9 กิจกรรมรักษ์โลก ในวาระวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) ที่ปีนี้ประกาศรณรงค์ภายใต้ธีม #OnlyOneEarth
(เพราะโลกนี้มีแค่ใบเดียว) ทั้งระดับโลกและในประเทศ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน


1. ยูเอ็นรณรงค์ออนไลน์-รวม 5,000 กิจกรรมรักษ์โลกทั่วโลก
“มีหลายพันกาแล็กซีในจักรวาล(ของเรา) มีดาวเคราะห์หลายพันดวงในกาแล็กซี(ที่เราอยู่) แต่มีโลกเพียงใบเดียว ซึ่งเราต้องร่วมกันปกป้อง #OnlyOneEarth
There are billions of galaxies in the universe. There are billions of planets in our galaxy. But there is #OnlyOneEarth. Together we can protect it.” โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ UNEP ประกาศในวาระวันสิ่งแวดล้อมโลก 2565 พร้อมเปิดตัวคู่มือชาวโลกในการรักษ์โลกภาคปฏิบัติ (ลิงค์คู่มือ)
นอกจากนี้ ได้มีการรวบรวมกิจกรรมและความเคลื่อนไหววันสิ่งแวดล้อมโลกจากทั่วทุกมุมโลกผ่านช่องทางอออนไลน์ พร้อมเรียกร้องให้ผู้คนและองค์กรจากทั่วโลกร่วมแชร์กิจกรรมรักษ์โลกที่ตนเองจัดในวันนี้ ซึ่งรวมทั้งสิ้นมากถึง 4,968 กิจกรรม (ถึงช่วงเวลา 14.15 น.) (ลิงค์กิจกรรม)

2. ไม่มีกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ ที่กระทรวงสิ่งแวดล้อม
“5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) Only One Earth : ปกป้องโลกวันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของเรา #MNRE #วันสิ่งแวดล้อมโลก” มีเพียงข้อความสั้น ๆ บนช่องทางสื่อสารออนไลน์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับหลายหน่วยงานในสังกัด
“5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) Only One Earth (Living Sustainably in Harmony with Nature วิถีชีวิตที่ยั่งยืน อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล” กรมควบคุมมลพิษ ระบุ
“5 มิถุนายน 2565 วันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้ วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) สำหรับในปีนี้วันสิ่งแวดล้อมโลกมาพร้อมกับธีม(Theme) “Only One Earth” หรือ เพราะโลกมีเพียงใบเดียว TGO ขอเชิญชวนทุกท่านร่วม ปกป้องโลกวันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของเรา” องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ระบุ
“วันที่ ๕ มิถุนายน ของทุกปีเป็น วันสิ่งแวดล้อมโลก มาช่วยกันดูแลรักษาโลก รักษาสิ่งแวดล้อมในทะเล ให้สวยสมดุล และคงความอุดมสมบูรณ์อยู่คู่กับพวกเราตลอดไป #รักษ์ทะเล #ทะเลและชายฝั่ง #สมบัติอันล้ำค่าร่วมรักษาให้ยั่งยืน #dmcrth #พวกเราชาวทะเล #วันสิ่งแวดล้อมโลก” กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ระบุ

3. กทม. “ปลูกต้นไม้-เก็บขยะ”- ผู้ว่าชัชชาติ “เรามีกรุงเทพฯเดียวที่ต้องรักษ์เช่นกัน”
วันนี้ (5 มิ.ย. 2565) กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต และภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม จัด 2 กิจกรรมโครงการรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2565 (World Environment Day 2022)
กิจกรรมที่ 1 “ปลูกป่านิเวศในเมือง” จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน 2565 เวลา 16.00 น. ณ สวนเฉลิมพระเกียรติฯ 7 รอบ เขตบางบอน โดยเชิญชวนประชาชนในชุมชน ครู นักเรียนและผู้ปกครองจากโรงเรียนในพื้นที่ ภาคีเครือข่ายกลุ่มกรุงธนใต้ และภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกันปลูกต้นไม้เชิงป่านิเวศ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเป็นแหล่งกำเนิดความหลากหลายทางธรรมชาติสร้างระบบนิเวศที่สมดุลให้แก่พื้นที่
