แม่น้ำพลาสติก : ย้อนรอยเส้นทางขยะ ที่ทำให้ “เจ้าพระยา” สำลัก

แม่น้ำพลาสติก : ย้อนรอยเส้นทางขยะ ที่ทำให้ “เจ้าพระยา” สำลัก

จากพื้นที่ใจกลางประเทศไทยไหลผ่านกรุงเทพฯ สู่ท้องทะเล หนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญที่สุดของประเทศที่ท่วมเกลื่อนด้วยพลาสติก

(ภาพประกอบ : Neutron T / The Third Pole)

เรื่อง : วันเพ็ญ พาใจ

ภาพ : Mailee Osten-Tan

แม่น้ำเจ้าพระยากำเนิดจากลำห้วยบนเขาในภาคเหนือของไทย ไหลเป็นระยะทางไกลหลายร้อยกิโลเมตรลงใต้สู่ทะเล ในห้วงเวลาที่เดินทางผ่านกรุงเทพและไหลลงอ่าวไทย สายน้ำแห่งนี้ได้หอบพาขยะพลาสติกปริมาณมหาศาล ประมาณการณ์ว่ามากถึง 4,000 ตันต่อปี พลาสติกเหล่านั้นก่อปัญหาอุดตันตลอดเส้นทาง ส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อทั้งชุมชนสองฝั่งและระบบนิเวศแม่น้ำ

The Third Pole เดินทางจากต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา ล่องตามสายน้ำสู่ทะเลอ่าวไทย เพื่อสำรวจว่าเกิดอะไรขึ้นกับหนึ่งในแม่น้ำที่มีความสำคัญที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สายนี้

ณ จุดเริ่มต้นของแม่น้ำ

ตอนบนของแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างเป็นพื้นที่ชนบท สองฝั่งเรียงรายด้วยหมู่บ้านและไร่นา (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
แม่น้ำสายนี้เป็นบ้านของปลาท้องถิ่น 190 สายพันธุ์ รวมถึงหลายสายพันธุ์ปลาดุก ส่วนสายพันธุ์ปลาท้องถิ่นที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่าง “ปลาเทพา หรือปลาเลิม” (Chao Phraya Giant Catfish) ปัจจุบันคาดว่าได้สูญพันธุ์จากสายน้ำแห่งนี้ไปแล้ว รอดเหลือให้เห็นเฉพาะในแม่น้ำโขง (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
กระทั่งที่นี่ ก็พบเห็นอย่างชัดเจนถึงปัญหาขยะพลาสติกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญคือพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อาทิขวดน้ำและถุงหิ้วพลาสติก (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)

แม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มต้นที่จุดบรรจบของแม่น้ำปิงและน่านในนครสวรรค์ จังหวัดในพื้นที่ใจกลางประเทศไทย แม้ว่าสายน้ำแห่งนี้จะเดินทางมาไกลราวครึ่งประเทศก่อนจะถึงจุดบรรจบนี้ แต่น้ำยังคงค่อนข้างสะอาด และขนาบข้างด้วยหมู่บ้านและทุ่งนา

ที่ดินรอบ ๆ เป็นพื้นที่ในฝันที่เหมาะสำหรับปลูกข้าวด้วยมีสภาพน้ำท่วมถึงทุกปีตามวัฏจักรธรรมชาติ อันเป็นอิทธิพลจากมรสุมในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ที่หอบน้ำท่าและสารอาหารมาบรรณาการต้นข้าวมากมายทั่วถึง ในปี 2555 ที่ดินราว 45% ของลุ่มเจ้าพระยาถูกใช้สำหรับการทำนาข้าว สวนผลไม้ก็พบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ลุ่มน้ำช่วงนี้

แต่ถึงจะเป็นพื้นที่ชนบทตอนบนเช่นนี้ ก็ประจักษ์ถึงการปรากฏตัวของพลาสติกในรูปแบบวัสดุที่ใช้สำหรับการทำเกษตรกรรมที่มีการใช้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

ที่ฟาร์มอินทรีย์ “ริเช่” หรือ Riche Organic Farm ในจังหวัดชัยนาท ผักถูกปลูกในถุงพลาสติก โตในโรงเรือนแบบปิด (คล้ายเรือนกระจก) ที่คลุมด้วยผืนพลาสติก (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
ใกล้สวนมะม่วง ถุงพลาสติกถูกนำมาห่อผลมะม่วงเพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช จนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ถุงพลาสติกดังกล่าวก็จะมักจะถูกโยนทิ้ง (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
บรรจุภัณฑ์พลาสติกเก่าใช้แล้ว ที่ครั้งหนึ่งอาจจะเคยถูกใช้บรรจุสารเคมีฆ่าแมลง ถูกทิ้งใกล้ผืนนา (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)

