ความเหลื่อมล้ำ ในการจัดการต้นทุนทรัพยากร

GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

(ภาพ: ทีมโดรนจิตอาสา)

1. 

กลางสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ผมได้รับเชิญจากไทยพีบีเอสภาคเหนือ ให้ไปร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดการต้นทุนทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ ให้แก่กองบรรณาธิการร่วมสื่อพลเมืองภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ 

ผมดูรายชื่อคนที่ได้รับเชิญในประเด็นอื่นๆ ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนั้น หรือไม่ก็เป็นตัวแทนองค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐ ตอนแรกที่ได้รับการข้อความติดต่อ ผมลังเลที่จะให้คำตอบและใช้เวลาคิดอยู่หลายวัน เนื่องจากผมไม่แน่ใจว่าตัวเองมีความรู้และข้อมูลมากพอที่ไปแนะนำคนที่เขาทำงานด้านสื่อ แต่ในที่สุดผมก็ตอบรับไปเนื่องจากน้องที่เป็นคนประสานส่งข้อความมาถามย้ำอีกครั้ง

เหมืองบ้านแหง
(ภาพ : มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน)

2.

หัวข้อที่ผมได้รับคือ “การจัดการต้นทุนทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่” โดยน้องที่เป็นคนประสานงานแจ้งว่า อยากให้ผมพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย 

ผมใช้เวลาคิดเตรียมเนื้อหาสำหรับพูดอยู่หลายวัน ได้ย้อนไปทบทวนปัญหากฎหมาย นโยบาย รวมทั้งตรวจสอบสถิติต่างๆ เกี่ยวกับป่าไม้และที่ดิน ตลอดจนความคืบหน้าล่าสุดในการแก้ปัญหาสิทธิในที่ดินตามนโยบาย คทช. ของรัฐบาลปัจจุบัน 

เมื่อถึงเวลา ผู้ดำเนินการก็ชี้แจงว่าขณะนี้ไทยพีบีเอสภาคเหนือกำลังพยายามพัฒนารูปแบบและเนื้อหาของสื่อสำหรับนำเสนอสู่สังคม โดยส่วนหนึ่งจะเน้นการทำงานกับสื่อในท้องถิ่นเพื่อให้สามารถเข้าถึงเรื่องราวของคนในท้องถิ่นให้ได้มากขึ้น 

อีกทั้งไทยพีบีเอสภาคเหนือยังได้จัดให้มีการประชุมกองบรรณาธิการสื่อพลเมืองบ่อยๆ เพื่อให้นักข่าวได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และเชิญบุคคลภายนอกมาให้ข้อมูลและอัพเดทสถานการณ์ในสังคมให้นักข่าว

(ภาพ : sanpamuang.go.th)

3.

ผมเริ่มต้นจากการชี้แจงก่อนว่า ประเด็นปัญหาที่ผมคิดว่าอยากให้สื่อทำหน้าที่นำเสนอในช่วงเวลานี้มี 3 เรื่องคือ ความเหลื่อมล้ำในการแก้ไขปัญหาที่ดินตามนโยบาย คทช. ของรัฐบาล การทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดการทรัพยากรเป็นวาระทางสังคมในช่วงที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง และการถอดรื้อความเชื่อแบบเก่าให้สังคมเกิดความเข้าใจต่อพื้นที่ป่าอย่างเป็นภววิสัย โดยผมอธิบายขยายความว่า

หนึ่ง นับตั้งแต่เริ่มจัดตั้งรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2557 รัฐบาลประกาศว่าจะแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินในเขตป่า โดยการจัดทำ คทช. ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 รัฐบาลได้เปิดเผยว่า ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ผู้ขออนุญาต (หมายถึงกรมป่าไม้ส่งมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัด) ไปแล้ว 5.7 ล้านไร่ แต่ไม่ยอมเปิดเผยว่าผู้ว่าราชการจังหวัดได้ส่งมอบให้ชาวบ้านไปแล้วรวมกันกี่ไร่

หากดูจากตัวเลขพื้นที่ที่ส่งมอบให้ผู้ว่าฯ นำไปดำเนินการ 5 ล้านไร่ จากทั้งหมดประมาณ 15 ล้านไร่ เท่ากับประมาณ 30% ของพื้นที่เป้าหมายตามนโยบายที่ประกาศ ชึ่งพื้นที่ 5 ล้านไร่ดังกล่าวนี้ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 3 , 4 , 5 เท่านั้น สำหรับพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 และ 2 ยังไม่มีการส่งมอบให้ผู้ว่าฯ นำไปจัดสรร แม้ว่าบางชุมชนจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปแจ้งว่าจะดำเนินการจัดทำ คทช. และมีการสำรวจรังวัดไปแล้วบ้าง แต่เมื่อกรมป่าไม้ไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ผู้ว่าฯ ในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถจัดทำ คทช. ให้ได้

นี่เป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจจะแก้ไขปัญหาจริง โดยออกมาประโคมว่ามีการส่งมอบพื้นที่แล้ว แต่ไม่ใช่ส่งมอบให้ชาวบ้านจริงๆ อีกทั้งมีการปฏิบัติตามนโยบายที่เลือกดำเนินการเฉพาะบางกลุ่ม ที่แสดงให้เห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนอย่างชัดเจน พื้นที่ที่อยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 และ 2 ที่มีคนเดือดร้อนมากที่สุด กลับไม่ได้รับการดำเนินการ นี่ยังไม่นับว่ามีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ไม่เอา คทช. 