กิจกรรมที่ 2 “รวมพลเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาและปลูกต้นไม้” จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2565 เวลา 08.30 น. ณ บริเวณลานใต้สะพานพระราม 8 และสวนหลวงพระราม 8 เขตบางพลัด โดย 17 สำนักงานเขต ที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรมเจ้าท่า ชมรมนิยมพาย หน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม จะร่วมกันเก็บขยะและวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งรณรงค์ไม่ทิ้งขยะและไขมันลงในแม่น้ำและคูคลอง และปลูกต้นไม้ภายในสวนหลวงพระราม 8 เพื่อให้เจริญเติบโตให้ร่มเงา อีกทั้งช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และสร้างออกซิเจน
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธานกิจกรรมรวมพลเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาและปลูกต้นไม้เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2565 ที่ลานกิจกรรมใต้สะพานพระราม 8 และสวนหลวงพระราม 8 เขตบางพลัด
“ตามที่องค์การสหประชาชาติ(UN) กำหนดให้เป็นวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ปีนี้เป็นแนวคิดรณรงค์ภายใต้หัวข้อ OnlyOneEarth ตามที่ทราบกันว่าในกาแล็กซีมีดวงดาวเป็นพันล้านดวง แต่โลกมีใบเดียวดังนั้นเราจึงต้องรักษาไว้
แต่หากเราพูดว่าโลกก็จะดูใหญ่ไป ผมจึงพูดถึง Only One Bangkok คือมีแค่กรุงเทพฯ เดียว มีแค่เขตเดียว ย่อยมาที่ชุมชนให้ได้เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรามากขึ้น เพื่อส่งต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ลูกหลานที่เกิดขึ้นในวันนี้ที่ยังต้องอยู่ในกรุงเทพฯ เดียวนี้ต่อไป
ตามนโยบายของตนที่มีเป้าหมายว่าภายในปี 2030 จะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net zero) รวมถึงนโยบายปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นจะต้องสำเร็จภายใน 4 ปี ทั้งนี้ กทม.ไม่มีทางสำเร็จได้หากไม่ได้ความร่วมมือจากประชาชนดังนั้นจึงต้องกระตุ้นความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายชุมชนและประชาชน โดยมี กทม.เป็นผู้นำ
โดยแนวทางนโยบายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ว่า กทม.ต้องร่วมกับองค์กรมหาชนเป็นองค์กรก๊าซเรือนกระจก โดยอย่างน้อยปี 2030 กทม.ต้องเป็นศูนย์ด้วยการจัดการ 4 ปัจจัยใน กทม. คือ การขนส่งคมนาคม ลดการใช้พลังงานในอาคาร การกำจัดขยะ และปลูกต้นไม้ ซึ่งเป้าหมาย 1 ล้านต้นใน 4 ปี”
จากนั้นผู้ว่าชัชชาติได้ลงเรือคายัคร่วมเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อด้วยกิจกรรมร่วมปลูกต้นกล้าไม้มะฮอกกานี ในโครงการต้นไม้ 1 ล้านต้น บริเวณสวนหลวงพระราม 8

4. เครือข่ายอากาศสะอาด “ดันพรบ.อากาศสะอาด”
Thailand Can เครือข่ายอากาศสะอาดใช้วาระวันสิ่งแวดล้อมโลก เดินหน้ารณรงค์ให้ประชาชนร่วมแสดงความเห็นต่อร่างพรบ.อากาศสะอาด ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด (ร่างฉบับประชาชน ชื่อเต็มร่างพรบ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ) ที่ได้เปิดให้ประชาชนมาแสดงความเห็นทางเว็ปไซต์ของรัฐสภา
“มลภาวะจากสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นเพียงการทรยศต่อมนุษยชาติโดยฝีมือของมนุษย์เท่านั้น แต่มันยังเป็นการทรยศต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้ด้วย” – Mehmet Murat idan
คำกล่าวนี้เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งมีฐานมาจากรายงานสภาพคุณภาพอากาศของโลก โดยคนไทยมากกว่า 32,200 ชีวิตต้องเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรในปี 2563 จากปัญหามลพิษทางอากาศ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคุณภาพอากาศยํ่าแย่ในระดับต้นๆของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในฤดูที่มีการเผาวัสดุการเกษตร และมีการเผาต้นไม้ทำลายป่า จังหวัดเชียงใหม่เคยถูกจัดอันดับเป็นเมืองที่มีอากาศเลวร้ายที่สูงสุดในโลก
นอกจากนี้ ตามข้อมูลงานวิจัยต่างประเทศ คนไทยโดยเฉลี่ยเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรเกือบ 2 ปี เนื่องจากปัญหาฝุ่นพิษ แต่พี่น้องในภาคเหนือกลับพบกับภยันตรายที่หนักหน่วงกว่านี้อย่างเห็นได้ชัด เพราะคนในภาคเหนืออาจเสียชีวิตเร็วขึ้น 2 - 3 ปี จากปัญหาคุณภาพอากาศที่เลวร้าย พีเอ็ม 2.5 ได้กลายเป็นภัยมัจจุราชเงียบที่คร่าสุขภาพคนไทย โดยฝุ่นพิษกำลังคร่าชีวิตคนไทยมากกว่าการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และอุบัติเหตุบนท้องถนน
อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรที่จะยอมจำนนต่อสถานการณ์นี้ เพราะทางออกยังคงมีอยู่ เรายังมีสูตรที่จะเอาชนะอากาศเสียที่ได้ผลในหลายต่อหลายประเทศมาแล้ว นั่นคือการมี “กฎหมายอากาศสะอาด” ที่สามารถแก้ปัญหาที่เป็นรากเหง้าของปัญหาฝุ่นพิษได้อย่างชะงัด
เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทยได้ร่างกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคนไทยถึง 22,251 คน และได้ยื่นเข้าสู่สภาในเดือนมกราคม 2565 แต่ร่างพรบ.อากาศสะอาด ฉบับประชาชนกำลังเผชิญกับศึกหนัก และอาจถูกนายกรัฐมนตรีปัดตกในเร็ววันนี้แล้ว โดยจะไม่มีโอกาสได้เข้าสู่สภาเพื่อการอภิปรายเลยแม้แต่น้อย
ตอนนี้ เหลือเวลาเพียง 35 วันก่อนที่ร่างพรบ.อากาศสะอาด ฉบับประชาชนจะปิดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทางหน้าเว็บไซต์ของทางรัฐสภา เราทุกๆคนสามารถแสดงพลังกันเพื่อปกป้องชีวิตของตัวเราเองและครอบครัว ขอเชิญชวนให้ทุกๆคนมาช่วยกันสละเวลาเพียง 10-15 นาที เพื่อตอบคำถามหกข้อตามลิงค์นี้
ไม่จำเป็นต้องตอบยาว ตอบแบบสั้นๆ กระชับๆ ก็เพียงพอแล้ว สามารถดูวิดีโอสั้น 3 นาที เพื่อเข้าใจหัวใจหลักของร่างพรบ.ฉบับประชาชนในการตอบคำถามของทางรัฐสภา” เครือข่ายฯ ระบุ

5. เครือข่ายประมงพื้นบ้าน แถลง “ดันหยุดจับสัตว์น้ำวัยอ่อน”
ขบวนภาคีทวงคืนน้ำพริกปลาทู สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้แถลงการณ์ขบวน #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู (ฉบับที่สอง) “โลกไม่ได้มีเฉพาะเรา”
“คณะของเรา เดินทางล่องเรือเลียบทะเล มุ่งหน้าสู่เมืองหลวงส่งต่อ “ความหวัง” และป่าวประกาศ ชักชวน เรียกร้องรณรงค์เพื่อฟื้นคืนสัตว์น้ำกลับสู่ทะเลของเรา กลับสู่จานอาหารของเรา วันนี้ เป็นวันที่สิบติดต่อกัน
ตลอดเส้นทาง…พวกเราคณะเดินทาง ได้พบเห็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่สรรสร้างแผ่นดินที่เราเกิด เราตื่นเต้นกับหาดทรายขาวริมชายฝั่งสุดลูกหูลูกตา เราเห็นชุมชน ผู้คน และเด็ก ๆ ของเขา กระโดดโลดเต้นเล่นน้ำ บ้างก็กำลังขับเรือเข้าฝั่ง
