GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

1.
ในสังคมไทยแทบไม่มีใครรู้ว่ามีเวทีเอเปคป่าไม้ หรือการประชุมที่มีมีชื่อเต็มว่า “การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้” (APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry) จนกระทั่งไกล้ถึงวันงานจึงมีข่าวออกมาบ้างว่าประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 5 ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ถือว่าเงียบมากเมื่อเทียบกับขนาดของงานที่มีคนระดับรัฐมนตรีด้านป่าไม้จากนานาประเทศมาร่วมกันคึกคัก
แม้รัฐบาลไทยจะแอบจัดกันเงียบๆ แต่ก็ไม่วายที่จะถูกประชาชนจับตาอยู่ดี เมื่อถึงวันงานปรากฎว่ามีกลุ่มชาวบ้านออกมาชุมนุมและเดินไปยังที่ประชุมเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง จนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาขัดขวางขบวนชาวบ้าน จึงเกิดเป็นข่าวครึกโครมขึ้นมา
ตอนแรกผมคิดว่าการประชุมเอเปค เป็นการประชุมเกี่ยวกับการค้าและการลงทุน ซึ่งน่าจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับปัญหาในชีวิตประจำวันของชาวบ้านในชนบท แต่เมื่อเห็นคำว่าเอเปคป่าไม้ ผมก็เริ่มสนใจขึ้นมาทันที จึงได้เข้าไปสืบค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ก็ต้องถึงกับตาลุกวาวเลยทีเดียว

2.
เราคุ้นเคยแต่คำว่าเอเปค : APEC ซึ่งมีชื่อเต็มคือ “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation)”
สำหรับ “เอเปคป่าไม้” เป็นการประชุมย่อยที่ถูกจัดตั้งโดยที่ประชุมของผู้นำเอเปคชุดใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามแผนของคำประกาศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศ ความมั่นคงทางพลังงาน และการพัฒนาที่สะอาด
ซึ่งเหล่าผู้นำเอเปคเห็นว่ามีความจำเป็นต้องพยามร่วมมือกันฟื้นฟูพื้นที่ป่าอย่างเร่งด่วน และการจะบรรลุเป้าหมายได้จำเป็นจะต้องสร้างความร่วมมือระหว่างผู้นำของประเทศสมาชิก เพื่อร่วมกันผลักดันให้มีการการเพิ่มพื้นที่ป่า ลดการทำไม้ผิดกฎหมาย รวมทั้งส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกิจการเกี่ยวกับการค้าไม้และผลิตภํณฑ์จากไม้ จึงนำมาสู่การจัดประชุมผู้นำประเทศสมาชิกที่รับผิดชอบงานด้านป่าไม้
แม้จะมีข้อถกเถียงกันบ้าง แต่ในทางสากลต่างยอมรับกันว่าปัญหาโลกร้อนเกิดขึ้นจริง และก่อให้เกิดผลกระทบต่อมนุษยชาติแล้วจริง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2550 ที่ประชุมผู้นำเอเปคได้ออกข้อกำหนดร่วมกันว่า จะเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศสมาชิกให้ได้ 20 ล้านเฮกตาร์ หรือเท่ากับ 125,000,000 ไร่ ภายในปี พ.ศ. 2563 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือดุดซับคาร์บอนเพื่อลดปัญหาโลกร้อน
จึงนำมาสู่การจัดประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับป่าไม้ของประเทศสมาชิก โดยครั้งแรกจัดที่ประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ 2554 ครั้งที่ 2 จัดที่ประเทศเปรู เมื่อปี พ.ศ. 2556 ครั้งที่ 3 จัดที่ประเทศปาปัวนิวกินี เมื่อปี พ.ศ.2558 ครั้งที่ 4 จัดที่ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2560 และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ซึ่งมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีเป้าหมายหลักๆ คือ
1) เร่งรัดเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ตามเป้าอย่างน้อย 20 ล้านเฮกตาร์ ภายในปี พ.ศ 2563
2) เสริมสร้างความร่วมมือต่อสู้กับการทำไม้และค้าไม้ผิดกฎหมาย โดยให้ประเทศสมาชิกจัดทำนโยบายภายในที่มีประสิทธิภาพ
3) ร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิกสนับสนุนและส่งเสริมกิจการค้าผลิตภัณฑ์ไม้ที่ถูกกฎหมาย เพื่อเพิ่มรายได้จากป่าและเพิ่มโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ
4) สนับสนุนการฟื้นฟูป่าของชุมชุมหรือท้องถิ่น เพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์จากป่า โดยเฉพาะการสร้างงานและสร้างรายได้