“น้ำท่วม” พัดพาพลาสติก มาเมืองหลวงเก่า

นอกจากจะหอบเอามวลน้ำและสารอาหารมาเป็นปุ๋ยให้พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ภาวะน้ำท่วมก็ยังพัดพาเอาบรรดาขยะพลาสติกจากการทำการเกษตรและการบริโภคลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

ใต้ลงมาจากนครสวรรค์ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านพื้นที่อยุธยา จังหวัดเมืองเก่าที่เคยเป็นเมืองหลวงของไทยจวบปี 2310 ซึ่งเป็นจุดบรรจบของอีก 2 แม่น้ำที่ไหลลงมาสมทบแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พื้นที่ขวักไขว่เต็มไปด้วยลำคลองหลายสาย และทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนที่นี่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับน้ำเป็นอย่างมาก ภาวะน้ำท่วมประจำปีทำให้บ้านเรือนตลอดสองฝั่งแม่น้ำถูกสร้างในรูปแบบที่สามารถรองรับระดับน้ำท่วมสูงได้ แต่ปัจจุบัน ภาวะโลกร้อนและปัจจัยอื่น ๆ ได้เพิ่มปริมาณน้ำท่าของฝนที่ตกลงมาในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ และภาวะน้ำท่วมรุนแรงกำลังเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่กำลังทวีความรุนแรงในเมืองนี้

รติมาภรณ์ ปกรณ์ คนขับเรือวัย 23 ชาวอยุธยา ผู้ซึ่งบ้านถูกน้ำท่วมใหญ่ในปี 2564 ที่ผ่านมาหลังภาวะฝนตกหนักมากจนเกิดอุทกภัยใหญ่ เล่าว่า “พื้นที่บ้านของเธอประสบภาวะน้ำท่วมเกือบทุกปีในระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี ปีที่ผ่านมา น้ำมาจากทุกทิศทุกทางท่วมถึงระดับน่อง” 

รติมาภรณ์ ปกรณ์ ขับเรือของครอบครัวล่องแม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวัดอยุธยา ด้านหลังเป็นขบวนเรือลากเรือบรรทุกทราย ตลอดลำน้ำเจ้าพระยาจะพบจุดสะสมของทรายเป็นระยะ ๆ ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการรองรับน้ำท่วมของลุ่มน้ำได้ (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
บ้านเรือนจำนวนมากตลอดสองฝั่งเจ้าพระยาในเขตอยุธยา ก่อสร้างในแบบที่จะสามารถรองรับภาวะน้ำท่วมประจำตามวัฏจักรธรรมชาติ บ้านในภาพมีการใช้ยางรถยนต์เก่ามาช่วยป้องกันรับมือน้ำท่วมด้วย (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
น้ำท่วมปีที่ผ่านมาได้พัดพาขยะพลาสติกจากพื้นที่เกษตรกรรมรอบเมือง เช่นเดียวกับถุงพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก และขยะจากชุมชนเมือง ครั้นน้ำลด ขยะพลาสติกเหล่านั้นบางส่วนติดค้างอยู่กับซากกิ่งไม้และต้นไม้ริมฝั่งดังในภาพ (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)

ด้วยสถานภาพเมืองมรดกโลก เมืองหลวงเก่าอย่างอยุธยาจึงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยือน และจำนวนมากเลือกที่จะท่องดูวัดที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ด้วยเส้นทางน้ำ รติมาภรณ์มีรายได้ยังชีพด้วยการให้บริการรองรับกิจกรรมท่องเที่ยวทางเรือดังกล่าว

“มันสกปรก” รติมาภรณ์ให้ความเห็นต่อขยะพลาสติกที่พบลอยตามสายน้ำเป็นภาพเจนตา และบ่อยครั้งเข้ามาติดใบพัดเรือของเธอ ซึ่งทำให้เธอกังวลว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวอยุธยาได้

