“ไม่ใช่เรื่องใหม่-ไม่ง่ายที่จะเกิด-สัญญาณดี” สุรชัย ตรงงาม ให้ความเห็นต่อกรณี “ศาลปกครองเชียงใหม่สั่ง “คุ้มครองชั่วคราว คดีเหมืองอมก๋อย “กะเบอะดิน” พร้อม 3 ข้อสังเกตุจากมุมนักกฏหมายสิ่งแวดล้อม
“เป็นบรรทัดฐานสำคัญ เรื่องการรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี-การมีส่วนร่วม-การป้องกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม (สำหรับการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมไทย)” สุรชัยชี้
“ปรากฏการณ์ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในคดีที่ชาวบ้านอมก๋อย ฟ้องเพิกถอนรายงาน EIA เหมืองถ่านหิน [1] ทุเลาการบังคับตามมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการ 2 ฉบับ ทั้งมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการเหมืองถ่านหิน พื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ในปี 2554 และมติที่ยืนยันการเห็นชอบรายงาน EIA เมื่อเดือนธันวาคม 2563
ส่งผลให้กระบวนการออกประทานบัตรโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยต้องยุติลงเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง [2]
ถือได้ว่าเป็นชัยชนะเบื้องต้นของชุมชนกระเหรี่ยงกะเบอะดินและชุมชนทางผ่านที่จะได้รับผลกระทบรวมทั้งหมด 6 หมู่บ้าน
แม้กรณีศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีในหมู่คนทำงานกฎหมายสิ่งแวดล้อมว่า การที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณียกเว้นที่ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย ในทุกคดี ต้องมีเหตุปัจจัยถึงพร้อมตามสถานการณ์ ข้อเท็จจริง วิธีพิจารณาคดีปกครอง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(ผม) มีข้อความเห็นและข้อสังเกตเบื้องต้น จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองตามคำสั่งฉบับนี้อย่างน้อย 3 ประการ (ต่อปรากฏการณ์นี้)
1. ศาลปกครองยืนยันรับรองสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และการรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของชุมชน ตามรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ คือปี 2550 และปี 2560 ต่อเนื่องกัน เป็นฐานทางกฎหมายที่สำคัญในการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม
สอดคล้องกับมติคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) 8 ตุลาคม 2564 [3] และมติสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) 28 กรกฎาคม 2565 [4] ที่ให้การรับรองว่าการมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน เป็นสิทธิมนุษยชน
และทำให้เราต้องตระหนักว่า การผลักดันรณรงค์ให้มีการบัญญัติรับรองสิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญทุกฉบับเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นในการปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม
2. ความเข้มแข็งของชุมชนในการร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการศึกษารวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดทำรายงาน EIA และการขออนุญาตทำเหมืองถ่านหินอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เช่น
- มีการปิดกั้นทำลายและเบี่ยงเบนทางน้ำสาธารณะในพื้นที่เหมือง แต่ไม่มีการประเมินผลกระทบต่อการใช้น้ำของชุมชน
- ขาดการประเมินผลกระทบมลพิษจากถ่านหิน ต่อดิน น้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน อากาศ
- การศึกษาผลกระทบในรายงาน EIA จำกัดพื้นที่เฉพาะรัศมี 3 กิโลเมตรโดยไม่มีแหล่งอ้างอิงและไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย
- รายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ยืนยันว่ามีการนำข้อมูลรายชื่อชาวบ้านที่เป็นเท็จไปประกอบการจัดทำรายงาน EIA เพื่อขอออกประทานบัตร ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ข้อมูลเหล่านี้เป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักให้ศาลเชื่อได้ว่า มติที่เห็นชอบรายงาน EIA โครงการเหมืองถ่านหิน อมก๋อยทั้ง 2 ครั้งน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายในการการใช้ดุลพินิจ
3. คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองเชียงใหม่ในคดีนี้ อ้างเหตุตามหลักการป้องกันหรือหลักข้อควรระวังความเสียหายอย่างร้ายแรงที่จะเกิดแก่ชุมชนและสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินการเหมืองถ่านหินที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ประกอบการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีนี้
การให้เหตุผลดังกล่าวสอดคล้องกับหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ และสอดคล้องกับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (สำหรับคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม) ที่ผ่านความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรีแล้ว (ร่างมาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 66 วรรคสาม) [5]
ที่ระบุเพิ่มเติมอำนาจให้ศาลปกครองกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาในคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยต้องคำนึงถึงหลักการป้องกันหรือหลักข้อควรระวัง ความเสียหายอย่างร้ายแรงที่จะเกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมหรือแก่สุขอนามัยของประชาชนประกอบด้วย
ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีในการกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษา เพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี ต้องรอการพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองเกี่ยวกับคดีปกครองสิ่งแวดล้อม ว่าจะมีผลใช้บังคับเมื่อใด ตลอดจนแนวบรรทัดฐานจากศาลปกครองสูงสุดที่ชัดเจนในประเด็นนี้ต่อไป”
สุรชัย ตรงงาม ทนายความและเลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวผ่านโพสต์เพจ Enlaw (3 ต.ค.2565)
