่กระบวนการสรุปความเห็นของคณะกรรมการร่วมทั้ง 4 ประเทศ หรือเรียกว่า Join Committee หากคณะกรรมการมีความเห็นไม่ตรงกัน ต้องเข้าสู่กระบวนการการตัดสินใจของคณะมนตรีแม่น้ำโขง” ข้อมูลอ้างอิงจาก MRC ระบุ
แต่ในความเป็นจริง PNPCA โครงการเขื่อนปากแบงเข้าสู่กระบวนการเมื่อ 20 ธ.ค. 2559 และครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือนในวันที่ 19 มิ.ย. 2560
โดยกรมทรัพยากรน้ำในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยได้จัดให้มีเวทีให้ข้อมูลในประเทศไทยจำนวน 4 เวทีใน 3 จังหวัด แบ่งออกเป็น จังหวัดเชียงราย 2 เวที จังหวัดหนองคาย 1 เวที และจังหวัดอุบลราชธานี 1 เวที
สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCs) ได้เผยแพร่รายงานผลกระทบและ คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (Thai Mekong River Commission) โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่ทำหน้าที่จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาของ Join Committee
ซึ่งทั้งสองกระบวนการถูกผู้ร่วมเข้าประชุมตั้งคำถามต่อความไม่สมบูรณ์ของรายงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะจากเครือข่ายองค์กรประชาชนและสิ่งแวดล้อมทั้งในไทยและระดับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ทั้งคำถามเรื่อง ไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนตามธรรมชาติในแม่น้ำโขง ระหว่างไทยกับลาว ไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนในด้าน ความเสื่อมโทรมทรัยากรประมง ประสิทธิภาพของทางปลาผ่าน และผลกระทบต่อการประมงและการปลูกพืชริมตลิ่ง
“กระบวนการ PNPCA เป็นเพียงโครงการที่ให้ประเทศสมาชิกแม่น้ำโขง 4 ประเทศปรึกษาหารือ ประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นของโครงการต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันแต่ ไม่มีอำนาจในการอนุมัติหรือยับยั้งโครงการ
หลังจากจบกระบวนการแล้วก็ไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการจัดการผลกระทบ นอกจากนั้นกระบวนการยังไม่สนใจฟังเสียงของชาวบ้านที่มีการเสนอให้ชะลอโครงการเพื่อศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ยังมีกรณีที่ข้อมูลที่มีความคลุมเครือไม่ใช่เจน ไม่สามารถตอบคำถามของผู้สงสัยให้คลายข้อกังขาได้
กระบวนการยังไม่มีความคลอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้วย อย่างเช่นกรณีของเขื่อนปากแบงที่มีเวทีเพียงแค่ 3 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขงเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่าน 8 จังหวัด และผลกระทบที่เกิดจากโครงการก็อาจจะเกิดในหลายพื้นที่ตลอด 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำ” เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการ PNPCA ที่ปฏิบัติจริงในโครงการนี้
ความคลุมเครือของการดำเนินการด้านการศึกษา วิเคราะห์ และตัดสินใจเรื่องผลกระทบโครงการเขื่อนปากแบงดังกล่าวในภาคปฏิบัติ ส่งผลให้เกิดคำถามสำคัญว่า แล้วการดำเนินการเรื่องนี้นับจากนี้จะเป็นอย่างไร และใครจะเป็นคนตัดสินใจหลัก ด้วยกลไกอะไร

“ขั้นตอนดำเนินโครงการ” คลุมเครือ
“ขณะนี้ภาครัฐกำลังเร่งรัดให้เกิดการก่อสร้าง และลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) มีการเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว อัยการก็ตรวจสอบร่างเรียบร้อยไปแล้ว ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะเซ็นกันเมื่อไหร่อย่างไร
ข้อกังวลสำคัญก็คือ ถ้าเขื่อนปากแบงถูกสร้างขึ้น เขื่อนต่าง ๆ ต้องสร้างแน่นอนละ” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวถึงความกังวลต่อการผลักดันดำเนินโครงการเขื่อนปากแบงล่าสุด
“ก่อนหน้านี้เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขงได้ทำจดหมายถึงคณะกรรมาธิการการ (กมธ.)เศรษฐกิจ กมธ.ต่างประเทศ และกมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน เพื่อให้พิจารณาชะลอการลงนามซื้อขายไฟฟ้า
