GreenOpinion : เสียงแห่งความหวัง เยาวชนปกาเกอะญอแม่ปอคี จ.ตาก ในกำมืออุทยานฯ
พชร คำชำนาญ

ปี 2537 น่าจะนับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งฝันร้ายของกลุ่มชาติพันธุ์และผู้คนในเขตป่าแถบแม่ฮ่องสอนและตาก เมื่ออุทยานแห่งชาติแม่เงาได้เตรียมการประกาศทับลงไปในพื้นที่ทำกินและผืนป่าของชุมชนผู้อยู่มาก่อน ผลพวงหลังรัฐไทยประกาศปิดป่าจากการสัมปทานป่าไม้ในปี 2532 และรอยบาดแผลจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปี 2534 ซึ่งนำมาสู่การมี “โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม” หรือ คจก. หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า โครงการอพยพคนออกจากป่า ทำให้เกิดแผนในการประกาศอุทยานแห่งชาติหลายแห่งทั่วประเทศ
ปัญหาคนกับป่าถูกตอกลิ่มอีกครั้งหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 “นโยบายทวงคืนผืนป่า” ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับ “แผนแม่บทแก้ปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน” หรือ แผนแม่บทป่าไม้ ที่กำหนดตัวเลขพื้นที่ป่าว่ามีเป้าหมายเพิ่มให้ได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ
แผนนี้ยังคงดำเนินมาถึงปัจจุบัน และถูกสอดแทรกเข้าไปอยู่ในนโยบาย-กฎหมายอื่นๆ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง
ผมลงพื้นที่เก็บเสียงสะท้อนจากกลุ่มเยาวชนบ้านแม่ปอคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ที่รวมกลุ่มกันต่อสู้เพื่อสิทธิในการจัดการทรัพยากรและวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ ชวนซึมซับความหวังและจิตวิญญาณแห่งการต่อสู่จากรุ่นสู่รุ่น เป้าหมายสูงสุดคือการ ‘ปลดแอก’ ชุมชนออกจากเงื้อมมือแนวคิดการจัดการป่าของรัฐไทย หวังอิสรภาพในฐานะมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่มีสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่าเทียมกัน

1 สองข้างทาง สู่แม่ปอคี
เส้นทางสัญจรคดเคี้ยว สภาพยังคงเป็นดินที่ถูกน้ำฝนกัดเซาะนั้นทำให้การเดินทางแสนลำบาก กว่าจะพาตัวเองไปเยือน ‘แม่ปอคี’ ตามคำเชิญชวนของกลุ่มเยาวชนได้นั้นก็ทุลักทุเลพอสมควร ลื่นล้มไปหลายครั้ง แม้รอยยิ้มอาบใบหน้า แต่เราต่างรู้ว่าสภาพเส้นทางแบบนี้และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้งไม่ใช่เรื่องน่าขัน
มันคือผลพวงจากความเหลื่อมล้ำที่ประชาชนในเขตป่าต้องเผชิญ เมื่อวันหนึ่งพื้นที่ที่เคยได้อยู่อาศัยหล่อเลี้ยงชีวิตต้องถูกประกาศเป็นเขตป่าของรัฐ งบประมาณพัฒนาคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานจึงไม่สามารถเข้าไปได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่เว้นแม้แต่การจะมีถนนดีๆ สักเส้นที่ก็ถูกปิดตายด้วยข้ออ้างว่าติดเงื่อนไขพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ
ทิวทัศน์คือ ‘ไร่หมุนเวียน’ ผืนใหญ่ที่โอบล้อมเส้นทางสัญจรของพวกเรา มอเตอร์ไซค์ของน้องๆ เยาวชนพาผมลัดเลาะเดินทางไปยังสถานที่ที่ชุมชนเรียกกันว่า ‘พื้นที่จิตวิญญาณ’ ประมาณ 20 นาทีจากหมู่บ้านเราก็เดินทางมาถึง ‘น้ำตกแม่ปอคี’ ซึ่งเป็นน้ำตกสายใหญ่ที่ชุมชนได้อนุรักษ์ไว้ และเรียกผืนป่าบริเวณนี้ว่าเป็นพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชน
พื้นที่จิตวิญญาณ ตามความเชื่อของชุมชนคือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พำนักของเทวผู้พิทักษ์ชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ มีความเชื่อและพิธีกรรมร่วมกันของชุมชนคือต้องมีพิธีกรรม ‘ลือปว่า’ หรือ ‘เลี้ยงป่า’ หากไม่ทำจะทำให้ลูกหลานไม่ได้เห็นสัตว์ป่าและพืชผักต่างๆ อีก นอกจากนั้นยังห้ามมิให้จับปลาในสถานที่เขคอนุรักษ์ ห้ามล่านกเลือกและชะนี โดยเชื่อว่าหากละเมิดกฎในการล่าสัตว์จะเป็นอันตรายถึงชีวิต นี่ทำให้ผืนป่านี้ยังคงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์พืชและสัตว์
ธีระ วงษ์จำเนียง เยาวชนบ้านแม่ปอคี อธิบายความหมายของคำว่าพื้นที่จิตวิญญาณว่าเป็นดินแดน ‘ความเชื่อ’ ของชุมชน เป็นความเชื่อในการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ ชาวปกาเกอะญอใช้ทรัพยากรพร้อมกับดูแลทรัพยากรไปด้วย โดยมีการเลี้ยงเจ้าที่เจ้าทางเพื่อแสดงความเคารพและขอพึ่งพาอาศัยกันและกัน ซึ่งทุกพื้นที่ป่า ชาวปกาเกอะญอเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ทั้งหมด

2 แม่ปอคี วิถีไร่หมุนเวียน
ชุมชนบ้านแม่ปอคี ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เป็นชุมชนของชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งและโยกย้ายถิ่นฐานยาวนานไม่ต่ำกว่า 320 ปี
บ้านแม่ปอคีมีพื้นที่ทั้งหมด 8,386 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ป่า และพื้นที่ใช้ประโยชน์ โดยพื้นที่ป่ามีพื้นที่ทั้งหมด 3,997.83 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 47.7 ของพื้นที่ทั้งหมด และพื้นที่ใช้ประโยชน์มีพื้นที่ทั้งหมด 4,388.17 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 52.3 ของพื้นที่ทั้งหมด
พื้นที่ป่าในชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ย สามารถแบ่งเป็นป่า 4 ประเภท คือ ‘พื้นที่ป่าตามความเชื่อ’ ประกอบด้วยป่าศักดิ์สิทธิ์ (ป่าอนุรักษ์) ป่าช้า และป่าสะดือ มีเนื้อที่รวมทั้งหมด 317.74 ไร่ ‘ป่าอนุรักษ์’ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ มีพื้นที่จำนวน 3 แปลง รวมพื้นที่เท่ากับ 2,540.41 ไร่ ‘ป่าใช้ประโยชน์’ คือ ป่าชุมชน จำนวน 2 แห่ง มีพื้นที่ทั้งหมด 613.09 ไร่ และ ‘พื้นที่ป่าตามโครงการของรัฐ’ ได้แก่ โครงการปลูกป่าสร้างรายได้ พื้นที่ป่าไผ่ และป่าอื่น ๆ อีกจำนวน 526.59 ไร่
