ทส.ประกาศเปิดรับฟัง “ความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ออนไลน์ 1-15 ก.ค. “เพิกถอนพื้นที่บางส่วนของป่าแก่งกระจานเพื่อสร้างเขื่อน-อ่างเก็บน้ำป่าละอู?” เผยต้องจัดรับฟัง หลังบอร์ดอุทยานชาติเห็นชอบ พร้อมแจงเหตุผล “การขอเพิกถอน” ด้านกรมชลประทานเผย “ก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 65%”
“ไม่เห็นด้วย” มูลนิธิสืบฯ เผยมีอีกโครงการใหญ่กว่า “วังโตนด” จันทบุรี

จัดรับฟัง หลังบอร์ดอุทยานชาติเห็นชอบ
“คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 เห็นชอบให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บางส่วน เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เพื่อให้การสงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน ประกอบกับให้การเพิกถอนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยสอดคล้องตามแนวทางที่กฎหมายกำหนด
จึงเปิดการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ https://portaldnp.go.th/Content/nationalpark?contentd=28890 โดยสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ระหว่างวันที่ 1 – 15 กรกฎาคม 2565 นี้” สมศักดิ์ สกุลวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการ สำนักอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยในวันศุกร์ที่ผ่านมา (1 ก.ค. 2565)

เหตุผล “การขอเพิกถอน”
“โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าละอู ที่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ได้ ก่อสร้างไว้แล้วเมื่อปี พ.ศ.2526 โดยการสร้างเขื่อนดินชนิด Zone Type มีพื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำบางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เนื้อที่ 49 ไร่ โดยพื้นที่โครงการฯ บางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน ได้มีหนังสือแจ้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเพื่อขออนุญาตใช้ประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดกลาง โครงการอ่างเก็บน้ำปาละอูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ประกาศให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวช้อง และประซาชน ในการกำหนดพื้นที่ การขยาย และการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ และสวนรุกขชาติ พ.ศ.2564 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ในการกำหนดให้พื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานแห่งชาติการขยายอุทยานแห่งชาติ หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประซาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ” ผอ.สำนักอุทยานฯ อธิบายชี้แจงเหตุผล การเพิกถอนเขตอุทยานเพื่อสร้างโครงการเขื่อนดังกล่าว
เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เปิดเผยสถานะการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า “ได้รับอนุมัติ/อนุญาตก่อสร้าง อยู่ระหว่างก่อสร้าง”

“ก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 65%” กรมชลฯ เผย
ขณะที่ กรมชลประทาน ได้เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ว่า การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำป่าละอูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผลงานคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 65 คาดปีหน้าแล้วเสร็จเก็บกักน้ำได้ ระบุจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตรได้เป็นอย่างมาก
“โครงการอ่างเก็บน้ำป่าละอูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่กรมชลประทานได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ก่อนที่จะดำเนินการสร้าง บริเวณตอนล่างของอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
มีแผนการดำเนินงาน 7 ปี (2560-2566) มีพื้นที่ชลประทาน 6,490 ไร่ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับราษฎรในพื้นที่หมู่ที่ 1,2,3,5,6 และ 8 ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ จำนวน 1,095 ครัวเรือน
ประชากรประมาณ 3,250 คน รวมไปถึงครูและนักเรียนของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนเรศวรป่าละอู จะมีแหล่งน้ำใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี พร้อมทั้งส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำ และพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อย่างหลากหลายและยั่งยืน
ทั้งนี้กรมชลประทานได้เร่งรัดติดตามงานก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำป่าละอูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์โดยเร็ว คาดปีหน้า(2566) จะดำเนินการแล้วเสร็จและเก็บกักน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ
ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 65 ภาพรวมการก่อสร้างถือว่าเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งในปีนี้(2565) ได้ปรับแผนการก่อสร้างให้สามารถเก็บกักน้ำได้ แม้โครงการจะยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำทั้งอุปโภคบริโภคและการเกษตร โดยไม่กระทบกับการก่อสร้าง” ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผย

“ไม่เห็นด้วย” มูลนิธิสืบฯ เผยมีอีกโครงการใหญ่กว่า “วังโตนด”
เช้าวันเดียวกัน (1 ก.ค.) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสำคัญได้เผยแพร่จุดยืนขององค์กรต่อนโยบายการสร้างอ่างเก็บน้ำในเขตป่าอนุรักษ์ทุกขนาด ว่า “ไม่เห็นด้วย” โดยเฉพาะโครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนด จันทบุรี ซึ่งจะกระทบป่าอนุรักษ์ในเขตอุทยานกว่า 7,000 ไร่
“ไม่เห็นด้วยที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมจะกินพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จำนวน 7,503 ไร่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง จำนวน 7,097 ไร่
อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เป็นส่วนหนึ่งของป่ารอยต่อห้าจังหวัด ภาคตะวันออก อยู่ตรงกลางระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ซึ่งเป็นแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศที่สำคัญ (corridor area) และถือเป็นพื้นที่หัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ คอยเชื่อมพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 2 แห่ง ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด 2 อันดับแรกของป่ารอยต่อห้าจังหวัด ให้เกิดการแลกเปลี่ยนพันธุกรรม การอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นอาศัย และเพิ่มพูนประชากรของสัตว์ป่า
ซึ่งเป็นปัจจัยดึงดูดให้สัตว์ผู้ล่าเข้าใช้พื้นที่ จากผลการศึกษาของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 3 แห่ง เป็นผืนป่าที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกมีแนวเขตเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกัน เหมาะสมในการเป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าที่สำคัญในภาคตะวันออก แม้อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น มีพื้นที่ขนาดเล็กเป็นลำดับที่ 5 ของกลุ่มป่าตะวันออกก็ตาม
นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ยังพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่มากถึง 7 ชนิด และแต่ละชนิดถือได้ว่ามีค่าความชุกชุมค่อนข้างสูง
ดังนั้นการที่ผืนป่ามีความต่อเนื่องกันเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ จะก่อให้เกิดประโยชน์นานับประการต่อประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก
ดังนั้น การเปลี่ยนสภาพพื้นที่ป่าให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ถือเป็นการทำลายแหล่งอาศัยของช้างป่าอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่ามากยิ่งขึ้นหลายเท่าตัว และอาจสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เหตุผลในการคัดค้าน ‘อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด’ https://www.seub.or.th/document/ebook/save-wangtanode-2/” มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุผ่านเพจองค์กร