15 องค์กร / เครือข่ายแม่น้ำโขงยื่นนายกรัฐมนตรี ขอให้สั่งการให้ 11 หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ-อนุญาต-ดำเนินการโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคามในสปป.ลาว ให้ดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบสังคมและสิ่งแวดล้อมโดรงกการฯ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบข้ามแดนมายังชุมชนลุ่มโขงและแม่น้ำโขงในประเทศไทย
ชี้ลำพังข้อมูลที่มีอยู่-คาดจะได้รับจากสปป.ลาวตามกระบวนการ PNPCA ของคณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRC) มีแนวโน้มไม่เพียงพอที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและคนลุ่มโขงจากผลกระทบข้ามแดนที่จะเกิดขึ้น

ยื่นนายก สำเนา 6 กระทรวง
วันนี้ (20 มิ.ย. 2565) 15 องค์กร/เครือข่ายแม่น้ำโขงได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่อง การวิเคราะห์ผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสะนะคาม
สำเนาถึงรัฐมนตรีว่าการ 6 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ รมว.กระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม
โดย 15 องค์กร/เครือข่ายประกอบด้วย กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch) องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International River) เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม กลุ่มฮักเชียงคาน กลุ่มฮักแม่น้ำเลย มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre Foundation: CRC) สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โครงการทามมูล กลุ่มฮักเชียงของ สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ (สอพ.) สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ (สปส.) และมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต
ข้อมูลผลกระทบโครงการที่มีอยู่ ไม่เพียงพอ
“เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
เอกสารอ้างอิง
- EXECUTIVE SUMMARY, THE RAPID ASSESSMENT OF TRANSBOUNDARY IMPACTS CAUSED BY RAPID WATER FLUCTUATION DOWNSTREAM OF THE SANAKHAM HYDROPOWER PROJECT, 29 October 2021 (https://www.mrcmekong.org/assets/Consultations/Sanakham/EN_Rapid-assessement-for-SNHPP_2021.pdf)
- Mekong River Commission, PRIOR CONSULTATION PROCESS FOR THE SANAKHAM HYDROPOWER PROJECT, SUMMARY OF THE FINAL DRAFT OF THE TECHNICAL REVIEW REPORT, 4 November 2021 (https://www.mrcmekong.org/assets/Consultations/Sanakham/Technical-Review-Report-Final-Draft/Summary-of-Final-Draft-of-the-Technical-Review-Report-EN.pdf)
- โครงการศึกษาและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน” ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563, พฤษภาคม 2564 โดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (https://drive.google.com/file/d/1_WT-UiuYWKMogFoYlXKKwOta4gGUYGBH/view?usp=sharing )
สืบเนื่องจากรัฐบาล สปป.ลาว ได้เสนอโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสะนะคาม (ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงในประเทศ สปป.ลาว ด้านเหนือน้ำ ห่างจากชายแดนประเทศไทยด้าน อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นระยะทางเพียง 1.5 – 2 กิโลเมตรเท่านั้น โดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 684 เมกะวัตต์) ให้เข้าสู่กระบวนการตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) ภายใต้ ความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2562
จนถึงปัจจุบันกระบวนการ PNPCA ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมได้ เนื่องจากขาดการศึกษาที่ชัดเจนต่อผลกระทบข้ามพรมแดน และสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้เผยแพร่เอกสารการศึกษาโครงการเขื่อนสะนะคาม, รายงานการทบทวนด้านเทคนิค และสรุปรายงานสรุปผู้บริหาร การประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน จากการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขงท้ายเขื่อนสะนะคาม ไว้บนเว็ปไซด์ทั้งหมดแล้ว (https://www.mrcmekong.org/news-and-events/consultations/pnpca-prior-consultations/sanakham-hydropower-project/)
