เครือข่ายจะนะร้กษ์ถิ่นเปิดแถลงตอบโต้มติคณะรัฐมนตรี 21 มิ.ย.2565 กรณี “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ” ชี้เป็นการแอบ “กลับลำ-ละเมิด” ข้อตกลงล่าสุดระหว่างเครือข่ายฯ-รัฐบาลตามมติครม 14 ธ.ค. ขู่หากยังดันต่อ พร้อมบุกทำเนียบ

แถลงที่หาดสวนกง
“ไม่ยอมรับมติคณะรัฐมนตรี 21 มิถุนายน 2565 และต้องกลับไปทำตามมติ 14 ธันวาคม 2564” เครือข่ายแถลงวันนี้ (2 ก.ค.2565) ณ ชายหาดบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ภายใต้ชื่อทางการ “แถลงการณ์เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เรื่องไม่ยอมรับมติ ครม. 21 มิถุนายน 2565 และต้องตามมติ 14 ธันวาคม 2564 ในกรณีการแก้ไขปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ”
“รัฐบาลตระบัดสัตย์ ผลิกลิ้น จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีเนื้อหาสวนทางกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ต่อกรณีการแก้ไขปัญหาโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 (นิคมอุตสาหกรรมจะนะ)” เครือข่ายฯ ระบุ

3 ประเด็น “กลับลำ”
“มติเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565มีเนื้อความสำคัญว่า “ให้หน่วยงานรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการในโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 (นิคมอุตสาหกรรมจะนะ) ไว้ก่อน โดยให้รอผลการประเมินสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assesssment : SEA.) ให้เป็นที่ยุติก่อนการดำเนินการใดๆต่อไป
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานหลักที่จัดให้มีการศึกษา SEA. โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ
หากในมติ ครม. 21 มิถุนายน 2565 กลับสวนทางในหลักการสำคัญกับมติดังกล่าว โดยระบุว่า “ให้ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสภาพัฒนาเศรษฐกิขและสังคมแห่งชาติประสานคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง(กรณีโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ) เพื่อดำเนินการให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
และโครงการใดที่ต้องชะลอจากมติ ครม. 14 ธันวาคม 2564 ก็ให้ดำเนินการต่อไปได้พร้อมไปกับการศึกษา SEA.
ทั้งนี้ให้นำ “การทำประชามติ” มาเป็นแนวทางหลักเพื่อการตัดสินใจต่อไป” เครือข่ายระบุในแถลงการณ์
“เป็นการ ‘เล่นแร่ แปรทาส’ และชี้ให้เห็นถึงความผิดเพี้ยน
- มติ ครม. เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ไม่มี ศอ.บต. มาทำงานร่วมกับสภาพัฒน์ฯ เพราะที่ผ่านมา ศอ.บต. เป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่มาตลอด และไร้ความชอบธรรมที่จะเข้ามาร่วมในกระบวรการทำ SEA.
- โครงการที่ต้องชะลอตามเจตนาของมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ที่ได้เสนอไปคือ โครงการการเปลี่ยนสีผังเมือง และโครงการจัดทำ EIA. 4 ฉบับของบริษัท TPIPP. และรวมถึงโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับนิคมอุตสาหกรรมจะนะนั้น จะต้องรอผลการทำ SEA. ก่อน แต่มติ ครม. วันที่ 21 มิ.ย. 2565 กลับเปิดช่อง เพื่อให้กลุ่มทุนสามารถดำเนินการไปพร้อมกันได้
- ‘การทำประชามติ’ ตามมติ ครม. 21 มิ.ย. 2565 มาจากไหน ใครเสนอ แล้วทำไมต้องเป็นแนวทางหลัก ถามว่ารัฐบาลเข้าใจหลักการทำ SEA. หรือไม่ เพราะเครื่องมือนี้จะทำหน้าที่ตัดสินใจว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะควรไปต่อหรือไม่ โดยการใช้หลักวิชาการมาทำหน้าที่ ซึ่งมีกลไกรัฐ คือสภาพัฒน์ฯ เป็นหน่วยงานหลักที่กำกับเรื่องนี้ด้วยแล้ว
รัฐบาลไม่ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง ซึ่งรวมถึงความผิดพลาดของ ศอ.บต. ที่ไม่ดำเนินการตามมติ ครม. อย่างเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะการทำงานที่ไม่ประสานงานกับสภาพัฒน์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ตามที่ ครม. มอบหมายไว้ อันถือเป็นการดำเนินงานโดยภาระการ และที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ ศอ.บต. ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง จนทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความไม่เข้าใจและกลายเป็นความแตกแยกภายในที่ร้าวลึกมากขึ้น” สมบูรณ์ คำแหง ที่ปรึกษาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นกล่าว

