ชาวม้งม่อนแจ่มเดินทางเข้ากรุง เดินหน้ายื่นฏีกา-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-เตรียมยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินต่อพรุ่งนี้ กรณี “รื้อถอนโฮมสเตย์ม่อนแจ่ม-ข้อพิพาทชาวบ้านอยู่ในเขตป่าสงวน”
รมว.ทส.ไม่ให้พบ–ส่งตัวแทนมารับหนังสือที่หน้าประตู พร้อมขอเวลา 30 วัน-ตอบโต้ชาวบ้านผ่านโพสต์ออนไลน์
เดินหน้ายื่นฏีกา-ยื่นทส.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน

วันนี้ (6 ก.ย. 2565) กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง จากม่อนแจ่ม ต.แม่แรม อ.แม่ริม เชียงใหม่ เดินทางมาที่ กรุงเทพมหานคร เพื่อมาถวายฎีกา เนื่องมาจากกรณีที่ เจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้พยายามเข้ารื้อถอนรีสอร์ต โฮมสเตย์ เมื่อ 29 ส.ค. 2565
หลังจากถวายฏีกา เครือข่ายชาวไทยภูเขาชนเผ่าม้งม่อนแจ่มได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง วราวุธ ศิลปอาชา ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ตัววราวุธไม่ได้เดินทางมารับหนังสือด้วยตัวเอง โดยมี ภูมินทร์ บุญบันดาล ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ 1 เป็นตัวแทนผู้รับหนังสือ
“ชาวม่อนแจ่มได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามที่ทุกท่านทราบว่ารัฐมนตรีให้ข่าวด้านเดียวมาตลอด พวกเราจึงมาที่นี่เพื่อให้ท่านดูว่าลักษณะแบบนี้เป็นนายทุนหรือไม่ เป็นนอมินีได้ไหม มีการบุกรุกจริงหรือไม่ และหวังว่า รมต. จะมารับหนังสือด้วยตัวเอง
เครือข่ายฯ มีแผนที่จะยื่นหนังสือต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดินในวันพรุ่งนี้ (7 ก.ย. 2565)” เอกรินทร์ นทีไพรวัลย์ แกนนำเครือข่ายชาวไทยภูเขาชนเผ่าม้งม่อนแจ่ม

สองประเด็นเรียกร้อง
“เครือข่ายฯ ขอให้ รมต.ว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาดำเนินการตามข้อเรียกร้อง 2 ข้อ
1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมป่าไม้ ได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และคำสั่ง คสช. ครบถ้วนถูกต้องและเป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ เหตุใดยังคงมีกองกำลังของเจ้าหน้าที่ไปไล่จับประชาชนที่อยู่อาศัยทำกินบริเวณพื้นที่ม่อนแจ่มประหนึ่งเห็นประชาชนเป็นศัตรูต่อรัฐ
2. การประกาศแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม เมื่อปี พ.ศ. 2507 ทับที่หมู่บ้าน ชุมชนและที่ดินทำกิน โดยมิได้ทำการสำรวจรังวัดกันพื้นที่ดังกล่าวออกจากป่าก่อนการเป็นป่า และในการประกาศชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ โดยใช้ข้อมูลเส้นชั้นความสูงเป็นข้อกำหนดในการขีดแบ่งชั้นคุณภาพลุ่มน้ำโดยอาศัยแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000 มิได้ทำการสำรวจพื้นที่ในภูมิประเทศจริง ว่ามีหมู่บ้าน ชุมชน ที่ทำกิน และเป็นการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำในภายหลังเป็นหมู่บ้านชุมชนที่ทำกินแล้ว และที่สำคัญมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้เป็นกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบหรือไม่ และมีการรังวัดติดป่ายปักหลักเขตในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนทราบและปฏิบัติหรือไม่อย่างไร”

ทส.ไม่ให้เข้าเขตกระทรวงอ้างโควิด-ขอ 30 วัน
“จะนำเรื่องไปดำเนินการตามกฎระเบียบและกฎหมาย โดยจะต้องนำข้อมูลมาตรวจสอบทั้ง 2 ฝ่าย ให้เกิดความชัดเจนก่อนดำเนินการตามพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อไป โดยขอเวลาในการดำเนินการ 30 วัน
เหตุผลที่ไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปในกระทรวง เพราะสถานการณ์ โควิด-19” ภูมินทร์ ผู้แทนกระทรวงที่เข้ามารับหนังสือกล่าว

รมว.ทส.ตอบโต้ผ่านออนไลน์
4 ก.ย. 2565 วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ออกมากล่าวถึงกรณีม่อนแจ่มผ่านทาง เฟซบุ๊ก TOP Varawut – ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา ถึงกรณีม่อนแจ่ม ดังนี้
“ดอยม่อนแจ่มเป็นสมบัติส่วนรวมของประเทศชาติ การดำเนินธุรกิจใดๆก็ตาม ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และไม่บุกรุกทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวธรรมชาติที่ยั่งยืน จะต้องยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง
ขอให้ก่อนที่จะทำอะไรต้องคิดถึงธรรมชาติไว้ก่อน ถ้าไป “ปู้ยี้ปู้ยำ” กับธรรมชาติขึ้นมา แล้ววันหนึ่งเมื่อธรรมชาติไม่มีความสวยงามอีกต่อไป มีแต่น้ำเสีย กองขยะ พี่น้องประชาชนที่ทำมาหากินอยู่ตรงนั้นจะได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา
เราอยากจะเห็นม่อนแจ่มเละเทะจนมีแต่น้ำเสียมีแต่กองขยะ ไปเที่ยวแล้วไม่เกิดความบันเทิง เจริญใจขึ้นมาหรือ ถ้าถึงวันหนึ่งไม่มีการบริหารจัดการ เราทิ้งอย่างนี้ไปอีกประมาณ 3 ปี 5 ปี จนมันเละตุ้มเปะไปหมด แล้วพื้นที่ทั้งพื้นที่เละไปหมดแล้ว ผมถามว่าพี่น้องประชาชนที่ทำมาหากินบริเวณดังกล่าว ท่านจะได้อะไรจากพื้นที่ตรงนั้นต่อไป
เราต้องคิดกันระยะยาว คิดถึงธรรมชาติไว้ก่อน เพราะมนุษย์เราจะหากินกับธรรมชาติ ท้องฟ้าที่มันสดใสอากาศที่มันสดชื่น แต่ถ้าไปแล้ว ป่าก็ไม่เห็น ขยะก็มี พอส่งกลิ่นเหม็นขึ้นมา โอโซนที่ท่านจะสูดอากาศเข้าไป กลายเป็นกลิ่นน้ำเสีย กลิ่นขยะขึ้นมาเป็นแบบนี้เนี่ย ผมถามว่าแล้วเราจะไปเที่ยวกันทำไมครับ ม่อนแจ่มเนี่ย ดังนั้นอย่าให้เกิด อย่าให้ไปถึงวันนั้นเลยครับ เพราะถึงวันนั้นแล้วมันไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปิดทั้งแอเรีย และลบทิ้งทั้งหมดเลย” วราวุธกล่าว
เอกรินทร์ นทีไพรวัลย์ แกนนำเครือข่ายชาวไทยภูเขาชนเผ่าม้งม่อนแจ่ม โต้ว่า
“ประชาชนม่อนแจ่มประมาณ 3,800 คน ถือครองที่ดินอยู่ 2,500 ไร่ โดยไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่า โดยอ้างจากรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ยืนยันว่าการบุกรุกพื้นที่ของชาวม่อนแจ่มเป็นศูนย์มาตั้งแต่ปี 2545 โดยมีหลักฐานเป็นแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศยืนยัน
กรณีที่วราวุธบอกว่าดอยม่อนแจ่มเป็นสมบัติของคนทั้งประเทศนั้น เอกรินทร์เห็นว่าเพราะเป็นแบบนั้นจึงเรียกร้องให้มีการพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 พ.ค. 2542 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ในป่า หากมีการพิสูจน์แล้วปรากฏว่าบุกรุกจริงก็น้อมรับในนามพลเมืองไทย แต่ขอให้ความจริงได้ปรากฏ
สุดท้าย เอกรินทร์ได้กล่าวถึงกรณีที่ วราวุธ กล่าวหาว่า ชาวบ้านมีการใช้ทรัพยากรที่ทำให้เกิดขยะ โดยชี้แจงว่า ชาวม่อนแจ่มมีมติให้ชาวบ้านยกเลิกการใช้โฟมมา 5 ปีแล้ว ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกและถุงก๊อบแก๊บมา 3 ปี ส่วนขวดแก้วก็ยกเลิกมา 2-3 ปีแล้ว
พร้อมทั้งฝากถึง รัฐมนตรีว่า อย่างรับฟังความข้างเดียว ชาวม่อนแจ่มพร้อมที่จะเจรจาเสมอและขอให้รัฐมนตรีมาเจรจาด้วย”
5 ก.ย. 2565 รมต.วราวุธ โพสต์ถึงกรณีม่อนแจ่มอีกครั้ง ระบุว่า
“ดอยม่อนแจ่มไม่ใช่พื้นที่เอกชน ซื้อ ขาย เปลี่ยนมือไม่ได้ ภาครัฐไม่ได้มีปัญหากับชาวบ้านที่มีสิทธิอยู่ในพื้นที่ดอยม่อนแจ่ม และผู้ที่มีสิทธิเดิมยังสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ต่อไป แต่ต้องใช้พื้นที่ในด้านการเกษตรเป็นหลัก ส่วนที่มีการดำเนินคดีไปกว่า 30 รายนั้น เป็นการดำเนินคดีกับผู้ที่ไม่มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ หรือมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ”
