3 เหตุผล “ไม่ไว้วางใจ” รมว. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

(ภาพ : ทส.)

1.

ขณะนี้บรรยากาศทางการเมืองกำลังอยู่ในโหมดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แม้ ส.ส. จะอภิปรายจบไปแล้ว แต่กระแสในสื่อยังตามเล่นต่อไม่หยุด รัฐมนตรีหลายคนคงต้องเลียแผลไปอีกนาน 

มีรัฐมนตรีหลายคนถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 คน แต่ยกเว้นคุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะว่าไปสามปีที่ผ่านมาคุณวราวุธ ศิลปอาชา ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาก่อนเลย 

ในโอกาสนี้ผมจึงขอใช้พื้นที่นี้อภิปรายไม่ไว้วางใจ คุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในประเด็น “ล้มเหลวในการบริหารงานด้านการแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ ทำให้ประชนชนและสังคมไทยได้รับความเดือดร้อนเสียหาย” โดยมีรายละเอียดดังจะกล่าวต่อไปนี้

(ภาพ : ทส.)

2.

โจทย์ใหญ่ของงานด้านป่าไม้และที่ดินภายใต้กระทรวงทรัพย์ฯ มี 3 ประการ 

ประการแรกคือ รักษาพื้นที่ป่าเดิมที่มีอยู่ประมาณ 102 ล้านไร่ และสร้างเพิ่มใหม่อีก 74 ล้านไร่ เพื่อให้บรรลุเป้หมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ หรือเท่ากับ 176 ล้านไร่ตามเป้าหมายของรัฐบาล 

ประการที่สองคือ แก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในเขตป่าซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 20 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ (อุทยานแห่งชาติ – เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า) 4.2 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติประมาณ 15 ล้านไร่ 

และประการที่สามคือ ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างรายได้จากพื้นที่ป่า โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งแต่ละปีมีมูลค่าสูงถึงปีละ 2,000 – 2,500 ล้านบาท 

3.

คุณวราวุธ ศิลปอาชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริหารกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นับตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2562 ถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาสามปีกว่าแล้ว บริหารงบประมาณของกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ไปแล้ว (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2565) จำนวน 65,535 ล้านบาท แต่กลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นโจทย์สามข้อข้างต้นได้ โดยมีปัญหาสำคัญดังต่อไปนี้คือ

ประการที่หนึ่ง พื้นที่ป่าของประเทศไทยไม่ได้เพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้ามกลับลดลง 

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในปี พ.ศ. 2562 มีพื้นที่ป่า 102,484,072.70 ไร่ ในปี พ.ศ. 2563 มีพื้นที่ป่า 102,353,484.69 ไร่ และในปี พ.ศ. 2563 มีพื้นที่ป่า 102,212,343.35 ไร่ ซึ่งจากตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานภายใต้การกำกับของคุณวราวุธ ศิลปอาชา ไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังไม่สามารถสร้างพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นได้ แม้จะปรากฏว่ามีการแย่งยึดที่ดินจากชาวบ้านตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 จำนวนมากก็ตาม 

ประการที่สอง ปัญหาสิทธิในที่ดินในเขตป่าซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย และมีประชาชนจำนวนมากกำลังรอให้รัฐบาลดำเนินการ 

พื้นที่เหล่านี้อยู่ภายใต้อำนาจของกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ที่มีคุณวราวุธ ศิลปอาชา เป็นผู้กำกับ ซึ่งมีกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลเป็นเครื่องมือให้แล้วตาม พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้เมื่อปี พ.ศ. 2562 แต่กลับไม่สามารถดำเนินการตามแผนที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ จนปัจจุบันผ่านมาสามปีกว่าแล้ว แต่คุณวราวุธกลับไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อออกเอกสารรับรองสิทธิในที่ดินให้แก่ประชาชน 

จากตัวเลขที่รัฐบาลออกมาเปิดเผย ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้กำหนดพื้นที่เป้าหมายแล้ว ทั้งประเทศมี 70 จังหวัด เนื้อที่รวมกัน 5.79 ล้านไร่ ได้ดำเนินการออกหนังสืออนุญาตแล้ว 1.12 ล้านไร่ ให้แก่ประชาชนไปแล้ว  73,809 ราย แม้จะมีการนำเสนอตัวเลขที่มาก แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับขนาดของปัญหาแล้ว พบว่าเป็นเพียงจำนวนที่น้อยนิด 

กล่าวคือ ทั่วประเทศมีประชาชนที่ครอบครองที่ดินอยู่อาศัยและทำกินโดยไม่มีเอกสารสิทธิ มีพื้นที่รวมกันประมาณ 20 ล้านไร่ โดยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมาย คทช. มีประมาณ 14 ล้านไร่ ในขณะที่กรมป่าไม้กำหนดพื้นที่เป้าหมายดำเนินการเพียง 5.7 ล้านไร่ ซึ่งจะเห็นว่ามีพื้นที่มากถึง 60 เปอร์เซ็น ไม่อยู่กลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาให้ 

สำหรับพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2562 ทั่วประเทศมี 4.2 ล้านไร่ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการมอบหนังสืออนุญาตให้แก่ประชาชนเลยแม้แต่ที่เดียว นี่ยังไม่ต้องนับรวมการทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น ถนน ไฟฟ้าระบบชลประทาน เก็บหาของป่า

