จากเหตุร้องเรียนจากชุมชนว่าพบการลักลอบทิ้งน้ำเสียและกากของเสียอันตรายขนาดใหญ่ในพื้นที่หัวสำโรง อ.แปลงยาว ฉะเชิงเทราในสัปดาห์ที่ผ่านมา จนนำมาสู่การเข้าไปตรวจสอบของหน่วยงานรับผิดชอบ รวมถึงกรมควบคุมมลพิษ ในวันที่ 5-6 ก.ย. 2565 และพบว่าพื้นที่ปนเปื้อนดังกล่าวกินบริเวณมากถึง 11 ไร่
“พบมีการเทกองขยะและกากของเสียเต็มพื้นที่ ของเสียที่พบมีน้ำมันเครื่องใช้แล้ว หลอดไฟ ตะกอนดิน สิ่งเหลือจากการหล่อพิมพ์สุขภัณฑ์ ขวดสารเคมี โดยรอบบริเวณมีรั้วกั้น แต่มีบางจุดรั้วพังเสียหาย และมีกากของเสียไหลออกนอกบริเวณรั้ว พื้นที่ด้านข้างและด้านหลังเป็นไร่มันสำปะหลัง” สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 – ชลบุรี ระบุในรายงาน
อย่างไรก็ตาม จากรายงานข่าวระบุว่า ยังคงไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิด ทราบเพียงพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เอกชน ถูกเช่าโดยบริษัทรีไซเคิลเจ้าหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบชื่อ และไม่ทราบรายละเอียดใดเลย รวมถึงจะใช้พื้นที่ทำอะไรบ้าง ด้านความอันตรายของกากของเสียที่ตรวจพบ ยังคงไม่สามารถยืนยันระดับความอันตรายได้เช่นกัน คาดว่าต้องใช้เวลา 1 สัปดาห์นำตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์เพื่อยืนยันระดับความอันตราย
มีอะไรที่สาธารณะควรต้องรับรู้ ตั้งข้อสังเกตุ และตั้งคำถามบ้าง จากเหตุลักลอบทิ้งกากของเสียเช่นนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก ที่รัฐกำลังเร่งส่งเสริมโครงการอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน และ ทางออกเรื่องนี้ควรเป็นเช่นไร
นราวิชญ์ เชาวน์ดี ผู้สื่อข่าว GreenNews สัมภาษณ์ “เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง” ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ เพื่อฟังบทวิเคราะห์ต่อกรณีนี้ และข้อเสนอทางออก

ซ้ำซาก-ไม่น่าจะหาคนผิดได้
เกิดทั้งภาค/ทั่วประเทศ 280 ครั้งใน 4 ปี
“การทิ้งกากอุตสาหกรรมที่แปลงยาวครั้งนี้ ก็เป็นเรื่องเดิม ๆ ที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และก็เชื่อว่าน่าจะไม่สามารถดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้
ซึ่งซากที่พบครั้งนี้ที่ฉะเชิงเทรา ก็มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ๆ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมชุบโลหะ อุตสาหกรรมผลิตสี อุตสาหกรรมฟอกย้อม
กรมโรงงานรายงานว่ามีการนำกากอุตสาหกรรมมาทิ้งในบริเวณรอยต่อระหว่างหนองแหนและแปลงยาวจำนวนทั้งสิ้น 13 ครั้ง
การลักลอบทิ้งกากเกิดขึ้นหลายครั้งมาก ซึ่งจากที่มูลนิธิบูรณะนิเวศรวบรวมมา จากทั้งพื้นที่ภาคตะวันออก รวมพื้นที่อื่น ๆ ตั้งแต่ปี 60-64 เราพบว่า การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตราย มีถึง 280 ครั้ง กระจายอยู่หลายพื้นที่ แต่จะกระจุกตัวอยู่ที่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ อยุธยา ปทุมธานี ราชบุรี และพื้นที่ EEC ซึ่งประกอบไปด้วย ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เลยไปถึงปราจีนบุรี เพชรบุรีด้วย”
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวให้ความเห็น

กฎหมายไม่เอื้อเอาคนลักลอบทิ้งมาลงโทษ
บทลงโทษต่ำมาก
“การเอากฎหมายมาลงโทษในกรณีลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมทำได้ยากเพราะว่า ต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ชัดเจนว่า ของเสียที่มีการลักลอบทิ้งเป็นกากอุตสาหกรรมหรือไม่ และกากอุตสาหกรรมนั้นเป็นกากอุตสาหกรรมอันตรายหรือไม่ และถ้าเป็นกากอุตสาหกรรมอันตราย กากอุตสาหกรรมนั้นมันตรงกับชนิดของกากอันตรายที่มีการประกาศอยู่ในบัญชีท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยชนิดของเสียอันตรายหรือไม่
ซึ่งการที่จะระบุได้นั้นต้องมีการส่งตัวอย่างไปตรวจสอบเพื่อดูว่าตัวอย่างนั้นมีสารปนเปื้อนอะไรบ้าง ตรงกับที่ประกาศไว้หรือไม่
ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าเป็นขั้นตอนที่มีความยุ่งยากมาก กว่าที่จะระบุได้ว่าเป็นการอุตสาหกรรมอันตรายหรือไม่ ก็ต้องเสียทั้งเวลา และงบประมาณ
ซึ่งนำไปเราสู่อีกปัญหาหนึ่งคือ อายุความของการลักลอบทิ้งกากของเสียและการปล่อยน้ำเสียโดยไม่ผ่านการบำบัดซึ่งถือว่าเป็นโทษที่ร้ายแรงแต่กลับมีอายุความเพียงแค่หนึ่งปีเท่านั้น นอกจากนั้นการกำหนดโทษปรับเพียงแค่ 200,000 บาท ซึ่งถูกกว่าการกำจัดทิ้งอย่างถูกต้อง ทำให้ผู้กระทำผิดไม่มีความเกรงกลัวในกฎหมาย
ที่แย่ไปกว่านั้น คืออายุความที่จะลงโทษผู้กระทำผิด มันสั้นนิดเดียว คือมีอายุความแค่หนึ่งปีเอง ในหนึ่งปีถ้าพิสูจน์ หาคนปล่อยไม่ได้และไม่รู้ว่าใครเป็นผู้สั่งให้นำมาทิ้ง ก็ไม่สามารถทำอะไรไม่ได้
พอหาผู้กระทำผิดไม่ได้ ก็จะเป็นภาระของหน่วยงานรัฐที่จะต้องลงมารับผิดชอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้น
ซึ่งในความเป็นจริง หน่วยงานรัฐก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก ทำให้จุดที่มีการลักลอบทิ้งหลายพื้นที่ไม่มีการฟื้นฟูแก้ไข โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง แต่ความจริงไม่มีความสามารถที่จะทำอะไรในเรื่องนี้เลย นอกจากนั้นยังไม่มีการพัฒนาศักยภาพขององค์กรด้วย
จากทั้งปัญหาทางด้านกฎหมายที่ไม่แข็งแรงเพียงพอและหน่วยงานรัฐที่ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก การฟื้นฟูในแต่ละพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจึงไม่เคยเกิดขึ้น
200,000 บาทเป็นจำนวนเงินที่เล็กน้อยมาก ถ้าเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการขนกากจำนวนมหาศาลจากที่เห็นปรากฎเป็นข่าวไปจัดการให้ถูกต้อง” เพ็ญโฉมอธิบาย

ต้องปลดล็อค ไม่ให้กรมโรงงานมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว
“โดยส่วนตัวมีความรู้สึกว่า ถ้าจะมีการตรวจสอบ เอาตัวผู้กระทำผิดมารับผิดชอบ คิดว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมสามารถทำได้ ทั้งตัวผู้ขนส่ง และผู้ขอให้ดำเนินการ
โดยกฎหมายได้กำหนดให้การนำกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานจะต้องมีการแจ้งกรมโรงงานฯ เพื่อขออนุญาตนำออก โดยกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นผู้อนุมัติการนำออกนอกโรงงาน ซึ่งหน่วยงานจะมีข้อมูลว่าโรงงานไหนขออนุมัตินำกากอุตสาหกรรมออกมา รวมทั้งมีข้อมูลว่าใครเป็นผู้ขนส่ง ขนส่งด้วยรถลักษณะไหน เลขทะเบียนอะไร มีเลขกำกับกากของเสียแต่ละประเภท และจะต้องนำไปกำจัดให้ถูกต้องยังพื้นที่ไหน
ลักษณะของกากที่เราพบเห็นมันไม่ยากที่กรมโรงงานฯที่จะตรวจสอบดูว่า กากลักษณะนี้มาจากอุตสาหกรรมไหน กรมโรงงานฯ และถ้าเรานำข้อมูลของช่วงเวลาที่โรงงานขอค้นย้ายกากออกนอกพื้นที่ ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดที่หัวสำโรง ถ้าจะมีการตรวจสอบ สอบสวน หาผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกาก หรือผู้ขนส่ง สามารถกระทำได้ ถ้ากรมโรงงานฯ ตั้งใจที่จะทำอย่างจริงจัง
นอกจากนั้น ตามเส้นทางที่มีการขนส่งกากยังมีกล้องวงจรปิด ที่กรมโรงงานฯ สามารถขอความร่วมมือกับกรมทางหลวงในการตรวจสอบได้
ส่วนการที่จะบอกได้ว่าเป็นกากประเภทไหน และจะตรงกับบัญชีท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมหรือไม่ ก็จะใช้เวลาระยะหนึ่ง แต่ก็ไม่เกิดหนึ่งปีแน่ ๆ เชื่อว่ากรมโรงงานฯ มีความสามารถพอที่จะหาผู้กระทำผิด แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า หน่วยงานมีความจริงจังเพียงพอหรือไม่
