เชื่อเป็นทางออก เพราะอยู่บนผลศึกษาจากบทเรียนน้ำท่วมใหญ่กทม.ปี 54 ซึ่งมีการศึกษาชัดเจนว่าช่วยได้ รวมไม่ต่ำกว่า 6 แก้มลิง และ “แก้มลิงคู้บอน-บางชัน” คือ 2 แห่งพร้อมทำได้เลย
เผยที่ผ่านมาพยายามเสนอกทม. แต่ไร้การตอบรับ ตั้งข้อสังเกตุ “โครงการอสังหาริมทรัพย์ใหญ่” อาจคือปัจจัยสำคัญ

ข้อเสนอ 2 แก้มลิง
ชวลักษณ์ เวียงวิเศษ ชาวบ้านย่านคู้บอน แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กทม. กล่าวในเวทีเสวนา “ข้อเสนอการแก้ปัญหาน้ําท่วมต่อผู้ว่าฯ กทม. และรัฐบาล” ที่จัดโดย ภาคีประชาชนการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาน้ำท่วม วานนี้ (8 ต.ค. 2565) ณ ห้อง อเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เสนอให้มีกรทำแก้มลิง โดยกล่าว่า
“ดิฉันกำลังจะเสนอว่าเรามาสร้างแก้มลิง อยากเสนอทางกทม. ทางรัฐบาล ว่าช่วยจัดหาพื้นที่เป็นบึงรับน้ำเพื่อสร้างชะลอน้ำเหนือ
ฝั่งตะวันออก น้ำเหนือจากกรุงเทพฯ ก็คือ ปทุมธานี รอรองรับน้ำฝนน้ำฝนส่วนเกิน รอไว้ก่อน เพื่อเวลาที่ระดับน้ำในลำคลองระดับน้ำในทะเลมันลดลงเราค่อยระบายออก วิธีการทำแก้มลิงเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะสั้นที่สามารถทำได้ทันทีค่ะ”
โดยข้อเสนอในการสร้างโครงการแก้มลิงดังกล่าวสามารถทำได้ทันทีใน 2 พื้นที่คือ คลองคู้บอน และ คลองบางชัน
“พื้นที่แก้มลิง 6 โครงการ มีการสำรวจไว้แล้ว มีการทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว ใน 2 โครงการนี้ก็คือ แถวคลองคู้บอน แล้วก็บางชัน ‘ไม่มีประชาชนคัดค้าน’
เพราะฉะนั้นสามารถทำได้ทันทีอย่างน้อยที่สุด ตรงนี้จะช่วยชะลอลดปัญหาน้ำท่วมในเขตของคนคันนายาว คลองสามวา แล้วก็รามอินทราได้” ชวลักษณ์ กล่าว

“มรดก-บทเรียน” จากปี 54
“เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ปี 54 ที่มีมหาอุทกภัยตอนนั้น ก็คือตรงแถวบ้านดิฉัน ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำแล้วก็น้ำท่วมสูงค่อนข้างสูง บางจุดตรงที่ใกล้ ๆ กับบริเวณคลองคู้บอนสูงประมาณถึงเอว
หลังจากนั้นชาวบ้านแถวนั้นก็ดีใจกันว่า ทางสำนักการระบายน้ำมีโครงการว่าจะแก้ปัญหา จะน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงร.9 ในการจัดหาพื้นที่แก้มลิงเพื่อรับน้ำ
ทำไมเราต้องการบึงรับน้ำ ข้อเท็จจริงก็คือ กรุงเทพฯเป็นพื้นที่ชายเลน เป็นพื้นที่ต่ำน้ำท่วมถึงได้ง่าย พื้นที่บางแห่งของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกคือ คลองสามวา คันนายาว สายไหม มีนบุรี รามคำแหง เป็นพื้นที่ ที่บางจุดต่ำกว่าระดับน้ำทะเลด้วยซ้ำ
แต่ที่ผ่านมาเราไม่มีการระบบการป้องกัน หรือ ว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกเลย
เข้าใจว่ากรุงเทพฯชั้นในเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ เป็นพื้นที่การศึกษา พื้นที่สำคัญมันจำเป็นที่จะต้องมีการป้องกันที่ดี
แต่คราวนี้ก็คือปัญหาก็คือว่า เมืองกำลังขยายไปทางกรุงเทพฝั่งตะวันออกมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเชื่อมต่อกับทาง EEC ทางฉะเชิงเทรา ทางชลบุรี เป็นต้น
ถ้าตรงนี้เป็นพื้นที่ต่ำแล้ว แล้วเราไม่มีการวางระบบการป้องกัน และ การแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ดี ต่อไปในอนาคตเราก็ต้องใช้ชีวิตประมาณปีละ 6 เดือนอยู่กับปัญหาน้ำท่วม มันเป็นความทุกข์ ช่วง 2 เดือน 3 เดือนที่ผ่านมา ฝนตกเกือบทุกๆวัน” ชวลักษณ์ เล่าถึงประสบการณ์ตรงในพื้นที่ และการเรียนรู้เรื่องแก้มลิง

