‘แม่จอกฟ้า’ ชะตากรรมปกาเกอะญอ ในมหกรรม ‘ปลูกป่า’

GreenOpinion : ‘แม่จอกฟ้า’ ชะตากรรมปกาเกอะญอ ในมหกรรม ‘ปลูกป่า’

พชร คำชำนาญ 

ลึกเข้าไปในผืนป่า อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง บ่ายวันนั้นฝนตก เราเดินทางตามเส้นทางสัญจรลาดชันเข้าไปยังสถานที่ที่ไม่คุ้ยเคย ตลอดสองข้างทางเริ่มร้างผู้คนและชุมชนเมื่อรถกระบะสี่ล้อพาเราเดินทางลึกเข้าไปเรื่อยๆ ตลอดสองข้างทองจึงเป็นผืนป่าหนาทึบ สลับไร่ข้าวโพด และน้ำห้วยที่เป็นสีแดงจากตะกอนดินในช่วงฤดูฝน จุดหมายของเราในวันนี้คือชุมชนบ้านแม่จอกฟ้า เป็นชุมชนของกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งแล้วใน อ.แจ้ห่ม

และอาจไม่หลงเหลือวิถีเผ่าพันธุ์แล้วก็ได้ในอนาคต หากสถานการณ์ยังคงดำเนินไปเช่นทุกวันนี้…

ป้ายแสดงเจตนารมณ์ไม่เอาโครงการปลูกป่า ภายหลังเป็นข่าวชาวบ้านรายงานว่า กรมป่าไม้ได้ลงมาชี้แจงแล้ว (ภาพ : พชร คำชำนาญ)

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏภาพตามสื่อว่า ชาวบ้านในชุมชนบ้านแม่จอกฟ้า อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ได้ประกาศเจตนารมณ์คัดค้านโครงการปลูกป่าในพื้นที่ของชุมชน โดยการเขียนป้ายระบุว่า “ชาวบ้านแม่จอกฟ้าไม่เอาการปลูกป่า” หลังเจ้าหน้าที่ไม่ทราบหน่วยงานได้เริ่มเข้าแผ้วถางพื้นที่เตรียมการปลูกป่า และมีการปักแนวเขตโครงการปลูกป่าแล้ว 500 ไร่ โดยชุมชนไม่มีส่วนร่วม 

ขณะนั้นชาวบ้านแม่จอกฟ้าตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงทางจิตใจ เผชิญความหวาดกลัว เพราะเกรงจะกระทบกับพื้นที่ทำกิน และวิถีคนอยู่กับป่า และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราตัดสินใจเดินทางไกลกว่า 160 ก.ม. จากเชียงใหม่ไปรับฟังเรื่องราวความเป็นมา 

และนี่คือเรื่องราวชะตากรรมปกาเกอะญอบ้านแม่จอกฟ้า ในมหกรรมโครงการ “ปลูกป่า” อย่างมูมมามของรัฐและเอกชน

สภาพบ้านเรือนของชาวปกาเกอะญอบ้านแม่จอกฟ้า อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง (ภาพ : พชร คำชำนาญ)

รู้จัก ‘แม่จอกฟ้า’

ชุมชนบ้านแม่จอกฟ้า ปัจจุบันตั้งอยู่ ม.8 ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เป็นชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ห่างจากตัวเทศบาลทุ่งผึ้งประมาณ 19 ก.ม. ห่างจากตัวอำเภอแจ้ห่มประมาณ 62 ก.ม. และห่างจากตัว จ.ลำปางประมาณ 112 ก.ม. เส้นทางคมนาคมจาก ต.ทุ่งผึ้งค่อนข้างลำบากในช่วงหน้าฝน เป็นเส้นทางลูกรัง ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ มีโรงเรียนประถม 1 แห่ง มีวัด 1 แห่ง  

