นักกฎหมายมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เผยเนื้อหากฎหมายน่าสนใจและส่อเจตนาปรับปรุงวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น แม้จะยังคงมีหลายคำถามในทางปฏิบัติ แต่สิ่งที่ชัดเจนและเป็นที่น่าแปลกใจมาก คือ ทำไมการจัดการรับฟังร่างกฎหมายฉบับสำคัญฉบับนี้ถึง “เงียบมาก” ถึงขนาดที่องค์กรที่ติดตามใกล้ชิดต่อเรื่องนี้อย่าง Enlaw เอง “ยังไม่ทราบ”

ในปัจจุบันการดำเนินการต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมีมากและรุนแรงขึ้น ทำให้ต้องมีการดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายเกิดขึ้น แต่การจัดการทางกฎหมายกลับไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
การที่ในปัจจุบันวิธีพิจารณาคดีทางสิ่งแวดล้อมไม่มีมาตราการพิเศษแยกออกมา แต่ยังคงใช้วิธีพิจารณาแพ่งและอาญา อยู่ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้การพิจารณาคดีทางสิ่งแวดล้อมไม่มีประสิทธิภาพ
เพราะคดีทางสิ่งแวดล้อมมีความพิเศษ แตกต่างจากคดีแพ่งและอาญาทั่วไป ทำให้จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชายญด้านคดีสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ และต้องมีการกำหนดค่าเสียหายที่แตกต่างจากคดีปกติ
จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ควรจะมี พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมแยกออกมา เพื่อให้กฎหมายสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ปัญหาด้านการรับฟังความคิดเห็นยังคงเป็นปัญหา จากการที่ร่างพ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ที่ปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ว่าผู้ที่ทำงานในแวดวงกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่าง EnLAW ก็พึ่งรู้เรื่องการรับฟังหลังจากปิดรับความเห็นมากว่า 2 สัปดาห์ แต่จากการอ่านร่างอย่างคร่าวจาก EnLAW มีความเห็นไปในทางบวกเกี่ยวกับร่างฉบับนี้ ร่างนี้จะเป็นส่วนหนึ่งหรือไม่ที่จะทำให้การพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิภาพมากขึ้น คำตอบนั้นก็คงจะต้องรอให้ร่างนี้สำเร็จ เสร็จออกมาใช้งานแล้วเท่านั้นถึงจะตอบได้

ปัญหาทางด้านการรับฟังความคิดเห็น
ร่าง พรบ วิธิพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อ 19 ส.ค. – 4 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา แต่ผู้ที่ทำงานอยู่ในแวดวงกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่าง สุภาภรณ์ มาลัยลอย และ สุรชัย ตรงงาม จาก EnLAW กลับไม่รู้ถึงการมีอยู่ของการเปิดรับฟังความคิดเห็นนี้เลย
“แปลกใจนิดนึงว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็น ทำไม เราเองที่อยู่ในวงการนี้ กลายเป็นพึ่งรู้ว่ามีการเปิดรับฟังความคิดเห็นหลังจากปิดรับฟังไปแล้ว
ถ้าศาลเห็นความสำคัญแล้วเปิดให้สังคมได้เข้ามารับรู้ สนใจในร่างกฎหมายนี้ ก็น่าจะดีกว่านี้” สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
ทางด้าน สุรชัย ตรงงาม ทนายความและเลขาธิการ EnLAW ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าไม่รู้มาก่อนว่ามีการรับฟังความคิดเห็นของ ร่างพ.ร.บ.วิธิพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม
“การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างนี้ ผมมองว่าวิธีการมันไม่กระจายกว้างขว้างพอ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของคนทั่วไป มันไม่ค่อยเข้าถึงเท่าไหร่ มันควรจะมีวิธีให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือบุคลทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายกว่านี้” สุรชัย ตรงงาม

ร่างวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม
“เมื่อปีนี้ก็มีร่างวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมของศาลปกครองออกมาเหมือนกัน ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครองเห็นความสำคัญของคดีสิ่งแวดล้อมที่ต้องปรับปรุงวิธีพิจารณาคดี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน”