เหตุผลที่เชื่อ “แก้มลิงคือทางออก”
“ขอยกตัวอย่างว่า พื้นที่บึงรับน้ำมันช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริง ๆ แนวคิด nature base ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมคือ เอาธรรมชาติเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาน้ำท่วม มันเป็นความคิดที่กำลังเป็นที่นิยม จากแต่ก่อนเรามีแนวทางพระราชดำริของในหลวงร.9 ที่เป็นพื้นที่แก้มลิงใช่ไหมคะ
มันก็จะมีศาสตราจารย์ทางด้านภูมิสถาปัตย์คนจีนคนนึงเขาก็มีแนวคิดคล้ายๆ กันแต่ว่าของเขา Sponge city คือเป็นเมืองฟองน้ำ ก็คือ ในเมืองฟองน้ำของเขาก็จะมีการปลูกป่า ปลูกพืชที่ช่วยซับน้ำ มีพื้นดินที่สามารถให้น้ำซึมลงสู่ดินได้ มีพื้นที่แก้มลิงของของในหลวงร 9 สำหรับรองรับน้ำและแนวความคิดแบบนี้ไม่ใช่แค่ที่จีนที่ใช้ ประเทศอเมริกาก็เอาความคิดนี้ไปใช้เหมือนกัน
และอีกกรณีซึ่ง คือพื้นที่บริเวณ สุขุมวิทคือ บึงรับน้ำแก้มลิงตรงโรงงานยาสูบ
“สมัยก่อนมีประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว สุขุมวิทไม่มีบึงรับน้ำแก้มลิงตรงโรงงานยาสูบทุก ๆ หน้าฝนน้ำจะท่วมเข้ามาจนถึงกลางซอยระหว่างซอยสุขุมวิท 2 จนถึง 24 แต่ว่าพอมีแก้มลิงตรงโรงงานยาสูบปรากฏว่าปัญหาน้ำท่วมคืออะไร ไม่รู้จักคนแถวสุขุมวิทบอกว่าตกมายังไงก็ได้ไม่ท่วมแน่นอน แถวสุขุมวิท เพลินจิต คลองเตย ไม่ท่วมไม่ท่วมแน่นอน”
และพื้นที่สุดท้ายคือ “บึงแก้มลิงหนองบอนเป็นแนวทางพระราชดำริของในหลวงร 9 จากแต่ก่อนบึงหนองบอนตรงบริเวณแถวประเวศ สายไหม เวลาฝนตกทีใช้เวลาระบายอย่างน้อยก็เป็นระดับอาทิตย์
แต่พอมีบึงหนองบอนขึ้นมาการระบายน้ำก็จะเร็วมากประมาณ 1-2 วัน และ ที่สำคัญก็คือว่า ตรงนั้นจะมีพื้นที่เป็นสวนสาธารณะ มีต้นไม้ใหญ่เป็นพื้นที่ที่สามารถจะมาเล่นกิจกรรมได้ แล้วก็เป็นแหล่งกีฬาทางน้ำแห่งเดียวของกรุงเทพฯ ด้วย
ก็อยากจะฝากว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่รับน้ำแก้มลิงนี้ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งตะวันตก ตะวันออกของกรุงเทพฯ ก็ตาม แนวคิดของการที่นำธรรมชาติมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นแนวคิดที่ยั่งยืน ใช้งบประมาณน้อย
เพราะว่าเราสามารถที่จะทำได้ทันทีคือการขุดดินขุดพื้นที่ดินปลูกต้นไม้ สร้างพื้นที่รับน้ำ สร้างออกซิเจนให้กับคนในเมือง ก็จะขอฝากไว้ว่าคำว่าอยากให้ช่วยรีบหาพื้นที่รับน้ำให้ได้มาก ๆ”ชวลักษณ์ อธิบาย

ความพยายามเสนอและผลักดันที่ผ่านมา
“ก็ต้องเอาความจริงมาพูดว่าตั้งแต่ปี 54 มา แล้วก็มีโครงการสำรวจพื้นที่จนกระทั่งจัดทำประชาพิจารณ์ในปี 2560 การบึงรับน้ำทางกรุงเทพฝั่งตะวันออก 6 โครงการยังไม่เกิดขึ้นเลยค่ะ
ทางกลุ่มของดิฉันได้มีการเรียกร้อง ติดตามกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2562 จนกระทั่งปัจจุบัน เราไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่ากรุงเทพมหานครท่านก่อน แล้วก็ได้ไปพบกับรองผู้ว่ากทม. เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา” ชวลักษณ์ กล่าว