ชุมชนบ้านแม่จอกฟ้านั้น เดิมตั้งอยู่ ม.5 ต.ทุ่งผึ้ง ร่วมกับชุมชนบ้านแม่ช่อฟ้า และแยกตัวออกมาอยู่ ม.8 ตั้งแต่ปี 2562 โดยปัจจุบันมีครัวเรือนประมาณ 60 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 200 คน นับถือศาสนาพุทธและความเชื่อดั้งเดิมเป็นหลัก ชาวบ้านแม่จอกฟ้าพยายามค้นหาหลักฐานการมีอยู่ของชุมชน และพบว่ามีการตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 200 ปี ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าเก่าแก่ในชุมชน ว่าผู้บุกเบิกชุมชนบ้านแม่จอกฟ้านั้นได้เข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ไม่ต่ำกว่าปี 2364 แล้ว 

ชาวปกาเกอะญอที่นี่ดูแลจัดการพื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่ การจัดการดิน น้ำ ป่า และทรัพยากร ยังคงจัดการแบบวิถีดั้งเดิมของชุมชนที่สืบทอดกันมา คือปลูกข้าวไว้เพื่อบริโภคตลอดทั้งปี เก็บหาของป่าที่เป็นแหล่งอาหารของชุมชน และภาคเกษตรปลูกข้าวโพดเพื่อจุนเจือครอบครัว  

พื้นที่ทั้งหมดของชุมชนบ้านแม่จอกฟ้าไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิทำกินรูปแบบใดๆ เพราะถูกประกาศเป็นเขตป่าทับ โดยมีทั้งป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แจ้ฟ้า และกำลังอยู่ในระหว่างเตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท

วิถี ‘ไร่หมุนเวียน’ ในความท้าทาย 

“บ้านแม่จอกฟ้ามีนาไม่มาก ข้าวไม่พอกินหรอก เราเลยต้องพึ่งไร่หมุนเวียนเป็นหลัก ปลูกตั้งแต่แตง มะเขือ มะนอย พริก มะเขือส้ม ห่อวอ เผือก มัน ข้าวโพดสาลี ผักกาด หอมแย้”

ตัวอย่างพันธุ์พืชในไร่หมุนเวียนของประพันธ์ ยาง หรือ เต้ มีแตงกวาและห่อวอ (ภาพ : พชร คำชำนาญ)

ประพันธ์ ยาง หรือ เต้ ชาวปกาเกอะญอวัย 27 ปีกล่าว ขณะยืนอยู่บนแปลงไร่หมุนเวียนของตนที่กะจากสายตาไม่น่าเกิน 5 ไร่ ข้าวเริ่มขึ้นสูงถึงประมาณหน้าแข้งแล้ว แม้จะเขียวขจีแต่พบว่าใบบางส่วนเหลือ คาดว่าเกิดจากการทิ้ง ‘รอบหมุนเวียน’ ไว้น้อยเกินไป 

โดยทั่วไประบบไร่หมุนเวียนนั้นจำเป็นต้องอาศัยการ ‘พักฟื้น’ หน้าดินในแต่ละฤดูกาล อยู่ที่ระยะเวลาประมาณ 7-10 ปี หรืออย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 5 ปี กล่าวคือ ชาวกะเหรี่ยงจะแผ้วถางทำกินในไร่ปัจจุบันเพียงระยะเวลา 1 ปี แล้วจึงหมุนไปทำในอีกแปลงหนึ่ง ปล่อยแปลงที่เก็บเกี่ยวผลิตผลแล้วทิ้งไว้ให้ดินและต้นไม้ได้ฟื้นตัว แล้วหมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จะกลับมาพบกับแปลงปัจจุบันเดิมอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไปไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว ซึ่งถือเป็นการฟื้นคืนแร่ธาตุในดิน พืชจึงงอกงามเองได้โดยปราศจากสารเคมี เมื่อรอบหมุนเวียนน้อยเกินไป ธาตุในดินยังไม่ฟื้น พืชจึงอาจงอกงามไม่ดีหรือมีใบเหลือง 

