ท่ามกลางความไม่ชัดเจนว่าจะมีการนำประเด็น “ม.57 พรบ.ประมง” เข้าที่ประชุมบอร์ดประมงชาติ 30 ก.ย. นี้ ตามที่เครือข่ายประมงพื้นบ้าน “ทวงสัญญาน้ำพริกปลาทู” หรือไม่
ล่าสุดวันนี้ (28 ก.ย. 2565) รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” แจ้งเครือข่ายฯ ผู้ชุมนุมว่าจะส่ง “ไกรบุญ ทรวดทรง” ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาเจรจาตัวแทนเครือข่ายพรุ่งนี้ช่วงบ่าย

ความเคลื่อนไหวในรอบวัน
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม “ทวงสัญญาน้ำพริกปลาทู” วันนี้ เริ่มในช่วงเช้า ต่อมาราวเวลา 10.00 น. สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และเครือข่ายรักษ์ทะเลไทย เคลื่อนเข้าไปบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเข้าพบ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่ถูกสกัด จากเจ้าหน้าที่
ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเข้ามาเจรจากับผู้ชุมนุม ณ สะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งผู้ชุมนุมได้ยื่นข้อเรียกร้องอีกครั้งว่า ขอเข้าพบ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องการให้มาตรา 57 อยู่ในวาระเพื่อพิจารณาของการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติในวันที่ 30 หลังรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับปากจะให้คำตอบก่อน 15.00 น.
“อย่างน้อยที่สุดถ้าหากว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่มีเวลาจริง ๆ เราเข้าใจหมด เรามีเหตุมีผลพอแต่อย่างน้อยวันที่ 30 ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ อย่างน้อยให้ฝ่ายเลขา ฯ อย่างน้อยให้ฝ่ายการเมืองมาคุยกับเรา บันทึก MOU ร่วมกันว่าเราจะผลักดันเรื่องนี้ ให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน” ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยกล่าวกับรองปลัดสำนักนายกฯ
15.00 น. สมาคมรักษ์ทะเลไทย เผยถึงความคืบหน้าจากโดยระบุว่า มีการสื่อสารจากสำนักนายกว่า ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาร่วมประชุมกับทางสมาพันธ์ในวันพรุ่งนี้ (29 ก.ย. 2565)
กลุ่มผู้ชุมนุมตัดสินใจเคลื่อนขบวนมาปักหลักบริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติในช่วงค่ำ เพื่อจัดเวทีออนไลน์ แถลงย้ำข้อเรียกร้อง

ข้อความถึง “ประวิตร” จากสมาคมรักษ์ทะเลไทย
“ถ้าผมเป็นท่านประวิตรและเห็นแก่เกษตรกรที่เป็นชาวประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพในพื้นที่ชายฝั่งใน22จังหวัดของประเทศ (ซึ่งคิดเป็น85%ของผู้ที่มีอาชีพประมงทั้งประเทศ) ผมจะสั่งการดังนี้
1.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯรีบออกประกาศกระทรวงตามมาตรา57ของพรก.ประมงภายใน7วันเพราะจะเป็นการปกป้องคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนไม่ให้ถูกทำลายอีกต่อไป(ถ้าไม่ทำสั่งปลดออกจากตำแหน่ง)
2.ให้ประกาศเขตทะเลชายฝั่งเป็น12ไมล์ทะเลทุกจังหวัด
3.ให้ยุติการทำประมงที่ใช้แสงไฟประกอบการทำประมงทุกชนิด (ด้วยว่าการทำประมงที่ประกอบแสงไฟเป็นการทำลายพันธ์สัตว์น้ำวัยอ่อนที่รุนแรง ลูกปลาทูตัวเล็กๆที่นำมาต้มตากขายกันเกลื่อนเมืองนั้นคือผลผลิตของการทำประมงด้วยแสงไฟ)
4.ให้หยุดการทำประมงอวนลากคู่ให้ทำการประมงเพียงอวนลากเดี่ยวโดยให้มีการขยายตาอวนก้นถุงเป็น10ซม.และให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง(คือนอกเขต12ไมล์ทะเลเท่านั้น)
นี่คือโอกาสของท่านแล้วนะครับ ที่จะใช้อำนาจหน้าที่ทำเพื่อคนส่วนใหญ่/เพื่อคนกินปลา/เพื่อสร้างรูปธรรมของความมั่นคงทางอาหารให้กับลูกหลานและสังคมไทย
พรุ่งนี้จะรอฟังคำสั่งการของท่านในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ” สมาคมรักษ์ทะเลไทยโพสต์เฟสบุ๊ก

ย้ำข้อเรียกร้อง “นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมบอร์ดประมงชาติ” มิเช่นนั้น..
เครือข่ายยืนยันว่าหากทางรัฐ ไม่มีการนำมาตรา 57 เข้าในวาระการประชุมเพื่อพิจารณาทางเครือข่ายจะยังคงปักหลักต่อไป รวมถึงอาจมีการรวมตัวภาคพิเศษ ของสมาชิกทั้ง 66 องค์กร 19 จังหวัด
“ในนามนายก สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน แห่งประเทศไทย อยากจะสื่อสารถึงสมาชิก 66 องค์กร 19 จังหวัด อยากชวนสมัชชาประมงพื้นบ้าน เคลื่อนที่ภาคพิเศษที่กรุงเทพ ให้สมาชิกทั่วประเทศเตรียมพร้อม
วอนผู้มีอำนาจของรัฐบาลชุดนี้ของร้องช่วยทำตามข้อเรียกร้องของพวกเรา ไม่ต้องอนุมัติเงินหลายร้อยล้าน แค่ใช้ปากกาประชุมคระกรรมการ ผลจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ เราไม่ได้บังคับ เพราะเรารู้ว่าพวกท่านมีจิตสำนึกพอสมควร ที่จะรักษาท้องทะเล ที่จะรักษาทรัพยากรของลูกหลานเอาไว้” ปิยะ เทศแย้มตัวแทนเครือข่าย กล่าว