ผลกระทบจากโลกร้อนต่อชาวประมงพื้นบ้านและผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดเล็กไทยทวีความรุนแรงขึ้นประจักษ์ ชัดเจน ทั้งในพื้นที่ทะเลและน้ำจืด รวมถึงพื้นที่ลุ่มโขง
ใครบ้างต้องปรับตัว การรับมือที่ดีควรเป็นอย่างไร บทบาทชาวประมง-นักวิชาการ-ภาครัฐและนโยบายควรเป็นอย่างไร จึงจะสามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงนี้ได้
บทสนทนาและข้อเสนอ จากเวทีเสวนา “ความท้าทายของการประมงพื้นบ้านและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง” ที่กรมประมงจัดขึ้นในวาระ “ปีสากลแห่งการทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นบ้าน 2565” (International Year of Artisanal Fisheries and Aquaculture : IYAFA 2022) เมื่อ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา

ประมงไทยในยุคโลกร้อน
“การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศคือสิ่งหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งส่งผลกระทบตั้งต่อประเทศไทยและทั่วโลก
จากการประเมินของ IPCC ระบุว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรอบทศวรรษ มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 0.5 – 0.8 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ปริมาณฝนที่ตกก็จะเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน วันที่ฝนตกก็ลดน้อยลง ไม่รวมกับการเปลี่ยนแปลงของพายุ น้ำท่วม น้ำแล้ง ก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”
ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ อาจารย์ด้านชีววิทยาประมงและการจัดการการประมงประจำสาขาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวในเวที เสวนา “ความท้าทายของการประมงพื้นบ้านและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง” จัดขึ้นเมื่อ 2 ส.ค. 2565 โดยกรมประมงในวาระ “ปีสากลแห่งการทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นบ้าน 2565” (International Year of Artisanal Fisheries and Aquaculture : IYAFA 2022)
“ความหลากหลายของปลาน้ำจืดที่แม่น้ำโขงที่เคยมีมากกว่า 1300 ชนิด แต่ตอนนี้ลดลงเหลือประมาณ 300 ชนิด” อ้อมบุญ ทิพย์สุนา กรรมการด้านประมงน้ำจืด คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ กล่าวถึงผลกระทบที่ชัดเจนจากภาวะโลกร้อนต่อแม่น้ำโขง ซึ่งมีผลโดยตรงกับชาวประมงตลอด 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงในภาคอีสานและภาคเหนือ
“สิ่งที่เราพบในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องชาวประมงผู้เพาะเลี้ยงโดยตรงคือ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้เกิดการรุกล้ำของน้ำทะเลมาในเขตน้ำจืด ทำให้สัตว์น้ำมีโอกาสเสี่ยงที่จะลดลงหรือสูญพันธุ์ ส่วนผลกระทบที่เกิดกับบุคลทั่วไปคือ ความแห้งแล้งที่ยาวนานและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น” สมเกียรติ สมรรถการ ประธานสมาคมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดตราด กล่าว

ภัยคุกคาม และความท้าทาย
“นอกจากภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นในแม่น้ำโขงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก การบริหารจัดการของประเทศที่ใช้แม่น้ำโขงจากกรณีปัญหาของเขื่อนที่มีในปัจจุบันและที่กำลังจะมีการสร้างในขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งเป็นความท้าทายของกรมประมงที่จะเข้ามาบริหารจัดการเพื่อรักษาความหลากหลายของปลาในแม่น้ำโขงให้เพิ่มขึ้นและไม่ลดลงไปกว่านี้
จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดปัญหาน้ำน้อยไม่พอใช้ ทำให้เขื่อนจากแต่ละประเทศต้องกักเก็บน้ำไว้ก็เป็นปัญหาที่อาจจะเข้าไปยุ่งไม่ได้ เป็นเรื่องที่กรมประมงเข้ามาจัดการเพียงองค์กรเดียวไม่ได้ต้องประสานงานกับกระทรวงอื่น ๆ
การสร้างความร่วมมือและการให้ประมงพื้นบ้าน ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมและค่อย ๆ ขยับเรื่องนี้ร่วมกันก็อาจจะช่วยให้ความหลากหลายของปลาในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น” อ้อมบุญ กล่าว
“เมื่อเราพูดถึงประมงเรามักจะนึกถึงทะเล ซึ่งมีการใช้ประโยชน์กันเยอะมาก ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะแก๊ซ น้ำมัน ประมงและอีกหลายอย่าง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับทะเล คนที่จะกระทบคนแรกคือชาวประมง
