เครือข่ายคนลุ่มโขงยื่นจดหมายถึง “ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฏร” เรียกร้องให้ตรวจสอบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสองโครงการเขื่อนในสปป.ลาว “เขื่อนปากลาย และเขื่อนหลวงพระบาง”
ชี้เป็นการตัดสินใจที่ขาดการมีส่วนร่วมประชาชน ผ่านมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) 22 มิ.ย.-ให้กฟผ.ดำเนินการ
ยันเป็นการตัดสินใจซื้อโดยไม่คำนึงถึงไม่ความจำเป็นด้านพลังงานสำรอง-โยนภาระไปให้ผู้ใช้ไฟทั้งประเทศ-ไม่สนผลกระทบหนักคนลุ่มโขง”

ยื่นกรรมาธิการสภา “ตรวจสอบการทำสัญญา”
“ขอให้ตรวจสอบการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนไทย”
จดหมายจากเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ถึงประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฏร ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ระบุ
โดยได้มีการแนบเอกสาร 2 ฉบับ คือ ความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่อการดำเนินงานก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี และร่างรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2564 วันทที่ 28 ตุลาคม 2564 ประกอบการยื่นด้วย

ยันจะกระทบคนลุ่มโขงหนัก
“มติกพช. เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ในการขยายกรอบความร่วมมือในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทยและสปป.ลาว จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์นั้น คือ การขยายเพื่อรองรับปริมาณไฟฟ้าจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักคือ เขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนน้ำงึม 3 ซึ่งจะถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนขนาดใหญ่ หรือไม่
ผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนในปัจจุบัน ยังไม่มีการแก้ไขปัญหา ไม่มีมาตรการบรรเทาผลกระทบ ทั้งต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงใน 8 จังหวัดของไทย ไม่ว่าจะเกิดจากความผันผวนของระดับน้ำโขงที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาลอันเนื่องจากการใช้งานเขื่อน และการลดลงของปริมาณตะกอนจนวัดค่าไม่ได้ (ปรากฏการณ์แม่น้ำโขงสีฟ้า) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีการใช้งานเขื่อนไซยะบุรี นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา
การผลักดันสร้างเขื่อนเป็นขั้นบันไดบนแม่น้ำโขงเพิ่มอีก 2 เขื่อน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และประชาชนที่อาศัยในชุมชนลุ่มน้ำโขงต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกระบวนการศึกษา เพื่อให้เป็นการตัดสินใจที่มีฐานข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นที่ตั้ง ไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น
ประชาชนไทยที่อาศัยอยู่ใน 7 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขงในภาคอีสาน ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศของแม่น้ำโขง ที่เกิดจากการสร้างเขื่อนโดยเฉพาะเขื่อนไซยะบุรี ที่อยู่ห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย เพียงราว 200 กม. ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของระชาชนอย่างแสนสาหัส ทั้งการสูญเสียอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรแม่น้ำโขง สูญเสียรายได้ แหล่งอาหาร และวิถีชีวิต
หลายปีที่ผ่านมาประชาชนได้ร้องเรียนต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลไทยเองยังไม่เคยแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด เสมือนความทุกข์ยากที่เกิดขึ้น ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล และการซื้อขายไฟฟ้าก็ดำเนินไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ นโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขงในลาว จึงไม่สามารถนับได้ว่าเป็นพลังงานสะอาด เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและกว้างขวาง” ตัวแทนเครือข่ายกล่าวถึงส่วนหนึ่งของเนื้อหาจดหมาย
ดูรายละเอียด จดหมายร้องเรียนเครือข่ายฯ
ดูจดหมายฉบับเต็ม พร้อมเอกสารแนบรวม 22 หน้า