มาตรการห้ามเผาเหมารวม นโยบายบ่อนทำลาย ‘ไร่หมุนเวียน’ : กรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน จ.ลำปาง
GreenOpinion : พชร คำชำนาญ*

ในปี 2564 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสลงพื้นที่ สังเกตการณ์การทำไร่หมุนเวียนของชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ในช่วงปลายของฤดูกาลเผาไร่ จนถึงช่วงต้นของฤดูกาลเพาะปลูก เพื่อจัดทำ “รายงานผลกระทบจากนโยบายของรัฐต่อระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน”
ด้วยข้อสันนิษฐานว่า “มาตรการห้ามเผาเด็ดขาด” ตามประกาศของแต่ละจังหวัดนั้น นอกจะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา PM 2.5 และไฟป่าแล้ว ยังจะสร้างผลกระทบต่อประชาชนในเขตป่า โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพิง “ไฟ” และระบบนิเวศป่า
ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน คือ วิถีการเกษตรที่ทำกินบนพื้นที่เป็นเวลา 1 ปี แล้วหมุนเวียนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เพื่อให้พื้นที่เดิมได้พักฟื้นดินและแร่ธาตุในดินอีกครั้ง โดยระยะเวลาการหมุนเวียนนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ โดยทั่วไปจะไม่ต่ำกว่า 5 ปี และอาจยาวนานได้ถึง 10 ปี พื้นที่ที่ปล่อยพักฟื้นไว้นั้นจะเรียกกันว่า ‘ไร่เหล่า’ หรือ ‘ไร่ซาก’
ไร่หมุนเวียนมักถูกรัฐมองว่าเป็น ‘ไร่เลื่อนลอย’ และความจำเป็นในการทำการเกษตรวิถีนี้ที่ต้องมีการตัดและเผา (Slash and burn) ก็ถูกมองว่าเป็นการเผาป่าและเพิ่มฝุ่นละอองขนาดเล็กสู่ชั้นบรรยากาศ อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันได้ว่าระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และยังมีคุณค่าในแง่การลดความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควบคู่กับการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชน
และต้องขอออกตัวก่อนว่าเนื้อหาที่จะได้อ่านหลังจากนี้ ผู้เขียนเน้นเสียงสะท้อนจากชุมชนผู้ได้รับผลกระทบเป็นหลัก เนื่องจากเป็นเสียงของกลุ่มชาติพันธุ์ชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการรับฟัง และหวังว่าจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเพื่อปรับปรุงนโยบายให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนในอนาคต

1. มาตรการห้ามเผาเด็ดขาด ตามประกาศจังหวัดลำปาง
บ้านแม่ส้าน หมู่ที่ 6 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ที่มีวิถีดั้งเดิมในการทำไร่หมุนเวียน โดยเริ่มถางไร่ในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี เริ่มจากป่าแก่ที่มีต้นไม้ใหญ่และกอไผ่ก่อน เพราะต้องใช้เวลาในการตากแดดนาน ตามด้วยไม้อ่อน ขนาดประมาณเท่าแขน-ขา ซึ่งปีนี้ก็ถางไร่ตามช่วงเวลาดั้งเดิม เพื่อเตรียมการสำหรับเผาไร่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางขณะนั้น (2564) ได้มีประกาศจังหวัดลำปางเพื่อป้องกันไฟป่าและหมอกควัน อาศัยอำนาจตามมาตรา 15 มาตรา 21 และมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ประกาศกำหนดให้ทั้ง 13 อำเภอของจังหวัดลำปางงดเว้นการเผาป่า เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เผาขยะ และเผาวัชพืชข้างทาง เผาในพื้นที่โล่งแจ้งทุกกรณีในพื้นที่จังหวัดลำปาง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 โดยเด็ดขาด ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย
การประกาศใช้มาตรการห้ามเผานี้ กระทบต่อปฏิทินการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน
ในการประชุมกำนันและผู้ใหญ่บ้านประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้มีการนำมาตรการนี้มาร่วมพูดคุย และได้กำชับต่อผู้ใหญ่บ้านให้กำกับดูแลการใช้ไฟในพื้นที่ปกครองของตนเอง ซึ่งทำให้ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ส้านต้องประกาศห้ามชุมชนเผาไร่หมุนเวียนในช่วงเวลาดังกล่าว
ผลที่เกิดขึ้นคือ ชาวบ้านต้องชิงเผาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถือว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเผา เนื่องจากอุณหภูมิยังไม่ร้อนมาก และต้นไม้ที่ตัดฟันไว้ยังไม่แห้งพอ ประกอบกับฝนที่ตกเร็วกว่าทุกปี ทำให้การเผาไหม้ไม่ดี

2. การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ป่าไม้-อุทยานฯ
มาตรการห้ามเผาเด็ดขาด ประกอบกับการจับตามองอย่างเคร่งครัดโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ทำให้เกิดการดำเนินการตรวจสอบและควบคุมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างเข้มข้น
กล่าวคือ ชุมชนบ้านแม่ส้านอยู่ในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อ้างว่าตรวจพบแปลงบุกรุกป่าใหม่ที่ทำกินนอกแนวเขตที่มีการกันไว้ให้ ในส่วนของกรมอุทยานฯ มีการปฏิบัติการทั้งหมด 2 ครั้ง ตรวจสอบทั้งหมด 4 แปลง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม จำนวนแปลงที่เข้าตรวจสอบทั้งหมด 2 แปลง และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 16 เมษายน จำนวนแปลงที่เข้าตรวจสอบทั้งหมด 2 แปลง ข้อสรุปคือ ชาวบ้านยืนยันว่าแปลงทำกินทั้งหมดเป็นแปลงทำกินดั้งเดิมของชุมชน ให้เจ้าหน้าที่รายงานไปที่กรมอุทยานฯ
นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป.38 (ท่าสี) กรมป่าไม้ เข้ามาตรวจสอบแปลงทำกินในพื้นที่บ้านแม่ส้าน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม จำนวนแปลงที่ตรวจสอบทั้งหมด 4 แปลง ซึ่งก็ปรากฏว่าเป็นแปลงทำกินดั้งเดิมของชาวบ้านทั้งหมด
รวมมีการปฏิบัติการเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ทำกินทั้งหมด 3 ครั้ง 8 แปลง ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าวนั้นทำให้ ณัฐนนท์ ลาภมา ชาวบ้านแม่ส้าน รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในการทำกินตามวิถีดั้งเดิม โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าได้รับคำสั่งมาจากส่วนกลาง ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องพาตรวจสอบพื้นที่ให้ได้ข้อสรุปด้วยกัน เพราะเกรงว่าเจ้าหน้าที่จะรายงานผลไม่ตรงตามความเป็นจริง
“คือชาวบ้านไม่ได้แผ้วถางไร่หมุนเวียนที่มีรอบหมุนเวียนเยอะก็เพราะแบบนี้แหละ เพราะกลัวจะถูกหน่วยแบบนี้ คือเราจะเผาไร่หมุนเวียนเราก็กลัวจุดความร้อน (Hotspots) ขึ้นอยู่แล้ว แล้วยังต้องมากลัวหน่วยพิทักษ์ไพรพวกนี้อีก กลัวเผาไปก็จะถูกจับ ถูกเข้ามาตรวจสอบ คือมันไม่รู้สึกไม่มั่นคงเลย ชาวบ้านก็กลัวกันหมด
เราต้องถูกคุกคามตลอดเลย จะทำอะไรก็ผิดไปหมด ติดขัดข้อกฎหมายทั้งหมด ทั้งๆ ที่เราทำไร่หมุนเวียน ทำตามวิถีดั้งเดิมเลย ไม่ได้บุกรุกเพิ่ม เราก็มีการทำแนวกันไฟ เคารพนโยบายที่ผู้ว่าฯ แถลงไปแล้วด้วย เรื่องการห้ามเผา รวมทั้งเรามีกฎระเบียบของชุมชนอยู่แล้ว ถ้าจะเผาต้องรายงานให้คณะกรรมการหมู่บ้าน แต่สุดท้ายก็ยังต้องถูกคุกคามแบบนี้” เสียงจากชาวบ้าน

3. วิถีเปลี่ยน ผลผลิตลดลง กระทบความมั่นคงอาหาร
