หลังฝนตกคืนก่อน เช้าวันนี้คนกรุงหลายพื้นที่ต้องเดินทางกลางถนนน้ำท่วมอีกครั้ง ก่อนที่จะมีรายงานจากสำนักระบายน้ำกทม.ในช่วงบ่ายระบุว่าถนนทุกสายไร้น้ำท่วม ตามมาด้วยคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา “ฝนจะหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงบ่ายสี่โมง ถึงสองทุ่ม”
สถานการณ์ 22 ก.ย.
“ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เวลา 05.30 น. ฝนเล็กน้อยถึงปานกลางปกคลุมพื้นที่ กทม. เคลื่อนตัวทิศตะวันตกเฉียงใต้ ปริมาณฝนสูงสุดเขตบางขุนเทียน 130.0 มม.
จุดเร่งระบายน้ำถนนสายหลัก ในความดูแลของสำนักการระบายน้ำ กทม. จาก 8 แห่ง แห้งแล้ว 6 แห่ง ยังเร่งระบายอยู่อีก 2 แห่ง” ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม สำนักระบายน้ำ กทม.รายงานเมื่อเวลา 05.17 น. วันนี้ (22 ก.ย. 2565) ซึ่งเป็นที่มาของพาดหัวข่าวเช้าวันนี้ในหลายสื่อ
“ตกยันเช้า! คลุมทั่วกทม.เผื่อเวลาเดินทางไปทำงาน ฝนหนักสุดบางขุนเทียน 130.0 มม.” พาดหัวสยามรัฐออนไลน์
“เช็กจุดน้ำท่วม ‘กทม.-ปริมณฑล’ ทำการจราจรสาหัส ติดขัดหนักแต่เช้า! ชาวกทม.เริ่มถาม “เวิร์คฟอร์มโฮม” ยังทันอยู่ไหม…หลังฝนถล่มหนักแทบทั้งคืน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังรอการระบายหลายจุด ทำเอาการจราจรบางสายติดขัดเพราะต้องหลีกเลี่ยงบริเวณน้ำท่วม” เดลินิวส์รายงาน พร้อมภาพน้ำท่วมขังตามซอยและถนนเส้นต่าง ๆ ในพื้นที่กทม. ทำให้การจราจรติดขัด
ปริมาณฝน ระดับน้ำท่วม พื้นที่น้ำท่วม สถานการณ์การระบายน้ำ พื้นที่จราจรติดขัด ยังคงเป็นประเด็นที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จับตา เฝ้าติดตามข้อมูลและแลกเปลี่ยนกันตลอดวัน เช่นเดียวกับหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นับแต่เหตุการณ์น้ำท่วมหนักท่วมพื้นที่จำนวนมากระดับสาหัส ตั้งแต่ 9 กันยายน
“(ผล)ระบบตรวจวัดระดับน้ำท่วม(บนถนน) : 0 สถานี” หนึ่งในข่าวดีจากสำนักการระบายน้ำ กทม. เมื่อเวลา 17.00 น.ที่ผ่านมา แต่เมื่อดูแผนที่ปริมาณฝนสะสมในรอบ 24 ชั่วโมงในเขตกรุงเทพฯ ก็พบว่าเต็มไปด้วยสัญญลักษณ์สีแดงแสดงปริมาณฝน “หนักถึงหนักมาก”ในพื้นที่ส่วนใหญ่
ขณะที่เมื่อเช็คแผนที่แสดงระดับน้ำในคลองพื้นที่กรุงเทพ ก็พบสัญญลักษณ์สีแดงจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งธนบุรี
“จะมีฝนฟ้าคะนองถึง 70% ของพื้นที่ กับฝนตกหนักถึงหนักมาก กรมอุตุฯประกาศเฝ้าระวังกลุ่มฝน ตั้งแต่ 16:00-20:00” คาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา สำหรับพื้นที่กทม.ประจำวันนี้ (22 ก.ย. 2556)
ฝนยังคงหนักยาว-แนวโน้มพายุเข้าอีก 2
“จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 22 – 24 ก.ย. 2565 มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม.” กรมอุตุฯ พยากรณ์สถานการณ์อากาศพื้นที่ กทม. ใน 7 วันข้างหน้า (22 – 28 ก.ย. 2565)
สอดคล้องกับรายงานสำนักการระบายน้ำที่ระบุว่าในช่วงวันที่ 21 – 23 ก.ย. 65 ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และอาจมีฝนตกหนักถึงหนักมากที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
และข้อมูลจากการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) นัดล่าสุดเมื่อ 21 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา ที่ระบุว่า “กทม. ยังเสี่ยงเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากไปจนถึงสัปดาห์หน้าจากอิทธิพลของร่องมรสุม ทำให้ปริมาณฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนกันยายนยาวไปจนถึงเดือนตุลาคม”
“ในช่วงต้นเดือนหน้า (ต.ค.) มีแนวโน้มของพายุ 1-2 ลูกที่จะเข้ามาทางประเทศไทย” กอนช. เปิดเผยเพิ่มเติม
“สถานการณ์น้ำในช่วงปลายเดือน ก.ย. – ต.ค. 65 พบว่า มีแนวโน้มของปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีแนวโน้มของร่องมรสุมพาดผ่านพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) รายงานว่ามีแนวโน้มของพายุ จำนวน 1-2 ลูก ที่จะเข้ามาทางประเทศไทย โดยคาดว่าจะเข้ามาในช่วงต้นเดือน ต.ค. 65” ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) อธิบายเพิ่มเติม

ท่วมขังไหม ลุ้นรายพื้นที่
จากวิกฤตน้ำท่วมขังเดือนนี้ ส่งผลให้กทม. ตัดสินใจประกาศให้ 6 แขวง เขตลาดกระบัง เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกาศ 6 แขวงเป็นเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
ล่าสุดถึงระดับน้ำในเขตลาดกระบังจะลดลงแล้ว แต่ก็ยังคงมีน้ำท่วมขังในบางจุด ด้านกรมชลกล่าว (20 ก.ย. 2565) ว่า น้ำลาดกระบังลดใน 3 วัน ถ้าไม่มีฝนหนักตกมาซ้ำ ส่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเตือนเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง ในระยะ 1-3 วัน ในเขตพื้นที่ลาดกระบัง ประเวศ
ด้านกอนช. คาดการณ์ล่าสุดว่า กทม. จะยังเผชิญปัญหาน้ำท่วมขังในหลายเขต ในช่วง ต.ค. – พ.ย.
