ม่อนแจ่ม ความท้าทายใหม่ ท้าทายใคร(บ้าง)?

GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

(ภาพ : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล)

1. 

ช่วงนี้ผมอยู่บ้าน งานในไร่ข้าวก็ไม่มีอะไรให้ทำมากแล้ว แม้ว่าหญ้าจะยังคงขึ้นมารบกวนอยู่ แต่ก็ยังไม่ถึงกับสร้างปัญหา เพราะต้นข้าวโตและสูงบังแสงแดดไม่ให้ต้นหญ้าใหม่ขึ้นมา อีกสักสองอาทิตย์รอให้หญ้าที่มีอยู่สูงกว่านี้หน่อย ค่อยใช้มีดขอไล่ฟันออกบ้างก็น่าจะพอ 

แม้ไม่มีงานในไร่ผมก็ชอบที่จะขึ้นมานั่งทำงานในไร่ เพราะเงียบและบรรยากาศดี แวดล้อมไปด้วยข้าวสีเขียว (เดือนหน้าก็จะเริ่มออกรวงส่งกลิ่นหอมและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว) บางวันก็ฝนตก ตลอดทั้งวันก็จะมีเสียงนกและเสียงแมลงสารพัดชนิด คอยส่งเสียงให้ความเพลิดเพลิน

ระหว่างนี้จึงมีเวลาติดตามข่าวคราวกรณีรื้อบ้านพักม่อนแจ่ม ทั้งการพูดคุย ติดตามจากเฟสบุ๊คและเว็บไชต์ข่าวที่เกาะติดเรื่องนี้ 

ผมได้มาทบทวนและวิเคราะห์ในหลายๆ แง่มุม เห็นว่าการต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินของชาวบ้านม่อนแจ่ม น่าสนใจทีเดียว

(ภาพ : วิสาหกิจชุมชนม่อนเเจ่ม)

2.

หากเทียบกับหนัง การต่อสู้ของม่อนแจ่มก็เสมือนกับกลุ่มชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับกองทัพจากเมืองหลวง ในสายตาของชาวบ้านพวกเขากำลังต่อสู้กับความยุติธรรมจากอำนาจรัฐที่ฉ้อฉล แต่ในสายด้วยสายตาของรัฐแล้วพวกนี้ก็ไม่ต่างจากโจรภูเขา ดังนั้น คนที่ลุกขึ้นมาสู้กับรัฐ จะเป็นวีรบุรุษหรือโจร ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องเล่าของใครมีพลังมากกว่า (แต่แน่นอนว่าฝ่ายรัฐย่อมเสียงดังกว่าอยู่แล้ว)

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ป่าไม้อ้างเหตุผลในการขึ้นไปรื้อที่พักโฮมสเตย์ของชาวบ้านว่า พื้นที่ดังกล่าวถือว่าบุกรุกป่า และก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต

แต่คนของฝ่ายรัฐที่ออกตัวแรงกว่าเพื่อนคือ คุณวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวด้วยถ้อยคำแบบค่อนข้างกำกวม แต่สรุปความ (ตามความเข้าใจของผม) ได้ว่า ชาวบ้านที่เป็นคนดั้งเดิมยังมีสิทธิใช้ที่ดินได้ แต่จะต้องใช้เพื่อทำการเกษตรเท่านั้น จะสร้างรีสอร์ต โฮมสเตย์ไม่ได้ สำหรับคนที่ถูกดำเนินคดีนั้น มีเฉพาะคนนอกที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือเท่านั้น

ในขณะที่ชาวบ้านก็ตอบโต้พร้อมแสดงแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศยืนยันไม่มีพื้นที่บุกรุกใหม่ ไม่ได้มีการชื้อขายเปลี่ยนมือ และได้ขึ้นทะเบียนตามนโยบายของรัฐบาลแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2542 แล้ว นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีการจัดทำกฎระเบียบในการควบคุมอย่างชัดเจน  

จากปรากฏการณ์นี้ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมเฝ้าเชียร์ชาวม่อนแจ่ม เพราะข้อมูลต่างๆ ชึ่งหาได้ไม่ยาก ล้วนบ่งบอกว่าชาวม่อนแจ่มไม่ได้บุกรุกป่า แต่ก็มีคนอีกจำนวนมากก็เชียร์ให้เจ้าหน้าที่รีบจัดการ เพราะเชื่อว่านั่นเป็นการทำผิดกฎหมายและทำลายป่า

(ภาพ : วิสาหกิจชุมชนม่อนเเจ่ม)

3.

ปรากฏการณ์การต่อสู้ของม่อนแจ่ม เผยให้เราเห็นอะไรหลายๆ อย่างในสังคมไทย กล่าวคือ

ประการแรก จากการที่องค์กรหรือเครือข่ายภาคประชาสังคม แม้กระทั่งองค์กรที่ทำงานด้านป่าไม้ที่ดินและกลุ่มชาติพันธุ์ ค่อนข้างสงวนท่าทีและดูอยู่ห่างๆ ยังไม่ออกมาสนับสนุนหรือร่วมเคลื่อนไหว ที่เห็นออกมาแล้วก็มีแต่พีมูฟ (Pmove) และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน) ที่ออกแถลงการณ์สนับสนุนชาวบ้าน ส่งคนไปร่วมสังเกตการณ์พร้อมทำสื่อเสนอต่อสาธารณะ 