ประการที่สาม ทั้งกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ไม่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนในท้องถิ่น ใช้ป่าเป็นต้นทุนในการสร้างรายได้ เหมือนอย่างกรณีของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือในยุโรป ทั้งๆ ที่พื้นที่ป่าของประเทศไทยมีศักยภาพไม่แพ้ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว สมุนไพร พืชอาหาร ซึ่งหากทำได้จะเป็นการสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่นได้อย่างมหาศาล 

แต่หลังปี พ.ศ. 2562 กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ของคุณวราวุธ ศิลปอาชา สร้างแต่ปัญหาให้แก่ชาวบ้าน เช่น มีการจับกุมดำเนินดำเนินชาวบ้านกลุ่มที่พยายามทำโฮมสเตย์อย่างต่อเนื่อง โดยอ้างว่าผิดกฎหมายหรือใช้ประโยชน์ผิดเงื่อนไข นอกจากนี้ยังพบว่าชาวบ้านที่ทำโฮมสเตย์ตามชุมชนส่วนใหญ่ ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดี ทั้งๆ ที่นั่นเป็นสิ่งที่ชาวบ้านพยายามปรับตัวเพื่อสร้างรายได้ท่ามกลางวิกฤติขาดแคลนที่ดินทำกิน และวิกฤติเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นการใช้ที่ดินที่ทำลายระบบนิเวศน์น้อยที่สุด 

ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ กรมอุทานฯ ได้ตั้งงบประมาณในการก่อสร้างสถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นการแย่งงานของชาวบ้านในท้องถิ่นซึ่งเขาเป็นเจ้าของทรัพยากรแต่เดิม ทุกวันนี้เวลาใครไปเที่ยวในเขตอุทยาน จะเห็นว่าอุทยานดำเนินกิจการทั้งหมด ตั้งแต่ห้องพัก เต็นท์นอน ร้านอาหาร หมูกระทะ โดยที่ชาวบ้านในท้องถิ่นแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากรายได้มหาศาลเหล่านั้น ในทางตรงกันข้ามไดรับแต่ปัญหา

จึงดูเหมือนว่ากรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ มีแผนจะกินรวบกิจการการท่องเที่ยวในเขตป่า โดยมือหนึ่งก็ใช้อำนาจสั่งให้ไล่รื้อและดำเนินคดีชาวบ้าน แม้จะเป็นวิธีที่สกปรกแค่ไหนก็ตาม โดยมีศาลคอยรับรองความถูกต้องให้แม้จะรู้ว่าไม่เป็นธรรมก็ตาม รวมทั้งมีการทำทุกวิถีทางเพื่อจำกัดโอกาสของชาวบ้าน 

อีกมือหนึ่งก็เร่งก่อสร้างเพื่อขยายกิจการการท่องเที่ยวในเขตป่า โดยในแผนงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2563 – 2565 กรมอุทยานตั้งงบประมาณเฉลี่ยปีละ 350 ล้านบาท รวม 3 ปี ใช้งบประมาณมากกว่า 1,050 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างสถานที่รองรับนักท่องเที่ยวไปแล้ว 

นี่จึงเท่ากับว่าหน่วยงานรัฐกำลังทำธุรกิจการท่องเที่ยวแบบกินรวบ โดยใช้อำนาจตามกฎหมายแย่งยึดเอาทรัพยากรของคนในท้องถิ่นไปใช้เป็นทุนทั้งหมด ซึ่งโดยปกติแล้วหน่วยงานรัฐทำธุรกิจไม่ได้ เว้นแต่จะแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจหรือตั้งบริษัทขึ้นมาดำเนินการในรูปแบบองค์กรทางธุรกิจ

4.

สามปีที่ผ่านมา เราแทบไม่เห็นคุณวราวุธ ศิลปอาชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงมือทำภารกิจที่จะไปตอบโจทก์สามประการดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผมหมายถึงคุณวราวรุธไม่ได้ลงมือตามนโยบายที่จะนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือทำให้ภารกิจลุล่วงได้ตามเป้าหมาย 

ผมคิดว่าการไปเป็นประธานกล่าวเปิดงานแล้วมอบนโยบายให้หน่วยงานบ้าง แถลงข่าวเองบ้าง ไปร่วมประชุมรับฟังรายงานบ้าง หรือแม้กระทั่งลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยือนชาวบ้านตามที่เป็นข่าว ไม่ใช่การทำงานที่ทำให้ก่อเกิดผลงานจริงๆ ได้ หากแต่เป็นเพียงกิจกรรมประจำหรือที่เรียกว่างาน Routine เท่านั้น   

สำหรับงานที่จะตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล (ซึ่งนโยบายส่วนใหญ่เป็นปัญหามากกว่า) ก็เพียงปล่อยให้ส่วนราชการประจำทำเป็นงาน Routine แบบเดิมๆ แม้จะทำงานล้มเหลว แต่ทั้งฝ่ายราชการประจำและตัวรัฐมนตรีก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ซึ่งผลที่ปรากฏก็คือประชาชนเสียโอกาสและกลายเป็นปัญหาดินพอกหาหมูที่แก้ไขยากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ผมเชื่อว่าคนในสังคมไทยคงสงสัยเหมือนๆ กับผมว่า ถ้าคนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทำงานเพียงเท่านี้ เราจะมีตำแหน่งรัฐมนตรีขึ้นมาให้สิ้นเปลืองเพื่ออะไร