ชาวบ้านแม่ส้านที่ทำกินในรูปแบบไร่หมุนเวียนรู้สึกไม่มั่นใจและไม่มั่นคง เหตุปัจจัยหลักเกิดจากการออกประกาศจังหวัดเกี่ยวกับมาตรการห้ามเผาซึ่งครอบคลุมในช่วงที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้านต้องเผาพื้นที่การเกษตรไร่หมุนเวียนพอดี รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่ฝนตกลงมาเร็วกว่าทุกปีทำให้ต้นไม้ที่ถูกตัดฟันไว้เปียกชื้น
การชิงเผาก่อนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์มีผลกระทบเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเผาไหม้ที่อาจจะไม่สมบูรณ์ เพราะเชื้อเพลิงยังไม่แห้งดี ก็ต้องเผาซ้ำหลายครั้ง
นอกจากนั้นการทิ้งช่วงนานเกินไปก่อนการหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวก็ทำให้วัชพืชขึ้นหนาแน่น แปลงใดที่หญ้ารก ไฟไหม้ไม่ดี ก็ต้องใช้แรงในการกำจัดวัชพืชหลายครั้ง อีกทั้ง “ขี้เถ้า” จากการเผาไหม้ซึ่งจะเป็น “ปุ๋ย” ให้เมล็ดพันธุ์ที่หยอดลงไปก็เริ่มถูกฝนชะล้างไป บางแปลงลักษณะหน้าดินเป็นดินสีน้ำตาล แทบจะมองไม่เห็นขี้เถ้าสีดำแล้ว
“มันไม่ได้เป็นไปตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของเรา เผาเร็วไปก็ไม่ได้จะดี เผาก่อนก็เกิดหญ้าตามมา บางทีหยอดข้าวไปแล้ว หญ้าอาจจะโตเร็ว ข้าวโตไม่ทันหญ้า ก็ต้องเสียแรงมาเอาหญ้าอีก 2-3 ครั้ง คือรัฐไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงเลย เขาเอาแต่นโยบาย เอาแต่กฎหมาย ก็เลยสร้างผลกระทบต่อชาวบ้าน จริงๆ ต้องดูเรื่องวิถีชีวิตของชาวบ้านด้วยว่าเขาจำเป็นต้องใช้ไฟจริงๆ” ณัฐนนท์ ลาภมา กล่าว
ส่วนการเผาไร่หมุนเวียนในช่วงการประกาศมาตรการห้ามเผา ก็เป็นช่วงที่ฝนตกลงมาแล้ว โดยปรกติชาวบ้านต้องกำจัดเชื้อเพลิงในไร่หมุนเวียนตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งตามประสบการณ์ของชุมชนนั้นจะมีโอกาสที่ฝนจะตกลงมาน้อยมาก รวมทั้งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะชุมชนจะยังคงมีเวลาทำความสะอาดไร่หมุนเวียน หรือ “โก่คึ” ก่อนจะหยอดเมล็ดพันธุ์ วัชพืชก็จะไม่ขึ้นมากเกินไป ภายหลังตกอยู่ในความหวาดระแวงในช่วงมาตรการห้ามเผา ประกอบกับการถูกคุกคามและจับตามองอย่างต่อเนื่องจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทมาตลอด 1 เดือนเต็ม เมื่อฝนแรกเริ่มมาเยือนในเดือนเมษายน ก็เหมือนหายนะมาเยือนชุมชน ชาวบ้านจึงกลับมาคิดเรื่องการละเมิดประกาศจังหวัด โดยการตัดสินใจเผาไร่หมุนเวียนในเดือนเมษายน ซึ่งก็ไม่ได้เกิดผลดี
สมคิด ทิศตา ชาวบ้านแม่ส้าน กล่าวว่า การเผาไร่หมุนเวียนในช่วงเดือนเมษายนที่ฝนตกนี้ ทำให้การเผาไหม้ไม่ดีเพราะมีความชื้นมาก วัชพืชจากการแผ้วถางก็เริ่มขึ้นมามากแล้ว เผาไปก็จะไหม้ไม่ดี รวมทั้งจะทำให้ผลผลิตข้าวในปีนี้ไม่ดี เพราะช่วงเวลาทิ้งไร่หมุนเวียนภายหลังการเผามีน้อยเกินไป จากการประเมินของชาวบ้าน ระบุว่าปีนี้จะได้ผลผลิตน้อยกว่าปีที่แล้วพอสมควร
“ผลผลิตปีนี้จะน้อยลง จะไม่เต็มร้อย คือเราได้รับผลกระทบจากนโยบายห้ามเผาแบบนี้มาหลายปีแล้ว แต่ปีที่แล้วฝนมันมาช้า เราก็ยังสามารถเผาได้อยู่ ปีนี้ฝนมาเร็วมาก เราคงต้องเอาวัชพืชออกอีกหลายครั้ง ต้องใช้แรงเยอะขึ้น ในขณะที่ผลผลิตจะน้อยลง จริงๆ บรรพบุรุษของเราเขาออกแบบไว้หมดแล้ว แต่ตอนนี้ถูกเปลี่ยนแปลงหมด อาหารอื่นๆ ในไร่หมุนเวียน เช่น แตง พริก มัน เผือก ก็จะน้อยลงด้วย ผลผลิตพวกนี้จะได้น้อยลง แคระแกร็น สารพัดอาหารในไร่หมุนเวียนจะไม่อุมดมสมบูรณ์เหมือนเดิม” สมคิด ทิศตา กล่าว
นอกจากนั้น ยังพบว่ามีชาวบ้านบางครอบครัวจำเป็นต้องทำกินซ้ำในพื้นที่เดิมที่เป็นไร่พักฟื้นปีที่ 1 เพราะเกรงว่าจะไม่ได้เผาไร่หมุนเวียนในช่วงฝนตก แสดงให้เห็นว่าชุมชนถูกบีบอย่างหนักจากมาตรการของรัฐ
