แทบไม่มีใครไม่รู้จักชายหาดแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงยอดนิยมอย่างหาดจอมเทียน ชลบุรี แต่น้อยคนจะรู้ว่าที่นี่กำลังเผชิญกับภาวะการกัดเซาะชายฝั่งระดับรุนแรง นำมาสู่ความพยายามล่าสุดของกรมเจ้าท่า “โครงการเติมทรายให้หาดจอมเทียน”
990 ล้านบาท คืองบประมาณที่คาดว่ารัฐต้องควักจ่าย สำหรับโครงการนี้ซึ่งมี 2 ระยะ และตอนนี้อยู่ในช่วงการดำเนินการระยะแรก ทั้งหมดเพื่อรักษาชายหาดความยาวราว 6 กม. ของหาดจอมเทียน ภาพที่คุ้นตาของใคร ๆ ไว้ให้ได้ใกล้เคียงของเดิมให้มากที่สุด การท่องเที่ยวคือหนึ่งเหตุผลสำคัญ
ด้วยเป็นแห่งที่ 3 หลังการประเมินของกรมเจ้าท่าว่า “สำเร็จ” ของโครงการลักษณะคล้ายกันที่หาดพัทยา ชลบุรี โครงการนี้จึงถูกดำเนินการด้วยความมั่นใจว่าจะไปสู่ปลายทางเดียวกัน
แต่ในความเป็นจริง เป็นเช่นนั้นหรือไม่ และมีประเด็นอะไรน่ากังวลบ้าง นราวิชญ์ เชาวน์ดี ผู้สื่อข่าว GreenNews คุยกับ “น้ำนิ่ง” อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ชายหาด Beach for life

“เติมทราย” คือตัวเลือกที่ดีที่สุด?
“หาดพัทยาที่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เริ่มแรกมีการลงกระสอบทราย แต่ก็ไม่ได้ผล เลยเปลี่ยนมาเป็นการเติมทราย เพราะเริ่มมีการเรียกร้อง และในทางวิชาการก็ถือว่าเป็นวิธีที่ดีในการสร้างกำแพงกันคลื่น
การเติมทรายเป็นวิธีการเดียวของทุกมาตราการที่รัฐใช้มาแล้วทำให้ชายหาดกลับมามีมวลทรายเหมือนเดิม
ถ้าเป็นหาดที่มีมูลค่าทางการท่องเที่ยวสูง การเติมทรายน่าจะเป็นทางเดียวในการฟื้นฟูชายหาดจากการกัดเซาะให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม เพราะเป็นการนำทรายจากระบบอื่นมาเติมที่ที่ขาดสมดุล จึงเป็นมาตราการเดียวที่ฟื้นฟูชายหาดได้เลย ถ้าทำถูกต้องตามหลักวิชาการ”

2 ประเด็นที่น่าเป็นห่วง
“ประเด็นสำคัญของการเติมทรายก็คือ 1. แหล่งทรายที่นำมาเติมนั้นเพียงพอหรือไม่ ซึ่งก็มีรายงานศึกษาแล้วว่าเพียงพอ 2. คุณภาพของทรายและวิธีการเติม จากการไปดูที่พื้นที่มาพบว่าทั้งสองประเด็นไม่น่าเป็นห่วง ส่วนประเด็นที่น่าห่วงจะเป็นประเด็นปลีกย่อย
ประเด็นปลีกย่อยที่ว่าคือ การระบายน้ำ โดยยกตัวอย่างกรณีหาดพัทยาที่มีการเติมทรายเพื่อฟื้นฟูชายหาดไปก่อนหน้านี้แล้ว พบว่าการระบายน้ำจากเมืองที่ไหลลงทะเล ทำให้เกิดทางน้ำผ่านตรงทรายที่เติมไป โดยทุก ๆ ครั้งที่ฝนตก น้ำจะไหลไปที่ชายหาด ทำให้การทรายที่เติมได้รับผลกระทบ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่หาดจอมเทียนจะประสบปัญหานี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทางพัทยาที่ดำเนินการเติมทรายเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไปตกที่ท้องถิ่นไปถึงผู้ดูแลโครงการที่ต้องมีการเตรียมทรายเพื่อซ่อมแซม เผื่อกรณีฉุกเฉิน
ประเด็นเรื่องการระบายน้ำจึงเป็นประเด็นปลีกย่อยที่น่าจะต้องจับตา ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ได้ถูกศึกษามาก่อนใน 2 กรณีก่อนหน้าอย่าง หาดพัทยา และ หาดชลาทัศน์
