ไทย-สวิสลงนาม “โอนถ่ายคาร์บอนเครติต” คู่แรกโลกภายใต้ผล COP26

ลงนามวันนี้ที่สวิส เผย “รถบัสไฟฟ้ากทม.” คือรูปธรรมความร่วมมือ เป็นมาตรการเสริมนอกเป้าประเทศที่ตกลงภายใต้ COP26 ซึ่งเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เป็นการลงนามข้อตกลงถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตร่วมกันเป็นคู่แรกของโลก และเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองวาระ 90 ปีความสัมพันธ์ไทย-สวิส 

(ภาพ : ทส.)

ลงนามที่สวิส

รายงานข่าวทส. เปิดเผยว่า วันนี้ (24 มิ.ย. 2565) เวลา 13.30 น. (ตามเวลาสมาพันธรัฐสวิส) ผู้แทนรัฐบาลไทยและสวิสได้ร่วมลงนาม “ข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีส ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิส” (Implementing Agreement to the Paris Agreement between the Kingdom of Thailand and the Swiss Confederation) ณ กรุงเบิร์น สมาพันธรัฐสวิส

โดยคณะผู้แทนไทยประกอบด้วยวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. จิตติพัฒน์ ทองประเสริฐ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบิร์น สมาพันธรัฐสวิส พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)

ลงนามกับ ซีมอเน็ตตา ซอมมารูกา (Simonetta Sommaruga) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม คมนาคม พลังงานและสารสนเทศ สมาพันธรัฐสวิส 

“นับเป็นการลงนามข้อตกลงถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตร่วมกันเป็นคู่แรกของโลก ข้อตกลงนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยกับสมาพันธรัฐสวิสดำเนินความร่วมมือภายใต้ความตกลงปารีส ข้อ 6.2 เพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือโดยสมัครใจสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ” รมว.ทส. กล่าว

(ภาพ : mgronline)

“รถบัสไฟฟ้ากทม.” รูปธรรมความร่วมมือ

“สมาพันธรัฐสวิสจะสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีบัส (E-BUS) ในกรุงเทพมหานคร 

เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 ที่ประเทศไทยประกาศไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26” รมว.ทส. กล่าว

(ภาพ : ทส.)

มาตรการเสริมนอกเป้าตกลง COP26 – เปิดภาคเอกชนร่วม

“ความร่วมมือนี้ นับเป็นส่วนเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC (Nationally Determined Contribution) ของประเทศไทย 

การดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงฯ จะช่วยให้ประเทศไทยเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานจากโครงการฯ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาต่อยอดและขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย NDC ของไทย 

อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในประเทศเกิดความตื่นตัว และให้ความสนใจในการดำเนินกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ และสามารถเข้าถึงเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

(ภาพ : ทส.)

วาระฉลอง 90 ปีความสัมพันธ์ไทย-สวิส

“ในโอกาสนี้ รมว.ทส. ได้กล่าวถ้อยแถลง แสดงความมุ่งมั่นและความยินดีที่ทั้งสองประเทศพัฒนาความร่วมมือและความพยายาม นับแต่การลงนามในแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) ร่วมกันในความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ในวาระครบรอบ 90 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 

ที่แสดงออกถึงความตั้งใจอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก อีกทั้งคาดว่าประเทศไทยจะสามารถถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตจากโครงการดังกล่าวเป็นประเทศแรกของโลก 

ซึ่งข้อตกลงฯ ในวันนี้ เป็นการขยายความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทั้งสองประเทศ ไปสู่การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคส่วนอื่น เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” รายงานข่าวทส. กล่าว