เราพบฝูงนกนางแอ่นโฉบบินอย่างเสรี เราเห็นฝูงปลาฝูงแล้วฝูงเล่า เริงร่าอยู่กลางทะเลกว้างใหญ่ ปลาหลายตัวตกใจเมื่อเราผ่านทาง กลับกระโดดพลาดตกลงบนเรือของเรา… เราปลาบปลื้มและตื้นตันใจอย่างที่สุด กับความน่ารักอ่อนโยนของฝูงโลมาสีชมพู ดำผุดดำว่ายรอบเรือเล็ก ๆ ของเรา เราเห็นสรรพสัตว์มากมายราวกับว่าพวกเขาคอยโบกมือ หยอกเย้า ส่งยิ้มให้เรามาตลอดเส้นทาง
และ…เราก็ได้เผชิญหน้ากับพลังอำนาจยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ คลื่นลมทะเลที่ซัดกระหน่ำ เราได้แต่ทอดตามอง น้ำทะเล ที่เราไม่อาจจับไว้บนฝ่ามือ กำลังฉีกเอาหินผา เสาปูน บ้านเรือน ต้มไม้ และทุกสิ่งอย่างที่ขวางหน้า กระจุยกระจายลงราวกับฉีกกระดาษ สุดที่มนุษย์ตัวเล็ก ๆ อย่างเราจะหาญกล้า ท้าทาย ขวางกั้น ล้มล้าง
ฉับพลัน… ที่เราเห็นร่องรอยความเจริญของเมืองหลวงอยู่ข้างหน้า และเร่งเรือเดินทางใกล้เข้ามา, เราพบแท่นเหล็กหย่อนปล่องลงสูบน้ำมันสีดำขึ้นจากก้นทะเล เราเห็นตึกรามตั้งเรียงรายหนาแน่นอยู่ริมฝั่งมากขึ้น เราเห็นเรือประมงขนาดยักษ์หยั่งปลายคันรุนเหล็กปักลงทะเล ใจของเราเริ่มเต้นรัว พร้อมคำถามว่า คันรุนเหล็กยักษ์แบบนี้ มีคำสั่งจากเมืองหลวง ให้เลิกใช้ และห้ามมีไว้ครอบครอง ไม่ใช่หรือ?
ฉับพลันเช่นกัน ที่สายน้ำและกลิ่นทะเลเปลี่ยนไป คราบเมือกเหนียวบนผิวน้ำลอยมาเกาะท้องเรือของเรา เหล่าสัตว์น้ำหนีหายไปทิ้งเรากับเรือ ล่องอยู่กลางทะเลเพียงลำพัง เราค่อย ๆ คลำหาร่องน้ำเข้าเทียบฝั่ง และได้มาพักค้างแรมที่นี่ เราได้ยินเจ้าของบ้านบอกเราว่า สายน้ำที่นี่เปลี่ยนไปแล้ว น้ำไม่ใสอย่างที่เคยเป็น กุ้งหอยปูปลา ดับสิ้น ทิ้งกลิ่นหนัก ๆ บูดดำเน่าเสียไว้รอบ ๆ บ้าน
เราเดินทางมาถึงที่นี่ และจะเดินทางต่อไปให้สุดทาง ตามที่พี่น้องของเราที่บ้านฝากความหวังไว้ เราหวังที่จะร่วมกู้คืนฝูงปลานานาชนิดกลับมา เราหวังจะเห็นตัวอ่อนสัตว์น้ำได้รับการคุ้มครอง เราหวังที่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อม ที่สะอาดดุจเดิม
เราขอขอบคุณอย่างสุดซึ้ง สำหรับอาหารและที่พักค้างแรมที่อบอุ่น แม้ว่าสรรพสิ่งดูเหมือนสิ้นหวังและรอยดำคล้ำ จะไม่มีวันจางหาย แต่เรายืนยันว่า ณ ที่เราเดินทางผ่านมา ยังมีความหวัง ยังมีสายน้ำใสสะอาด มีปลาแหวกว่าย มีหาดทรายขาว ยังมีทุกสิ่งอย่างที่เหลืออยู่ เพียงพอให้เราไม่ยอมแพ้
ในวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ ณ ริมคลองโกรกกราก จ.สมุทรสาคร เรามีแค่คำแถลงเรียบง่ายนี้ ด้วยความเชื่อมั่นว่า เราทั้งหลายไม่อาจทำความรู้จักธรรมชาติ สิ่งรอบตัวเราได้จนหมดสิ้น และไม่ควรอาจหาญควบคุมจัดการสิ่งแวดล้อมไว้ในมือเรา เราอาจทำได้ดีที่สุดคือ การควบคุม ออกแบบ การกระทำของเราเองเท่านั้น
จากที่แห่งนี้ เราจะเดินทางต่อไปเพื่อนำเรือแห่งความหวัง เข้าเทียบท่า ณ สัมปายะสถาน รัฐสภา เพื่อยื่นข้อเสนอ ต่อ ผู้นำ และเหล่าผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ ทั้งโลกและทั้งเราที่เป็นมนุษย์ ไม่อาจดำรงอยู่ได้เพียงลำพัง ความหวัง…ขอจงยังอยู่กับเรา
ร่วมทวงคืนน้ำพริกปลาทูกลับคืนมา ร่วมกันหยุดจับ หยุดซื้อ หยุดขายสัตว์น้ำวัยอ่อนทะเลไทย ร่วมกันพิทักษ์รักษาฟื้นฟูธรรมชาติแวดล้อมของทุกถิ่นที่ โลกยังมอบความหวังให้เราเสมอ ด้วยความเคารพต่อธรรมชาติและสรรพสิ่ง ๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ ณ ริมคลองโกรกกราก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร” แถลงการณ์ ระบุ