เต้เล่าว่า ที่ดินทำกินแปลงนี้ตนและครอบครัวทำกินด้วยกัน เลี้ยงสมาชิกในครัวเรือน 5 คน เขาไม่มีนาซักแปลง จึงต้องอาศัยข้าวในไร่หมุนเวียนเป็นหลัก ซึ่งแต่เดิมในพื้นที่ทำกินประมาณ 5 ไร่ ของเขานั้นใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 2 กระสอบ จะได้ผลผลิตข้าวประมาณปีละ 60 กระสอบ ซึ่งยังถือว่าพอกิน

อย่างไรก็ตามครอบครัวของเต้ต้องพบกับความท้าทาย ปัจจุบันเขาสามารถหมุนเวียนได้เพียงประมาณ 3 ปีเท่านั้น เนื่องจากที่ดินทำกินไม่เพียงพอให้หมุนเวียนแล้ว โดยเกิดจากรายจ่ายของครอบครัวที่สูงขึ้น ต้องพึ่งพาพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวโพด และต้องเผชิญกับโครงการปลูกป่านับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา

แลนด์สเคปไร่หมุนเวียน ทั้งไร่ปัจจุบันและไร่พักฟื้น (ภาพ : พชร คำชำนาญ)

ฝันร้ายในมหกรรม ‘ปลูกป่า’

ตั้งแต่โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ โครงการปลูกป่าของกรมป่าไม้ จนถึงโครงการปลูกป่าที่สนับสนุนโดยกลุ่มทุนผู้สร้างมลพิษ ชุมชนบ้านแม่จอกฟ้านั้นผ่านมาแล้วทุกชะตากรรม และนั่นทำให้ภูมิคุ้มกันด้านความมั่นคงทางอาหารของชุมชนต้องอ่อนแอลงเรื่อยๆ

ภายหลังการแยกตัวออกจากบ้านแม่ช่อฟ้าในปี 2562 อาจถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของมหกรรมปลูกป่า โดยชาวบ้านหลายคนยืนยันตรงกันว่าผลกระทบเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นหลังจากนั้น และตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ไม่มีปีไหนเลยที่ชุมชนว่างเว้นจากการถูกปลูกป่า ต้องตกอยู่ในสภาวะที่รู้สึกไม่มั่นคงในที่ดินเสมอ

เช่นเดียวกับเต้ ที่ให้ข้อมูลว่าแต่เดิมตนมีพื้นที่ทำกินอยู่ 10 ไร่ ปัจจุบันที่เหลือไร่หมุนเวียนเพียง 5 ไร่นั้น สาเหตุที่ใหญ่หลวงที่สุดคือเขาถูกปลูกป่าทับตั้งแต่ปี 2563 บนเนื้อที่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทำกินตัวเอง นั่นทำให้ไร่หมุนเวียนต้องลดรอบหมุนเวียนลง และเขายังบอกอีกว่า โครงการปลูกป่าที่เข้ามาส่วนใหญ่นั้นจะทับกับพื้นที่ทำกินของชุมชน โดยเฉพาะไร่หมุนเวียนและไร่ข้าวโพดเป็นหลัก 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 เต้เล่าว่ามีการเข้ามาประชาคมโครงการปลูกป่า โดยขอพื้นที่ปลูกป่า 500 ไร่ โดยบอกว่าจะไม่ยุ่งกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แต่สุดท้ายก็มาปลูกป่าบนพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และจนถึงขณะนี้มีเนื้อที่ที่ถูกปลูกป่าไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 ไร่ และหลังจากนั้นไม่มีการเข้ามาชี้แจงหรือทำความเข้าใจกับชาวบ้านอีกเลย โดยส่วนใหญ่พื้นที่ปลูกป่าอยู่บริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ห้วยสาย’ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของชุมชน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีที่ทำกินของชาวบ้านอยู่มากที่สุด