สำหรับผู้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอยุธยา ภาวะมลพิษในแม่น้ำสายต่าง ๆ ในพื้นที่เป็นปัจจัยทำลาย “นักท่องเที่ยวเค้าสนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องขยะพลาสติกที่เกลื่อนแม่น้ำจริง ๆ มันดูสกปรกในสายตาพวกเขา” รติมาภรณ์ หญิงคนขับเรือ กล่าว (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
ถุงพลาสติกบรรจุทรายจากเหตุน้ำท่วมปีก่อนนอนนิ่งริมตลิ่ง ผุกร่อนตามกาลเวลา และถุงทรายสลายตัวเป็นไมโครพลาสติกซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
ผักตบชวา สายพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อปัญหาปิดกั้นทางน้ำและคุณภาพน้ำในแม่น้ำทำให้ระดับออกซิเจนในน้ำลดลง อีกทั้งยังดักขยะพลาสติกที่ลอยมา ทำให้เกิดเป็นมลพิษทางสายตาด้วย (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)

พลาสติกคลั่กอุดตันคลอง

ช่วงไหลลดเลี้ยวลัดผ่านพื้นที่ประชากรหนาแน่นในภาคกลางของไทย สู่มหานครสมัยใหม่ เมืองหลวงของประเทศอย่างกรุงเทพฯ แม่น้ำเจ้าพระยาถูกปฏิบัติราวหน่วยรองรับขยะทุกประเภท

แทบไม่ต่างจากอยุธยา กรุงเทพเติบโตจากการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่คลองที่ยืมน้ำจากเจ้าพระยาเพื่อสร้างเส้นทางคมนาคมที่สะดวกยิ่งขึ้น ลำคลองเหล่านี้ยังคงความสำคัญเชิงเอกลักษณ์เฉพาะของมหานครในวันนี้ ที่ซึ่งมีคลองจำนวนมากถึง 1,161 คลอง ที่เป็นบ้านของผู้มีรายได้ต่ำจำนวนมากกว่า 23,500 ครัวเรือน คลองเหล่านี้จำนวนมากคลั่กด้วยขยะพลาสติก

ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ เป็นผู้นำชุมชนที่โตมากับคลองบางกอกใหญ่ 

ชุมชนจำนวนมากตลอดสองฝั่งคลองในกรุงเทพฯ ยากที่จะเข้าถึงได้ด้วยถนน นั่นทำให้เกิดความยากลำบากแก่เจ้าหน้าที่เทศบาลที่จะเข้าไปให้บริการรับเก็บขยะด้วย การโยนขยะทิ้งลงน้ำจึงเป็นวัตรปฏิบัติของผู้คนมานมนาน แม้ตอนนี้จะเป็นสิ่งที่ผิดกฏหมายและสามารถถูกปรับได้ ศิระ อธิบายว่า มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะหาคนผิด บ้านเรือนตั้งเหนือสายน้ำ และเจ้าของบ้านก็สามารถเปิดหน้าต่างและโยนถุงขยะลงน้ำตอนไม่มีใครเห็นอย่างง่ายดาย ตอนกลางคืน เขากล่าวยกตัวอย่าง

นี่เคยเป็นวิธีง่ายที่สุดที่จะจัดการขยะบ้านเรือน แต่ในอดีต ขยะส่วนใหญ่เป็นขยะอินทรีย์ ทุกวันนี้ ของทุกอย่างถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติก ไม่แค่ในกรุงเทพฯ แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย

ณ ตลาดข้างทางในจังหวัดอุทัยธานี ชุมชนบนพื้นที่ทางตอนใต้ ไม่ไกลจากจุดเริ่มต้นของแม่น้ำเจ้าพระยา คนขายใช้ใบตองซึ่งเป็นวัสดุห่ออาหารดั้งเดิมของสังคมไทยในการนำเสนอสินค้าขนุนของเธอ (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
ไม่ไกลออกไป ชาวบ้านชุมชนริมคลองกำลังตักบาตร กระทั่งวัตรปฏิบัติดั้งเดิมเช่นนี้ ปัจจุบันก็มาพร้อมถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
ร้านชำในตลาดในร่มแห่งนี้ในอยุธยา ขายแก้วและกล่องใส่อาหารที่ทำจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนมาก (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
อาหารแบบห่อกลับบ้านจากร้านข้างทาง ซึ่งคนไทยจำนวนมากบริโภคในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันนิยมบรรจุมาในบรรจุภัณฑ์พลาสติก (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
หลังใช้งาน ถุงและกล่องใส่อาหารพลาสสติกถูกทิ้ง สร้างปัญหาใหญ่ให้ระบบจัดการขยะ (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)

