อุทยานแจง จำคุกหนองหญ้าปล้อง “ไม่เกี่ยว One Map แต่เกี่ยวกับ Shape file”

อธิบดีกรมอุทยานฯ แจง “จำคุกชาวบ้านหนองหญ้าปล้องเพราะรุกป่า ตามกฏหมายอุทยาน-ป่าไม้-ป่าสงวน” ไม่เกี่ยวกับโครงการบูรณาการข้อมูลภาครัฐ One Map “1 พื้นที่ 1 หน่วยงาน 1 กฎหมาย”

เผยใช้แนวเขตใหม่ด้วยวิธี shape file ทำให้แนวเขตรุก-ไม่รุกป่าต่างจากแนวเขตในแผนที่แนบกฤษฏีกา 1 กม.

ด้านพีมูฟแถลง คดีหนองหญ้าปล้องสะท้อนชัด ความล้มเหลวของนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ของรัฐบาลประยุทธ์ เรียกร้อง 3 ข้อ “หยุดทวงคืนผืนป่า-สภาฯตรวจสอบงบกระทรวงทรัพยากรฯ -ออกกฏหมายนิรโทษกรรมฯ ชาวบ้านเหยื่อนโยบายรัฐ”

(ภาพ : DNP)

ยันจำคุกเพราะรุกป่าตาม 3 กฏหมาย 

ใช้แนวเขตใหม่ shape file ต่างจากแผนที่แนบกฤษฏีกา 1 กม.

“ตามที่มีการนำเสนอข้อมูลชาวกะเหรี่ยงบ้านท่าเสลา จ.เพชรบุรี ถูกศาลฎีกาพิพากษาสั่งจำคุก 2 ปี 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐเป็นเงิน 310,000 บาท ไม่รอลงอาญา รวมถึงให้รื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้าง กรณีบุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนั้น 

เป็นการดำเนินคดีในความผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 

ซึ่งเจ้าหน้าที่และคณะทำงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามคำสั่ง ที่ 97/2558 ลงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558 ได้ร่วมพิจารณาจากเส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พ.ศ. 2524 และถ่ายทอดเส้นแนวเขตเป็นระบบเชิงเลข (shape file) ซึ่งเส้นแนวเขตดังกล่าวไม่เป็นไปตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนด โดยมีระยะห่างจากเส้นแนวเขตตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร” รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวชี้แจงวานนี้ (28 ก.ค. 2565)

(ภาพ : หนังสือพิมพ์เพชรภูมิ)

แจงไม่เกี่ยวกับโครงการ One Map “1 พื้นที่ 1 หน่วยงาน 1 กฎหมาย”

“การดำเนินคดีกรณีบุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงแนวที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One Map)

เนื่องจากโครงการ One Map เป็นโครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 โดยหน่วยงานของรัฐจะนำแนวเขตที่ดิน ตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐนั้น มาลงในแผนที่เดียวกันในมาตราส่วน 1:4000 แล้วทำการปรับแนวเขตที่มีการทับซ้อนกัน ให้เหลือ 1 พื้นที่ 1 หน่วยงาน 1 กฎหมาย 

โดยการดำเนินการต้องดำเนินการปรับแนวเขต ตามหลักเกณฑ์ที่ได้ตกลงร่วมกัน และเสนอให้ คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว และเมื่อหน่วยงานได้ร่วมกันปรับแนวเขตจนเป็นที่ยุติแล้ว จะนำแนวเขตดังกล่าวเสนอคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และ นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป 

หลังจากนั้นหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานใดที่มีการเปลี่ยนแปลงแนวเขตที่มีผลมาจากการปรับปรุงแนวเขตร่วมกันแล้วจะได้นำแนวเขตดังกล่าวไปประกาศให้เป็นแนวเขตที่ถูกต้องตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงานต่อไป

ในส่วนการดำเนินการตามโครงการ One Map นั้นได้มีการแบ่งการดำเนินการ ออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 11 จังหวัด 

โดยกลุ่มจังหวัดที่ 1 ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี นครปฐม อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี และกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย และ คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 

และกลุ่มจังหวัดที่ 2 ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นครสวรรค์ ระยอง ลพบุรี ศรีสะเกษ และสระบุรี ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่าง นำเสนอ คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ 

สำหรับกลุ่มจังหวัด ที่ 3 – 7 อีก 55 จังหวัดที่เหลือ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ” อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว

(ภาพ : หนังสือพิมพ์เพชรภูมิ)

พีมูฟแถลง คดีหนองหญ้าปล้องสะท้อนความล้มเหลว “ทวงคืนผืนป่า”

