“โนรู อ่อนแรง-หมดฤทธิ์ก่อนเข้าไทย เพราะ อันนัม จริงหรือ? ” หนึ่งในดีเบทรอบสัปดาห์

มีการนำเสนอคำอธิบายไว้แตกต่างกันในระดับ “คนละขั้ว” ระหว่างสองคนระดับ “ผู้เชี่ยวชาญ” ในวงการสิ่งแวดล้อมไทย โดยฝั่งสนับสนุนคือ “ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” และฝั่งคัดค้านคือ “ธารา บัวคำศรี” พร้อมคำอธิบายที่น่ารับฟังทั้งสองฝ่าย ดังนี้

(ภาพ : Thon Thamrongnawasawat)

ธรณ์ : อ่อนฤทธิ์เพราะอันนัม
พายุหมุนเกิดในทะเล ตายในเทือกเขา
นี่คือประโยคสั้นๆ แต่ผมคิดว่าอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยดีสุด
โนรูที่รุนแรงตอนขึ้นฝั่ง อ่อนแรงลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยไม่เดือดร้อนมากไปกว่านี้
แล้วโนรูตายที่ไหน ?
คำตอบคือพายุหมดแรงบน “อันนัม” เทือกเขาที่เป็นเสมือนเกราะคุ้มครองไทย
อันนัมไม่ได้อยู่ในเมืองไทยด้วยซ้ำ เทือกเขาอยู่ในเวียดนาม ในลาว และมีส่วนปลายอยู่ในเขมร
แต่เทือกเขายาว 1,100 กิโลเมตร สูงถึง 2,800 เมตร คือปราการธรรมชาติที่ปกป้องประเทศไทยมาหลายครั้งครา
อันนัมทอดยาวขนานชายฝั่งเวียดนาม แบ่งเขตชายฝั่งออกจากลุ่มน้ำแม่โขงที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน
ทุกครั้งที่มีไต้ฝุ่นหรือพายุใหญ่เข้ามาทางเวียดนาม อันนัมหยุดแรงลมไว้ ทำให้พายุที่เกรี้ยวกราดลดความแรงลมเหลือเพียงดีเปรสชั่น
แม้ฝนจะตกอยู่ แต่แรงลมเบาลงมาก ความชื้นในอากาศส่วนหนึ่งถูกกักเก็บไว้”
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกล่าวถึงพายุไต้ฝุ่นโนรูว่า “พายุหมุนเกิดในทะเล ตายในเทือกเขา” เมื่อ 29 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา

(ภาพ : Greenpeace)

ธารา : อ่อนฤทธิ์เพราะปัจจัยความชื้น-การแลกเปลี่ยนความร้อนแผ่นดิน
“พายุหมดแรง(ตาย)ในเทือกเขาอันนัม oversimplify ไปครับ
อย่างมากเทือกเขาที่เป็นแนวปราการสูงยาวเหยียดเช่นเทือกเขาอันนัมนี้ก็ช่วยเพิ่มแรงเสียดทานให้พายุลดความเร็วลง และถึงต่อให้ไม่มีเทือกเขาอันนัม พายุหมุนเขตร้อนก็หมดแรงเป็นดีเปรสชั่นอยู่ดี
ปัจจัยที่ทำให้พายุหมุนเขตร้อนหมดแรงจริงๆ คือการขาดความชื้น(ในบรรยากาศ)และการแลกเปลี่ยนความร้อนที่ลดลงระหว่างแผ่นดินและบรรยากาศที่มีแนวพายุพัดผ่านโดยเปรียบเทียบกับช่วงที่พายุหมุนเขตร้อนอยู่เหนือมหาสมุทร..
ทำไมพายุหมุนเขตร้อน(tropical cyclone)ลดกำลังอย่างรวดเร็วเมื่อเคลื่อนตัวเข้าสู่แผ่นดิน
แนวเทือกเขาสูงที่เป็นแนวปราการ (รวมถึงเทือกเขาอันนัม) นั้น ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้พายุอ่อนกำลังลงและสลายไป
แต่คือ the lack of moisture inland and the lower heat sources over land ดูจากแบบแผนและเส้นทางพายุหมุนเขตร้อนตั้งแต่ ค.ศ.1851 ก็เห็นชัดครับ พายุอ่อนกำลังและสลายไปเองเมื่อถึงแผ่นดิน(ซึ่งโดยเปรียบเทียบมีความชื้นในบรรยากาศ และเป็นแหล่งถ่ายเทความร้อนได้น้อยกว่า) ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีแนวเทือกเขาขวางกั้น”
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการองค์กรอนุรักษ์กรีนพีซ ประเทศไทย โพสต์ตอบโต้