ประพันธ์ ยาง ยืนอยู่บนไร่หมุนเวียนแปลงปัจจุบันของตัวเอง แล้วมองไปยังแปลงทำกินที่ถูกปลูกป่า (ภาพ : พชร คำชำนาญ)

“เคยถามว่าจะมาทับพื้นที่ทำกินไหม เขาบอกว่าจะไม่เข้ามายุ่งกับพวกเรา เขาบอกว่าปลูกป่าไปแล้วก็สามารถทำกินได้ในพื้นที่ปลูกป่านั้น แต่จริงๆ แล้วเขาปลูกใกล้ๆ ถนน 50 เมตร และเขาก็มาปลูกทับพื้นที่ทำกิน เคยถามเขา เขาว่าจะไม่ทำ ไม่ปลูกบนพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แต่สุดท้ายเขาก็ปลูกในพื้นที่ทำกิน” เต้กล่าว 

เมื่อถามถึงผลกระทบ เต้สะท้อนว่าเป็นวิกฤตด้านอาหาร เนื่องจากข้าวไม่พอกิน เนื่องจากข้าวในไร่หมุนเวียนต้องมีการหมุนเวียนพื้นที่ตลอดทั้งปี และต้องมีการแบ่งพื้นที่ทำให้กินให้คนในครัวเรือนด้วย หากวันไหนแยกย้ายกันไปมีครอบครัว ซึ่งเมื่อเหลือรอบหมุนเวียนน้อยลง ผลที่เกิดขึ้นแล้วคือผลผลิตข้าวที่ได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว 

ถัดออกไปอีกประมาณ 15 ก.ม. ชาวบ้านแม่จอกฟ้าได้นำเราไปยังอีกพื้นที่แปลงปลูกป่าหนึ่งซึ่งระบุว่าเป็นของกรมป่าไม้ โดยแปลงปลูกป่าแปลงนี้เองที่ชาวบ้านได้ทำกิจกรรมประกาศเจตนารมณ์คัดค้านจนเป็นข่าว และนั่นทำให้เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ต้องเข้าไปชี้แจงกับชาวบ้าน โดยมีเนื้อที่ปลูกป่าอีก 500 ไร่ ได้นำแนวเขตมาชี้แจง และเดินแนวเขตร่วมกับชาวบ้าน หลังจากนั้นผู้แทนกรมป่าไม้ให้คำมั่นว่าจะนำแผนที่ไปปรับปรุงและมาชี้แจงกับชาวบ้านอีกครั้ง 

ชาวบ้านเล่าว่า เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับวิถีทำกินของชุมชน และหากปลูกป่าแล้วจะคืนเป็นป่าชุมชนให้ชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านแม่จอกฟ้ายังไม่เชื่อใจนัก เนื่องจากหากไม่เป็นข่าว ชาวบ้านคงไม่มีวันได้รับคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด แม้เรื่องราวเหล่านี้จะกระทบกับชีวิตทั้งชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอแห่งนี้ก็ตาม 

“ยังกลัว แต่ปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงกันต่อไป” ชาวบ้านแม่จอกฟ้ารำพึง

ป้ายแสดงแปลงปลูกป่าของกรมป่าไม้ ในพื้นที่ปลูกป่า 500 ไร่ ที่ภายหลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้ามาชี้แจงแล้ว (ภาพ : พชร คำชำนาญ)

สะท้อนนโยบายภาพใหญ่ มหกรรม ‘ปลูกป่า’ ฟอกเขียวนายทุน แย่งยึดที่ดินประชาชน

การปลูกป่านั้นถูกสอดแทรกอยู่ในแทบทุกกฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดิน หลังการทำรัฐประหารในปี 2557 ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นได้อิงแอบอำนาจเผด็จการและร่วมมือกับรับบาลทหารสนองแนวคิดและตัณหาความ ‘อยากเขียว’ ของตนมาอย่างสม่ำเสมอ นับตั้งแต่นโยบายทวงคืนผืนป่า ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ตามมาด้วยการตั้งเป้าหมายตัวเลขพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ หรือแม้แต่ในนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดิน เช่น โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พ.ย. 2561 ว่าด้วยกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงกฎหมายป่าอนุรักษ์ที่ออกมาในช่วงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 