บ่ายวันจันทร์ที่คลองบางกอกใหญ่ เรือหางยาวพานักท่องเที่ยวล่องเรือเข้ามา ขณะที่เด็ก ๆ กำลังว่ายเล่นน้ำที่มีขยะรองเท้าแตะเก่าและเศษพลาสติกโพลีสไตรีนลอยอยู่ อย่างไรก็ตาม น้ำที่นี่ยังถือว่าอยู่ในระดับสะอาดโดยเปรียบเทียบ อีกฝั่งของเมือง ที่คลองลาดพร้าว ภาพที่เห็นจะแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง น้ำที่นั่นมีสีดำคล้ำคล้ายน้ำมันดินตลอดสาย พร้อมกลิ่นเน่าเหม็นคลุ้ง

“มันเกิดจากน้ำทิ้งและขยะทุกรูปแบบ” สำเนียง บุญลือ ชายวัย 66 ผู้เกือบทั้งชีวิตอาศัยอยู่อยู่ในชุมชนคลองลาดพร้าวอธิบาย เขาเล่าว่า คลองถูกสร้างเพื่อช่วยระบายน้ำฝนในเขตเมืองสู่แม่น้ำเจ้าพระยา กว่า 30 กิโลเมตรของความยาวคลองเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้ต่ำกว่า 7,00 ครัวเรือน

สำเนียง บุญลือ ผู้อาศัยในชุมชนคลองลาดพร้าวมายาวนานมองว่าลำคลองของเขาปนเปื้อนมลพิษมาหลายปี “สมัยก่อน เราใช้แค่ใบตองกับปิ่นโต ตอนนี้ทุกอย่างเป็นพลาสติก” (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
ชาวชุมชนใช้คลองเป็นที่ทิ้งขยะที่สดวก หากไม่ถูกนำออกไป ขยะเหล่านั้นจะจมสู่ก้นคลอง หรือไม่ก็ไหลสู่แม่น้ำเจ้าพระยา (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)

สำเนียง เล่าย้อนว่าในอดีตที่นี่เคยเป็นพื้นที่นาข้าว แต่พอประชากรในเมืองเพิ่มขยาย ผืนนาข้าวก็กลายเป็นแหล่งนิยมสำหรับคนจากชนบทที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในกรุงเทพฯ

“ผมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่นี่ มีบ้านเพิ่มขึ้นตลอดสองฝั่งแม่น้ำหลังจากที่คนแห่อพยพเข้ามา และก็มีการใช้พลาสติกมากขึ้นเรื่อย ๆ” สำเนียงกล่าว

ในความพยายาม “ทำความสะอาด”

สำเนียงปัจจุบันทำงานกับมูลนิธิแห่งหนึ่งชื่อ TerraCycle Global Foundation ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของบริษัทเอกชนด้านรีไซเคิลชื่อ TerraCycle มูลนิมีวัตถุประสงค์เพื่อดักจับขยะพลาสติกในแม่น้ำและลำคลองก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล โดยโครงการในพื้นที่ลาดพร้าวของมูลนิธิเริ่มดำเนินการเมื่อ กรกฏาคม 2563

ในปี 2563 TerraCycle ได้ติดตั้งกรงโลหะสองกรงบนคลองลาดพร้าว เพื่อดักจับขยะก่อนไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากดักจับ ก็จะเป็นการง่ายแก่เจ้าหน้าทีในทีมงานที่จะนำขยะออกจากน้ำด้วยมือ (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทีมงานสามารถรวบรวมขยะได้มากราว 1 ตันต่อวัน ทุกวัน “สิ่งที่ผมค้นพบคือปริมาณขยะไม่ลดลงเลย” สำเนียงกล่าว “ซึ่งแสดงว่าความคิดของคนยังคงเหมือนเดิม” (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
การเข้ามาของ TerraCycle ที่คลองแห่งนี้ ก็ได้เพิ่มความตระหนักให้ผู้คน ชาวชุมชนริมคลองจำนวนมากตอนนี้ได้หันมาเก็บขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือขยะรีไซเคิลมาให้ทีมงานมูลนิธิ แทนที่จะทิ้งดังเช่นอดีต (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
หลังเก็บรวบรวม ขยะจะถูกนำกลับไปยังสำนักงานของ TerraCycle เพื่อตากให้แห้งและคัดแยก ขยะพลาสติกจะถูกแยกออกมาให้มากที่สุด เพื่อที่จะนำไปสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล ผลิตออกมาเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)