ปรากฏการณ์นี้ ผมคิดว่าเนื่องจากที่ผ่านมาเวลาภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในที่ดินและกลุ่มชาติพันธุ์ จะมุ่งไปที่การคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ชาวบ้านใช้แบบดั้งเดิม เช่น ไร่หมุนเวียน ป่าชุมชน หรือใช้ในการเกษตรเท่านั้น 

แต่สำหรับกรณีม่อนแจ่ม เป็นกลุ่มผู้ประกอบการชาวบ้านที่ใช้ที่ดินทำรีสอร์ตหรือโฮมสเตย์ ทำการค้า ทำให้องค์กรภาคประชาสังคมส่วนใหญ่ยังปรับความคิดตนเองไม่ทัน แม้กระทั่ง สกน. เองก็ใช้เวลาตั้งหลักหลายวัน    

ประการที่สอง จากคำพูดของรัฐมนตรีวราวุธข้างต้น ชึ่งไม่น่าใช่ความคิดส่วนตัวของเขา แต่เป็นบทพูดที่มีคนเขียนให้ ที่สำคัญคือคำพูดเหล่านั้นเป็นทัศนะคติของผู้มีอำนาจในสังคมไทยต่อกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง โดยมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะต้องทำการเกษตรและใช้ชีวิตอยู่แบบพอเพียงเท่านั้น ต่อให้จะปลูกข้าวโพดจนเขาหัวโล้นบ้าง เขาก็จะยอมรับได้ ตราบใดที่ยังไม่ข้ามเส้นแบ่งที่อยู่ในความคิดของพวกเขา 

แต่สำหรับม่อนแจ่ม ชาวบ้านไม่ได้เพาะปลูกแบบชนเผ่าดั้งเดิม และไม่ได้ทำเกษตรพอเพียงตามที่เขาจินตนาการ แต่ขึ้นมาเป็นประกอบกิจการแบบชนชั้นกลางในเมือง ชึ่งได้ก้าวข้ามเส้นแบ่งทางความคิดของผู้มีอำนาจ พวกเขาจึงยอมรับไม่ได้ จึงหาทางเข้าไปจัดการ แม้จะอ้างความชอบธรรมแทบไม่ได้ก็ตาม

ประการที่สาม จากท่าทีของฝ่ายรัฐ เป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่านโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่สามารถทำได้จริง แม้จะมี พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมีนโยบายจัดทำ คทช. อันเป็นเอกสารอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยพื้นที่ในลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 ให้จัด คทช. แบบแปลงรวมของชุมชน ที่สำคัญคือกฎหมายและนโยบายนี้ประกาศใช้ทั่วประเทศ

แต่กรณีปัญหาม่อนแจ่ม กลับไม่สามารถเอานโยบาย คทช. ของรัฐบาลมาเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาได้ ทั้งๆ ที่โดยโครงสร้างแล้วสามารถทำได้ โดยให้กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วผู้ว่าฯ สั่งให้เจ้าหน้าที่ไปรังวัด ทำประชาคม เสร็จแล้วผู้ว่าฯ ก็ส่งมอบเอกสาร คทช. แบบแปลงรวมให้ชุมชน แต่กรมป่าไม้ไม่ยอมดำเนินการให้ชาวบ้าน แม้จะมีหนังสือจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ชะรอการรื้อและดำเนินคดี และมีหนังสือจากผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอให้หน่วยงานในจังหวัดร่วมกันจัดทำแผนบริหารจัดการแล้วก็ตาม  

(ภาพ : วิสาหกิจชุมชนม่อนเเจ่ม)

4.

ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนของของภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านชาติพันธุ์หรือสิทธิในที่ดินโดยรวม จำกัดกรอบความคิดไว้เฉพาะสิทธิในการใช้ที่ดินเพาะปลูกโดยเฉพาะเน้นแบบดั้งเดิม และการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินของรัฐบาล ที่เน้นว่าอนุญาตให้ใช้ทำการเกษตรเท่านั้น ถ้าทำรีสอร์ต โฮมสเตย์ถือว่าใช้ที่ดินผิดเงื่อนไข เมื่อเกิดกรณีอย่างม่อนแจ่ม ทั้งรัฐและภาคประชาสังคมจึงพะอึดพะอมพอสมควร 

ปัญหานี้ นักวิชาการต่างประเทศวิพากษ์ว่าเป็นการแช่แข็งสิทธิ “Frozen rights” หมายความว่าความคิดและระบบกฎหมาย จะยอมรับให้กลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิใช้ที่ดินและทรัพยากรในแบบดั้งเดิมเท่านั้น จะไม่สามารถพัฒนาไปทำอย่างอื่นตามแบบสังคมภายนอกได้ ชึ่งความคิดและระบบกฎหมายแบบนี้ มีผลเป็นการตัดสิทธิและโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนบางกลุ่ม 

ดังนั้น การต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินและทรัพยากรของชุมชนสังคมไทย จะต้องมองไปให้ไกลกว่าการคุ้มครองวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม แต่จะต้องเคารพสิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในแบบที่ชุมชนต้องการเองด้วย

กรณีม่อนแจ่มทำให้ทั้งองค์กรภาคประชาสังคมและกรมป่าไม้ กำลังเผชิญกับความท้ายทายใหม่ และยังไม่มีวิธีจัดการที่เป็นที่ยอมรับ และที่สำคัญคือมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่กำลังรอความชัดเจน เพื่อจะได้ทำด้วยเช่นกัน หากรัฐบาลมีกฎหมายควบคุมและส่งเสริมอย่างเป็นธรรม จะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้ประเทศ

(ภาพ : วิสาหกิจชุมชนม่อนเเจ่ม)