ในพื้นที่ทั้งหมดนี้ มีประมาณ 2,000 ไร่ที่อยู่ในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา แม้อยู่ในระหว่างการเจรจาแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของชุมชนว่าให้กันพื้นที่ออกจากการเตรียมการประกาศทั้งหมด แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีท่าทีว่าพื้นที่ป่าจิตวิญญาณผืนนี้จะได้รับการกันออก และกลับมีแนวโน้มว่าภัยคุกคามอาจมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อชุมชนรอบข้างทยอยกันถูกยึดพื้นที่ทำกินตามนโยบายทวงคืนผืนป่า
ชุมชนมีวิถีทำกินในรูปแบบไร่หมุนเวียน โดยเป็นการหมุนเวียนผืนใหญ่ ทั่วไปจะใช้ระยะเวลาในการหมุนเวียน 5 ปี ไม่มีการบุกรุกเปิดพื้นที่ป่าใหม่ แต่เป็นแปลงการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนที่ปู่ย่าตายายเคยทำกันมา จากรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการการจัดทำคลังข้อมูลภูมิปัญญาไร่หมุนเวียนบ้านขุนแม่เหว่ย (แม่ปอคี) จัดทำโดยชุมชนบ้านแม่ปอคีเมื่อปี 2563 ระบุว่าในพื้นที่ไร่หมุนเวียนนั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืชทั้งสิ้น 70 ชนิด ตั้งแต่ข้าว พริก ฟักทอง ฟักเขียว บวบ ผักกาด เผือก มัน จนไปถึงพืชดอก อาทิ ดาวเรือง หงอนไก่ และพืชที่ใช้ในการทอผ้า เช่น ฝ้าย เป็นต้น

3 การเข้ามาของอำนาจที่ชื่อ “อุทยานแม่เงา”
“เขาพยายามบีบให้ชาวบ้านออกจากป่านั่นแหละ”
ปราโมทย์ เวียงจอมทอง เยาวชนบ้านแม่ปอคีกล่าว ยืนยันว่าผืนดินผืนป่านี้ชาวบ้านดูแลรักษากันมานาน ชาวบ้านทำมาหากิน ตนพยายามดูแลป่า ดูแลธรรมชาติ มีการทำพิธีกรรม เคารพภูเขาลูกนี้ที่ปกป้องวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ
“เขาชอบพูดว่าเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ ควรอนุรักษ์ไว้ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านก็อนุรักษ์อยู่แล้ว บางครั้งก็พูดถ้าไม่ให้อุทยานฯ ดูแล ชาวบ้านก็จะดูแลไม่ได้ ผมพยายามอธิบายว่านี่เป็นพิธีกรรมลื่อปว่า พอผมอธิบาย เขาก็ไม่เข้าใจเลย เขาแทบไม่ตั้งใจฟังด้วยซ้ำ”
ปราโมทย์พยายามอธิบายว่า การประกาศอุทยานแห่งชาติ โดยใช้เงื่อนไขการบริหารจัดการตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 นั้นสร้างเงื่อนไขจำกัดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์หลายอย่าง ซึ่งเป็นการตัดอำนาจของชุมชนในการจัดการตนเอง อาจทำให้ชุมชนไม่สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าได้แล้ว ทั้งเรื่องการทำไร่หมุนเวียนและการหากินในป่า
“อำนาจของชุมชนในการบริหารจัดการตัวเอง ถ้าตามกฎหมายของรัฐ เขาเหมือนพยายามบีบให้เราออกจากป่า เขาจะไม่อยากให้เราเข้าไปใช้ประโยชน์ แค่เราหาเห็ดก็บอกว่าเราทำลายระบบนิเวศ เราอธิบายว่าเราอยู่ในป่ามาก่อน เราบริหารจัดการป่าแบบนี้ เขาก็ไม่เชื่อ เขาก็บอกว่าเราทำลายป่าอยู่ เขาบอกว่าไร่หมุนเวียนทำลายป่า ทั้งๆ ที่ไร่หมุนเวียนก็คือไร่ ป่าก็คือป่า มันแยกส่วนการจัดการกันชัดเจนอยู่แล้วซึ่งชุมชนก็จัดการกันได้มาตลอด” ปราโมทย์ย้ำ