ทั้งนี้ รายงานการทบทวนทางเทคนิค และสรุปรายงานสรุปผู้บริหาร การประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน จากการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขงท้ายเขื่อนสะนะคาม ซึ่งเผยแพร่ในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2564 ตามลำดับนั้น ได้สรุปประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนสะนะคาม ในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านอุทกวิทยาและชลศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงปริมาณตะกอน การเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ ได้นำมาซึ่งผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นทันที ผลกระทบสะสมต่อเนื่อง และข้อเสนอแนะต่อการอุดหนุนการซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนสะนะคาม เพื่อลดผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง, องค์การแม่น้ำนานาชาติ, คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน และองค์กรตามรายชื่อแนบท้าย ได้ติดตามสถานการณ์โครงการเขื่อนสะนะคามมาอย่างต่อเนื่อง มีความตระหนักถึงผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นกับประชาชนไทยและระบบนิเวศแม่น้ำโขงโดยรวม ถึงแม้ว่าเอ็มอาร์ซี จะทำการศึกษาไว้แล้วตามเอกสารอ้างอิงที่ 1 และ 2 นั้น แต่การศึกษาไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนในลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ
โดยเห็นได้จากข้อสรุปสุดท้ายของเอกสารอ้างอิงที่ 2 (หน้า 44) ซึ่งได้ระบุว่า “การประเมินในรายงานทบทวนทางเทคนิค ไม่สามารถใช้เป็นข้อตัดสินได้ว่าโครงการไฟฟ้าพลังนํ้าเขื่อนสานะคาม หรือข้อเสนอการใช้นํ้าของเขื่อนแบบขั้นบันไดในตอนเหนือของ สปป.ลาวได้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ระบบแม่นํ้าโขงอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรมหรือไม่ หรือผลกระทบข้ามพรมแดนที่ตกค้างอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงหรือไม่” จดหมายเปิดผนึกระบุ
เสนอ 11 หน่วยงานรัฐไทยจัดทำข้อมูล-วิเคราะห์เอง
เพื่อปกป้องคน-ทรัพยากรธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อมลุ่มโขงในไทย
“ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของประเทศไทย ต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงเขตแดนระหว่างประเทศในลำน้ำโขง เพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติตามลำน้ำโขงของไทย และรวมถึงการรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนด้วยเช่นกัน ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะเกิดขึ้น เช่น
- จากเอกสารอ้างอิงลำดับที่ 1 (หน้าที่ 4 และ 6) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำโขงท้ายเขื่อนสะนะคาม ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ระดับน้ำโขงจะขึ้นและลงสูงสุดได้มากถึง 3.50 เมตรในรอบ 24 ชั่วโมงหรือ 1 วัน อย่างไรก็ตาม เอ็มอาร์ซี ได้ปรับเกณฑ์ใหม่ในการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขง ผลที่ได้คือ ที่ อ.เชียงคาน จะยังคงมีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขงสูงสุดตั้งแต่ 12.9 เซนติเมตรถึง 134 เซนติเมตร ภายใน 1 ชั่วโมง (หรือ 0.129 ถึง 1.34 เมตรต่อชั่วโมง) การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำที่เห็นได้ชัดนี้ จะเกิดขึ้นระหว่างเดือนธันวาคม ถึง มีนาคมเป็นหลัก