ความท้าทายหนึ่งของกรมประมงคือการเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ความท้าทายแรกคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอันดับหนึ่งสำหรับคนที่ประกอบอาชีพที่ข้องเกี่ยวกับธรรมชาติ
อีกเรื่องที่มีความท้าทายในการประกอบอาชีพประมงและการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำคือ การหาคนรุ่นใหม่ที่จะมาสานต่อคนรุ่นเก่า
ความท้าทายสุดท้ายคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง (ทิศทางการพัฒนา) ว่าในอนาคตประเทศจะใช้การท่องเที่ยว การผลิต ส่งออกหรือจะหันกลับมาใช้ฐานทรัพยากรของเราเป็นตัวผลักดันหลัก
ในเรื่องของนโยบายการจัดการ ประมงพื้นบ้านและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรายย่อย ประเทศไทยมีโครงสร้างในเรื่องกฎหมายที่ค่อนข้างสมบูรณ์
เราต้องการข้อมูลที่ชัดเจนจากพี่น้องประชาชน เราทำงานด้วยกันหมด เราถึงจะผ่านไปได้ ถ้าปราศจากการพูดคุยจากหลาย ๆ ฝ่าย เราจะไม่สามารถรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ทัน วันนี้จึงเป็นโอกาศดีที่ได้รับฟังจากหลาย ๆ ภาคส่วน” เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมงกล่าว
“วันนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่มีทุกฝ่ายเข้ามาเสวนาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวประมงและผู้เพาะเลี้ยงที่เป็นฝ่ายรู้ปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งรวมไปถึงความต้องการของฝ่ายตน
อีกฝ่ายหนึ่งคือภาคราชการที่มีอธิบดีกรมประมงเป็นตัวแทนที่เป็นฝ่ายออกนโยบายและภาควิชาการที่มีความรู้ในด้านข้อมูลทั้งจากอดีตและปัจจุบันเพื่อที่จะใช้พยากรณ์ไปในอนาคตได้ ส่วนฝ่ายองค์กรก็มีหน้าที่ที่ทำตามวัตถุประสงค์ของตนอย่างมีอิสระ
ในมุมของสมาคมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราอยากเห็นองค์กรเอกชนร่วมมือกับทั้งสามภาคส่วนที่กล่าวไปข้างต้น ในเรื่องของการรักษาระบบนิเวศ การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบอาชีพด้านประมงและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและการใช้ทรัพยากรอย่างเท่าเทียมไม่ให้เกิดการแข่งขันและแย่งชิงที่จะเป็นเหตุให้เกิดการทำลายระบบนิเวศ” สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติม

ข้อเสนอ ทิศทางรับมือ
“ควรมีการทำวิจัยเพื่อใช้ประกอบการจัดทำนโยบายเพื่อบรรเทาและแก้ปัญหาชาวประมง 2 กลุ่มสำคัญ คือชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด” ศ.ดร.ทวนทองเสนอ
“กลุ่มแรกคือประมงพื้นบ้านที่ต้องพึ่งพิงแหล่งน้ำเป็นสำคัญ ถ้าแหล่งน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเช่นอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นจะมีผลต่อแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำอย่างไร การที่แหล่งน้ำได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยในแหล่งน้ำหรือไม่ ทั้งโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อปลาและสัตว์น้ำอย่างไร
เราต้องหาว่าผลกระทบจากโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างไรต่อแหล่งน้ำเพราะผลกระทบที่เกิดกับแหล่งน้ำอาจส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของปลาที่ต้องพึ่งพิงแหล่งน้ำในการใช้ชีวิต สัตว์น้ำบางชนิดอาจจะได้รับผลประโยชน์บางชนิดอาจจะเสียผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำ และการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราจะต้องหาคำตอบ
การทดแทนของสัตว์รุ่นใหม่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง สิ่งที่สำคัญคือการผลิตสัตว์น้ำรุ่นใหม่ที่จะเป็นตัวที่ทดแทนจากทั้งสัตว์ที่ตายไปทั้งในธรรมชาติและตายไปกับการประมง พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านอาจจะต้องออกไปห่างจากฝั่งมากขึ้นเพื่อหาปลา เป็นประเด็นที่เราจะต้องมีความรู้เพื่อประกอบเป็นนโยบายต่อไป
กลุ่มที่สอง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรรายย่อย การนำนวัตกรรมมาช่วยในการเพาะเลี้ยง อย่างเช่นระบบการเลี้ยงและการให้อากาศในระบบ ความท้าทายอย่างหนึ่งก็คือจะทำอย่างไรให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงนวัตกรรมและเอาระบบการให้อากาศมาช่วยในการเพาะเลี้ยง
