เครือข่ายอากาศสะอาดยื่นนายกฯ “อย่าปัดตกพรบ.อากาศสะอาด ร่างประชาชน”

วันนี้ (21 มิ.ย.2565) เมื่อเวลา 10.00 น. ตัวแทนจากเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และกว่า 30 องค์กร ได้รวมตัวกันที่ด้านขข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อแถลงการณ์เรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ให้ปัดตกร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดภาคประชาชน ที่เสนอโดยเครือข่ายฯ

“จะนำเรียนนายกฯ บ่ายนี้” สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หลังเป็นตัวแทนรับหนังสือ

(ภาพ : Thailand CAN)

ข้อเรียกร้องเดียว “อย่าปัดตก”

“ตามที่เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 22,251 รายชื่อ ได้ยื่นพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ตามกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 

ซึ่งร่างกฎหมายนี้ได้รับการวินิจฉัยจากประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน จึงต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีรับรองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยระหว่างนี้อยู่ในระหว่างการข้อความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี

กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมเพื่อแสดงออกให้เห็นถึงความมีอยู่ของสิทธิของประชาชน และการใช้สิทธิของประชาชนในการปกป้องลมหายใจในอากาศสะอาดของตัวเองและของประชาชนทั้งปวงในภาพรวม หลังจากที่ได้เคยนำเสนอ ต่อสู้ เรียกร้องในเรื่องนี้มาอย่างยาวนานกว่า 4 ปี นับแต่ปัญหามลพิษทางอากาศและ PM 2.5 ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุการตายก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และผู้ทำงานกลางแจ้ง

ประเด็นที่สร้างความกังวลอย่างยิ่งในเวลานี้คือ มีแนวโน้มที่นายกรัฐมนตรีจะไม่รับรองร่าง พ.ร.บ.ของเครือข่ายอากาศสะอาดฯ แต่จะรับรองร่างของพรรคการเมืองบางพรรค หรือมีแนวโน้มว่านายกรัฐมนตรีจะปัดตกร่างกฎหมายอากาศสะอาดทุกฉบับ แล้วให้รัฐบาลยกร่างขึ้นมาใหม่ โดยยึดร่างของสภาหอการค้าฯ เป็นหลัก

ข้อเรียกร้องคือ อย่าปัดตกร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด ซึ่งเป็นฉบับประชาชนเข้าชื่อและได้ศึกษาออกแบบมาอย่างรอบด้านในการแก้ปัญหาเชิงระบบ แต่ควรเปิดโอกาสให้ร่างดังกล่าวผ่านเข้าไปสู่การพิจารณาของรัฐสภา เป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน 

หากรัฐบาลประสงค์จะยื่นร่างของรัฐบาลเพื่อประกบ ควรเปิดโอกาสให้ร่างทั้ง 2 ฉบับ ได้เข้าไปพิจารณาร่วมกันในรัฐสภาโดยการตั้งกรรมาธิการร่วม เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีโอกาสได้ทำหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรอง อภิปราย แลกเปลี่ยน และชั่งน้ำหนักเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม เพื่อกฎหมายอากาศสะอาดจะได้มีเนื้อหาสาระที่ครบถ้วน รอบด้าน บูรณาการ สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ควรใช้กลไกของฝ่ายบริหารในสัดส่วนที่เหมาะสม คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญ ให้น้ำหนักแก่ความเป็นความตายของประชาชนอยู่เหนือกว่าผลประโยชน์ของธุรกิจ หากยังมีความเห็นต่างในทิศทางการพัฒนากลไกทางกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ควรปล่อยให้กลไกของรัฐสภาในฐานะผู้แทนของประชาชนได้ทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ มากกว่าจะใช้กลไกของฝ่ายบริหาร

ขอให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่ให้ความเห็นแก่นายกรัฐมนตรีพิจารณาให้รอบคอบ ถึงเหตุผลและความจำเป็นของการที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีอากาศสะอาด ให้ประชาชนหายใจอย่างปลอดภัย โดยอาศัยกฎหมายอากาศสะอาด ที่ไม่ใช่แค่มีชื่อหน้าปกแต่แก้ปัญหาไม่ได้ 

แต่ต้องเป็นกฎหมายอากาศสะอาดที่มีการจัดการเชิงระบบ เน้นการบูรณาการ และจัดการร่วมที่มองเรื่องอากาศทั้งในมิติสุขภาพและมิติสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ตกอยู่ในวังวนเดิม ภายใต้โ

ครงสร้างและระบบการทำงานแบบเดิม ที่ทำให้มีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดแบบที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน” รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม หัวหน้าคณะผู้ยกร่างกฎหมายอากาศสะอาด ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

(ภาพ : มติชน)

เครือข่ายแรงงานหนุน

“ในส่วนส่วนของแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเรื่องนี้เราทำกันมาอย่างยาวนานร่วมกับ เครือข่ายอากาศสะอาด ด้วยการที่เห็นถึงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า ที่สำคัญคือเรื่องอากาศสะอาดเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ทุกคนได้เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีและมีหลักในการดำเนินชีวิต

ขณะนี้กฎหมายฉบับนี้ เราใช้การเข้าชื่อกว่า 20,000 รายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญกระบวนการชัดเจนถูกต้องทุกอย่าง แต่ปัญหาคือพอเราเสนอกฎหมายไปมีกฎหมายอื่นประกบเข้าไป และท้ายที่สุด กฎหมายฉบับนี้เสนอสภา สภาบอกว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน เพราะกฎหมายฉบับนี้ต้องมีงบประมาณในกระบวนการจัดการ ซึ่งต้องส่งให้ทางรัฐบาลพิจารณา ซึ่งผู้พิจารณาหลักคือ นายกรัฐมนตรี 

ดังนั้นการที่เรามาวันนี้ต้องการไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ตกไป เพราะฉะนั้น เราจึงแสดงเจตจำนงค์ที่ชัดเจนว่าเราไม่ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ตกไป ไม่ว่าวันนี้หรือวันหน้าเราจะต้องเกาะติด ติดตามอย่างใกล้ชิด” สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (ศสรท.) กล่าว

“วันนี้เรามาแสดงเจตจำนง ส่งเสียงไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อยืนยันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดของพี่น้องประชาชนที่เสนอ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พยายามสะท้อนให้เห็นว่า วันนี้เกิดปัญหาอะไรขึ้นในสังคมไทย อากาศสะอาศจะเกิดขึ้นได้อย่างไร 

เสียงเหล่านี้คือเสียงเรียกร้องจากประชาชน และเครือข่ายต่างๆ ร่วมกับเครือข่ายอากาศสะอาดจึงมายื่นหนังสือและแสดงเจตจำนงว่านายกรัฐมนตรีต้องให้ความสำคัญกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และพยายามจะดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณาเพื่อที่จะนำไปสู่การออกกฎหมายต่อไป” มานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าว

(ภาพ : Thailand CAN)

รับปาก ส่งต่อนายกฯ บ่ายนี้

“ร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนคนไทย โดยส่วนรวมทั้งประเทศ จะรีบนำเสนอนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาในบ่ายวันนี้” ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังรับหนังสือ 

ข้อมูลเพิ่มเติม : บทวิเคราะห์สถานการณ์ “ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดภาคประชาชน” 

(ภาพ : Thailand CAN)