3.
ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ ของไทย ได้ออกมาแถลงด้วยถ้อยคำคลุมเครือ แบบที่คนธรรมดาอย่างเราฟังไม่เข้าใจ โดยกล่าวว่า ”…โดยมีทรัพยากรป่าไม้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสร้างความสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจและประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ทำให้สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
การพยายามสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่ดูเหมือนจะดีข้างต้น หากวิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่ามีปัญหาและข้อน่ากังขาหลายเรื่องเลย โดยเฉพาะกรณีดังนี้คือ
“Net Zero” หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือ เมื่อนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อย หักลบกับการศักยภาพในดุดซับของผืนป่าแล้ว มลพิษที่ปล่อยออกมาจะต้องเท่ากับศูนย์ เท่ากับว่ายิ่งมีการขยายพื้นที่ป่าสำหรับดุดซับคาร์บอนมากเท่าไหร่ ก็หมายความว่าปริมาณคาร์บอนถูกปล่อยออกมามีมากขึ้นเท่าเท่านั้น ดังนั้น เมื่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมพยายามเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้อย่างน้อย 20 ล้านเฮกตาร์ สำหรับใช้ดุดซับคาร์บอน ก็เท่ากับว่าพวกเขาได้เพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้นด้วยเช่นกัน
Illegal logging เป็นคำที่ถูกเน้นย้ำว่าประเทศสมาชิกจะต้องควบคุมจัดการอย่างจริงจัง ซึ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ส่วนใหญ่มักจะมีระบบกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ที่ไม่เป็นธรรม ไม่รับรองสิทธิในการใช้ป่าของกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมือง หรือกฎหมายยังมีลักษณะคลุมเครือ การใช้ไม้และทร้พยากรอื่นๆ ของคนในท้องถิ่นกลุ่มนี้จะถูกตีความผิดกฎหมาย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรและที่ดิน กรณีของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาปรากฎว่ามีชาวบ้านจำนวนมากถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหานำไม้มาสร้างบ้านอยู่อาศัย รวมทั้งถูกยึดที่ดินโดยกล่าวหาว่าบุกรุกทำลายพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าตามกฎหมาย

4.
จากตรงนี้ ทำให้เราเห็นได้ว่า แม้ทุกคนจะยอมรับว่าโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโลกร้อน แต่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไม่ได้พยายามที่จะลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน แต่พวกเขายังคงเดินหน้าเอากำไรและปล่อยคาร์บอนต่อไป หรือหากจะมีการลดบ้างแต่ก็ไม่ได้มีนัยยะสำคัญ แต่ใช้วิธีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็อ้างว่าพวกเขาได้ลดคาร์บอนแล้ว
การอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าตามความหมายของเอเปคป่าไม้ จึงเสมือนกดดันให้รัฐในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาต้องยอมยกสัมปทานพื้นที่ป่าให้ให้แก่เอกชน เพื่อนำไปใช้เป็นพื้นที่ดุดซับคาร์บอนที่พวกเขาปล่อย ทำให้นายทุนเป็นเจ้าของป่าโดยทางอ้อม โดยนัยยะนี้การอนุรักษ์ป่าและขยายพื้นที่ป่า จึงเป็นเพียงข้ออ้างให้พวกเขามีความชอบธรรมในการทำลายล้างโลกต่อไป