6. Beach For Life จัดเวทีรณรงค์ “กำแพงกันคลื่น” ที่สุราษฏร์
เครือข่ายสิ่งแวดล้อมภาคประชาชน ร่วมกับกลุ่มรณรงค์พิทักษ์สิ่งแวดล้อมชายหาด “Beach For Life” จัดกิจกรรม “World Environment Day แลเลแลหาด ร่วมปกป้องหาดดอนทะเล จังหวัดสุราษฏร์ธานี” เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นสาธารณะในประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็น “การมีส่วนร่วมของชุมชน อีไอเอ กับโครงการกำแพงกันคลื่นของหน่วยงานภาครัฐ” (ชมเวทีย้อนหลัง)

7. ซีพีประกาศย้ำ “เป้าลดคาร์บอน 7พันตันต่อปีผ่านเซเว่นฯ”
“เนื่องด้วยในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 2565 นี้ได้มีการกำหนดให้ “Only One Earth” (ปกป้องโลกใบเดียวของพวกเรา) เป็นคำขวัญของวันสิ่งแวดล้อมโลก
ซีพี ออลล์ จึงเดินหน้าตามเจตนารมณ์ในการเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยเร่งส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมด้านการขนส่งและการกระจายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการจัดการพลังงานผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งและออกแบบศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อโลกของเรา ภายใต้กลยุทธ์ GREEN Logistics โลจิสติกส์เพื่อสิ่งแวดล้อม
โดยตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา ศูนย์กระจายสินค้าของ เซเว่น อีเลฟเว่น สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศได้กว่า 6,600 ตันคาร์บอนไดออกไซด์หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กว่า 150,000 ต้น/ปี และในปี 2565 ได้ตั้งเป้าในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7,196 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ กว่า 165,00 ต้น/ปี
ซีพี ออลล์ ตระหนักถึงความสำคัญและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ พร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมต่อชุมชนและประเทศชาติ ด้วยปณิธาน “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” เพื่อโลกที่สวยงามของเรา” ยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น กล่าว

8. ปตท. ประกาศชู 7 โครงการปั้มน้ำมันสีเขียว
“ต้อนรับวันสิ่งแวดล้อมโลก 2022 ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี หนึ่งในวันสำคัญของโลกใบนี้ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของผู้คนนับล้านทั่วทุกมุมโลก โดยปีนี้ทั่วทุกประเทศต่างพร้อมใจออกมารณรงค์วันสิ่งแวดล้อมโลกร่วมกัน ภายใต้สโลแกน Only One Earth (หนึ่งเดียวในโลก)
และพร้อมเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและทางเลือกต่างๆ เพื่อให้มีชีวิตที่สะอาดขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยั่งยืนสอดรับกับธรรมชาติ เฉกเช่นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปกป้องรักษาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะหากทั่วโลกระดมพลังร่วมแรงร่วมใจกันอย่างต่อเนื่องก็จะนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ยั่งยืนได้ แต่ใช่ว่าการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เห็นผลไม่ได้ทำได้เพียงในระยะเวลาสั้นๆ