ปัจจัย “โครงการอสังหาฯ ในพื้นที่แก้มลิง”
ชวลักษณ์ ตั้งข้อสังเกตุว่า หนึ่งในปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจเรื่องแก้มลิงในกทม. คือโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ด้วยได้รับข้อมูลจากกลุ่มเพื่อนที่แลกเปลี่ยนกันในเรื่องนี้และพบว่าบางพื้นที่ถูกทำให้กลายเป็น คอนโด หรือ หมู่บ้านจัดสรรไปแล้ว
“พื้นที่บึงรับน้ำของเขาตรงแถวถนนเสรีไทย ซึ่งอยู่ตรงใกล้ ๆ กับสวนนวมินทร์ภิรมย์ ปัจจุบันนี้เป็นพื้นที่บึงรับน้ำอยู่
แต่ตอนนี้เหมือนกับว่าจะมีการสร้างคอนโด เพราะฉะนั้นที่เราเห็นกันอยู่ว่าจะมีการสร้างกำลังจัดหาพื้นที่อยู่ มันอาจจะไม่เกิดก็ได้
เหมือนกับตรงที่ว่ามีการสำรวจพื้นที่ไปแล้ว 1ที่เป็นหมู่บ้านจัดสรรไปแล้ว อีก 3 ที่คัดค้าน แล้วก็ที่ตรงคู้บอนก็มีอสังหาฯ เจ้านึงกำลังสร้างหมู่บ้านอยู่ ไป ๆ มา ๆ แล้วมันอาจจะไม่เกิดก็ได้
ก่อนหน้านั้น 2 ปีที่แล้วมีหมู่บ้านเก่าแก่แห่งหนึ่งแถวรามคำแหงเขาก็จะมีพื้นที่บึงรับน้ำเหมือนกัน เขาก็บอกว่า พอมีบึงรับน้ำตรงนี้ของหมู่บ้านคือไม่มีน้ำท่วม แต่ตอนนี้บึงรับน้ำอันนี้ก็กำลังจะหายไปกำลังจะเป็นคอนโดเหมือนกัน” ชวลักษณ์ กล่าว

อยู่ในแผน กทม.-รอพรฎ.เวนคืน
โครงการพัฒนาแก้มลิงบึงคู้บอนเป็นหนึ่งในระบบป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่รองรับปริมาณน้ำฝนส่วนเกินที่ตกในพื้นที่ที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต
ในเบื้องต้นสำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการออกแบบโครงการในพื้นที่ 130 ไร่เรียบร้อยแล้ว โดยจะขุดลอกเพื่อใช้เป็นแก้มลิงประมาณ 91 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 870,000 ลูกบาศก์เมตร สำหรับพื้นที่ส่วนที่เหลือจะพัฒนาเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนได้ทำกิจกรรมนันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจ
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่กระบวนการจัดหาพื้นที่ยังไม่แล้วเสร็จ สำนักการระบายน้ำมีแผนพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองสายหลักในพื้นที่ ได้แก่ คลองพระยาสุเรนทร์ คลองบางชัน คลองคู้บอน ให้มีประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่คลองแสนแสบด้านใต้เพิ่มขึ้นควบคู่กับการพัฒนาระบบระบายน้ำต่างๆ ตามแผนงาน รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวเพิ่มเติมในพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่
“ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้รับพื้นที่ที่เอกชนบริจาคมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดทำเป็นพื้นที่รับน้ำ ในส่วนโครงการบึงรับน้ำบริเวณคลองคู้บอน เขตคลองสามวา และโครงการบึงรับน้ำบริเวณคลองบางชัน เขตมีนบุรี โดยขอเวลาประมาณ 2-3 เดือนเพื่อติดตามการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน
หรืออีกแนวทางหนึ่งอาจมีการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดองเพื่อเจรจากับเจ้าของที่ดินเดิมในการจัดสร้างโครงการบึงรับน้ำทั้งสองแห่งเพื่อประโยขน์สาธารณะ” รศ. ดร. วิศณุ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังการประชุมร่วมกับตัวแทนจากสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (Sconte) และตัวแทนจากเพจ ‘บึงรับน้ำคู้บอนเพื่อคนกรุงเทพ’ รวมถึง ชวลักษณ์ ที่ขอเข้าพบเพื่อนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะสั้น กลาง และยาว