นโยบายและกฎหมายเหล่านี้ต่างสอดแทรกมาตรการในการปลูกป่าไว้ทั้งสิ้น และจะดำเนินการเข้มข้นขึ้นหลังจากนี้หลังการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ เมื่อกลางเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เปลี่ยนผ่านสู่ยุค ‘ป่าคาร์บอน’ ซึ่งคือความพยายามในการส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อค้าคาร์บอนเครดิต นโยบาย ‘Net Zero’ หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จะสัมพันธ์โดยตรงต่อการแย่งยึดที่ดินชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่เขตป่า และจะส่งผลต่อการยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านด้วยมาตรการทางกฎหมายป่าไม้ในอนาคต โดยที่กลุ่มทุนสามารถผลาญโลกนี้ได้ต่อไป

ชาวบ้านแม่จอกฟ้านั่งอยู่บนแปลงปลูกป่า ของกรมป่าไม้ (ภาพ : พชร คำชำนาญ)

Net Zero นั้นเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ มีแนวคิดว่าปล่อยคาร์บอนเท่าไร ก็ดูดซับคาร์บอนกลับเท่านั้น โดยมีประเทศมหาอำนาจหลายประเทศประมาณร้อยละ 53 ของประเทศทั่วโลกที่มีนโยบายนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะมีการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อวิกฤตสภาพอากาศในประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ  ศิลปอาชา ได้พูดถึง ‘การฟอกเขียว’ มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด Net Zero เหมือนหลายๆ ประเทศ โดยการผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของภาคป่าไม้ ต้องเพิ่มศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนที่กลุ่มทุนปล่อย

ศักยภาพการดูดซับคาร์บอนของป่าในไทยเป็นจำนวน 120 ล้านตัน ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่ป่าที่มีสามารถถูดซับได้ 100 ล้านตัน โดยประมาณ เหลืออีก 20 ล้านตันที่ต้องหาพื้นที่ภาคป่าไม้มาดูดซับให้ได้ 

นโยบายนี้จะนำไปสู่การเพิ่มพื้นที่ป่าจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง และเป้าหมายการดูดซับคาร์บอน 20 ล้านตันที่กลุ่มนายทุนต้องการพื้นที่ในการดูดซับ นำไปสู่การล่าอาณานิคมคาร์บอนผ่านเครื่องมือ กลไกปลูกป่าเพื่อทดแทนคาร์บอน เป็นนโยบายหลักที่ฝ่ายรัฐและทุนดำเนินการร่วมกัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเร่งเร้าปฏิบัติการนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลอีกด้วย

จากแม่จอกฟ้า ถึงข้อเรียกร้องหยุด ‘ฟอกเขียว’

“บ้านเราเป็นป่าอยู่แล้ว มันไม่มีที่ให้มาปลูกป่าอีกแล้ว ถ้าจะปลูกป่า ก็คงเหลือแค่ที่ทำกินของเราเท่านั้น” 

เต้ยังคงเล่าถึงชะตากรรมชาวบ้านแม่จอกฟ้าในเราฟังตลอดเส้นทางที่อยู่ด้วยกัน และคงเป็นจริงดั้งนั้น ป่าเขียวขจีและวิถีชีวิตเรียบง่ายที่ปรากฏแก่สายตานี้เป็นประจักษ์พยาน และพวกเขากำลังเผชิญกับวิกฤตจากการ ‘ฟอกเขียว’ อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะบริษัทที่เข้ามาลงทุนปลูกป่าในพื้นที่นี้ เป็นบริษัทขุดเจาะปิโตรเลียมรายใหญ่รายหนึ่ง

