Crypto Go Green ได้หรือไม่? เมื่อคริปโตฯ พยายาม ‘รักษ์โลก’ ให้มากขึ้น

GreenOpinion : Hayden Wiesz*

  • คริปโตดูเหมือนว่าจะขัดกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการขุด ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวนมหาศาล โดยที่รัฐไม่สามารถเข้ามาควบคุมได้
  • ตอนนี้ บรรดานักขุดยังใช้วิธีการตัวกลางแบบ Proof of Work (PoW) อยู่ หรือก็คือยิ่งต้องการคริปโตมาก ยิ่งต้องขุดมาก ยิ่งเปลืองไฟมากเช่นกัน
  • แต่หากเพียง ‘เปลี่ยนวิธีการตัวกลาง’ ในการขุด ก็อาจจะทำให้คริปโตรักษ์โลกมากขึ้นมาได้ 
(ภาพ : CNBC)

ในปัจจุบันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า คริปโตเคอเรนซี (cryptocurrencies) เป็นการเงินเทรนด์ใหม่ที่มาแรงมากๆ ขนาดที่หลายฝ่ายบรรยายสรรพคุณของสิ่งนี้ไปต่างๆ นานา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ฝ่าย (ที่หวังว่า) คริปโตจะเป็นระบบเงินที่นำพาสังคมไปสู่ ‘การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม’ เพราะ ตัวคริปโต มีความได้เปรียบ ‘เงิน’ ในรูปแบบที่เราใช้จับจ่ายกัน เพราะนอกจากจะเป็น Cashless แล้ว ยังนำมาซึ่ง Paperless หรือก็คือไม่ต้องออกเป็น ธนบัตร ก็สามารถใช้เพื่อจับจ่ายได้

รวมถึงคริปโตนั้นอยู่ในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิตัล (digital asset) และที่โดดเด่นกว่าเงินดิจิตัลอื่นๆ (ทั้งเงินใน digital platform และสกุลเงินดิจิตัล) ก็คือ ในตัวคริปโตนั้นได้รับการสร้างมาจาก ‘โครงข่ายบล็อกเชน (Blockchain)’ ที่เป็นโครงข่ายดิจิตัลล้วนๆ ก็ยิ่งตอกย้ำว่า บรรดาต้นไม้จะไม่ถูกโค่นลงมาทำเป็น ธนบัตร ให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือ มีเทน ลอยบนชั้นบรรยากาศ

ทั้งยังอาจทำให้ ‘ระบบที่มากับระบบการเงิน’ อาทิ ศูนย์เทรด ศูนย์แลกเปลี่ยนเงิน สำนักงานหลักทรัพย์ สำนักงานให้คำปรึกษาทางการเงินต่างๆ พลอยหมดความจำเป็นไปด้วย เพราะทุกอย่าง ‘ผู้เล่น’ สามารถเทรดได้ด้วยตนเอง เพียงปลายนิ้วสัมผัส ซึ่งเท่ากับลดการใช้ทรัพยากรโลกในปริมาณไม่น้อย ในเชิงหลักการ

อุปกรณ์ขุด Mining Rigs ทำงานไม่มีวันหยุดเพื่อขุดค้นหาเหรียญใหม่ ๆ ของสกุลเงินคริปโต (ภาพ : Benjamin Hall / CNBC)

ถึงแม้ ดูเหมือนว่า คริปโตจะเป็นความหวังในการเป็น ‘การเงินแห่งอนาคต’ รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ ‘การรักษ์โลก’ แต่สิ่งที่น่ากังวล อยู่ที่กระบวนการขุดเหมืองคริปโต (Cryptocurrency Mining) ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ต่างจากอุตสาหรรมการขุดเหมือง การจะได้คริปโตแต่ละเหรียญนั้น ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียพลังงาน ‘ในการขุด’ แต่กระนั้น ก็ได้มี ‘บางสิ่ง’ ที่แตกต่างกับการขุดเหมืองทั่วไป และอาจจะนำไปสู่คำถามที่ว่า คริปโต โก กรีน (Crypto Go Green) ได้จริงหรือไม่?