ป่าชายเลนและสัตว์ทะเล

ป่าชายเลนขึ้นรอบบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยมีภาวะน้ำกร่อยที่เหมาะสม อันเป็นผลจากการประสานกันของน้ำจืดจากแม่น้ำและน้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทย ณ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ป่าชายเลนเปื้อนโคลนในเขตจังหวัดสมุทรปราการเต็มไปด้วยขยะพลาสติก ภาพสะท้อนที่เป็นราว “พินัยกรรม” ที่บ่งบอกว่าแม่น้ำแห่งนี้ได้ ”สะสมสมบัติ (รองรับขยะ) มามากเพียงไรในชีวิตของ ก่อนถึงจุดสิ้นสุดของสายน้ำ

ช่วงน้ำลง ณ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านลุยน้ำโคลนหากุ้ง ถุงพลาสติกจำนวนมากถูกดักไว้โดยป่าชายเลนรอบ ๆ พวกเขา (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
รากที่สานพันและโคลนในป่าชายเลนพื้นที่สมุทรปราการดักจับขยะพลาสติกจำนวนมากที่แม่น้ำเจ้าพระยาหอบหิ้วพัดพามากกับสายน้ำ ซึ่งจำนวนมากอยู่ในสภาพย่อยสลายเป็นไมโครพลาสติกแล้ว (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
ระบบให้บริการจัดการขยะที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงของพื้นที่จำนวนมาก ทำให้คนในพื้นที่มักจัดการขขยะที่ไม่ต้องการด้วยการเผาทิ้ง ส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซพิษออกมาสู่บรรยากาศซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)

ส่วนขยะที่หลุดรอดจากการดักจับโดยธรรมชาติของรากไม้ที่สานพันกันในพื้นที่ป่าชายเลน ก็จะถูกพัดพาไปกับสายน้ำสู่อ่าวไทย

แม่น้ำเป็นแหล่งสำคัญที่ก่อให้เกิดขยะพลาสติกในทะเลทั่วโลก รศ.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในกรุงเทพ กล่าว “เราประมาณการณ์ว่า 1-2 ล้านตันของขยะพลาสติกจากแม่น้ำที่มีจุดจบอยู่ในทะเล” สถานการณ์แย่เป็นพิเศษในเอเชีย ที่ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีแม่น้ำที่ปนเปื้อนมลพิษมากที่สุด 20 อันดับแรกของโลก

ซึ่งส่งผลต่อสัตว์ทะเลอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เพียงทำให้พวกมันติดอยู่ในซากพลาสติก แต่ยังรวมถึงการกินพลาสติกเข้าไปด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารด้วย

ในปี 2561 วาฬนำร่อง หรือ Pilot Whale ถูกพบว่าเสียชีวิตในภาคใต้ของไทย หลังจากกลืนถุงพลาสติก 80 ถุงเข้าไป และส่งผลให้มันไม่สามารถกินอาหารได้

สุชนา อธิบายว่า สัตว์อย่างฉลามและเต่าทะเล “เป็นสายพันธุ์นักล่าที่ควบคุมระบบนิเวศในทะเล หากประชากรพวกมันลดลง เสียชีวิตจากการกินพลาสติกเข้าไป จะส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ”

ปัญหาใหญ่ เรื่องไมโครพลาสติก

ในคราที่แม่น้ำเจ้าพระยาเดินทางถึงทะเล ขยะพลาสติกจำนวนมากที่แม่น้ำพัดพามาได้กลายสภาพเป็นชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กมากที่ยากจะมองเห็นได้ด้วยตา เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” (ตามนิยามคือชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร)

งานวิจัยพบว่า ไมโครพลาสติกเป็นอันตรายต่อสุขภาพของระบบนิเวศป่าชายเลน เพราะเข้าไปขัดขวางการแลกเปลี่ยนก๊าซและปล่อยสารเคมีอันตรายออกมา นอกจากนี้ยังเข้าไปในห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำ ไม่นับกับการปนเปื้อนที่มาถึงผู้บริโภคสัตว์น้ำอย่างมนุษย์เรา “นักวิทยาศาสตร์พบว่าคนเราสามารถได้รับไมโครพลาสติกผ่านทั้งอาหารที่เรากิน น้ำที่เราดื่ม และอากาศที่เราหายใจ” สุชนา กล่าว

