จับตา คพ. “ดันต่อไหม นโยบายประยุทธ์-ยกเลิก 3 เขตควบคุมมลพิษปีนี้” 

มูลนิธิบูรณะนิเวศเผย นโยบายปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากร-สิ่งแวดล้อมรัฐบาลประยุทธ์ภาคปฏิบัติ “ดันยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ-เป้าปีนี้ไม่ต่ำกว่า 3 พื้นที่” 

ล่าสุด หน่วยงานปฏิบัติอย่าง คพ. ตัดสินใจให้จุฬาประเมินทางวิชาการประกอบ ผลระบุชัด “ยังไม่มีพื้นที่ใดพร้อมที่จะยกเลิกในปีนี้”

“จะยกเลิก ต้องมีข้อมูลยืนยันมลพิษดีขึ้นแล้ว” มูลนิธิบูรณะนิเวศเตือน ชี้หากมีกฎหมายข้อมูลมลพิษ PRTR จะช่วยให้ตัดสินใจอย่างมีข้อมูล-หลักเกณฑ์ได้มาก 

(ภาพ : มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

เป้ายกเลิกไม่ต่ำกว่า 3 เขตควบคุมมลพิษ ?

“นโยบายการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษนั้น เป็นนโยบายที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญและมีความพยายามหาทางดำเนินการในรอบหลายปีที่ผ่านมา 

ล่าสุดถึงกับมีการตั้งเป้าว่าจะต้องยกเลิกเขตควบคุมมลพิษไม่น้อยกว่า 3 พื้นที่ ภายในปี 2565 ซึ่งมีการอ้างด้วยว่าเป็นเป้าหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นหนึ่งในนวัตกรรมของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามในหลากหลายบริบท” มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ระบุ

การประกาศเขตควบคุมมลพิษ เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยในมาตรา 59 ระบุว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่า ท้องที่ใดมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษได้” 

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบันมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษรวม 18 พื้นที่ ใน 13 จังหวัด

“หากพิจารณาตามเนื้อหาจริงของแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรฯ จะพบว่า มีการกล่าวถึงประเด็นเรื่องเขตควบคุมมลพิษไว้ในฐานะ “กิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ” เป็นกิจกรรมปฏิรูปที่ 4 เรื่อง “ปฏิรูประบบการบริหารจัดการเขตควบคุมมลพิษ กรณีเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด” ที่ระบุว่า “การยกเลิกประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด” เป็นเป้าหมายประการที่สองของกิจกรรม ในขณะที่เป้าหมายประการแรกคือ “ควบคุม ลด และขจัดมลพิษที่เกินค่ามาตรฐาน” 

กิจกรรมนี้กำหนดหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักเป็นกระทรวงทรัพยากรฯ กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2564 – 2565 และกำหนดตัวชี้วัด 2 ประการ ตามเป้าหมาย คือ 1) คุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ 2) ออกประกาศยกเลิกเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด 

ตามนัยของแผนจึงมีความแตกต่างจากแนวทางการดำเนินการที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่อย่างน้อยใน 2 ประเด็นสำคัญ กล่าวคือ 

  1. ตามแผนมุ่งเรื่องการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ #มาบตาพุด ที่เกิดจากประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 ลงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552 เท่านั้น 
  2. เป้าหมายมิใช่อยู่ที่การยกเลิกเขตควบคุมมลพิษแต่เพียงสถานเดียว และเป้าดังกล่าวมิได้เลื่อนลอยออกจากบริบทที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในทางตรงกันข้าม เป้าเรื่องการยกเลิกดูเหมือนจะเป็นผลที่ตามมาจากการบรรลุเป้าประการแรก นั่นคือ มลพิษจะต้องถูกควบคุมได้แล้วจริงๆ

ประเด็นความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจากการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติในกรณีนี้ จึงนับเป็นเรื่องที่น่าจับตาติดตามตรวจสอบอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนระดับพื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก รวมถึงต่อสังคมโดยส่วนรวมด้วย ซึ่งมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) จะได้นำเสนอประเด็นนี้อย่างลงรายละเอียดอีกครั้ง” มูลนิธิบูรณะนิเวศ อธิบายถึง ทิศนโยบายการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษปัจจุบัน

(ภาพ : มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

ผลประเมินจุฬา “ยังไม่มีพื้นที่ใดพร้อมที่จะยกเลิกในปีนี้”

“พื้นที่ #ระยอง และพื้นที่ตำบล #หน้าพระลาน มีความพร้อมน้อยที่สุด เพราะระดับมลพิษยังเกินค่ามาตรฐาน สรุปยังไม่มีพื้นที่ใดพร้อมที่จะยกเลิกในปีนี้” รายงานประเมินผลเพื่อยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ ระบุ 

รายงานดังกล่าวจัดทำโดยศูนย์บริการวิชาการ #จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การมอบหมายของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยเมื่อ วันที่ 23 สิงหาคม 2565 ในเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นในเชิงวิชาการ (Technical Hearing) ภายใต้โครงการการประเมินผลเพื่อยกเลิกเขตควบคุมมลพิษตามแผนปฏิรูปประเทศ ณ ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“พื้นที่ที่จะเข้าสู่การเป็นเขตยกเลิกควบคุมมลพิษนั้นจะต้องมีผลการประเมินมลพิษในพื้นที่ว่า มีระดับที่ลดลงจนไม่อยู่ในภาวะมลพิษรุนแรง หรือมีแนวโน้มรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน 

การศึกษาภายใต้โครงการ “ประเมินผลเพื่อยกเลิกเขตควบคุมมลพิษตามแผนการปฏิรูปประเทศ” แบ่งพื้นที่เขตควบคุมมลพิษตามความพร้อมในการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ เขตควบคุมมลพิษที่มีความพร้อม เขตควบคุมมลพิษที่เข้าสู่ความพร้อม เขตควบคุมมลพิษที่มีความพร้อมปานกลาง และเขตควบคุมมลพิษที่มีความพร้อมน้อย 

จากการทดลองประเมินในพื้นที่นำร่อง พบว่า เขตควบคุมมลพิษหมู่เกาะพีพี จ. กระบี่ เป็นเขตควบคุมมลพิษที่มีความพร้อมเพื่อการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษในระยะไม่เกิน 2-3 ปีข้างหน้า 

ในขณะเดียวกัน เขตควบคุมมลพิษ ต. หน้าพระลาน จ. #สระบุรี และเขตควบคุมมลพิษ จ. ระยอง ถูกจัดให้เป็นเขตควบคุมมลพิษที่มีความพร้อมน้อย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ยังคงมีระดับมลพิษเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะในพื้นที่ระยองซึ่งมีปัญหาด้าน #VOCs ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน 

อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินในครั้งนี้ ยังไม่มีเขตควบคุมมลพิษใดที่พร้อมจะยกเลิกในปี 2565” ทรงกฤษณ์ ประภักดี นักวิจัย ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลการศึกษา” 

(ภาพ : มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

“ในการประกาศยกเลิกเขตควบคุมมลพิษนั้น เกณฑ์การประเมินหลัก ประกอบด้วย สถานการณ์มลพิษ (คุณภาพอากาศ ระดับเสียง คุณภาพน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง คุณภาพน้ำใต้ดิน คุณภาพตะกอนดิน ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย) อุบัติภัยจากสารเคมี รวมถึงสถานการณ์ด้านสุขภาพ 

และเกณฑ์การประเมินสนับสนุน ประกอบด้วย บริบทในพื้นที่และการจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยการพิจารณาเลือกใช้ตัวชี้วัดที่จัดทำขึ้นมานั้น แต่ละพื้นที่สามารถพิจารณากำหนดตัวชี้วัดได้เองตามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้น ๆ” นรุตตม์ สหนาวิน ศูนย์บริการวิชาการฯ กล่าว

(ภาพ : มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

“มาตรการการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนแทนการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ประกอบด้วย มาตรการการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด มาตรการบำรุงรักษาระบบบำบัดมลพิษที่ดี มาตรการเตรียมความพร้อมของงบประมาณเพื่อการซ่อมบำรุงระบบบำบัดมลพิษในกรณีฉุกเฉิน การกำหนดนโยบายของการบริหารจัดการพื้นที่ให้มีความชัดเจน และการจัดทำแผนงานในการรองรับมลพิษในเชิงรุก 

อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ไม่จำเป็นต้องทำหลังจากการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ แต่สามารถทำได้เลยทันทีเมื่อมีความพร้อม 

มาตรการการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ที่จะใช้แทนการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ต้องเป็นมาตรการเดิมที่สามารถทำให้เกิดการบริหารจัดการมลพิษจนมาอยู่ในค่ามาตรฐาน ซึ่งจะต้องมีการนำมาถอดบทเรียนเฉพาะพื้นที่ และขยายผลการใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะนำไปบรรจุไว้ในกฎหมายหลัก หรือสร้างเป็นระเบียบเฉพาะเขตควบคุมก็ได้” พรธิดา วิเศษศิลปานนท์ ศูนย์บริการวิชาการฯ กล่าวเพิ่มเติม

(ภาพ : มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

“จะยกเลิก ต้องมีข้อมูลยืนยันมลพิษดีขึ้นแล้ว” มูลนิธิบูรณะนิเวศ

“การที่จะตั้งเป้าว่าเราจะมีการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ เราต้องรู้ก่อนว่า บัญชีรายชื่อของมลพิษที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่เขตควบคุมมลพิษนั้น มีกี่ชนิด และถูกปล่อยออกมาในปริมาณเท่าไหร่ 

กฎหมาย #PRTR จะสามารถช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้ แต่เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายนี้ เราจึงยังขาดข้อมูลที่จะใช้เป็นตัวชี้วัดว่าสถานการณ์มลพิษในพื้นที่นั้นดีขึ้นแล้ว จนสามารถยกเลิกการเป็นเขตควบคุมมลพิษได้ จริงๆ หรือไม่” 

ที่ผ่านมาจะพบว่ามีการประกาศพื้นที่ในลักษณะครอบคลุมตามเขตการปกครอง แทนที่จะเป็นการประกาศตามพื้นที่ที่เกิดปัญหา และเท่าที่มีการประกาศมาแล้วจำนวน 18 เขตนั้น อาจจำแนกได้เป็น 2 ประเภท 1) คือพื้นที่ที่เกิดมลพิษจากการพัฒนาความเป็นเมือง และ 2) พื้นที่ที่มลพิษเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเขตควบคุมมลพิษส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรก ส่วนเขตควบคุมมลพิษพื้นที่อุตสาหรรมมีประมาณ 6 – 7 แห่ง 

ประเด็นต่อเนื่องที่สำคัญคือ ตัวชี้วัดของพื้นที่ที่ประเภทแตกต่างกันนี้ ควรที่จะต้องแตกต่างกันด้วย กล่าวคือ ควรจะต้องมีการจัดทำเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณายกเลิกเขตควบคุมมลพิษประเภทพื้นที่อุตสาหกรรมต่างหากจากเกณฑ์พิจารณาของพื้นที่ทั่วไป

การปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินเขตควบคุมมลพิษ ควรมีการแยกการทำตัวชี้วัดในการทำการประเมินให้แตกต่างกัน และต่อไปควรมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษที่เป็นเฉพาะด้านออกมา เช่น เขตควบคุมมลพิษด้านขยะ เขตควบคุมมลพิษด้านน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษด้านมลพิษอากาศ เป็นต้น 

นอกจากนี้สิ่งที่ประเทศไทยยังไม่มีเลย และควรมี คือ เขตควบคุมมลพิษในพื้นที่ที่แผ่นดินมีการปนเปื้อนมลพิษ จากการใช้สารเคมีที่อันตราย หรือการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่แบบนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นควรมีการพิจารณาพื้นที่เหล่านี้ว่าควรจะประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษหรือไม่ และควรมีแผนการแก้ไขและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เสนอ

ข่าวเพิ่มเติม “แก้วิกฤต ก่อนยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ” คนระยองยื่นบอร์ดสวล. พรุ่งนี้

(ภาพ : ThaiPBS)