ในกระบวนการสร้างที่ทำให้คริปโตเป็นที่นิยมได้นั้น คือการเปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคล ‘สร้างมูลค่าโดยให้การรับรอง (Validate)’ คริปโตผ่านตัวกลางที่ตกลงร่วมกัน (Consensus Mechanism) อย่าง Proof of Work (PoW) ที่มีลักษณะแบบ ‘ทำมากได้มาก’ หรือก็คือ เป็นการลงแรง ‘ขุด’ ด้วยความสามารถในตัวของแต่ละคนเอง ยิ่งลงแรงขุดมาก ก็ได้ผลตอบแทนมาก แต่กระนั้น ตัวกระบวนการ PoW ก็แทบไม่มีความ ‘เป็นมิตร’ กับสิ่งแวดล้อม โดย Cambridge Bitcoin Electricity Consumption Index (CBECI) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge)  ได้ประมาณการว่า เฉลี่ยต่อปี ต้องใช้พลังงานในการขุด 132.48 เทระวัตต์/ชั่วโมง (TWh) มากกว่าพลังงานที่ประเทศนอร์เวย์ใช้ต่อปี (ราว 123 TWh) 

สิ่งที่ตามมาคือ การเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ขึ้นตามจำนวนพลังงานที่ใช้ไปในการขุด โดยเฉพาะแหล่งเหมืองขุดคริปโตอันดับ 1 ของโลกตามการจัดอันดับของ CBECI ปี 2022 อย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีสัดส่วนราว 35.4%  ได้มีการปล่อย CO2 ไปแล้วมากถึง 40 ล้านตัน ยิ่งมูลค่าที่ได้การขุดคริปโตลดลงไปกว่าครึ่งจากเดิม (จาก 12.5 เหรียญ สู่ 6.25 เหรียญ ต่อการขุด 1 ครั้ง ในช่วงปี 2022) ผู้ขุดก็จะยิ่งต้องเร่งขุดเพื่อทำกำไรมากขึ้น และทำให้เกิดการปล่อย CO2 มากขึ้นตามไปด้วย ที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเพราะ ‘ความเป็นอิสระจากรัฐ (Decentralization)’ ของคริปโต ทำให้รัฐไม่สามารถกำกับดูแลหรือควบคุมปริมาณ ‘การใช้พลังงานในการขุด’ ได้ ทำให้รัฐทั่วโลกแสดงความกังวล โดยเฉพาะจีน ที่ตัดไฟแต่ต้นลม ประกาศ ‘แบนเหมือง’ ไปก่อนหน้าประเทศอื่นๆ 

(ภาพ : ccaf.io)

เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคริปโตจึงเกิดความพยายามสรรหาวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้คริปโตนั้นรักษ์โลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งในการแก้ไข เน้นหนักไปที่ ‘วิธีการตัวกลาง’ ของกระบวนการสร้างคริปโต เป็นสำคัญ เพราะคริปโตแต่ละตัวก็ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวกลางที่กินพลังงานมากๆ อย่าง PoW ในการสร้างเสมอไป โดยมีวิธีการที่ ‘คาดว่าจะได้ผล’ ที่บทความ What are the environmental impacts of cryptocurrencies? ใน Business Insider ได้เสนอไว้ ดังนี้

Proof of Stake (PoS) คือวิธีการขุดคริปโตโดยให้ผู้ขุด ‘วางหลักประกัน (Stake)’ เป็นเหรียญก่อนสุ่มเลือกผู้ขุดผ่านการยืนยันบล็อค (Verify Block) หากมีการเล่นตุกติก จะทำการลงโทษโดยการยึดเหรียญประกันไป ระบบนี้ช่วยให้ประหยัดพลังงานในการขุดอย่างมาก จากการให้ผลตอบแทนตามจำนวนเหรียญประกัน ใครวางหลักประกันไว้มาก ก็จะได้รับผลตอบแทนมากตามไปด้วย กระนั้น PoS ยังคงมีปัญหาด้าน ‘ความไม่เท่าเทียม (Inequality)’ เนื่องจากมีลักษณะตะบี้ตะบันแข่งขันกันวางหลักประกันให้มากที่สุดเพื่อให้ได้คริปโต ซึ่งไม่ต่างจาก PoW ที่เป็นแบบ ‘ใครมือยาวสาวได้สาวเอา’ เพียงแต่ประหยัดพลังงานมากกว่า