สำหรับการแก้ปัญหาในปัจจุบันของหาดพัทยาก็คือ การ stock ทรายไว้ เมื่อไหร่น้ำผ่านจุดเติมทราย ก็ต้องนำทรายที่เตรียมไว้มากลบ ซึ่งในอนาคตหาดจอมเทียนก็จะเจอปัญหาเดียวกัน
อีกหนึ่งประเด็นปลีกย่อยที่ควรจับตามองก็คือ การมอนิเตอร์ ติดตามว่ามีทรายที่เติมมีความสูญเสียมากน้อยแค่ไหน ระยะเวลาเท่าไหร่ ซึ่งปกติหน่วยงานก็มีการดูแลอยู่แล้ว ซึ่งจะมีการติดตามเป็นช่วง ๆ แต่ถ้ามีมรสุมเข้ามานอกช่วงก็อาจจะต้องเป็นบทบาทของท้องถิ่นที่เข้ามาช่วยในติดตามดูแลรักษาพื้นที่
จากปัญหาของการเติมทรายที่กล่าวมาข้างต้นคือ แหล่งทราย และ คุณสมบัติทราย ซึ่งในอนาคตถ้าเกิดความต้องการเติมทรายมากขึ้น การหาแหล่งทรายเพื่อเอามาเติม และเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรวมถึงการดูแลรักษา ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องนำมาคิด
ในอนาคตถ้าการแก้ปัญหาด้วยการเติมทรายเป็นที่นิยมมากขึ้นสิ่งที่ต้องคิดเพิ่มก็คือ แหล่งทรายเพียงพอหรือปล่าว และหาดนั้นเหมาะสมกับการเติมทรายหรือปล่าว ซึ่งถ้าอาจจะไม่ใช่หาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็อาจจะต้องหาวิธีการอื่นที่ทดแทนกันได้
ปกติการเติมทรายจะถูกออกแบบไว้แล้วว่าจะมีอายุอยู่ได้กี่ปี เข้าสู่สมดุลเมื่อไหร่ และจะต้องกลับมาเติมเมื่อทรายขาดระบบตอนไหน อย่างหาดพัทยามีระยะเวลาอยู่ 10 ปี
ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงมาก เกิดขึ้นเพราะการอุดช่องว่างทางกฎหมาย อย่างเช่นการให้กำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA จนเกิดการสร้างกำแพงกันคลื่นในที่ที่ไม่มีความจำเป็น”

ต้นเหตุการกัดเชาะ
“การกัดเซาะในปัจจุบันก็ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติอย่างเดียว การกัดเซาะที่เกิดจากพายุในหลาย ๆ พื้นที่เป็นการกัดเซาะชั่วคราว พอผ่านมรสุม ก็คืนกลับ
แต่เหตุผลที่เป็นการเร่งให้เกิดการกัดเซาะถาวร มาจากการกระทำของมนุษย์ น้ำนิ่งได้ยกตัวอย่างมาว่า เมื่อหาดแห่งหนึ่งซึ่งไม่เคยมีการกัดเซาะมาก่อนเกิดพายุเข้า เกิดการพังของถนน บ้านเรือน ก็เลยป้องกันโดยการเอาหินมาลง หินตัวนี้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการกัดเซาะอย่างถาวร พอในอนาคตเกิดเหตุกัดเซาะหนักขึ้น ก็แก้ใหม่ด้วยการทำ เขื่อนกันคลื่น กำแพงกันคลื่น ก็ทำให้เกิดการกัดเซาะต่อไปเรื่อย ๆ
จากที่ Beach for life ติดตามทำข้อมูลมา พบว่าในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการกัดเซาะที่เกิดขึ้นจากมนุษย์มากกว่าที่เกิดจากธรรมชาติ
การกัดเซาะของธรรมชาติไม่นานก็คืนกลับ ส่วนกรณีที่กัดเซาะแล้วไม่คืนกลับเกิดจากการที่เราไปสร้างกำแพงคลื่น บ้านเรือน หรือจากถนนที่อยู่ใกล้ชายหาดมากเกินไป
โครงสร้างของบริเวณรอบหาดจอมเทียน ที่มีการรุกล้ำของกำแพง ลานปูนยื่นออกไปบ้าง ส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทรายในระบบหายไป ทำให้เกิดการสะท้อนทรายออกไป เกิดการกัดเซาะมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดโครงสร้างพวกนี้ทำให้ชายหาดไม่กลับมาเป็นชายหาด”

ทางเลือกอื่น และมาตราการป้องกัน
“สำหรับหาดที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวและมีการกัดเซาะที่ไม่รุนแรง อาจใช้วิธีอื่น เช่น การปล่อยให้หาดฟื้นฟูกลับมาด้วยตัวเอง การปลูกต้นไม้ที่ยึดเกาะหน้าทราย และ การถอยร่น ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาได้ ส่วนในพื้นที่ที่มีลมแรง การทำ รั้วดักทราย (sand fence) ซึ่งเป็นวิธีการที่นำ รั้วตาห่างไปปักตาแนวที่ทรายชายหาดหายไปเพื่อดักตะกอนทรายให้ตกลงหลังแนวรั้ว ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูหาดได้
การกัดเซาะอย่างรุนแรงที่ไม่ได้เกิดขึ้นทุก ๆ ปี ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชายหาดอีกหลายแห่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการเติมทราย
ถ้ามีการเติมทรายทุก ๆ ชายหาดก็อาจจะไม่เพียงพอ แต่ถ้าเลือกวิธีการเติมทราย จริง ๆ ก็อาจจะไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ในปริมาณมาก ในกรณีไม่มีการกัดเซาะรุนแรง
สำหรับวิธีที่จะไม่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุก็คือ การกำหนดแนวถอยร่น หรือคือการให้รัฐกำหนดมาเลยว่าห้ามให้มีสิ่งปลูกสร้างริมชายฝั่งเป็นระยะทางเท่าไหร่ เพื่อให้ธรรมชาติได้มีระยะทางจัดการตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นถนนหรือบ้านเรือน ซึ่งเมื่อไม่มีระยะทางกำหนด ถ้าเกิดการกัดเซาะขึ้นมาก็จะมีการร้องขอโครงการขึ้นมาอีก ก็จะทำให้เกิดการกัดเซาะทวีความรุนแรงมากขึ้น
เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ กว่า 60 ตัวในประเทศที่ทำให้เกิดการกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง จากการที่ทรายไหลไปรวมกันอยู่ด้านหนึ่งจนเกิดการทับทม แต่อีกข้างหนึ่งที่ไหลไปไม่ได้ก็จะเกิดการกัดเซาะ จนเกิดการสร้างเขื่อนต่อเนื่องเรื่อยไป ถ้าในอนาคตหยุดการสร้างได้ก็จะช่วยให้ปัญหาการกัดเซาะลดลง หรือถ้าจำเป็นต้องสร้างจริง ๆ ก็ควรหามาตราการบรรเทาผลกระทบ
ซึ่งวิธีการพวกนี้มีเขียนไว้ในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่ไม่ถูกนำมาปฏิบัติ เพราะหน่วยนโยบายในประเทศไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องทำ
การให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ชายหาดก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการแก้ปัญหาการกัดเซาะ ซึ่งก็มีหลายวิธีที่ชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้ เช่น การปลูกต้นไม้ที่ช่วยยึดเกาะทราย ปลูกป่าชายหาด หรืออาจจะออกข้อตกลงชุมชนไม่ให้เกิดการรุกล้ำของสิ่งก่อสร้างเข้าไปบริเวณชายหาด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำได้เลย แต่ที่สำคัญเลยงบประมาณของแต่ละท้องถิ่นว่ามีพอที่จะใช้จัดการหรือไม่” น้ำนิ่ง กล่าว
