จับตาประชุม กนศ. วันนี้ “ลักไก่ดันไทยร่วม CPTPP โดยไม่พร้อม”

FTA Watch เผยรองนายกฯ ดอน ปรมัตถ์วินัยเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) วันนี้ (27 ก.ค. 2565) เพื่อเสนอครม.เห็นชอบอนุมัติไทยเข้าร่วมข้อตกลงการค้าโลก CPTPP ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม ชี้โอกาสคนไทยทั่วประเทศกระทบหนัก “ยาแพง-เกษตรกร”

“ผิดคำสัญญาว่าจะศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ-ไม่สนคำเตือนและข้อเสนอกรรมาธิการสภาฯ และเครือข่ายผู้บริโภค” FTA Watch ระบุ

(ภาพ : กต.)

เรียกประชุมด่วน ก่อนวันหยุดยาว

“27 ก.ค. ก่อนวันหยุดยาวสำคัญ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในฐานะประธาน เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกของความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก #CPTPP” FTA Watch เปิดเผย

ชี้เสี่ยงกระทบทั้งประเทศ “ยาแพง-เกษตรกร”

“จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดเล็กอย่างกว้างขวาง เปิดทางให้โจรสลัดชีวภาพ และตัดสิทธิเกษตรกรในเรื่องเมล็ดพันธุ์

รัฐบาลหวังลมๆแล้งๆว่าการเข้าร่วมจะช่วยกระตุ้นการค้าการลงทุน แต่จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเกษตรกรรายย่อยหลายสาขา เช่น กลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย และเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกพืชไร่อาหารสัตว์ 

แต่ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดคือ การเข้าร่วม CPTPP ต้องยอมรับอนุสัญญา UPOV 1991 ไบโอไทยได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้มาอย่างต่อเนื่อง และสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุข้อกังวลดังกล่าวเอาไว้ ในรายงานการศึกษาที่เสนอต่อรัฐบาลก่อนหน้านี้

ความตกลง CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล 

จากงานวิจัยการประเมินผลกระทบของ CPTPP ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นเกือบ 400,000 ล้านบาท เพราะประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าและมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 89 และอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่า 100,000 ล้านบาท แน่นอนว่านี่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงโดยตรงต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นผลงานอวดชาวโลกของไทย” ไบโอไทย หรือมูลนิธิชีววิถีกล่าว

(ภาพ : BioThai)

ไทยยังไม่พร้อม – ผิดสัญญาจะศึกษาผลกระทบรอบคอบก่อนตัดสินใจ

“นี่เป็นการผิดคำมั่นสัญญาที่รองนายกฯดอนให้ไว้กับ เอฟทีเอ ว็อทช์และเครือข่ายที่เป็นตัวแทนของประชาชนกว่า 400,000 คนที่ร่วมลงชื่อคัดค้านการที่ไทยจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP ที่หากยังไม่มีการศึกษารอบด้านถึงผลดีและผลกระทบที่เป็นปัจจุบัน จะไม่นำเข้าสู่ ครม. ชงเข้า ครม.ทันที ปิดเสียงวิจารณ์ 

นี่ถือว่า คำพูดคนระดับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเชื่อถือไม่ได้ ใช่หรือไม่

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการทำร่างกรอบการเจรจาที่ต้องยืนยันในหลักการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบ CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร เสนอแนะว่าต้องทำก่อนการอนุมัติไปเจรจา ซึ่งต้องเกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว หากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงนี้” FTA Watch กล่าว

“ปลายปี 2564 ดอน ปรมัตถ์วินัย เข้าพบตัวแทนภาคประชาสังคมและรับปากจะไม่นำเข้าสู่ ครม. และจะศึกษาการศึกษาผลกระทบที่อัพเดทอย่างรอบด้าน ผ่านมาครึ่งปี ก็ไม่มีการขยับเรื่องงานศึกษาฯที่ชัดเจนและเป็นปัจจุบันถึงข้อดีและผลกระทบทางลบของ CPTPP ต่อประเทศไทย

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการทำร่างกรอบการเจรจาที่ต้องยืนยันในหลักการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบ CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎรเสนอแนะว่าต้องทำก่อนการอนุมัติไปเจรจา ซึ่งต้องเกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเลย

วันนี้ ก่อนวันหยุดยาวสำคัญ นายดอน ปรมัตถ์วินัย จะเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เพื่อเห็นชอบยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วม CPTPP ให้ ครม.อนุมัติทันที

แทคติคหยุดยาววันสำคัญเพื่อลดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ แบบนี้ก็ได้เหรอ !!! ลักไก่ ผิดคำสัญญา พาประเทศหายนะ หากเข้าร่วม CPTPP” ไบโอไทยสรุปสถานการณ์ #CPTPP พร้อมตั้งคำถามถึงรัฐบาล