ซึ่งที่ PTT Station (พีทีที สเตชั่น) ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ผู้นําธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ ผ่านสินค้าและบริการที่ครบครัน รวมทั้งพลังงานทางเลือกที่เป็นผู้ริเริ่มการจําหน่ายและให้บริการมาโดยตลอด กลับมองว่า “การรักษ์สิ่งแวดล้อมทำได้ในทุกวัน” และการบริหารธุรกิจก็มิใช่เพียงการโฟกัสไปยังมูลค่าด้านตัวเลข แต่เป็นการส่งต่อคุณค่าที่ยิ่งใหญ่กว่าด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเสมอ และส่งเสริมชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจ ได้มุ่งมั่นใส่ใจและพร้อมดูแล เติมเต็มให้สิ่งแวดล้อม จึงได้สร้างสรรค์โครงการด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก ภายใต้แนวคิด “Living Community” เติมเต็มให้สิ่งแวดล้อม โดยสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปได้มากมาย นับตั้งแต่เปิดโครงการมา
เนื่องในโอกาสพิเศษเช่นนี้ วันนี้จะพาไปสำรวจ 7 โครงการด้านสิ่งแวดล้อมของ พีทีที สเตชั่น คือ “EV Station Pluz” สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า“Solar Rooftop” แหล่งพลังงานสะอาดของ PTT Station “แยก แลก ยิ้ม” สร้างสุขกับการแยกขยะ ณ PTT Station ทั่วประเทศ “ฃวดแลกยิ้ม” ตู้รับคืนขวดพลาสติก จุดประกายให้ผู้คนหันมาแยกขยะมากยิ่งขึ้น “พลาสติก (คืน) สุข” สู่การอัพรีไซเคิลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
ด้านโครงการพลาสติก(คืน)สุข “Bio Product” วัสดุย่อยสลายง่ายมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในร้านค้า “Zero Waste” แปลงขยะใน พีทีที สเตชั่น เป็นรายได้แก่ชุมชน” ประชาสัมพันธ์ ปตท. กล่าว

9. SCG ย้ำ “ทิศ ESG รักษ์โลก-ยั่งยืน” -ดัน “Green Meeting”
“โลกถูกใช้งานทุกวัน ทรัพยากรอาจหมดลงทุกที ทำไง!! ให้มีใช้ถึงคนรุ่นต่อไป ชวนดู ’ฮาวทูใช้’ ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า แบบ ‘Green Meeting’ ในการประชุม APEC 2022 Thailand นอกจากได้วาระขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังเป็นมิตรต่อโลกด้วย
5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ มาร่วมสร้างสิ่งดี ๆ เพื่อโลกด้วยกัน
ESG 4 Plus – แนวทางการดำเนินธุรกิจ SCG กู้วิกฤต เพื่อโลกยั่งยืน
- มุ่งNetZeroปี2050 ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือก, ลงทุน R&D ใน Deep Technology อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI Supervisory for Energy Analytics) และเตรียมทดลองนำร่องใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, สร้างฝายชะลอน้ำ คืนสมดุลป่าและปลูกต้นไม้ 3 ล้านไร่ เพื่อดูดซับ CO₂
- GoGreen เพิ่มนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมให้เรารักษ์โลก ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ฉลาก SCG Green Choice เป็น 2 เท่าจากร้อยละ 32 เป็นร้อยละ 67 ภายในปี 2030 และตั้งบริษัท SCG Cleanergy ให้บริการโซลูชันผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนทั้งแสงอาทิตย์และลม ทั้งในไทยและต่างประเทศ
- Leanเหลื่อมล้ำ พัฒนาทักษะและอาชีพที่ตลาดต้องการให้ชุมชนและ SMEs 20,000 คน ภายในปี 2025
- #ย้ำร่วมมือ สร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับหน่วยงานระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก เพื่อขับเคลื่อน ESG
และPlusความเป็นธรรมและโปร่งใส ในทุกการดำเนินงาน” SCG กล่าว