Proof of Burn (PoB) เป็นการผสมผสานระหว่าง PoW และ PoS นั่นคือ ผู้ขุดจะต้อง ‘ทำลายเหรียญให้สิ้นไปอย่างถาวร (Burn)’ ยิ่งทำลายไปมากเท่าไร ก็จะได้คริปโตในปริมาณมากเท่านั้น ถือเป็นวิธีการแบบ ‘การแลกเปลี่ยนจำนวนเท่าเทียม’ เพราะ ผู้ขุดก็ยังได้ขุดสมใจอยาก แต่ต้องแลกมากับการเสียสิ่งที่ตนมีอยู่ไปในปริมาณเท่ากัน ถือเป็นการประหยัดพลังงานในการขุดในลักษณะ ‘ไมได้ ก็อย่าให้เสีย’ กระนั้น ก็ยังมีความกังวลว่า PoB ‘ประหยัดพลังงานได้จริงหรือไม่?’ เพราะการยอมเสียเหรียญปริมาณมากๆ เพื่อขุด ซึ่งก็ยังต้องใช้พลังงานจำนวนมากตามไปด้วยเช่นกัน

Proof of Capacity (PoC) คล้ายกับ Pob แต่ PoC ให้ความสำคัญกับ ‘พื้นที่ว่างสำหรับเก็บข้อมูล (Storage)’ ของ ‘ฮาร์ดไดร์ฟ (Hard Drive)’ ยิ่งผู้ขุดมีพื้นที่ว่างมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีจำนวนในการ ‘กักตุน (Store)’ คริปโตที่ขุดมามากเท่านั้น ซึ่งประหยัดพลังงานตรงที่ ‘ต่อให้มีแรงขุด แต่ไม่มีที่เก็บ ก็เป็นอันอดไป’

Proof of Elapsed Time (PoET) เป็นระบบตัวกลางที่พัฒนาโดย ‘อินเทล (Intel)’ ที่มีลักษณะให้ผลตอบแทนผ่าน ‘การสุ่มโดยชอบธรรม (Fairly Random)’ ว่าใครสมควรจะไดรับคริปโตนี้ไป ซึ่งเหมือน ‘การเล่นหวย (Lottery)’ แน่นอนว่าระบบสุ่มประหยัดพลังงานเพราะเป็นเรื่องของ ‘โชค’ ที่จะได้ผลตอบแทนนั้นๆ แต่การที่ตัวกลางเป็นของอินเทล ก็มีข้อครหาตามมาว่า จะเป็นการ ‘เลือกที่รักมักที่ชัง’ และ ‘ผูกขาด’ หรือไม่

ถึงตรงนี้ ในความเป็นจริง ส่วนมากวิธีการขุดคริปโตยังคงเป็นแบบ PoW อยู่ และไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือลดลงในเร็ววัน แต่ก็ได้มี ‘ความพยายาม’ ในการหาช่องทางลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากคริปโตให้น้อยลง ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการตัวกลางในการขุด ดังที่กล่าวไป หรือการที่ เอเธอเรียม (Ethereum) คริปโตยอดนิยมอันดับ 2 ในตลาด พยายามเปลี่ยนวิธีจาก PoW ไปสู่ PoS รวมถึงกลุ่ม Crypto Climate Accords ที่ร่วมกันล่ารายชื่อกว่า 250 รายชื่อ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการลดการปล่อย CO2 จากการขุดคริปโตลงเหลือศูนย์ภายในปี 2030 และการขุดคริปโตจะ ‘ปราศจาค CO2 (Decarbonization)’ ทั้งหมดในปี 2040

เหล่านี้ล้วนแต่เป็น ความหวังลึกๆ’ ว่า ในท้ายที่สุด คริปโต จะสามารถ โก กรีน ได้อย่างสมบูรณ์แบบในอยาคตอันใกล้นี้

ที่มา: 

 

*Hayden Wiesz นามปากกาของผู้เขียนที่นิยามตัวเองว่า “คอลัมนิสต์น้องใหม่ผู้ใฝ่รู้ทุกสรรพวิชา หวังเพียงให้นามปากกาของตนเข้าไปอยู่ใน reading list ของนักศึกษาเพียงเท่านั้น”