GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล
1.
ช่วงนี้กระแสการแตกตัว ควบรวมและย้ายพรรคของบรรดา ส.ส. ดำเนินไปอย่างเข้มข้น สิ่งที่สังคมโดยเฉพาะสื่อสนใจเป็นพิเศษคือเรื่อง ส.ส. ก๊วนไหนจะย้ายหนีพรรคพลังประชารัฐ เพราะกระแสตกชนิดที่ยังไม่เห็นหนทางจะกู่ขึ้น และ ส.ส. คนใหนจะย้ายกลับไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย ตามกระแสแลนด์สไลด์
เวลาดูข่าวการเมือง สิ่งที่เราเห็นบ่อยๆ คือ เวลานักข่าวเจอผู้นำรัฐบาล ก็ถามแต่เรื่องปัญหาความขัดแย้งภายในรัฐบาล ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเราเลย สิ่งที่ผมอยากเห็นมากกว่าคือ รัฐบาล พรรคการเมืองและ ส.ส. ถกเถียงกันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างไร พวกเขามีข้อเสนออะไรใหม่ที่ทำให้เรารู้สึกมีความหวังบ้าง จะหาทางลดราคาปู๋ยได้อย่างไร จะเพิ่มราคาผลผลิตอย่างไร ลูกหลานที่กำลังเรียนเมื่อจบมาแล้วจะมีงานทำไหม แต่น่าเสียดายที่ผมกลับเห็นไม่บ่อยนัก
2.
ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบการเมือง เรื่องเหล่านี้ก็ถูกกรอกเข้าหูเข้าตาเราทุกวันผ่านสื่อทุกช่องทาง สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างเบื่อคือ สื่อมักจะเกาะติดและเอาแต่รายงานความเคลื่อนไหวของประยุทธ์ ประวิตร ธรรมนัส แลนสไลด์ จะปิดดิลหรือดิลล่ม ดิลลับจะถูกเปิดไหม และการโยกย้ายไปมาของบรรดา ส.ส. มากกว่าที่จะเสนอว่าแต่ละพรรคได้พัฒนานโยบายสำหรับประชาชนไปถึงไหน และนโยบายของพรรคไหนที่โดนใจประชาชนบ้าง การเสนอสถานการณ์นี้สู่สังคมไม่ได้ช่วยให้สังคมดีขึ้นเลย ประชาชนอย่างพวกเราก็ไม่ได้ประโยชน์ด้วยอะไรด้วย ส.ส. เหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองน้ำเลว และสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นั้นก็เพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตัวเองและพวกพ้องเท่านั้น แต่สื่อกลับเกาะติดสถานการณ์และเสนอข่าวสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เท่ากับเป็นการให้ค่าพฤติกรรมที่น่ารังเกียจเหล่านั้น

3.
ปัญหาการเมืองที่เกี่ยวข้องกับปากท้องประชาชนที่สำคัญมาก คือ ปัญหาเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน เป็นปัญหาใหญ่ของคนชนบท ทั่วประเทศมีพื้นที่ประมาณ 15 ล้านไร่ มีผู้ได้รับผลกระทบราว 10 ล้านคน ซึ่งปัญหานี้นี้ทำให้คนจำนวนมากต้องสูญเสียโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังจะเข้าสู้โค้งสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งใหม่ ผมสังเกตเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดิน แทบจะไม่ถูกพรรคการเมืองใหญ่ๆ พูดถึงในการต่อสู้ช่วงชิงทางการเมือง
การที่พรรคการเมืองที่อยู่ในกระแสอย่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ค่อยพูดถึงการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินในเขตป่านั้น ผมคิดว่ามีสาเหตถสองประการ คือ ประการแรก เพราะเรื่องนี้จะถูกเชื่อมโยงกับปัญหาการบุกรุกทำลายป่า ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน ระหว่างกลุ่มคนชนบทที่ได้รับผลกระทบแม้มีจำนวนมากแต่ไม่มีเสียงในสังคม กับชนชั้นกลางและคนมีอำนาจในระบบราชการซึ่งมีเสียงดังกว่า เสียงของชนชั้นกลางที่รักป่าอย่างไม่ลืมหูลืมตาเหล่านี้ และการปั่นกระแสของคู่แข่งทางการเมืองในจังหวะที่มีการช่วงชิงกระแสนิยมทางการเมือง เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองใหญ่เหล่านั้นกลัวและใส่ใจมากกว่าปัญหาที่ชาวบ้านกำลังเผชิญจริงๆ