4 เสียงจากคนของวันพรุ่งนี้
ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดที่รัฐบาลทหารและหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ประกอบสร้างขึ้น แยกความสัมพันธ์ของคนกับป่าออกจากกัน ยืนยันดำเนินการแย่งยึดที่ดินและลดทอนอำนาจของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเจ็บปวดจากการถูกกดทับและยึดที่ทำกินทีละแปลงตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป ส่งต่ออุดมการณ์และจิตวิญญาณเผ่าพันธุ์สู่คนรุ่นปัจจุบัน
ต่อจากนี้คือเสียงที่ผมคิดว่าน่าสนใจ จากเยาวชนแม่ปอคี ที่ต่างสะท้อนความหวังผ่านข้อเสนอ ในฐานะที่เป็นทั้ง ‘ปัจจุบัน’ และ ‘อนาคต’ ของชุมชน พวกเขาใฝ่ฝันอยากจะดำรงชีวิตเช่นเดิม เป็นอิสระจากชีวิตประจำวันที่ต้องคอยหวาดระแวงว่าจะต้องถูกบีบบังคับให้ปรับเปลี่ยนวิถีเมื่อไร
“ผมต้องการให้พื้นที่อุทยานฯ ที่เตรียมการกันออกให้หมด ขอให้พวกเราสามารถอยู่ตามวิถีชีวิตปรกติ เพราะเรามีความสุขมากกว่า ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับข้อครหา เกี่ยวกับการถูกดำเนินคดี
ผมอยากอยู่ตามวิถีชีวิตเดิมที่เคยอยู่ และสามารถจัดการทรัพยากรได้ ทำกินได้ ไม่ต้องวุ่นวาย ไม่ต้องมาแย่งชิงพื้นที่กัน เราอยู่กันแบบสิทธิหน้าหมู่ เราช่วยกัน ผืนป่านี้เป็นของพวกเราทุกคนในชุมชน ผมจะทำให้ดีที่สุด จะทำให้ได้ ถ้าอุทยานฯ ไม่กันพื้นที่ให้ พวกเราไม่ยอมให้ประกาศอุทยานฯ เด็ดขาด” ปราโมทย์ เวียงจอมทอง
“ผมอยากอยู่แบบได้ดูแลป่า เราอยากจะทำไร่หมุนเวียนเหมือนปู่ย่าตายาย เมื่อก่อนไม่เห็นมีปัญหาเลย พอกฎหมายเข้ามาเราก็กังวลหลายๆ อย่าง ถ้ามีไร่หมุนเวียน เราไม่ต้องพึ่งพาอะไรมาก อยู่กับป่าเราก็หากินในป่า ถ้าไม่มีไร่หมุนเวียน เราก็ต้องซื้อหมดเลย
ผมหวังว่าเราจะสามารถดำรงวิถีชีวิตแบบนี้ต่อๆ ไปได้ โดยไม่ต้องถูกคุกคาม ไม่อยากให้มีอุทยานฯ” อภิชาย อุดมรักพันธ์พง
“ผมไม่อยากอยู่ในสภาวะที่อยู่ในป่า แต่ทำอะไรก็ต้องคอยกลัว ต้องคอยกังวล ผมอยากอยู่แบบที่เราสามารถบริหารจัดการตัวเองได้ ผมไม่อยากยึดติดกับเขตป่า กับเรื่อง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับป่าไม้อีกแล้ว ตอนนี้เราอยู่กันอย่างหวาดระแวง ผมเห็นตามข่าว ผมก็กังวลว่าวันหนึ่งจะเป็นพวกเราไหมที่ต้องโดนเหมือนชุมชนอื่นๆ
คนเฒ่าคนแก่เขาดูแลมานานแล้ว อุทยานฯ และกฎหมายเข้ามาทีหลัง แค่มาเห็นว่าบ้านเราอุดมสมบูรณ์แล้วมาประกาศ ผมก็คิดว่าเราดูแลกันเองได้ ผมไม่ได้ทำให้มันเสียหาย ถ้าผมทำเสียหายจริงๆ ป่านนี้ป่าไม่เหลือแล้ว” ธีระ วงษ์จำเนียง
พชร คำชำนาญ
บัณฑิตนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ผู้ประสานงาน ภาคี#Saveบางกลอย และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move ผู้นิยามตัวเองว่า “ผู้สนใจศึกษาและต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์”