- จากเอกสารอ้างอิงลำดับที่ 3 (หน้า 6-30 – 6-56) ได้นำเสนอข้อมูลการวัดตะกอนแขวนลอยเปรียบเปรียบระหว่างสถานีเชียงแสนกับสถานีเชียงคาน ในเดือนธันวาคม 2563 และกุมภาพันธ์ 2564 พบว่ามีค่าต่ำลงมากจนเกือบวัดค่าไม่ได้ แสดงให้เห็นถึงผลของการกักตะกอนโดยเขื่อนไซยะบุรีซึ่งเริ่มเปิดใช้งานในเดือนตุลาคม 2562 และทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำโขงใสสีครามติดตามมาในระหว่างเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ผลการตรวจวัดนี้สอดคล้องกับเอกสารอ้างอิงลำดับที่ 2 (หน้า 12-14) ได้ชี้ว่า โครงการเขื่อนสะนะคามซึ่งเป็นเขื่อนตัวสุดท้ายจาก 5 เขื่อนในประเทศ สปป.ลาว จะกักตะกอนจนเกิดปรากฏการณ์ “แม่น้ำหิวตะกอน” ส่งผลต่อการกัดเซาะตลิ่งอย่างรุนแรงด้านท้ายน้ำ นอกจากนี้การประเมินผลกระทบสะสม (หน้า 35-36) จากปรากฏการณ์แม่น้ำหิวตะกอน จะเกิดคลื่นกัดเซาะด้านท้ายน้ำอย่างรุนแรงในระยะทาง 100 กิโลเมตรตามลำน้ำโขงท้ายเขื่อน และมีระยะทางไกลไปจนถึงกรุงเวียงจันทน์ ประเทศ สปป.ลาว ตลอดช่วงเวลา 7 ปีหลังเขื่อนเปิดดำเนินการ
- เอกสารอ้างอิงลำดับที่ 2 (หน้า 39) ได้ทำการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของทางปลาผ่าน ของเขื่อนขั้นบันไดทั้ง 5 แห่ง ที่ประสิทธิภาพร้อยละ 80 และ 50 ซึ่งสรุปได้ว่า ปริมาณปลาที่สามารถผ่านทางปลาผ่านไปจนถึงเขื่อนตัวสุดท้าย (เขื่อนปากแบ่ง) เท่ากับร้อยละ 33 และ 3 ตามลำดับ
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญข้างต้นนี้จะนำไปสู่ผลกระทบข้ามพรมแดนในหลากหลายมิติ และกินเวลานานไปประมาณ 29 ปี ตามช่วงเวลาของการได้สัมปทานผลิตไฟฟ้าของเขื่อน โดยสามารถแยกการวิเคราะห์ผลกระทบไปตามหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านต่าง ๆ ได้ดังนี้
- กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อทรัพยากรประมง (เช่น ผลต่อถิ่นที่อยู่ของปลาเอินและความสามารถในการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติ, ผลกระทบต่อปลาวัยอ่อน, ผลกระทบต่อกำลังการผลิตประมงในลำน้ำโขงและสาขา, ผลกระทบจากทางปลาผ่าน, ผลต่อการอพยพวางไข่ของปลา ในช่วงฤดูแล้ง, ผลกระทบทางเศรษฐกิจของประมงท้องถิ่น, ผลกระทบต่อการเลี่ยงปลากะชัง ฯลฯ), ผลกระทบต่อนิเวศประมง (เช่น ผลต่อถิ่นที่อยู่ที่เป็น พื้นที่ผสมพันธุ์ วางไข่ อนุบาลปลาวัยอ่อน, ผลต่อพืชพันธุ์ไม้น้ำในแม่น้ำโขง, ผลต่อสัตว์ต่าง ๆ ที่เป็นห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศน้ำโขง, ผลจากสภาวะน้ำโขงใส ไร้ตะกอน เป็นต้น), ผลกระทบต่อการสูญเสียอาชีพประมง และอาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง และกลไกการชดเชยเยียวยาของกรมประมง
- สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขงในเขตไทย ทั้งจากเขื่อนสะนะคาม และกรณี สปป.ลาว สร้างเขื่อนได้ครบ 5 เขื่อนเป็นขั้นบันได, การวิเคราะห์แบบจำลองสภาวะน้ำหลากท้ายเขื่อนสะนะคาม ในกรณีที่ทุกเขื่อนจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำพร้อมกัน, การวิเคราะห์แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย-ลาว ในแม่น้ำโขง ไปจนถึงอำเภอเมืองหนองคาย, การวิเคราะห์ความสามารถของ สทนช. และระบบราชการที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขงที่ขึ้นลงเป็น เมตรต่อชั่วโมง ต่อประชาชนที่อยู่ติดแม่น้ำโขง เนื่องจากน้ำจากขื่อนสะนะคามใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้น ก็จะเดินทางมาถึงอำเภอเชียงคาน, กลไกการชดเชยเยียวยาแก่ประชาชนของหน่วยงาน
- กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ในเรื่องการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดน จากการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำโขงที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย-ลาว ในแม่น้ำโขง จากอ.เชียงคาน จ.เลย ไปจนถึงอำเภอเมืองหนองคาย
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย กระทรวงมหาดไทย ในเรื่องการจัดทำรายงาน การเยียวยาชดเชย ประชาชนริมน้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขง ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งไม่ใช่ภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ, ศักยภาพของหน่วยงานในการแจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขงที่ขึ้นลงในระดับ เมตรต่อชั่วโมง ให้ครอบคลุมและทันต่อการเตรียมพร้อมในทุกชุมชน
- กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่อง การวิเคราะห์การสูญศักยภาพของพื้นที่เกษตรกรรมริมฝั่งโขง อันเนื่องมาจากการลดลงของตะกอนและการกัดเซาะตลิ่ง, การวิเคราะห์ความสูญเสียทางเศรษฐกิจและอาชีพของชุมชน จากการเกษตรริมตลิ่งฝั่งโขง, การชดเชยเยียวยาภาคเกษตรริมน้ำโขงโดยหน่วยงาน
- กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ในเรื่อง การวิเคราะห์การสูญเสียพื้นที่ตลิ่งริมฝั่งโขง เนื่องมาจากการกัดเซาะตลิ่ง
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในเรื่อง การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของไทยจากการสร้างเขื่อนสะนะคาม กับ มูลค่าความเสียทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงและมูลค่าการชดเชยเยียวยา, การวิเคราะห์เปรียบเทียบกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในโครงการเขื่อนสะนะคาม กลุ่มที่ได้ประโยชน์ และกลุ่มที่เสียประโยชน์, การศึกษาในภาพรวมถึงทางเลือกการลดการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจาก สปป.ลาว
- สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสม ในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ในเขตประเทศไทย จากการสร้างเขื่อนสะนะคาม ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ ที่สามารถดำเนินการได้แม้ว่าเขื่อนสะนะคามจะตั้งอยู่ในประเทศ สปป.ลาว
- กระทรวงพลังงาน ในเรื่อง การวิเคราะห์ข้อเสนอแนะที่ปรากฏตามเอกสาร ที่ 1 (หน้า 41) และเอกสารที่ 2 (หน้า 15) ในเรื่อง
- ผลได้และผลเสีย ในการกำหนดมาตรการเพื่อจํากัดผลกระทบสะสมและผลกระทบข้ามพรมแดน จากโครงการไฟฟ้าพลังนํ้าเขื่อนสานะคามและโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังนํ้าแบบขั้นบันไดในลาวตอนบน ซึ่งจะลดทอนความเป็นไปได้ทางการเงินของโครงการไฟฟ้าพลังนํ้าแต่ละตัว และการพิจารณากําหนดเพิ่มราคาของพลังงานไฟฟ้าหรือการขยายระยะเวลาสัมปทาน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
- ความเป็นไปได้ในการดำเนินการ เนื่องจากเขื่อนสะนะคามเป็นเขื่อนสุดท้าย ในขณะที่เขื่อนไซยะบุรีได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว และอีก 3 เขื่อนได้ลงนามความตกลงซื้อขายไฟฟ้าไปแล้ว การดำเนินการตามข้อเสนอแนะของเอ็มอาร์ซี จะส่งผลต่อการแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ลงนามไปแล้วได้หรือไม่อย่างไร
- ความเสี่ยงของการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขงและเขื่อนอื่น ๆ บนลำน้ำสาขาจากประเทศลาว ทั้งในเรื่องสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าที่ใกล้เคียงร้อยละ 13 และการเปลี่ยนแปลงด้านอุทกวิทยาในลุ่มน้ำโขงตอนบน ที่แสดงให้เห็นถึงปริมาณน้ำโขงต่ำกว่าการคาดการณ์มาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี โดยเฉพาะในฤดูแล้ง
- กรมเจ้าท่า ในเรื่องการวิเคราะห์ ผลของการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำและตะกอน ต่อสถานการณ์ปัญหาตลิ่งพัง ดินงอก และดินหายในแม่น้ำโขง และแนวทางการแก้ไข
- กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในเรื่อง การสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามแนวแม่น้ำโขง ทำการศึกษา วิเคราะห์ผลกระทบร่วมกับชุมชน เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ วางแผนการจัดการ และการกำหนดมาตรการต่างๆ ในการจัดการผลกระทบ เช่น การป้องกันภัย การบรรเทาภัย การฟื้นฟูทรัพยากร ของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง, องค์การแม่น้ำนานาชาติ คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน และองค์กรตามรายชื่อแนบท้าย ใคร่ขอเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาณาเขตดินแดนของประเทศ และระบบพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศไทยและชุมชน มีข้อมูลการวิเคราะห์ที่รับผิดชอบต่อสังคมไทยได้โดยตรง และสามารถนำไปเจรจากับประเทศ สปป.ลาว และประเทศอื่น ๆ ในลุ่มน้ำโขงได้ต่อไป” จดหมายเปิดผนึกระบุ ลงชื่อโดยมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ในฐานะตัวแทน 15 องค์กร/เครือข่ายดังกล่าว