เรื่องที่ว่าทำไมถึงไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ทางเรามีความเห็นว่า น่าจะมีความเกี่ยวข้องกันทางผลประโยชน์ระหว่างการกำกับดูแลเรื่องนี้กับผู้ที่เป็นเจ้าของกากกับผู้ที่รับขนส่ง
ในส่วนผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องก็อาจจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ตรงนี้ไม่ได้ใช้กฎหมายในการกำกับดูแลและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด อย่างแท้จริง
ด้านความกระตือรือร้นในการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อเรื่องเริ่มจะซาลง และสื่อมวลชนเริ่มจะไม่ได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ความกระตือรือร้นในการทำงานนั้นก็จะค่อย ๆ หายไป ความขึงขัง ความกระตือรือร้น ความจริงจัง ของหน่วยงานนี้จะเกิดเฉพาะเหตุการณ์ที่มีการจับจ้องจากสังคม ไม่ว่าจะสื่อมวลชน หรือชุมชน แต่พอพ้นช่วงนี้เรื่องก็จะเงียบหายไป
เราเชื่อว่าถ้ามีการดำเนินการอย่างจริงจังก็จะสามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ตั้งแต่ต้นทางไปจนปลายทาง” เพ็ญโฉม กล่าว

ต้องปรับทั้งระบบ ไม่งั้นพังทั้งระบบ
“เราเคยเสนอ ข้อเสนอระดับนโยบายว่า จะต้องมีการปรับโครงสร้างอำนาจ ปรับ โยกย้ายอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติ การขนส่งกากออกนอกโรงงาน และการบริหารจัดการการกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม การควบคุมมลพิษที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรม
อำนาจส่วนนี้ควรถอนออกมาจากกรมโรงงานฯ มาให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมมาช่วยดูแล ให้เกิดการคานอำนาจกัน ก็ยอมรับว่าการดำเนินการส่วนนี้คงเป็นไปได้ยาก
ข้อเสนอส่วนที่สองก็คือ การแก้กฎหมายโรงงาน, พ.ร.บ. วัตถุอันตราย, พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม ว่าบทลงโทษมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร
ซึ่งตัวรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมเคยพูดมาตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วว่า บทลงโทษผู้ที่กระทำผิดเกี่ยวกับการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตราย ภายให้กฎหมายไทยมันอ่อนเกินไป
นอกจากข้อเสนอในข้อนโยบายและกฎหมายแล้ว เพ็ญโฉมยังมีข้อเสนอต่อท้องถิ่นอีกด้วย โดยกล่าวว่า ควรจะมีการเพิ่มอำนาจและความสามารถของท้องถิ่น ซึ่งประกอบไปด้วย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนในพื้นที่ และยังเห็นด้วยให้สร้างเครือข่ายประชาชนเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในภาคประชาชนในพื้นที่ EEC ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา รวมไปถึงปราจีนบุรี สระแก้ว ด้วย ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีความเสี่ยงสูงในการถูกใช้เป็นพื้นที่ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม
ในกรณีล่าสุดนี้ก็ขอให้กรมโรงงานฯ ดำเนินมาตราการอย่างจริงจังในการหาตัวผู้กระทำผิด เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถจัดการปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตรายที่เกิดขั้นในหลาย ๆ พื้นที่ให้ได้
เมื่อดำเนินการหาตัวผู้กระทำผิดได้แล้วจะต้องดำเนินการสอบสวน ดำเนินคดี ฟ้องคดีอย่างฉับไว และใช้บทลงโทษขั้นสูงสุดที่มีตามกฎหมาย ทั้ง 13 แห่งที่กรมโรงงานฯ ให้สัมภาษณ์ไว้ โดยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และจริงจัง และต้องหาตัวผู้จ้างวานให้ได้” ผอ. มูลนิธิบูรณะนิเวศ เสนอ