กระชังปลานิลแดงในจังหวัดอ่างทอง ตั้งตรงข้ามไทยเรยอนโรงงานของ Viscose (บริษัทผลิตเรยอนและเส้นในสังเคราะห์สัญชาติอเมริกัน) ที่มีเพียงแห่งเดียวในไทย การเลี้ยงปลากระชังเป็นที่นิยมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เป็นแหล่งก่อมลพิษพลาสติก ทั้งจากขยะขนาดใหญ่และเล็ก มีการเปิดเผยว่าอวนและทุ่นพลาสติกที่ใช้ในกระชังปลาจะค่อย ๆ สลายตัว ปล่อยไมโครพลาสติกออกมาสู่น้ำ (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
คนในชุมชนลุ่มเจ้าพระยาจำนวนมากใช้น้ำจากแม่น้ำในการซักเสื้อผ้า การซักเสื้อผ้าที่ทำมาจากไยสังเคราะห์อาทิโพลีเอสเตอร์และไนลอน สามารถปล่อยไมโครไฟเบอร์ ซึ่งเป็นไมโครพลาสติกชนิดที่ได้รับความนิยม และสามารถหลุดรอดการดักจับแม้กระทั่งระบบบำบัดน้ำเสีย (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
กุ้งแม่น้ำตัวโตจับสด ๆ วางขายที่ตลาดในจังหวัดอุทัยธานี พร้อมย่างบนเตาถ่าน เป็นเมนูอาหารยอดนิยมเมนูหนึ่งจากแม่น้ำเจ้าพระยา งานวิจัยล่าสุดพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในลำใส้ปลาตัวอย่างจากกระชังในปริมาณที่มีนัยสำคัญ (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
สุชนา ชวนิชย์ อธิบายว่าไมโครพลาสติกโดยทั่วไปทีขนาดเล็กกว่าเศษชิ้นส่วนเหล่านี้มาก ๆ เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารผ่านการกินโดยไม่ตั้งใจของสัตว์ บางส่วนถูกขับถ่ายออก แต่บางส่วนสะสมในเนื้อเยื่อ ผลกระทบของการปนเปื้อนทั้งหมดยังคงไม่กระจ่าง อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจน (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)

มีการพบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในเลือดมนุษย์ด้วย ผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ยังคงเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับวงการวิจัยปัจจุบัน และต้องการเวลาในการหาความเกี่ยวข้อง แต่ล่าสุด มีการศึกษาที่ชัดเจนแล้วว่า การบริโภคอาหารทะเลที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติกสามารถส่งผลต่อสุขภาพของคน

“โร้ดแมพ” สู่การป้องกันมลพิษพลาสติก?

ในปี 2562 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทยได้เผยแพร่ “แผนที่นำทาง การจัดการขยะพลาสติก (2561-2573)” แผนกรอบเป้าหมายเพื่อให้บรรดาหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องดำเนินการลดขยะพลาสติก รวมถึงข้อเสนอให้มีการแบน (ห้ามใช้) พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง 4 ชนิดภายในปี 2565 คือถุงพลาสติกชนิดน้ำหนักเบา ภาชนะบรรจุอาหารโพลีสไตรีน แก้วและหลอดพลาสติก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ได้ส่งผลรบกวนต่อเป้าหมายที่ต้องการจะบรรลุเหล่านี้ ซ้ำมีรายงานเปิดเผยอีกว่า “โควิด-19” ได้กระตุ้นให้มีการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้น