สอง นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไปเป็นช่วงปลายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ชึ่งบรรยากาศทางการเมืองจะคุกรุ่นมากขึ้นตามลำดับ ยิ่งเข้าใกล้วันเลือกตั้งมากเท่าไหร่ พรรคการเมืองต่างๆ จะออกมาประกาศนโยบายเอาใจประชาชนแข่งกันอย่างเข้มข้น ผมจึงคิดว่าสื่อจะต้องใช้จังหวะนี้ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะพรรคใหญ่ จำต้องบรรจุเรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดการทรัพยากร หากพรรคการเมืองนำร่องในการรณรงค์และสังคมให้ความสนใจ จนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นวาระทางสังคม อย่างน้อยก็ในช่วงการเลือกตั้ง แล้วหากหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ได้จัดตั้งรัฐบาลนำไปผลักดันต่อ ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้บ้าง

สาม นับตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา แนวทางอนุรักษ์ป่าแบบปลอดคนตามแนวความคิดยึดเอาป่าเป็นศูนย์กลาง (Eco centric) คือ ปกป้องรักษาพื้นที่ป่าอย่างเข้มงวดโดยไม่ให้มนุษย์เข้าไปเกี่ยวใดๆ กับพื้นที่ป่า เป็นแนวความคิดเดียวที่รัฐไทยเป็นพื้นฐานในการจัดทำกฎหมายและนโยบาย ทำให้กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ล้วนเต็มไปด้วยข้อห้ามที่ไม่ให้คนแตะต้องพื้นที่ป่าอย่างเข้มงวด 

นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่ห้ามไม่ให้มีการอนุญาตเป็นการเฉพาะในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 และ 2 อีก ทำให้คนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงมาแต่เดิมไม่ได้รับความเป็นธรรม และได้รับผลกระทบอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์ป่าแบบปลอดคนอาจเหมาะสมกับเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น เช่น แหล่งต้นน้ำ พื้นที่ที่มีสภาพธรรมชาติพิเศษเฉพาะ พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ แต่จะไม่เหมาะกับการเอาไปใช้ในทุกพื้นที่ เช่น ที่ตั้งชุมชน พื้นที่สูงแต่เหมาะสมกับการทำการเกษตร พื้นที่ป่าที่สามารถเก็บหาของป่าได้ 

ดังนั้น สื่อจะต้องทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อทำให้สังคมเกิดความเข้าใจต่อพื้นที่ป่าอย่างเป็นภววิสัย ตามแนวคิดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการป่า (Antro-pocentric) คือ แนวคิดการจัดการป่าที่ใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง คือ บริหารจัดการพื้นที่ป่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อความอยู่ของมนุษย์ โดยคำนึงถึงการนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ต่อมนุษย์และการรักษาระบบนิเวศน์ป่าให้สมบูรณ์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ 

โดยข้อเท็จจริงแล้ว พื้นที่ป่าไม่ได้มีแบบเดียวอย่างที่รัฐพยายามทำให้สังคมเชื่อ แต่มีทั้งพื้นที่ที่จะต้องอนุรักษ์รักษาไว้ ไม่ว่าจะโดยเหตุผลของความเชื่อแห่งท้องถิ่น เช่น พื้นที่จิตวิญญาณ พื้นที่ที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเหตุผลตามหลักวิชาการ เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศน์ พื้นที่ป่าที่สามารถใช้ประโยชน์ได้บ้าง เช่น การท่องเที่ยว เก็บหาของป่า หรือพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น ป่าเศรษฐกิจ สวนป่า ทำการเกษตร หากสังคมเข้าใจความแตกต่างหลากหลายและยอมรับวิถีของคนอื่นแม้เราจะไม่ชอบได้ จะทำให้โอกาสที่ความเหลื่อมล้ำจะลดลงเป็นไปได้มากขึ้น

(ภาพ : kasettumkin.com)

4.

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดการต้นทุนทางทรัพยากร มีสาเหตุสำคัญ คือ การใช้กฎหมายและนโยบายเป็นเครื่องมือผูกขาดผลประโยชน์ในทรัพยากรในหมู่ผู้มีอำนาจ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและนายทุน และกระแสสังคมที่ต่อต้านการให้สิทธิในการใช้ที่ดินและทรัพยากรแก่คนที่อยู่ในเขตป่า โดยเชื่อว่าคนเหล่านั้นบุกรุกป่า หากให้สิทธิก็จะพากันขายที่ดินให้นายทุนแล้วบุกรุกป่าต่อไม่สิ้นสุด ชึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นหลังเป็นเรื่องที่ฝังอยู่ความคิดของชนชั้นกลางในเมือง ยิ่งปรากฏว่าปัจจุบันสังคมกำลังเผชิญกับปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง หากความคิดของคนในสังคมไม่เปลี่ยนแปลง กฎหมายและนโยบายก็ยากจะเปลี่ยนตาม 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับรองสิทธิในที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 หรือการอนุรักษ์พื้นที่ป่าแบบเดิมพร้อมๆ กับสร้างพื้นที่ป่าเพิ่ม เป็นเรื่องที่สังคมมีความคิดเห็นแตกต่างกัน และต่างก็ได้รับผลกระทบในหรือได้ประโยชน์ การที่สื่อนำเรื่องนี้มาตีแผ่อย่างจริงจัง ย่อมเกิดการถกเถียงในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

แต่เราก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ที่หมักหมมมา เรื่องนี้ไม่ควรปล่อยให้รัฐบาลหรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คิดเองทำเองเหมือนอย่างที่ผ่านมา ผมคิดว่าสังคมไทยต้องร่วมกันถกเถียงเพื่อหาทางออกที่คนจะยอมรับร่วมกันได้ให้มากที่สุด