กรรมาธิการ (เศรษฐกิจ) ได้ยื่นหนังสือขอชะลอการลงนามซื้อขายไฟฟ้ากรณีเขื่อนปากแบงถึงกฟผ. แต่กฟผ.ก็ตอบกลับมาว่าไม่มีอำนาจ คือหน่วยงานที่มีอำนาจสั่งการไม่ได้สั่งมา
ล่าสุดเราก็ไม่ทราบว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าล่าสุดมีการลงนามแล้วหรือยัง และยังไม่มีความคืบหน้าว่าการตรวจสอบของกรรมาธิการจะมีผลอย่างไรต่อการชะลอการลงนามซื้อขายไฟฟ้า (PPA)
ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานของเรา หากมีการลงนามซื้อขายไฟฟ้าแล้วก็ถือว่าเป็นใบการันตีแน่นอนว่าโครงการจะได้เงินกู้ ได้ไปต่อ แล้วก็จะได้มีการซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ตามระยะเวลาที่กำหนด ในกรณีปากแบงคือ 29 ปี ก็คือบริษัทสามารถกู้เงินและนำไปก่อสร้างได้เลย” เพียรพรกล่าว
รายงานข่าวเปิดเผยว่า เมื่อ 26 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา กิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบขนส่งทำหน้าที่ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้ส่งหนังสือตอบกลับประธาน กมธ. การพัฒนาเศรษฐกิจฯ ระบุว่า ขณะนี้ร่างสัญญาโครงการเขื่อนปากแบงอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาฯ ตามข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) จึงไม่สามารถเปิดเผยสัญญาต่อคณะกรรมาธิการได้
โดยให้เหตุผลว่า การเปิดเผยร่างสัญญาก่อนที่จะมีการลงนามจะเป็นการเปิดเผยร่างสัญญาในขณะที่อยู่ระหว่างการดำเนินการที่อาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจาการดำเนินการของ กฟผ.และหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งอาจทำให้ กฟผ.และคู่สัญญาคือผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนได้รับความเสียหายจากความคลาดเคลื่อนนั้น
ส่วนเรื่องของการชะลอสัญญาในหนังสือตอบกลับมาว่า กฟผ. ยังไม่ได้รับคำสั่งอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจและหน้าที่ในเรื่องการชะลอสัญญา
ขณะที่ความชัดเจนจากกลไกสภายังมีคำถามไม่น้อยว่าจะมีผลมากน้อยเพียงไรในทางปฏิบัติ ต่ออนาคตโครงการเขื่อนปากแบง ความคืบหน้ากลับปรากฎเด่นชัดในฟากนักลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง
25 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี่ ดีเวลลอปเม้น (GULF) และ China Datang Overseas Investment Co.,Ltd. (CDTO) รัฐวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) ของโครงการเขื่อนปากแบง กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดย กฟผ. กับผู้พัฒนาโครงการได้จัดทำร่าง PPA แล้วเสร็จ
ซึ่งก่อนหน้านี้จากข่าวที่ว่า กัลฟ์มีแผนที่จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการเขื่อนปากแบง ทำให้ 1 ก.พ. 2565 ราคาหุ้น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ขึ้นไป 3.06% จาก 50.50 บาท บวกไป 1.50 บาท (ที่มา: kaohoon)

จากคำถาม “ธรรมาภิบาลการลงทุน(ข้ามแดน)”
ถึงข้อเสนอทางออก “ชะลอลงนาม” ที่ไร้เสียงตอบรับ
“ทุกวันนี้เขื่อนสร้างขึ้นเพื่อทำกำไรให้เอกชนหรือไม่? สัญญาซื้อขายไฟฟ้าลงนามหรือยัง? ลงนามแล้วมันชอบหรือไม่? การรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างไร?
คำถามก็คือมันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ ในอดีตเมื่อก่อนเขื่อนต่าง ๆ มันก็มีการก่อสร้างก็บอกว่าเพื่อพัฒนาประเทศ เพื่อผลิตไฟฟ้า เพื่ออะไรต่าง ๆ ต้องมีคนเสียสละ แม้กระนั้นก็มีคนที่เดือดร้อนจนถึงปัจจุบัน เช่นผู้ที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อนภูมิพลพึ่งจะเคยได้ใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง เขื่อนสร้างไปแล้ว 50 ปี แต่ครั้งนี้มันไม่ใช่เลย มันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับการลงทุนของภาคเอกชนหรือไม่ นี่คือคำถามที่เราอยากจะได้ฟังคำตอบ ว่าทำไมถึงอยากให้มีโครงการเขื่อนแห่งนี้