เจ้าหน้าที่ในสำนักงานของ TerraCycle ในกรุงเทพ คัดแยกขยะที่ได้จากการดักจับในคลองลาดพร้าวเพื่อแยกขยะพลาสติกออกมารีไซเคิล การนำขยะพลาสติกออกก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล สามารถลดระดับการก่อมลพิษในทะเลของแม่น้ำเจ้าพระยาได้ในระดับหนึ่ง (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
หลังแยก ขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้จะถูกนำไปบดอัดและส่งเข้าโรงงานรีไซเคิล เพื่อเปลี่ยนเป็นเม็ดพลาสติกที่สามารถนำไปผลิตสิ่งของได้ อาทิเก้าอี้หรือขวด พลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิลจะมีคุณภาพลดลง และสามารถนำไปใช้ซ้ำในการใช้งานที่จำกัดหากไม่มีการเติมเม็ดพลาสติกผลิตใหม่ (ยังไม่ผ่านการรีไซเคิล) เข้าไป (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)
ขยะที่ไม่สามารถนำไปใช้ซ้ำได้ จะถูกนำไปเผาด้วยเตาเผาของสำนักงาน เพื่อกันไม่ให้ถูกส่งไปจัดการด้วยการฝังกลบ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามทุ่มเทของ TerraCycle ปัญหาพลาสติกของไทยจะไม่สามารถแก้ได้ด้วยระบบการจัดการที่เหมาะสม แต่แก้ได้ด้วยการลดการใช้พลาสติก (ภาพ: Mailee Osten-Tan / The Third Pole)

ในปี 2564 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ประกาศความร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงกำไร “The Ocean Cleanup” เพื่อดำเนินการแก้ปัญหามลพิษพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการรวมถึงการประยุกต์ใช้เรือที่เรียกว่า “อินเตอร์เซปเตอร์ (Interceptor)” เพื่อเก็บขยะเศษซากพลาสติก และติดตามการไหลของพลาสติกผ่านการติดอุปกรณ์ติดตามที่ขวด และการติดตั้งกล้องบนสะพานตลอดลำน้ำเจ้าพระยา

“(จากงานวิจัย) ทำให้เราสามารถวัดได้อย่างแม่นยำถึงปริมาณขยะ (พลาสติก) ที่ไหลผ่านแม่น้ำ” สุชนากล่าว “หวังเป็นอย่างยิ่ง ว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์มาก ๆ กับการจัดการที่นี่ในอนาคต”

แม้จะมีความพยายามดำเนินการของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทย ในการจัดการขยะพลาสติกในแม่น้ำและทะเล สุชนาย้ำว่า ทางออกที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้พลาสติกถูกทิ้งลงสู่ทางน้ำตั้งแต่ต้น

เด็ก ๆ เล่นน้ำในคลองบางกอกใหญ่ ผู้นำชุมชน สิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ทำงานกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องขยะพลาสติกและช่วยทำความสะอาดทางน้ำของเมือง สำหรับเขา เด็กนำมาซึ่งความหวังที่จะสร้างอนาคตที่แตกต่าง “ไม่มีใครต้องการที่จะเติบโตเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคม” เขากล่าว (ภาพ : Mailee Osten-Tan / The Third Pole)

“เมื่อขยะพลาสสติกไหลจากแม่น้ำลงสู่ทะเล .. มันต้องใช้เวลามากถึง 500-600 ปีถึงจะย่อยสลาย ดังนั้นคุณจะเห็นว่าครั้นเมื่อมันไปอยู่ที่นั่น มันจะคงอยู่เกือบตลอดไป” สุชนา กล่าว

สำหรับชาวชุมชนบางกอกใหญ่อย่างสิระ ลีปิพัฒนวิทย์เขากล่าวปิดท้ายว่า “นี่คือปัญหาของมนุษยชาติ ไม่ใช่แค่ของชุมชนที่อยู่ริมน้ำ มันเป็นปัญหาสำหรับทุกชีวิตที่เกิดจากเรา มนุษย์”

หมายเหตุ

  • ทความชิ้นนี้แปลและเผยแพร่ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง GreenNews กับ chinadialogue สำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากบทความต้นฉบับ Plastic river: Following the waste that’s choking the Chao Phraya ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง The Third Pole และ  China Environment Forum’s Turning the Tide on Plastic Waste in Asia initiative และสามารถอ่านได้ที่ Wilson Center’s New Security Beat blog
  • Wanpen Pajai  นักข่าวที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ รายงานว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ติดตามผลงานเธอได้ทางทวิตเตอร์ @wanpen_pajai
  • Mailee Osten-Tan นักข่าวมัลติมีเดียประจำอยู่กรุงเทพฯ มักรายงานข่าวเชิงสำรวจปัญหาสังคมในมุม social exclusion มุมด้านเพศ gender discrimination และการปรับตัวรับมือ resilience ติดตามผลงานเธอได้ทางอินสตาแกรม @maileeostentan หรือเว็บไซด์ www.maileeostentan.com