ไม่สนคำเตือน-ข้อเสนอ กรรมาฯ สภาฯ-องค์กรผู้บริโภค

“จากข้อเสนอแนะจากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร และข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ได้เสนอข้อห่วงกังวลอต่อประธาน กนศ.ไปแล้ว ดังนี้

  1. การเข้าร่วมความตกลง CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งมีผลกระทบด้านลบต่อเกษตรกร ทั้งราคาเมล็ดพันธุ์ที่จะแพงขึ้น สิทธิเกษตรกรที่ถูกลิดรอน และการทำลายความหลายหลากทางชีวภาพ
  2. การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะสารพิษที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก
  3. การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลออกหรือบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน โดยจะส่งผลให้รัฐบาลต้องระงับการออกหรือบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนจ่าย

และสุดท้าย ข้อบทในความตกลง CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล” FTA Watch กล่าว

(ภาพ : FTA Watch)

อนุมัติก่อนวันหยุดยาว : การทิ้งทวน – รัฐบาลขาลง ?

“รัฐบาลขาลงทิ้งทวน จ่อพาชาติหายนะ เข้าร่วม #CPTPP 

หลังจากผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาอย่างสะบักสะบอมและมีข้อกังขามากมายในการเอื้อประโยชน์ถึงขั้นเข้าข่ายทุจริตคอรัปชั่น 

การเลือกช่วงเวลาการประชุม กนศ.เพื่อตัดสินใจเรื่องที่จะพาไปประเทศชาติไปสู่หายนะหรือไม่ เป็นช่วงก่อนหน้าช่วงหยุดยาววันสำคัญ

ถือเป็นการลดกระแสการตรวจสอบของสื่อและภาคประชาสังคมหรือไม่ เพราะใกล้เคียงกับแทคติคที่หน่วยราชการบางแห่งเคยใช้ในการผลักดันการแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชในช่วงพระราชพิธี ปี 2560 ทำให้กว่าสื่อมวลชนและสังคมตื่นตัวติดตามก็ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว 

ขอให้ประชาชนคนไทยและเครือข่ายต่างๆที่ห่วงใยกับอนาคตและความเป็นไปของสังคมช่วยกันกระจายข่าวเรื่องนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อฉุดรั้งสติของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่าพาประเทศชาติหายนะไปกว่านี้เลย” FTA Watch กล่าว

“รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มีภาพลักษณ์ที่ลุแก่อำนาจ และไม่โปร่งใสในการดำเนินการมาตลอด จึงไม่แปลกใจหากจะลักไก่ดันไทยเข้าร่วม CPTPP โดยอาศัยช่วงหลังวันหยุดยาว เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากประชาชน แต่การทำเช่นนี้ไม่ส่งผลดีใดๆ ต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน 

หากไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยไร้การเตรียมความพร้อมที่เป็นรูปธรรมและศึกษาเชิงลึกอย่างรอบด้าน ขาดการหารือทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนทั้งหมดอย่างโปร่งใส จะทำให้ไทยเสียเปรียบ ได้ไม่คุ้มเสีย และเกิดปัญหายากเกินแก้ไขในอนาคต” จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ ผ่านการรายงานของ ข่าวสด 

“นับแต่วันที่กนศ. ซึ่งได้รับมอบหมายจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้คำมั่นสัญญากับภาคประชาสังคมว่า จะทำการศึกษาที่ชัดเจนครอบคลุมถึงมาตรการรองรับผลกระทบอย่างรอบคอบ และหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันก่อนตัดสินใจ จนวันนี้ผ่านมาเกือบ 1 ปี ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เป็นรูปธรรม แต่กลับมีกระแสข่าวว่าเตรียมจะให้ไทยเข้าร่วม CPTPP ทั้งที่ยังขาดความพร้อมในหลายเรื่อง

หากจะอ้างว่าเตรียมดันให้ไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP เพื่อขยายการค้าการลงทุน อาจเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะข้อเท็จจริงคือ ไทยมีความตกลงเสรีทางการค้า (FTA) กับสมาชิก CPTPP แล้วเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียงเม็กซิโก ส่วนแคนาดากำลังจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา ดังนั้น ด้วยเหตุผลนี้การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จึงไม่เกิดประโยชน์ต่อการขยายการค้าการลงทุนของไทยอย่างมีนัยะสำคัญแต่อย่างใด มีข้อสังเกตว่าหากไทยต้องการขยายการค้าการลงทุนกับประเทศใหม่ๆจริง ควรเร่งการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้ไทยได้ตลาดเพิ่มอีก 27 ประเทศ และ FTA กับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ซึ่งจะทำให้ไทยได้ตลาดใหม่เพิ่มขึ้นมา 5 ประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีแผนจะทำ FTA ด้วยแต่กลับล่าช้าเป็นอย่างมาก” สส.จิราพร กล่าว