GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

1.
ข่าวอัยการสูงสุดสั่งฟ้องคุณชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สร้างความฮือฮาในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก
หลายคนบอกว่านี่คือสัญญาณแห่งความเป็นธรรมได้ปรากฏแล้ว บางคนบอกว่ากระบวนการยุติธรรมทำงานตรงไปตรงมาแล้ว และบางคนบอกว่ากรรมตามทันแล้ว ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางคนก็คงจะรู้สึกขัดเคืองหน่อยๆ
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครรู้เลยว่าคุณชัยวัฒน์ จะได้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุฆาตกรรมบิลลี่หรือไม่ เราจึงต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย
ผมอยากตั้งคำถามอย่างนี้ว่า “คุณเชื่อๆ จริงหรือว่าคุณชัยวัฒน์ จะถูกลงโทษในข้อหาฆ่าบิลลี่ตามที่ถูกฟ้อง” ผมคิดว่าการสั่งฟ้องคดีนี้ จะเป็นโอกาสให้คุณชัยวัฒน์ ได้ใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือล้างมลทินทางสังคมที่คลุมเครือมานาน
หากว่าคุณชัยวัฒน์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องจริง เขาก็ควรได้รับโอกาสพ้นผิด แต่หากเขามีส่วนร่วมฆาตกรรมบิลลี่จริง คดีนี้จะดำเนินไปอย่างไร และผลจะออกมาแบบไหน ผู้มีอำนาจจะถีบส่งคุณชัยวัฒน์ หรือเลือกเหยียบหัวสังคมต่อไป

2.
“บิลลี่” มีชื่อว่านายพอละจี รักจงเจริญ ชาวบ้านจากหมู่บ้านบางกลอย ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีกรณีขัดแย้งกับคุณชัยวัฒน์ ผู้ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานฯ หลายครั้ง ได้หายตัวไป โดยมีผู้พบเห็นว่าก่อนที่จะหายตัวไปถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ควบคุมตัวไว้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้พบชิ้นส่วนของศพ เมื่อนำไปตรวจดีเอ็นเอ ปรากฏว่าเป็นบิลลี่จริง จึงนำมาสู่การสั่งฟ้องคุณชัยวัฒน์ เป็นคดีนี้
เหตุการณ์ลักษณะเดียวกับคดีนี้ ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความจริงเกิดขึ้นมากด้วย ผมขอพาผู้อ่านย้อนกลับไปสำรวจกรณีตัวอย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน โดยอ้างว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วทำให้ประชาชนบาดเจ็บ ล้มตาย รวมทั้งทรัพย์สินเสียหาย แต่ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดและได้รับโทษทางอาญา ดังต่อไปนี้คือ
เหตุการณ์กรือเซะ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธหนักยิงถล่มผู้ก่อเหตุความรุนแรงที่หลบซ่อนตัวภายในพื้นที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 108 ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนข้อเท็จจริง แต่ผลของรายงานไม่ได้ระบุว่าเป็นความผิดของกองทัพ แต่ชี้เพียงว่าพื้นที่ภาคใต้ได้อยู่ภายใต้กฎอัยการศึกอยู่แล้วในขณะที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น
เหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ และมีการจับผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งใส่กุญแจมือไขว้หลัง นำขึ้นรถบรรทุกให้นอนซ้อนกันจาก สภ.ตากใบไปยังยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 คน นอกจากนี้ยังมีคนสูญหาย 7 คน และบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่มีการดำเนินการเพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
กรณีสลายการชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2545 บริเวณด้านหน้าโรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทำให้มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย
แม้ต่อมาศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหาย โดยศาลวินิจฉัยว่าการชุมนุมของกลุ่มผู้คัดค้านโครงการพัฒนาดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบ และการที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สตช.จึงต้องรับผิดชอบ โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีรวมกัน 100,000 บาท แต่อย่างก็ตามในคดีที่ชาวบ้าน 25 คน ฟ้องเป็นคดีอาญา พล.ต.อ.สันต์ สรุตานนท์ ในฐานะผู้สั่งการในขณะนั้น กับพวกรวม 38 คน แต่ศาลฎีกาพิพากษาว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำไปตามหน้าที่จึงให้ยกฟ้อง
กรณีอะเบ แซ่หมู่ ถูกทหารใช้ปืน M16 ยิงเสียชีวิตไม่ไกลจากด่านตรวจบ้านรินหลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2560 โดยฝ่ายทหารผู้ก่อเหตุอ้างว่าเพราะเขาจะขว้างระเบิดใส่ พร้อมทั้งได้แสดงภาพนายอะเบถือระเบิดอยู่ในมือ แต่ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์บอกว่าถูกจัดฉากหลังจากเสียชีวิตแล้ว กรณีนี้แม้ต่อมาศาลจะพิพากษาให้กองทัพบกชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งแก่ญาติเป็นเงิน 824,180 บาท แต่ไม่มีการดำเนินการเอาผู้เกี่ยวข้องมารับโทษตามกฎหมาย
กรณีชัยภูมิ ป่าแส เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2560 ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ ถูกทหารประจำด่านตรวจบ้านรินหลวงยิงเสียชีวิตโดยทหารอ้างว่าเป็นการยิงป้องกันตัว เพราะชัยภูมิจะขว้างระเบิดเข้าใส่ ในขณะที่ขอตรวจยาเสพติด พร้อมทั้งได้โชว์ภาพที่มีระเบิดตกอยู่ข้างศพของชัยภูมิ ญาติได้ฟ้องกองทัพบกขอให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง แต่ศาลอุทธรณ์สั่งยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า ทหารใช้ปืนยิงนายชัยภูมิ เพื่อป้องกันตัวเองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเช่นเดียวกับกรณีของอะเบ คือไม่มีการดำเนินการเอาผู้เกี่ยวข้องมารับโทษ