ปัญหาสิทธิในที่ดินเป็นปัญหาโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม คือ ระบบกฎหมายและโยบายเกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้ ถูกออกมาแบบมาเพื่อเอื้อผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ ในขณะที่มุ่งกีดกันสิทธิและประโยชน์ของคนชนบท การแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดิน จึงจำเป็นต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบาย ในฐานะที่เป็นระเบียบจัดสรรผลประโยชน์ในที่ดินและทรัพยากรของรัฐ ซึ่งการผลักดันให้รัฐสภาออกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือให้รัฐบาลแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบาย จะต้องรณรงค์หรือเจรจาต่อร่องกับฝ่ายการเมือง อย่างไรก็ตามกลับพบว่าภาคประชาสังคมมักจะไปเรียกร้องเอากับฝ่ายราชการประจำ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติที่พวกเขาจะต้องทำตามระเบียบกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลที่ฝ่ายการเมืองเป็นผู้กำหนดให้
น่าเสียดายว่าปัจจุบันมีองค์กรภาคประชาสังคมบางกลุ่ม ปฏิเสธที่จะร่วมงานหรือสนับสนุนพรรคการเมือง โดยอ้างว่าพวกเขาวางตัวเป็นกลางหรือเป็นองค์กรที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่อยากถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ท่ามกลางสถานการณ์ที่คนกำลังถูกละเมิดสิทธิหรือถูกกีดกันสิทธิอยู่นี้ การวางตัวเป็นกลางโดยเพิกเฉยต่อระบบกฎหมายและนโยบายที่ไม่เป็นธรรม นั่นก็เท่ากับยอมรับให้สภาวะความไม่เป็นธรรมเหล่านั้นดำรงอยู่ต่อไป
แต่โดยทั่วไปองค์กรภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่ที่มุ่งทำงานผลักดันกฎหมายและนโยบาย หรือองค์กรเล็กมุ่งที่ทำงานไขปัญหาในระดับพื้นที่ ก็ล้วนมีเป้าหมายในเชิงอุดมคติเดียวกัน นั่นก็คือแก้ไขกฎหมายและนโยบายป่าไม้และที่ดินที่ไม่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมและชาวบ้านทั่วๆ ไป ไม่ค่อยมีความหวังกับฝ่ายการเมืองมากนัก ทั้งๆ ที่โดยโครงสร้างอำนาจแล้ว การแก้ไขตัวบทกฎหมายและนโยบายที่ไม่เป็นธรรม เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายการเมือง อาจเป็นเพราะที่ผ่านมา ส.ส. เองก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของประชาชนจริงๆ หน้าที่หลักของเขาในทางปฏิบัติคือ เข้าสภาไปรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่ให้อยู่เบื้องหลังตัวเขาหรือพรรคที่เขาสังกัด เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปเวลาที่ ส.ส. ลงพื้นที่ไปพบปะชาวบ้าน พวกเขาไม่ได้ไปเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเรียกร้องของชาวบ้านจริงๆ แต่ไปเพื่อแจก คุยโม้โอ้อวดอำนาจบารมีและประวัติการฝากลูกหลานไปมีตำแหน่งในหน่วยงานราชการโน่นนี่ แม้จะเป็นตำแหน่งที่ไม่มีบาทอะไรเลยก็ตาม เพิ่งจะเป็นช่วงหลังปี 2562 นี่เอง ที่พรรคอนาคตใหม่ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ คือ ใช้อำนาจของกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบกรณีปัญหาและความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับ ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทบสิทธิของชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ปรากฏว่ามีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนต่อแถวยื่นเรื่องให้กรรมาธิการฯ ตรวจสอบและผลักดันให้แก้ไขจำนวนมาก
เมื่อ 7 ปีที่แล้ว มีคนที่ทำงานสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินในประเทศไทย เคยเสนอว่าขบวนการขับเคลื่อนสิทธิในที่ดินควรเลือกข้างทางการเมือง เพื่อเป็นพันธมิตรในการต่อสู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบาย แต่ตอนนั้นมีความอีหลักอีเหลื่อในการเลือกพรรคการเมือง เพราะพี่เลี้ยงหรือแกนนำในองค์กรส่วนใหญ่ชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์ แต่ชาวบ้านที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นมวลชนของพรรคเพื่อไทย