“ชาวบ้านฟังนโยบายรัฐ เขากลัว เขาก็เลยต้องฟัง สุดท้ายฟังไปแล้วยังไง ก็ได้ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ชาวบ้านบางคนต้องไปทำกินในพื้นที่ไร่เหล่าปีที่หนึ่ง ไปทำซ้ำที่เก่า เพราะกลัวว่าพอไปถางไร่หมุนเวียนโตๆ จะถูกรับกล่าวหาว่าไปบุกรุกป่า วิถีชุมชนเริ่มเปลี่ยน แต่ผลผลิตไม่ดีเลย เราก็ไม่ได้อยากทำ อยากจะทำแบบบรรพบุรุษ การทำซ้ำๆ เราก็เคยทำแล้ว จากเดิมข้าวได้ 100 ถัง ปีต่อมาจะได้สัก 50 ถัง ลดลงมาครึ่งหนึ่งเลย แล้วถ้าซ้ำไปอีกหลายๆ ปี มันจะลดลงขนาดไหน” สมคิด ทิศตา ย้ำ

4
ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้านจัดการทรัพยากรครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางถึง 18,102 ไร่ ในจำนวนนั้นมีพื้นที่ไร่หมุนเวียน 7,407 ไร่ 94 แปลง รวมถึงมีพื้นที่ 223 ไร่ ที่ชุมชนกันไว้เป็นพื้นที่ “ป่าใช้สอย” สำหรับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในป่า โดยเฉพาะเก็บหาอาหารตามฤดูกาลบริโภคในครัวเรือนและเป็นฐานเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้านได้ร่วมกันดูแลจัดการผืนป่าผืนนี้มาหลายชั่วอายุคน
เริ่มตั้งแต่ต้นปี ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้านใช้เวลาร่วม 3 เดือน ตั้งแต่กุมภาพันธ์จนถึงเมษายนในการดูแลผืนป่าจากไฟป่า ด้วยการทำแนวกันไฟความยาวถึง 36 กิโลเมตรล้อมรอบพื้นที่แนวเขตชุมชน สร้างจุดเฝ้าระวังไฟป่าตลอด 24 ชั่วโมง และลาดตระเวนในพื้นที่ป่าที่ชุมชนดูแลเพื่อให้สามารถดับไฟได้อย่างทันท่วงที ทั้งหมดนี้เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของชุมชน เพราะป่าคือบ้านและแหล่งความมั่นคงทางอาหารที่ไม่อาจปล่อยให้เสื่อมโทรมได้
“การดับไฟป่าแต่ละจุด แต่ละครั้ง แม้จะยากหรือลำบากแค่ไหนเราก็ไม่ท้อ ชาวบ้านดับไฟป่าด้วยภูมิปัญญาโดยนำต้นกล้วยป่ามาประกบกับต้นไม้ที่กำลังติดไฟอยู่ ต้นกล้วยจะมีน้ำและความเย็นเพียงพอที่จะดับไฟได้ เราจะเอามาถมตอไม้แห้งหรือรากไม้ที่กำลังติดไฟอยู่ และตัดไม้ไผ่มากั้นไว้ เพื่อป้องกันเศษไม้ที่ติดไฟตกไปไหม้ต่อไปในบริเวณอื่น” ณัฐนนท์ ลาภมา ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้านกล่าว
นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนความรักและหวงแหนผืนป่าของชาวกะเหรี่ยง ผ่านกระบวนการลงมือปฏิบัติในช่วงฤดูกาลไฟป่าของทุกปี และแน่นอนว่าการดำเนินการของชุมชนเช่นนี้กำลังไปทิศทางที่ตรงกันข้ามกับมาตรการของรัฐที่ยังมุ่งเน้นการจำกัดไฟในพื้นที่ป่าอย่างไม่แยกแยะ รวมศูนย์อำนาจและผูกขาดอยู่ที่หน่วยงานรัฐ ปฏิเสธการใช้ไฟตามวิถี ตอกย้ำมายาคติด้านลบ และมุ่งการตรวจจับปราบปรามเป็นหลัก
นำมาสู่ข้อเรียกร้องของชุมชนให้ยกเลิกมาตรการห้ามเผาเด็ดขาด เนื่องจากมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียนและการใช้ไฟในพื้นที่แปลงเกษตรที่มีความจำเป็น รวมทั้งมาตรการนั้นยังเป็นการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่ปลายเหตุ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง เป็นเพียงการใช้มาตรการเป็นเครื่องมือในการทำลายและลดความชอบธรรมของระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน หาแพะรับบาปเท่านั้น

*พชร คำชำนาญ
บัณฑิตนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ผู้ประสานงาน ภาคี#Saveบางกลอย และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move ผู้นิยามตัวเองว่า “ผู้สนใจศึกษาและต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์”