วันเดียวกัน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) หรือพีมูฟ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ถึงเวลาหยุด ‘ทวงคืนผืนป่า’ หรือยัง? เนื้อหาระบุว่า คำตัดสินคดีชาวกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง สะท้อนชัดถึงความล้มเหลวของการนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลโดยการนำของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา

“เป็นเวลากว่า 8 ปี หลังการรัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาลเผด็จการนั้นได้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” รวมทั้งได้มีแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรฯ หรือ แผนแม่บทป่าไม้ฯ ที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งได้สร้างผลกระทบสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับ นางวันเสาร์ ภุงาม ชาวกะเหรี่ยงวัย 58 ปี ชาวบ้านท่าเสลา อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี สะท้อนความอัปยศของนโยบายด้านการจัดการที่ดิน-ป่าไม้หลังการรัฐประหารอีกครั้ง รวมถึงยังหมายถึงกระบวนการยุติธรรมไทยที่ล้มเหลว ไม่อาจผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม แม้นางวันเสาร์ยืนยันทำกินบนผืนดินนั้นมาก่อน และได้รับผลกระทบจากนโยบาย ‘One Map’ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2558 ก็ยังปรากฏความพยายามของทั้งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและอัยการจังหวัดเพชรบุรีที่ดึงดันเอาผิดกับประชาชนจนถึงที่สุด 

สุดท้ายในชั้นศาลฎีกาจึงได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ชี้ว่านางวันเสาร์กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ได้รับโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน เรียกค่าเสียหาย 3.1 แสนบาท ไม่รอลงอาญา และให้รื้อถอนบ้าน สิ่งปลูกสร้าง รวมถึงต้องออกจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานทันที

กรณีของนางวันเสาร์นั้นเป็นเพียงหนึ่งกรณีที่สะท้อนความเดือดร้อนของประชาชนทุกหย่อมหญ้าทั่วประเทศ 

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ได้ติดตามผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่ามาอย่างต่อเนื่อง อ้างอิงข้อมูลจากคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ชี้ว่าในระยะเวลา 8 ปี ตั้งแต่ 2557-2565 มีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ รวมกันอย่างน้อย 34,692 คดี 

นั่นหมายความว่าประชาชนนับหมื่นต้องถูกผลักดันออกจากผืนดินของตนเอง กลายเป็นเกษตรไร้ที่ดิน ความเจ็บปวดของนางวันเสาร์ ครอบครัว และพี่น้องในผืนป่าแก่งกระจานเกิดขึ้นแล้วในวันนี้ และจะต้องเกิดขึ้นอีกกี่ครั้งในวันหน้า หรือประชาชนในเขตป่าทำได้เพียงเฝ้ารอโชคชะตาว่าผู้มีอำนาจจะชี้เป็นชี้ตายวันใด” แถลงการณ์พีมูฟระบุ

(ภาพ : หนังสือพิมพ์เพชรภูมิ)

3 ข้อเรียกร้อง“หยุดทวงคืนผืนป่า-สภาฯตรวจสอบงบ ทส.-ออกกฏหมายนิรโทษกรรมฯ”

“เราขอประณามหน่วยงานรัฐภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอประณามรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และขอประณามกระบวนการยุติธรรม ที่ได้รวมหัวกันรังแกประชาชน และขอเรียกร้องไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. รัฐบาลต้องยกเลิกกฎหมายและนโยบายภายใต้แผนการทวงคืนผืนป่าทั้งหมด แล้วเปิดให้ประชาชนได้สร้างกฎหมายด้านที่ดิน-ป่าไม้ ในนามผู้ถูกกดขี่และผู้อยู่อาศัย ทำกินในเขตป่าที่รัฐประกาศทับด้วยตัวเอง 
  2. สภาผู้แทนราษฎรต้องตรวจสอบงบประมาณและแผนการดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2566 ที่ยังคงปรากฏว่ามีแผนแม่บทป่าไม้ฯ จากปี 2557 เป็นส่วนหนึ่งในการสนองความปรารถนาของชนชั้นปกครองที่อยากมีตัวเลขพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ และมีงบประมาณด้านการปราบปรามมากกว่าการแก้ปัญหาที่ดินถึง 8 เท่า
  3. ต้องผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ที่เสนอให้ยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรม และคืนสิทธิ์แก่ประชาชน

เราขอย้ำว่า 8 ปีของการทวงคืนผืนป่า คือ 8 ปีแห่งความทุกข์ทวี หาใช่ความสุขตามที่เขาหลอกลวง และจนถึงวันนี้ การทวงคืนผืนป่าที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในกฎหมายและนโยบายของรัฐจะต้องถูกรื้อถอน คืนความเป็นคนสู่ประชาชนในเขตป่าเสียที” เครือข่ายพีมูฟแถลง เมื่อ 28 กรกฎาคม 2565