ชาวบ้านแม่จอกฟ้าเริ่มทดลองวาดแผนที่ทำมือของชุมชนเป็นครั้งแรก (ภาพ : พชร คำชำนาญ)

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 กรณีบ้านแม่จอกฟ้านี้เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.ลำปาง กลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดิน ตัดสินใจเข้ายื่นหนังสือถึงหัวหน้าพรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มาเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดิน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลสบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 

โดยมีข้อเรียกร้องให้พรรคก้าวไกลต้องมีแนวนโยบายอย่างจริงจังในการยุตินโยบายทวงคืนผืนป่า และแก้ไขปัญหาสืบเนื่องจากนโยบายดังกล่าว ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และ พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 การคืนสิทธิให้เหยื่อทวงคืนผืนป่าเข้าทำกินในพื้นที่ ทั้งคดีที่พบตัวผู้กระทำความผิดและไม่พบผู้กระทำความผิด กระบวนการยุติธรรมที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือแย่งยึดที่ดินอย่างเป็นระบบ 

และแสดงจุดยืนในนามของพรรคการเมืองสมัยใหม่ที่ต้องร่วมวิพากษ์และตีแผ่เบื้องหลังแนวคิดที่อิงแอบวาทกรรมสากล ทั้งการปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิต แนวคิด Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การกำหนดตัวเลขเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างเลื่อนลอย  

“ล้วนแต่เป็นวาทกรรมของระบบเสรีนิยมใหม่เชื่อมโยงกับอิทธิพลเครือข่ายกลุ่มทุนน้อยใหญ่และอำนาจของรัฐราชการของประเทศไทยที่ล้วนเป็นตัวการสำคัญของวิกฤตการจัดการทรัพยากร และกำลังจะใช้กระแสสิ่งแวดล้อมในการ ‘ฟอกเขียว’ ตัวเอง และกำลังผลักให้ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนชาติพันธุ์เป็นเหยื่อและจำเลยด้านทรัพยากร-สิ่งแวดล้อมและถูกแย่งยึดสิทธิ ปล้นชิงฐานทรัพยากรอีกระลอก” สกน. ลำปางกล่าว

ไม่ว่าเสียงตอบรับหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร แต่วันนี้นี่คือ ‘ภัยคุกคาม’ แรกที่ชุมชนแม่จอกฟ้าต้องเผชิญและรู้สึกได้ถึงผลกระทบใหญ่หลวง และการที่พวกเขากล้าปรากฏตัวในพื้นที่สาธารณะ สร้างอำนาจในการต่อรอง มากกว่าคอยหวาดกลัว ซึ่งนั่นอาจเป็นก้าวแรกของการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ ในนามของเผ่าพันธุ์ปกาเกอะญอผู้ดำรงวิถีอย่างสงบกับธรรมชาติ แต่มิวายต้องถูกรุกรานอยู่เสมอ 

ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่จอกฟ้อง ได้ทำให้เราตั้งคำถามกับผู้คนในสังคมนี้อีกครั้ง  

ว่าการทำลายล้างโลกด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำลายทรัพยากรและผืนป่าของกลุ่มทุน แล้วฟอกตัวเองด้วยการปลูกป่า บนชีวิตของประชาชนกลุ่มเปราะบางที่อาจแหลกสลาย และอาจถูกลบเลือนออกจากแผนที่ประเทศไทย พวกเราคนในเมืองจะได้อะไรจากชะตากรรมเหล่านี้ที่เกิดกับเพื่อนร่วมสังคมเราหรือ

ทีมเยาวชนบ้านแม่จอกฟ้า ยืนอยู่บนไร่หมุนเวียน (ภาพ : พชร คำชำนาญ)

 

พชร คำชำนาญ 

บัณฑิตนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ผู้ประสานงาน ภาคี#Saveบางกลอย และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move ผู้นิยามตัวเองว่า “ผู้สนใจศึกษาและต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์”