ชี้ส่อเจตนา ดันโครงการฯ เอื้อกลุ่มทุน
“การปรับเปลี่ยนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว คือการตระบัดสัตย์ของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาครั้งสำคัญ อันเป็นเจตนาแขวงที่ต้องการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนโดยเฉพาะ โดยไม่เห็นถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่
ทั้งเป็นที่ประจักษ์ว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะมีความผิดปกติในการดำเนินโครงการตั้งแต่เริ่มต้นหลายประการจนกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยมา” เครือข่ายกล่าว
“การตระบัดสัตย์ด้วยการกลับลำมติ ครม. 21 มิ.ย. 2565 ของรัฐบาล คือความไม่เข้าใจสถานการณ์ปัญหา หากแต่คำนึงถึงประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเป็นที่ตั้ง ยิ่งสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพ และความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสิ่งนี้จะกลายเป็นน้ำผึ้งอีกหยดที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น และเชื่อว่าจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเท่านั้น” สมบูรณ์กล่าว

ยัน “มติเดิม 14 ธ.ค.2564 เท่านั้น” – พร้อมบุกกรุงอีกครั้ง
“ข้อเสนอของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 คือทางออกที่ดีที่สุดแล้ว เพื่อให้ทุกฝ่ายถอยกันคนละก้าว แล้วมาใช้กระบวนการทางวิชาการด้วยการจัดทำ SEA. ที่อยู่ภายใต้การกำกับของสภาพัฒน์ฯ โดยต้องไม่นำคู่ขัดแย้งอย่าง ศอ.บต. มาเป็นผู้ร่วมดำเนินการ และต้องหยุดโครงการเปลี่ยนสีผังเมือง โครงการจัดทำ EIA. และโครงการที่เกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรมจะนะเอาไว้จนกว่าจะมีการศึกษาแล้วเสร็จ เพราะเหตุผลทางวิชาการเป็นทางออกต่อเรื่องนี้บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงทั้งหมด
เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นมีความเห็นว่า มติ ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 คือสะท้อนภาพของความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้อย่างเห็นได้ชัด คือพร้อมที่จะ “ตระบัดสัตย์” เพื่อทำลายหลักการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการกลับกรอกไปมา เพื่อแลกกับผลประโยชน์เฉพาะหน้าจากคนบางกลุ่มเท่านั้น เราจึงไม่ยอมรับมติดังกล่าว
และขอเรียกร้องให้รัฐบาลกลับไปใช้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 เพื่อให้การแก้ไขปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะดำเนินไปบนหลักการทางวิชาการอย่างแท้จริงต่อไป มิเช่นนั้นแล้วพวกเราจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการ “ยุติ” โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะจนถึงที่สุด” เครือข่ายแถลง
“ข้อเสนอของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 คือทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายถอยหลังแล้วมาใช้กระบวนการทางวิชาการ ด้วยการจัดทำ SEA. ภายใต้การกำกับของสภาพัฒน์ฯ ที่ต้องไม่นำคู่ขัดแย้ง (ศอ.บต.) มาเป็นฝ่ายดำเนินการ ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญ และต้องทำให้กลไกการศึกษานี้ดำเนินไปอย่างถูกต้องชอบธรรม เป็นอิสระ ปลอดจากการถูกแทรกแซงทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์อื่นใด” สมบูรณ์ กล่าวย้ำ