ทางผู้อำนวยการ EnLAW ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ก็มีการพยายามที่จะตั้งศาลสิ่งแวดล้อมที่จะมีการพิจารณาทั้งคดีปกครองและยุติธรรม ซึ่งในความเห็น EnLAW มีความเห็นว่าทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครองที่มีแผนกคดีสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ดังนั้น การเริ่มจากการมีวิธีพิจารณาคดีที่สิ่งแวดล้อมน่าจะทำได้เร็วและดีกับสถานการณ์ปัจจุบัน
“การพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมของศาลปกครองก็ดีอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ก็มีปัญหาอยู่บ้าง ”
ด้วยความใหม่ของการที่จะตั้งศาลสิ่งแวดล้อมขึ้นมาทำให้ ผู้จัดการ EnLAW เกิดความกังวลว่า การตั้งศาลใหม่ขึ้นมาเลยอาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพมากไปกว่าการสร้างวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นมาบังคับใช้
“ก็เป็นไปตามแผนปฏิรูปด้วยแหละ ที่เค้าคุยกันว่าทั้งสองศาลจะเสนอเครื่องมือในการพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อม ก็เลยมีการเสนอวิธีพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อมทั้งศาลปกครองและยุติธรรม”
สุรชัย ก็เห็นด้วยที่จะมีวิธีพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อมของทั้งสองศาล ซึ่งเป็นเครื่องมือในการพิจารณาที่มีความแตกต่างออกไป
“นี่ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทนายความ คนที่ทำงานในด้านสิ่งแวดล้อมเรียกร้อง เนื่องจากคดีด้านสิ่งแวดล้อมมีความเฉพาะ ปัญหาของมัน ดังนันการเอาวิธีพิจารณาคดีแพ่ง อาญา ปกครองทั่วไปมาใช้ ก็อาจจะไม่เหมาะกับคดีสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นการออกวิธีพิจารณาคดีเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมของทั้งศาลยุติธรรมและปกครอง เป็นสิ่งที่จำเป็น” สุรชัย

เป็นร่างที่ดี
จากการได้อ่านร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมคร่าว ๆ ของทั้งคู่ก็มองว่าในร่างฉบับนี้มีประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมในอนาคต
“ในมุมเบื้องต้นที่ได้อ่านร่างนี้ก็เป็นมุมดี ที่ศาลเห็นปัญหาจากปัจจุบัน และยกร่างวิธีพิจารณาที่จะสร้างให้เกิดความเป็นธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม” สุภาภรณ์
โดยทางผู้จัดการ EnLAW มีความเห็นไปในทางบวกเกี่ยวกับข้อกำหนดในการสืบพยาน ที่ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้ศาลเรียกพยานได้เองเหมือนศาลปกครอง
ทางด้านการไต่สวนที่ให้อำอาจศาลสามารถเรียกพยานหลักฐานได้ โดยไม่ถูกจำกัดอยู่ที่คู่ความเสนอ เป็นเรื่องหนึ่งที่ร่างนี้เขียนไว้อย่างชัดเจน เป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ สุรชัย ให้ความสนใจ
ประเด็นสำคัญที่สองก็คือ การขึ้นทะเบียนพยานผู้เชี่ยวชาญเพื่อมาให้ความเห็นในคดีสิ่งแวดล้อม
การที่ศาลสามารถพิพากษาเกินคำขอได้เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญของสุรชัยที่เห็นว่าเป็นการเพิ่มเติมมาแล้วน่าสนใจ ที่กำหนดให้ถ้าเพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมแล้วสามารถพิพากษาเกิดคำขอได้ ซึ่งสุรชัยยกตัวอย่างว่า ถ้ามีการฟ้องให้ฟื้นฟูจากมลพิษที่เกิดจากตะกั่ว แต่ระหว่างการพิจารณาเจอต่อว่ามี แคดเมียมที่จะทำให้ต้องมีการฟื้นฟูมากกว่าเดิม ในกรณีนี้ศาลก็สามารถสั่งให้มีการฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมด้วย
“ประเด็นที่น่าสนใจอีกอันหนึ่งก็คือ การคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉินก่อนฟ้อง สมมติว่า เห็นบริษัท ก กำลังปล่อยน้ำเสียอย่างนี้ แล้วกลัวฟ้องไม่ทันก็ยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนเลย ถ้ามีเหตุที่จะคุ้มครองได้” สุรชัย
“ผู้พิพากษาเองก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน การมีพยานผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อมชัดเจนและโจทย์และจำเลยยอมรับ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่จะช่วยให้การพิจารณาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น” สุภาภรณ์
นอกจากเรื่องการสืบพยาน และ การมีผู้เชี่ยวชาญที่ สุภาภรณ์เห็นด้วยแล้วยังมีเรื่อง การพิจารณาเกินคำขอได้ เพราะว่า บางครั้งในการฟ้องคดีด้านสิ่งแวดล้อม ศาลอาจจะมองเห็นว่ามาตราการที่โจทย์ฟ้อง อาจจะไม่เพียงพอในเรื่องการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพ ซึ่งในกรณีนี้ศาลก็อาจจะพิพากษาเกินคำขอได้เพื่อประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพของประชาชน
การที่กำหนดให้องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนตามกฎหมายสามารถฟ้องได้หลังจากแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขแล้ว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการดำเนินการใด ๆ ภายใน 60 วัน ไม่ใช่แค่ให้ผู้เสียหายเท่านั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ สุภาภรณ์ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีในร่างนี้
“สำหรับในทางอาญาก็มีความน่าสนใจในแง่ที่ว่า กรณีที่ชาวบ้านถูกฟ้องว่าบุกรุกป่า ถึงความจริงแล้วชาวบ้านจะอยู่ก่อนมานาน ในด้านการดำเนินคดีก็อาจจะเข้ากับ พ.ร.บ. ฉบับนี้” สุรชัย
“มาตรา 32 ในคดีส่วนแพ่ง ถ้าศาลเห็นว่าจําเลยกระทําไปด้วยความยากจนเพื่อการ ประทังชีวิตและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีเพียงเล็กน้อย การกําหนดค่าเสียหายตามควรแก่พฤติการณ์ให้ศาลคํานึงถึงสถานะของจําเลยประกอบด้วย
มาตรา ๓๖ ในคดีอาญา ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทําความผิดผู้ใดกระทําความผิดด้วยความ ยากจนเพื่อการประทังชีวิต และความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีเพียง เล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
การกําหนดค่าเสียหายในคดีส่วนแพ่ง ให้นํามาตรา ๓๒ มาใช้บังคับ”
การนำมาตราทั้ง 2 ข้อด้านบนมาใช้ ศาลก็อาจจะกำหนดโทษเพียงเล็กน้อยกับชาวบ้านที่โดนคดีบุกรุกป่า โดยดูตามสภาพข้อเท็จจริง
“แต่ก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเรื่องคนอยู่ในป่า เป็นแค่ปลายทาง แค่เป็นการเปิดช่องให้ศาลลงโทษน้อยกว่าเพียงใดก็ได้ 1 วัน ก็ได้” สุรชัย

แต่ก็ยังคงกังวล
“แต่เราก็ยังต้องดูอีกทีว่ากระบวนการเหล่านี้เมื่อนำมาใช้แล้วมันจะโอเคหรือไม่ โอเคไหม ถ้าศาลพิจารณาคดีโดยแนวทางนี้แล้วจะยังมีปัญหาอะไรอยู่ไหม” ผู้จัดการ EnLAW
เรื่องที่ผู้จัดการ EnLAW ยังคงกังวลเรื่องหนึ่งก็คือ ผู้เชี่ยวชาญ ที่ยังคงไม่มีแนวทางที่มาชัดเจนว่า ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง กระบวนการที่มาเป็นอย่างไร และเปิดโอกาสให้โจทก์และจำเลยเลือกผู้เชี่ยวชาญที่จะมาให้ความเห็นมากน้อยแค่ไหน
“ความเชื่อมัน การยอมรับผู้เชี่ยวชาญนั้น ๆ ความเป็นกลางของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเราก็ต้องมาดูรายละเอียดอีกที” สุภาภรณ์
อีกข้อกังวลของ สุภาภรณ์ ก็คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตรวจ วิเคราะห์ ด้านสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่ชัดเจนว่ามาจากส่วนไหน
“เท่าที่ทำคดีสิ่งแวดล้อมมา การตรวจ วิเคราะห์ตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ใครจะรับผิดชอบในส่วนนี้ ถ้ายังไม่มีการพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้ผิด”
“ความเสียหายที่บริษัทผู้ก่อมลพิษ เรามักจะเจอว่าพอบริษัทพวกนี้โดนฟ้องก็มีการโยกย้ายทรัพย์สิน ทำตัวเองล้มละลาย การได้มาซึ่งค่าเสียหายที่จะนำมาฟื้นฟูเยียวยาแก้ไข ก็ค่อนข้างจะเรียกได้น้อย
การที่มีวิธีพิจารณาใหม่เราก็คาดหมายว่าจะสามารถแก้ปัญหาและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ แต่ก็ยังคงไม่มั่นใจว่าจะเป็นไปได้ไหม” สุภาภรณ์
“จากที่อ่านเบื้องต้นแล้วเนี่ย เข้าใจว่า เวลาฟ้องเพื่อการฟื้นฟูเยียวยา ถ้าเป็นตัวบุคลจะมีคำขอให้ฟื้นฟูเนี่ยไม่ได้ จากที่เข้าใจเบื้องต้น แต่ก็คงต้องรอคำอธิบายก่อน” สุรชัย
ที่กล่าวถึงคือ ในมาตรา 20 ของร่าง พ.ร.บ. ที่บอกว่าต้อง 50 คนขึ้นไปถึงจะตั้งเป็นตัวแทนชุมชนเพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้ คำถามที่ตามมาของ สุรชัย ก็คือ แล้วถ้าเป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ถึง 50 คน จะสามารถยื่นฟ้องได้หรือไม่ ซึ่งก็อาจจะต้องมีการถกเถียงต่อไปว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร
“ร่างนี้ดูเป็นประโยชน์ แต่ว่าก็ยังต้องรอดูว่า ถ้าร่างผ่านแล้วกระบวนการที่เอามาใช้มันจะเป็นไปตามที่ศาลได้มีเจตจำนงค์ตามหลักการ และเหตุผลได้อย่างแท้จริงไหม” สุภาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

1. ประกาศรับฟังวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม.pdf