3.
เมื่อพิจารณาจากกรณีที่เกิดขึ้นข้างต้น ผมคิดว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ และที่สำคัญคือเป็นประเด็นร่วมของคดีในลักษณะนี้ คือ
หนึ่ง เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ แต่มีต้นเหตุเกี่ยวข้องกับปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรและการปฏิบัติการของทหาร กล่าวคือ กรณีท่อก๊าซไทย – มาเลเซีย และคดีคุณชัยวัฒน์ เป็นเรื่องที่มีต้นเหตุมาจากปัญหาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากร ที่ชาวบ้านในท้องถิ่นต่อสู้เรียกร้องและคัดค้านการกระทำของรัฐหรือนายทุน ที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพรวมทั้งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างระหว่างรัฐกับเจ้าหน้าที่อยู่ก่อนแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงมีส่วนเกี่ยวข้องความขัดแย้งเหล่านั้นอยู่แล้ว
สำหรับกรณีกรือเซะ ตากใบ อาเบ และชัยภูมิ เป็นเรื่องที่กระทำโดยทหาร อีกทั้งมักจะอ้างว่าอีกฝ่ายมีอาวุธร้ายแรง ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้สถานการณ์ความมั่นคง โดยกรณีกรณีกรือเซะ อาเบ และชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้อาวุธปืนยิง โดยอ้างว่าเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ และเพื่อป้องกันตัว เนื่องจากมีอาวุธร้ายแรง สำหรับกรณีตากใบเป็นการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านที่ไม่พอใจที่มีชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวอย่างมีเงื่อนงำ
สอง เกือบทุกกรณี ยกเว้นคดีคุณชัยวัฒน์ หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ ไม่ได้ดำเนินการหรือแม้กระทั่งพยายามที่จะดำเนินการ เพื่อฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาล เพื่อนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเปิดเผย จะมีบ้างก็เพียงสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งไม่มีอำนาจสั่งการหรือลงโทษผู้กระทำความผิด นี่ยังไม่นับว่าผลของรายงานมักจะออกมาในทำนองว่าไม่พบว่าเจ้าหน้าที่กระทำความผิด
สำหรับคดีที่มีการฟ้องเป็นคดีอาญาขึ้นสู่ศาลนั้น เป็นกรณีที่ผู้เสียหายต้องตั้งทนายความฟ้องคดีเอง คือกรณีชุมนุมคัดค้านท่อก๊าซไทย – มาเลเซีย แต่แม้ศาลปกครองสูงสุดจะเคยมีคำพิพากษาว่าฝ่ายรัฐสลายการชุมนุมผิดกฎหมาย แต่ศาลฎีกาก็พิพากษาในคดีอาญาว่าเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยชอบแล้ว ไม่เป็นความผิด
สาม เฉพาะในกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องให้ฝ่ายรัฐชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งเท่านั้น ที่ศาลในคดีส่วนแพ่งหรือศาลปกครองจะพิพากษาว่าฝ่ายรัฐผิด และสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย และเป็นการสั่งให้หน่วยงานต้นสังกัดจ่าย สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหรือผู้สั่งการ ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบใดๆ

4.
จากกรณีตัวอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า หากเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นนำ โดยเฉพาะกิจการที่เป็นการแสวงผลประโยชน์จากทรัพยากร และกรณีที่เกี่ยวข้องกับกองทัพแล้ว กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย แทบไม่เคยเอาผู้ที่กระทำหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมารับโทษตามกฎหมาย แม้จะมีบางกรณีที่ถูกสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งบ้าง แต่ไม่เคยมีกรณีใดที่มีการดำเนินการเพื่อเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นวัฒนธรรมการบังคับใช้กฎหมาย ที่จะยกเว้นความผิดให้เป็นการเฉพาะสำหรับคนบางกลุ่ม นักวิชาการกฎหมายแนววิพากษ์ (Critical Race Theory) ในอเมริกาเรียกว่า “Unspoken Rule” ซึ่งหมายถึงระเบียบที่ไม่ถูกพูด หรือเป็นกฎสำหรับอภิสิทธิ์ชนที่ไม่ถูกเขียนไว้หรือนำมาพูดอย่างเปิดเผยได้ แต่มันแทรกซึมอยู่ในโครงสร้างอำนาจต่างๆ ในสังคมของเรา
สำหรับกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้องคุณชัยวัฒน์ นั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าคดีนี้จะดำเนินการไปสู่อะไร