ผมคิดว่าถึงเวลาที่องค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในที่ดินในไทย จะต้องหาทางจับมือกันให้ได้มากที่สุด และเลือกข้างทางการเมืองและเลือกพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน เพื่อร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบาย ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งหมด
ผมขอยกตัวอย่างการขับเคลื่อนของ “พีมูฟ” (Pmove) องค์กรภาคประชาชนที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ผ่านมาพีมูฟได้ชุมนุมและผลักดันทุกวิถีทาง กับทุกรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา แต่กลับเจอกับกระบวนการปั่นให้วนเวียนอยู่ที่เดิมของรัฐบาล กล่าวคือ เมื่อชาวบ้านไปชุมนุมและยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล รัฐบาลรับเรื่องแล้วตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมาเจรจาหาแนวทางแก้ไขปัญหา อาจมีหนังสือสั่งการให้แก้ไขปัญหาเร่งด่วนบางเรื่องที่ทำง่ายๆ แล้วเรื่อเกือบทั้งหมดจะถูกยื้อไปเรื่อยๆ จนรัฐบาลสิ้นสุดอำนาจลงโดยที่ต้นเหตุแห่งปัญหาไม่เคยถูกแตะ พอมีรัฐบาลใหม่พีมูฟก็เริ่มกระบวนการใหม่ ไม่ว่าใครจะอธิบายอย่างไรแต่พีมูฟถูกตีกรอบให้วนอยู่ในระบบนี้มานานอย่างน้อยตั้งแต่ปี พ.ศ 2550 เป็นต้นมา แม้ที่ผ่านมาจะมีความคืบหน้าบ้าง แต่ยังไม่สามารถขยับเข้าไกล้เส้นชัยได้เลย นี่เป็นบทเรียนที่พีมูฟจะต้องขบคิดอย่างจริงจัง เพื่อหาทางก้าวข้ามวังวนเหล่านี้ไปให้ได้
หากพีมูฟจะเลือกเป็นพันธมิตรกับพรรคประชาธิปัตย์ (เป็นเพียงการยกตัวอย่างให้เห็นรูปธรรมเท่านั้น) ก็เลือกเลย เพราะมีหลายคนที่ชื่นชอบและสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และยังเคยทำงานด้วยกันมาก่อน แล้วก็ไปทำงานทางความคิดและเจรจาต่อรอง เพื่อเอาแนวทางแก้ไขปัญหาของพีมูฟไปทำให้เป็นนโยบายหลักของพรรค และวางแผนขับเคลื่อนร่วมกันทั้งในสภาและนอกสภา

4.
หลายคนอาจคิดว่าภาคประชาสังคมจะต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง เพื่อที่จะสามรถทำงานกับทุกรัฐบาลได้ ไม่ว่าฝ่ายที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลจะเป็นพรรคไหน แต่ปัญหาสิทธิในที่ดินเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจทุกฝ่ายในสังคม พวกเขาอาจเป็นคนให้เงินสนับสนบางพรรคการเมืองให้ทำหน้าที่คุ้มครอง หากพรรคการเมืองใดเข้าไปแตะต้องเรื่องนี้ก็จะเผชิญแรงต่อต้านจากกลุ่มผู้ที่ถือผลประโยชน์ ดังนั้น พรรคการเมืองใดที่ตั้งใจจะทำจริงจ ะต้องมีความกล้าหาญและมีเจตจำนงค์ทางการเมืองที่แนวแน่ ซึ่งโดยทั่วไปพรรคการเมืองที่มีแนวคิดแบบกลางๆ และอนุรักษ์นิยม จะไม่แตะต้องเรื่องเหล่านี้
ตั้งแต่หลังปี พ.ศ 2540 เป็นต้นมา รัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคไหนก็ยังไม่เคยกล้าแตะต้อง มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยโฉนดชุมชน รวมทั้ง คทช. ไม่ใช่การเปลี่ยนโครงสร้างกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม หากแต่เป็นเพียงการออกนโยบายลวงชาวบ้านที่ออกมาชุมนุมใหญ่ อีกทางหนึ่งคือเพื่อสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองเท่านั้น
ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งใหม่นี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในที่ดิน จะแสดงบทบาทนำทางความคิดและรณรงค์ให้สังคมตระหนัก และเลือกเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน