มุมมองและข้อเสนอจากนักวิชาการพลังงานไทยต่อ “เอเปค” กลุ่มการค้าที่ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่เติบโตบนฐานอุตสาหกรรมฟอสซิลในระดับสำคัญและปล่อยคาร์บอนรวมกันมากกว่าครึ่งของการปล่อยทั้งโลก

โจทย์สิ่งแวดล้อมเอเปค
“เพราะเอเปคมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ครอบคลุมประชากรกว่า 1 ใน 3 ของโลก และปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศมากกว่าครึ่งของการปล่อยทั้งโลก” เหตุผลสำคัญที่เอเปคต้องมีนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม
เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการพูดถึงในเวทีเสวนา “ข้อเสนอจากประชาชนไทย ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการของโลก” ที่จัดขึ้นที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
เอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) เป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นในปี 2532 เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน และความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ สมาชิกเอเปครวมถึงมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก อย่างสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันเกินครึ่งของ GDP โลกและมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก จากข้อมูลล่าสุดของรัฐบาลไทย (https://www.apec2022.go.th/th/what-is-apec-th/)
คำถามที่ตามมาในเวทีฯ คือ มาตราการในการลดการปล่อยคาร์บอนว่าเอเปคจะทำได้จริงแค่ไหน
“การประชุมของเอเปคมีการคุยกันเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่มีการคุยกันเรื่องภูมิปัญญา สังคม เรื่องของการแบ่งปันแม้แต่น้อย” เทวัญ อุทัยวัฒน์ นักวิชาการอิสระและ ผู้ก่อตั้งโครงการ Better Thailand ตั้งข้อสังเกตุ
“วิกฤตของโลกในช่วงเวลานี้เรื่องหนึ่งก็คือ ปัญหาที่เกิดจากโลกร้อน พลังงานฟอสซิลที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตกับสิ่งแวดล้อม” รสนา โตสิตระกูล เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าว
“ถ้าเรามองวันต่อวันเราจะไม่เห็นว่าโลกมันร้อนขึ้น แต่ถ้าเรามองในช่วงเวลา 50 ปี 100 ปี จะเห็นชัดเลยว่า อุณหภูมิของโลก ณ วันนี้มันสูงกว่าค่าเฉลี่ยในยุคก่อนอุตสาหกรรม
สาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลกว่า 65%-70% มาจากการใช้พลังงาน ซึ่งการที่จะแก้ปัญหาได้ต้องเริ่มที่ปัญหาพลังงานฟอสซิลก่อนเป็นอันดับแรก และไม่กี่ปีมานี้ความรุนแรงของคลื่นความร้อนก็ได้กลายเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่สำคัญที่สร้างปัญหาให้กับหลายพื้นที่บนโลก โดยเฉพาะการเป็นส่วนสำคัญให้เกิดการสูญเสียชีวิตของผู้คนในหลายประเทศในทวีปยุโรป” ผศ. ประสาท มีแต้ม นักวิชาการพลังงานกล่าว

หากต้องเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมต่อเอเปค
จากวิกฤตทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทำให้การประชุมเอเปคช่วงปลายปีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ถูกจับตามองว่า องค์กรในระดับนี้จะเข้ามามีบทบาทอย่างไรในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้น และคำถามที่เอเปคยังคงต้องตอบก็คือมาตราการด้านสิ่งแวดล้อม แม้จะมีความยากในเชิงธรรมชาติและโครงสร้างของเอเปคเองซึ่งเศรษฐกิจที่ผ่านมาพึ่งพาธุรกิจพลังงานฟอสซิลในระดับสำคัญ
“ถ้ามาม่าจะขึ้นราคาต้องไปเจรจากับรัฐบาลก่อนถึงจะขึ้นได้ แต่ราคาน้ำมันทั้งโลกมันขึ้นของมันเองเลย นี่มันสะท้อนว่ากิจกรรมธุรกิจพลังงานฟอสซิลมันเป็นองค์กรเหนือรัฐบาล เท่านั้นไม่พอมันยังมาทำให้โลกร้อนและก่อปัญหาสารพัด
กลุ่มประเทศเอเปคมีการปล่อยคาร์บอนกว่า 60% ถ้าเทียบกับการปล่อยทั้งโลก ในเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาที่ทางเอเปค ต้องมีมาตรการจัดการด้านพลังงานที่ดีกว่าเดิม ซึ่งยังเป็นข้อกังขาว่าจะทำได้อย่างไรกับมาตราการ net-zero และ carbon neutral
นโยบายคาร์บอนเครดิตไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง และยังกล่าวอีกว่า ต่อให้คนทั้งโลกปลูกต้นไม้คนละต้น ก็ยังลดคาร์บอนได้ไม่ถึง 1% ถึงการปลูกต้นไม้ในมุมมองของผมจะมีประโยชน์ในการช่วยลดฝุ่น แต่ถ้าจะนำมาใช้แก้ปัญหาโลกร้อนถือว่าไม่ประสบผล” ผศ.ประสาท กล่าว
“เราต้องไปให้ไกลกว่าเรื่องของการให้น้ำหนักเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตและการปลูกป่า เพราะตรงนี้เป็นแค่ปลายเหตุ เราต้องมาดูถึงสาเหตุ โดยเฉพาะเรื่องของระบบที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งคือระบบทุนนิยม
ทุนนิยมเป็นระบบที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่ซื้อขายได้ ทำให้เกิดการที่คนกลุ่มหนึ่งสามารถเข้าไปซื้อที่ภายในป่าได้ และทำให้คนกลุ่มหนึ่งถูกไล่ออกมาในขณะที่สิทธิมนุษยชน คือสิทธิในการใช้ประโยชน์และบริหารการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แต่ประเทศไทยที่ดินถูกเพิกถอน กลุ่มชาติพันธุ์ถูกไล่ออกจากป่า เกิดกรณีนายทุนรุกป่า สร้างเขื่อน” นพ.นิรันดร์ ให้ความเห็น

ทิศที่อาจพอมีหวัง “พลังงานทางเลือก-ภาคประชาชน”
“ผมไปย้อนดูข้อเสนอของเอเปคหลายปีก่อน ๆ พูดถึงการจัดการโลกร้อนแต่ไม่มีรูปธรรมชัดเจน พูดแต่คำว่าลดแต่ไม่มีอะไรเลย เบาหวิวมาก อ่านแล้วไม่ควรมาจากองค์กรที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของโลก
ภาคประชาชนน่ามีความหวังมากกว่า หากประชาชนสามารถทำความเข้าใจกับปัญหาของโลกให้ลึกซึ้ง ก็จะสามารถลงมือทำในสิ่งที่พอจะทำได้ทันที ยกตัวอย่างในเรื่องการติดตั้งโซลาเซลล์ น่าจะมีการสร้างเครือข่ายการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในด้านการลดโลกร้อน” อ.ประสาทกล่าว
“การให้ภาคชุมชน อบต. เทศบาล ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายโดยเฉพาะการผลิตพลังงานชีวมวล รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ และไม่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน” นพ.นิรันดร์ เสนอ
“ถ้าพูดถึงเรื่องพลังงาน ในการแก้ปัญหาในเรื่องของโลกร้อน พลังงานหมุนเวียนตอบโจทย์ในเรื่องนี้อย่างมาก การเอาพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมมาใช้ตอบโจทย์ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในอากาศ
ยกตัวอย่างการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้เพื่อแก้ปัญหาแรงงานในประเทศเยอรมัน พบว่าการจ้างงานในระบบพลังงานหมุนเวียนมีมากกว่าการจ้างงานในระบบพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้นอกจากพลังงานหมุนเวียนจะนำมาใช้แก้ปัญหาผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถนำมาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการจ้างงานได้ด้วย
การติดตั้งโซลาร์รูฟก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าจะเป็นทางออกในเรื่องพลังงาน และลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน”รสนา กล่าว
“การที่จะเลิกใช้พลังงานฟอสซิลด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันเราสามารถหาตัวเลือกอื่นเข้ามาทดแทนได้แล้วโดยใช้ 3 ตัว SWB คือ โซล่าเซลล์ (Solar cell) ลม (Wind) แบตเตอรี่ (Battery) โดยทั้ง 3 ตัวนี้สามารถเข้ามาแทนการใช้พลังงานแบบเดิมได้เลย” ผศ.ประสาท กล่าวเสริม
ด้านรศ.ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตเพิ่มถึงราคาการติดตั้งโซลาเซลล์ที่ยังคงมีหลายคนที่ไม่สามารถแบกรับราคาค่าติดตั้งได้ และชี้ไปที่สถาบันการเงินไม่มีการปล่อยกู้ในการติดตั้งโซลาเซลล์เหมือนกับการให้กู้เพื่อซื้นบ้าน และเสนอให้เอเปคเข้ามาช่วยดำเนินการด้านการให้ทุนเพื่อให้มาตรการด้านโซลาเซลล์สามารถดำเนินการได้