2. ข้อมูลประกอบการรับฟังความเห็นฯ.pdf
3. ร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม.pdf
3 ความเห็นเพิ่มเติม หลังปิดรับฟังฯ
“ขอบคุณสำนักข่าวกรีนนิวส์ที่ติดตามและเผยแพร่ ข่าว ร่างพรบ.วิธีพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อม
เนื่องจาก ไม่เคยเห็นร่างกฎหมายนี้มาก่อนและหมดระยะเวลาทำคว่ามเห็น ไปแล้ว ผมมีความเห็นเพิ่มเติมดังนี้
1. ร่างพรบ.วิธีพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องมือใหม่ให้ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ทนายความ อัยการ ศาลดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมทั้งทางแพ่งและอาญาที่มีความแตกต่างจากคดีทั่วไป
2. ร่างนี้กำหนดเครื่องมือใหม่ๆที่ไม่มีในวิธีพิจารณาคดีทั่วไป ซึ่งถือได้ว่ามีความก้าวหน้ามากขึ้น เช่น ตามร่างพรบ. ม13-18 เป็นระบบไต่สวน ศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร และศาลมีอำนาจซักถามพยานเพิ่มเติมได้จนสิ้นข้อสงสัย
คำพิพากษาในคดีสิ่งแวดล้อม ให้ศาลแสวงหาแนวทางและวางมาตรฐานต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อสร้างความสมดุลทางระบบนิเวศและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและสิ่งแวดล้อม ศาลจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้องได้
ศาลอาจมีคำสั่งให้คู่ความและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำแผนบำบัดฟื้นฟูเยียวยาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เสียหายก็ได้ มีการกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ และถ้าค่าเสียหายไม่ชัดเจน ศาลสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นอีกไม่เกินสิบปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เพิ่ม ม 32 ในคดีส่วนแพ่ง เพิ่มดุลพินิจศาลกำหนดค่าเสียหายโดยคำนึงถึงสถานะความยากจนของจำเลยม. 36 ในคดีอาญาผู้ใดกระทำความผิดด้วยความยากจนเพื่อการประทังชีวิต และความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีเพียงเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ฯลฯ
3. อย่างไรก็ดีมีข้อสงสัยความเหมาะสมอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ
3.1 แม้มีการกำหนด ผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดี กว้างขวางขึ้น เข่น ประชาชนทั่วไป ชุมชนผ่านตัวแทนชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชน แต่ขีดกรอบที่มีลักษณะจำกัดสิทธิว่าบุคคลในชุมชนนั้นจำนวนตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไปร่วมกันตั้งตัวแทนชุมชนเถึงมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการป้องกันหรือระงับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือแก้ไข หรือฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายฯและเรียกค่าเสียหายสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่ถูกทำลาย ดังนั้นถ้ามีชาวบ้านมาแสดงตนใช้สิทธิไม่ถึง 50 คน จะไม่มีสิทธิมีคำขอเยียวยาของชุมชนในภาพรวมได้
3.2 ร่างวิ ฯฉบับนี้ เป็นกฎหมายสำคัญที่ควรเปิดโอกาสให้ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และสังคมร่วมแสดงความคิดเห็นให้กว้างขวาง มากกว่ารับฟังผ่านเวปไซด์ที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ยากเช่น การจำกัดสิทธิการฟ้องคดีในลักษณะชุมชน ในร่าง ม. 20 ตามข้อ 3.1 รวมถึงมีข้อสงสัยมีกระบวนการรับฟังความเห็นลักษณะอื่นกับผู้มีส่วนเกี่ยวอย่างเพียงพอหรือไม่ เช่น สภาทนายความ องค์กรพัฒนาเอกชน เจ้าหน้าที่รัฐ และองค์กรชุมชนต่างๆ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นมากน้อยเพียงใด จึงอยากเชิญชวนผู้ทีเกี่ยวข้องได้ศึกษาและแสดงความเห็น ต่อร่างพรบ..วิธีพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อมฉบับนี้เผยแพร่ให้กว้างขวาง มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้หาก มีความเห็นต่อ ร่าง.วิธีพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อม ของศาลปกครองซึ่งผ่านมติครม.ไปแล้วด้วย เปรียบเทียบกัน ก็จะทำให้เราเห็นทิศทางวิธีพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม และชุมชนต่อไปในสังคมไทย” สุรชัย โพสต์ความเห็นเพิ่มเติม เมื่อ 21 ก.ย. 2565