การพัฒนาระบบในการแจ้งเตือนระบบดินฟ้าอากาศเพื่อช่วยให้ชาวประมงสามารถจัดการรับมือกับปัญหาในอนาคตอันใกล้” ” ศ.ดร. ทวนทอง กล่าวอธิบาย
“เราจะต้องมีการสร้างศักยภาพในหลาย ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทาย เช่น เราต้องทำให้ชาวประมงมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนเรื่องการสร้างโครงสร้างทางการตลาดเพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการขนาดย่อยเข้าถึงโอกาศในการเพิ่มมูลค่าของสินค้า
ถ้าเราต้องการที่จะบริหารจัดการการประมงโดยเน้นที่การประมงขนาดเล็ก ชาวประมงพื้นบ้านเป็นใหญ่ การสร้างกรอบระเบียบและการคิดในเรื่องขอกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนไปจากการที่เราตั้งต้นกับชาวประมงพาณิชย์” ศ.ดร.รัตนา ชื่นภักดี Memorial University of Newfoundland และผู้อำนวยกาเครือข่ายวิจัย Too Big To Ignore Global Partnership for Small – Scale Fisheries Researchกล่าว

เสียงจากชาวประมงพื้นบ้าน-คนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
“เรื่องที่สำคัญคือ การบริหารจัดการและการฟื้นฟูทรัพยากรที่จะใช้ร่วมกันอย่างยั่งยืน สิ่งหนึ่งที่ชาวประมงอยากเห็นต่อจากนี้คือกรมประมงจะกล้าให้ชาวประมงในฐานะเจ้าของทรัพยากรในพื้นที่ให้เข้ามามีสิทธิในการบริหารจัดการพื้นที่หรือไม่
จากวงพูดคุยกันเองของกลุ่มชาวประมงเพื่อหาข้อสรุปว่าสาเหตุที่ทรัพยากรที่ลดน้อยลงมาจากปัจจัยใด เป็นเพราะการวิธีการจับของพี่น้องชาวประมงหรือไม่ เราได้ข้อสรุปว่าวิธีการจับ จำนวนในการจับก็ไม่ได้มีความต่างจากอดีตและอาจจะน้อยกว่าในอดีตเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นการลดลงของทรัพยาการอาจจะเกิดจากปัจจัยอื่น
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรในทะเลในมุมมองของดำรงค์มีหลายปัจจัย ทั้งอาจจากภาวะโลกร้อนหรือจะเป็นมลพิษ พร้อมยกตัวอย่างพี่น้องจากระยองที่ประสบปัญหามลพิษอยู่ในขณะนี้และยังไม่รู้แน่ชัด ว่าทรัพยากรในระยองจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมเมื่อไหร่ (ตัวอย่าง)
สิ่งที่ชาวประมงคิดและทำแล้วน่าจะทั่วประเทศคือ การดูแลและช่วยชุมชนของตัวเองในการทำประมงอย่างยั่งยืน แต่ถ้าท้องทะเลยังได้รับมลภาวะมาก ๆ เราในฐานะชาวประมงตัวเล็ก ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปแก้ที่จุดไหน
อยากให้ลองฟังเสียงสะท้อน ความต้องการของชาวประมงตัวเล็ก ๆ ให้มองชาวประมงเป็นอาชีพหนึ่งที่ใช้เลี้ยงครอบครัวของเขา ไม่ใช่ผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมและทางด้านนโยบายในอนาคตก็อยากให้ชาวประมงมีสิทธิกำหนดอนาคตของตัวเอง
ชาวประมงจะไม่ทำลายตัวเองในการจับสัตว์ที่เป็นรายได้ เพราะในขณะที่จับจนหมดก็หมายถึงว่าอาชีพของเค้าสิ้นสุด จบลง” ดำรงค์ แดงโชติ ประธานกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าว
“4-5 ปีที่ผ่านมีการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์น้ำรายย่อย ทางด้านการเลี้ยงในภาคพาณิชย์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการขยายตัวค่อนข้างมากและ 2-3 ปีที่ผ่านมาภาษีที่ดินก็ทำให้มีกลุ่มคนที่มีที่ดินมาก ๆ เปลี่ยนไปเลี้ยงปลามากขึ้น เมื่อถึงเวลาต้องจับปลา เจ้าของที่ก็ไม่ต้องลงมือเอง เพราะบรรดาแพปลาทั้งหลายจะเป็นคนจัดการจับปลาเอง สิ่งที่ตามมาคือผลผลิตปลามากขึ้นจำนวนแพปลาก็มากขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยมีตลาดกลางปลาขนาดใหญ่หลายจุด
ผลที่ตามมาอีกอย่างคือการพัฒนาคุณภาพการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ในอนาคตราคาของผลผลิตสัตว์น้ำจะไม่ต่างกันมาก
ปัญหาหลัก ๆ ของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตอนนี้คือ ต้นทุนในการจับที่ตกกิโลละ 4 บาทในขณะที่ราคาขายอยู่ที่ประมาณ 17-25 บาท และค่าอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นก็เป็นปัญหาด้วยเช่นกัน ประวัติยังเสนอว่า ถ้าพัฒนาตลาดส่งออกให้มากขึ้นก็จะช่วยทำให้ประสิทธิภาพราคาเพาะเลี้ยงมีความนิ่งมากขึ้น
ตัวผมเองตอนนี้ก็ต้องผลิตอาหารเองโดยการเสียพื้นที่บางส่วนไปเลี้ยงแหนแดง เพื่อเอาแหนแดงไปเป็นอาหารปลา แม้แต่รำที่เป็นตัวหลักในการเลี้ยงปลาน้ำจืดก็ราคา 12 บาทกว่า ก็ยังนึกไม่ออกว่าราคาขายปลาที่ 20 บาทกว่าจะไปไหวไหม เราอาจจะต้องลดอาหารลงและใช้เวลาในการเลี้ยงปลาให้นานขึ้น” ประวัติ พิริยศาสน์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กล่าว