“พื้นที่ประสบอุทกภัยในประเทศตั้งแต่ ก.ย. 2565 – ก.พ. 2566 โดยในคาดการณ์มีพื้นที่ในกทม. เสี่ยงตั้งแต่เดือน ก.ย.-พ.ย. โดยการวิเคราะห์จะใช้ฝนคาดการณ์ใน ONEMAP จากการคาดการณ์ในเดือน พ.ย. พื้นที่ในกทม. เสี่ยงน้ำท่วมขังหลายเขต เขตคลองสาน คลองสามวา จตุจักร ดอนเมือง ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางเขน บางแค บางบอน บางพลัด ภาษีเจริญ มีนบุรี ลาดกระบัง ลาดพร้าว สายไหม หนองแขม หนองจอก หลักสี่
ต.ค. มี เขตหนองจอก ลาดกระบัง” กอนช. ระบุ

ยังต้องจับตา “น้ำทะเลหนุน-น้ำเหนือ-ลานีญา”
วันนี้ กรมอุทกศาตร์กองทัพเรือได้ออกประกาศเตือนว่า ในช่วงวันที่ 22- 26 กันยายน 2565 นี้จะมีน้ำทะเลหนุนสูง ที่อาจส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ
“คาดหมายว่าที่บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียง และบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า และพื้นที่ใกล้เคียง ระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.70-2.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ระหว่างเวลาประมาณ 17.00-19.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง มากที่สุด โดยเฉพาะบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า น้ำจะขึ้นสูงสุด เวลา 17.04 น. สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1.56 เมตร ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” ประกาศระบุ
วานนี้ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า อีกปัจจัยที่ต้องจับตามองคือ ปัจจัยเรื่องน้ำเหนือ ที่จะส่งผลต่อวิกฤตฝน และน้ำท่วมพื้นที่กทม.
“สำหรับการเตรียมพร้อมในกรณีมีปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเป็นจำนวนมาก กอนช. ได้มอบหมายให้กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ใช้การคาดการณ์จากแนวโน้มปริมาณฝนสูงสุดหรือกรณีการมีพายุจรเกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประเมินปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับมือกับฝนที่อาจจะมากกว่าเดิม 20% จากผลกระทบของลานีญา กอนช. ได้มีการดำเนินงานเชิงรุกล่วงหน้า
เช่น การเตรียมพร่องน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ฯลฯ โดยสถานการณ์ปริมาณน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ยังสามารถรองรับน้ำได้มาก แต่สำหรับ เขื่อนที่มีปริมาณน้ำมาก ทาง กอนช. ได้แจ้งเตือนกรมชลประทานให้ปรับเกณฑ์เพิ่มการระบายน้ำและต้องเฝ้าระวังหากมีฝนเพิ่มขึ้น
และที่ประชุมในวันนี้ ได้มีการหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในเขตกรุงเทพมหานคร ทั้งสถานีสูบน้ำ คลองต่าง ๆ ฯลฯ โดยสำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครและกรมชลประทาน มีการเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำตลอดทุกคลองในเขตกรุงเทพมหานคร ออกสู่แม่น้ำต่าง ๆ พร้อมเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อรองรับกรณีเกิดฝนตกจำนวนมาก รวมทั้งการกำจัดผักตบชวาและขยะ ซึ่ง พลเอก ประวิตร พร้อมสนับสนุนกำลังพลร่วมดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยกรุงเทพมหานคร จะมีการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมและหากต้องการได้รับการสนับสนุน จะแจ้งมายัง สทนช. เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ต่อไป” สุรสีห์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจาภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เตือนในสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 ก.ย.2565) ถึงปัจจัยระดับโลกอย่าง “ลานีญา” ที่จะส่งผลต่อทั้งกรุงงเทพ และทุกภูมิภาคของประเทศ
“IRI และ APEC Climate Center พยากรณ์ว่าช่วง พ.ย. 65 – ก.พ. 66 อากาศจะหนาวเย็นมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และจะหนาวกว่าปีที่ผ่านมาเกือบทุกภูมิภาค (ยกเว้นภาคเหนือ)
ผลการพยากรณ์ทั้ง 2 สำนักสอดคล้องกันและบ่งชี้ว่าให้ระวังฝนมากช่วง ก.ย.-ต.ค. ในทุกภูมิภาค ขณะที่ภาคใต้ต้องระวังฝนมากเป็นพิเศษช่วง ต.ค.-ธ.ค. 65 โดยฝนจะมากกว่าปีที่แล้ว ใต้ตอนล่างฝนจะมากกว่าใต้ตอนบน
เตรียมรับมือกับปริมาณฝนในช่วงพีคกันนะครับทุกภูมิภาคช่วง ก.ย.-ต.ค.65 และภาคใต้ยาวถึง ธ.ค. 65 เตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยความไม่ประมาทกันนะครับ” รศ.ดร.วิษณุ ระบุ