ปากแบงเป็นหนึ่งใน 4 โครงการที่มีการผลักดันอยู่ในขณะนี้ให้ไทยรับซื้อไฟฟ้าคือ ปากแบง หลวงพระบาง ปากลาย สานคาม ซึ่งโครงการสานคามอยู่ใกล้กับพรมแดนไทย-ลาวที่เชียงคาน เลย เพียง 1.5 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าเกิดขึ้นผลกระทบมันมหาศาลอยู่แล้ว ที่สำคัญคือ เขื่อนเหล่านี้เป็นของเอกชน มันไม่ได้เป็นเขื่อนที่พัฒนาอะไรใคร มีแต่สร้างความเสียหาย” เพียรพรตั้งคำถามต่อทิศทางนโยบายเรื่องนี้
“ควรชะลอการลงนามซื้อขายไฟฟ้าไปก่อน เพราะว่าเขื่อนนี้ไม่มีความจำเป็นใด ๆ เลย เนื่องจากเหตุผลหลักก็คือไฟฟ้าในระบบของประเทศไทยมีสำรองเกินพอแล้ว ไฟฟ้ามากกว่าครึ่งที่ผลิตมาไม่ได้ใช้ ดังนั้นไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากโครงการเขื่อนแห่งใหม่
การไม่ต้องลงนามซื้อขายไฟฟ้าก็เป็นการหยุดโครงการนี้ไปเลย และถ้าเป็นการพิจารณาบนฐานประโยชน์ของประเทศของคนไทยทุกคน เชื่อว่าโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะโครงการที่ทำลายล้างอย่างโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงยังไม่ต้องก่อสร้างใด ๆ เลย” เพียรพรกล่าวถึงข้อเสนอทางออกต่อรัฐบาล เพราะผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการคือผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ซึ่งจะได้รับผลกระทบถูกผลักภาระความผิดพลาดจากการลงทุนเช่นนี้ในที่สุด
“การคัดค้านโครงการเขื่อนไม่ใช่แค่เรื่องของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือชาวบ้านในพื้นที่เชียงราย หรือประชาชนไทยใน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงเท่านั้นแต่เป็นเรื่องของประชาชนไทยทุกคนที่ใช้ไฟฟ้า ที่จ่ายค่าไฟฟ้าทุก ๆ วันว่าเรากำลังจะต้องจ่ายเพิ่มเพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่คือเขื่อนปากแบง ซึ่งไม่มีความจำเป็นอะไรเลย
มันเป็นเงินในกระเป๋าเราทุกคนที่ไหลไปสู่โรงไฟฟ้าแห่งใหม่เพราะว่าเราต้องจ่ายผ่านค่าไฟฟ้าทุกเดือน ซั่งปริมาณไฟฟ้าสำรองของเรามันเหลือใช้ทุกเดือน คำถามก็คือทำไมผู้บริโภค ผู้ใช้ไฟฟ้าคนไทยทุกคนจะต้องมาจ่ายเงินให้กับโครงการเขื่อนแห่งใหม่ที่ไม่มีความจำเป็นใด ๆ เลย และยังไม่รวมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางสังคมอีก” เพียรพรกล่าว
“ประเด็นใหญ่ก็คือประเด็นเรื่องศึกษาผลกระทบนี่แหละที่เราเสนอทุกฝ่าย พี่น้องชาวบ้านก็อยากให้ศึกษาหมด ให้เห็นชัด ๆ เลยว่ามันเป็นยังไง
ถ้าทุกคนผู้ที่เกี่ยวข้องยอมรับในสิ่งที่ศึกษา มันอาจจะสร้างไม่สร้างก็คือการยอมรับในผลการศึกษา แต่อีกอย่างนึงที่มันซับซ้อนมากกว่านั้น ซึ่งเราอาจจะเอื้อมไปไม่ถึงตรงนั้น แต่มันก็คงมีผลของมันเอง แต่ประเด็นการศึกษามันก็เป็นสิ่งสำคัญแหละ เอามาวางลงแล้วมาดูด้วยกัน มันเป็นยังไงก็คุยกัน
ถ้ามันดื้อจะสร้างต่อเนี่ย มันพูดถึงอธิปไตยใช่ไหม สร้างในประเทศลาวอย่างเงี้ยก็โอเคเป็นเรื่องของบ้านเขา แต่ว่าสิ่งที่เราเป็นห่วงก็คือที่มันจะกระทบที่บ้านเรา นี่คือสิ่งที่เราพูดมาโดยตลอด พยายามโน้มน้าวให้เห็นว่ามันต้องมีการศึกษา มันจะมีผลกระทบ มันจะมีข้อขัดแย้งอะไรเกิดขึ้นมั่งละเรื่องเขตแดน
ชาวบ้านก็รู้ว่าจะสร้างเขื่อนนั่นแหละ แต่ไม่รู้ว่ามันจะท่วมถึงไหน ผู้บริหารระดับท้องถิ่นก็ยังไม่ทราบ นายอำเภอก็ยังไม่ทราบเลย แต่มันก็ชัดเจนว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่ชาวบ้านควรจะรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ชาวบ้านก็ยังไม่รับรู้เลย นี่ก็เป็นสิ่งสำคัญ
ชาวบ้านเค้าก็กังวลเรื่องที่ดินที่ทำมาหากินของเค้า เรือกสวนไร่นาของเขา ที่อาจจะโดนน้ำท่วม ที่เป็นฐานของการดำเนินชีวิตของเขา” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของให้ความเห็นเพิ่มเติม
“ในเขตประเทศไทยก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนศึกษาให้ชัดเจนว่าน้ำเท้อขึ้นมาที่ระดับต่าง ๆ ในฤดูฝน และถ้ามีน้ำเหนือ น้ำจากดอยไหลลงมา พื้นที่ในเขต ต.ไหลงาว หลายหมู่บ้านจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงไหน
เราอยากเห็นการศึกษาจริง ๆ ว่าจะมีผลกระทบยังไง เราคิดว่าหน่วยงานในปรเทศไทยสามารถศึกษาเรื่องนี้ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานว่าจะศึกษาหรือป่าว” มนตรีให้ความเห็น
