Green Opinion : ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์
“เป๋นดีเงิบ” กับการตอกลิ่มอคติทางชาติพันธุ์ และสภาวะฉุกเฉินของ “สิทธิชุมชนคนกับป่า” : กรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง จังหวัดลำปาง กับข่าวขบวนการลักลอบตัดไม้

“นี่หรือ ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
นายทุนเข้ามาลักลอบตัดไม้ประดู่ ในเขตป่าบ้านกลาง ผมและชาวบ้านเข้าไปตรวจสอบและแจ้งให้ป่าไม้
ป่าสงวน บอกเป็นเขตอุทยาน พอแจ้งอุทยาน กลับบอกเขตป่าสงวน ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเขา
เคราะห์กรรมเลยตกที่ชาวบ้าน การรักษาป่าของชาวบ้านดีเกินไป มีต้นไม้ใหญ่ที่มีค่า ทำให้เกิดความสนใจของนายทุน”
ถ้อยประโยคข้างต้น คือเสียงของคนบ้านกลาง ที่รายงานสถานการณ์ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ว่าพบขบวนการลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่าชุมชน พบหลักฐานเป็นท่อนไม้ประดู่ขนาดใหญ่ แต่กลับเกิดเหตุการณ์ความ “เป๋นดีเงิบ” ตามมา
ประโยคข้างต้นสามารถช่วยสะท้อนประเด็นน่าสนใจได้อย่างน้อยใน 3 ประเด็น

ประเด็นแรก รัฐผู้เข้มงวดกับชีวิตประจำวันของชาวบ้าน แต่มักมึนเบลอ ไม่เคยเจอขบวนการลักลอบตัดฟันไม้
เมื่อชาวบ้านแจ้งไปยังหน่วยงานระดับพื้นที่ กลับถูกบ่ายเบี่ยง ไม่ชัดเจนว่าเป็นจะพื้นที่รับผิดชอบของใคร ระหว่างหน่วยงานกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ ทั้งที่ต่างก็คือหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สร้างความฉงนเคว้งคว้างแก่ชาวบ้าน ทั้งที่มีความพยายามอยากประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อมาทั้งชาวบ้านได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบพื้นที่ค้นหาเบาะแสของผู้กระทำผิด
เหตุการณ์ลักษณะนี้มิใช่เกิดขึ้นครั้งแรก
ย้อนไปไม่ไกลนักช่วงปี 2557 ชุมชนเคยรวมตัวกันต่อต้านกลุ่มอิทธิพลที่เข้ามาลักลอบตัดไม้ และสุดท้าย ไม่สามารถจับกุมคนผิดได้
จึงไม่แปลก ที่ชาวบ้านจะตั้งคำถามว่า เหตุใดอำนาจรัฐที่มีทั้งงบประมาณ อาวุธ และกฎหมายในมือ แต่ไม่สามารถจับนายทุนที่ทั้งตัดทั้งขนไม้ไม่ได้แม้แต่ครั้งเดียว จึงไม่แปลก หากคนในชุมชนจะไม่เชื่อมั่นให้หน่วยงานรัฐผูกขาดอำนาจการดูแลป่า

ประเด็นที่สอง จากผู้เป็นหูเป็นตาตรวจสอบ กลายเป็นผู้รู้เห็นเป็นใจ (เฉยเลย)
ภายหลังเสร็จสิ้นการร่วมลาดตระเวนร่วมกันของชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐ ไม่กี่วันต่อมา กลับมีสื่อลงข่าว พาดหัวข่าวด้วยถ้อยคำที่พยายามกล่าวโทษไปที่ชาวบ้านและผู้นำชุมชม ดังกับว่าเป็นผู้รู้เห็นเป็นใจกับขบวนการดังกล่าว จนคนในชุมชนได้ออกมาถามหาจรรยาบรรณความรับผิดชอบของนักข่าว และเรียกร้องให้มีการชี้แจงแก้ไขข่าวให้ถูกต้อง
เราจึงต้องตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงมีข่าวที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง เหตุใดจึงไม่ช่วยแสวงหาความจริงเชิงลึก หรือเหตุใดไม่โฟกัสไปที่ปัญหาขบวนการลักลอบตัดไม้ หรือแม้แต่การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข่าวที่สร้างภาพลบให้กับชุมชนอย่างไม่เป็นธรรมเช่นนี้ กำลังรับใช้สิ่งใดหรือใครได้ประโยชน์ แต่มันมักจะประสบความสำเร็จในการตอกย้ำอคติทางสังคมที่มีต่อชุมชนในป่า โดยเฉพาะกับชุมชมชาติพันธุ์ ที่มักต้องตกเป็นจำเลยขาประจำเสมอ ไม่ว่าจะอาชญากรรม ป่าหาย น้ำท่วม น้ำแล้ง ฝุ่นควันจนถึงโลกร้อน ดังว่า อะหยังก็เฮาเนี้ย !
เราจำเป็นต้องตั้งคำถามต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งในระดับพื้นที่และในระดับโยบาย โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เรื่องนี้ทำให้เราเข้าใจว่า เหตุใดชุมชนจึงไม่ไว้วางใจภาครัฐ ในการพยายามอ้างใช้กฎหมายครอบครองอำนาจเหนือผืนป่าแต่เพียงฝ่ายเดียว และเหตุใดเราจึงต้องเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎหมาย กลไกระบบการดูแลจัดการป่า ด้วยการกระจายอำนาจที่หลากหลาย เหมาะสมกับบริบทอันแตกต่างของทุกภูมิภาค โดยมีชุมชนท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญ และมีกลไกสาธารณะมีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบ

ประเด็นที่สาม สิทธิชุมชนกำลังเผชิญอำนาจจัดการป่าโดยรัฐที่เขม็งเกลียวเต็มที่อีกครั้งหนึ่ง มีส่วนสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับการรับรู้ของผู้คนในสังคม ที่เป็นผลจากผลิตซ้ำและตอกย้ำอคติ ที่ให้ภาพเชิงลบกับชุมชนชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่กับป่า
คนบ้านกลางกำลังเผชิญกับการถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งข้อมูลจากภาครัฐระบุ ว่ามีพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ จำนวน 22 แห่ง เนื้อที่ราว 4,000,000 ล้านไร่
ในส่วนของชุมชนบ้านกลางนั้น เป็นเป้าหมายของการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จังหวัดลำปาง มาตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภองาว อำเภอแม่เมาะและอำเภอแจ้ห่ม เป็นเนื้อที่ประมาณ 780,000 ไร่
แต่ยังไม่สามารถประกาศได้ เนื่องจากชาวบ้านได้คัดค้านมาโดยตลอด เนื่องจากปัญหาของกฎหมายอุทยานแห่งชาติในอดีต และยิ่งฉบับใหม่ล่าสุด ปี 2562 จากต้นธารอำนาจ คสช. ที่กำลังบังคับใช้ขณะนี้ ที่จะส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตชุมชนคนกับป่าขนานใหญ่

เมื่อย้อนดูข้อมูลประวัติศาสตร์สำคัญของพื้นที่ ยิ่งทำให้เราเข้าใจได้ไม่ยากถึงความคับแค้นของคนในชุมชน และความพยายามต่อสู้เรียกร้องสิทธิคนกับป่ามาอย่างยาวนานนับสามทศวรรษ พื้นที่บ้านกลางผ่านการถูกนโยบายให้สัมปทานป่าในอดีตถึง 3 ระลอก
ในช่วง พ.ศ.2493-2531 แม้ภายหลังรัฐจะประกาศยุติการให้สัมปทาน แต่ชุมชนยังเผชิญปัญหาขบวนการลักลอบตัดไม้เถื่อนของกลุ่มอิทธิพล สภาพความเสื่อมโทรมของป่าหลังยุคสัมปทาน และตามมาด้วยนโยบายประกาศป่าอนุรักษ์ของรัฐที่พยายาม “ไล่คนออกจากป่า” ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
จนเกิดขบวนการทางสังคมคัดค้านการอพยพชุมชนดั้งเดิมออกจากป่า ผลักดันรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิชุมชนให้เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
เป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบในการสร้างนวัตกรรมระบบสิทธิร่วม “โฉนดชุมชน” ในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ
เป็นหนึ่งใน “พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษทางชาติพันธุ์” ที่มี “ป่าจิตวิญญาณ” และนิเวศ “ไร่หมุนเวียน” อันเป็นระบบสำคัญในการรักษาสมดุลป่าที่พิสูจน์มายาวนาน เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว พ.ศ.2556 อีกสิ่งที่ยืนยันความเป็นชุมชนผู้อนุรักษ์ผืนป่า
แต่เรื่องราวที่ต้องให้การยอมรับโดยรัฐ และสร้างความรับรู้ต่อสังคมกลับไม่เกิดขึ้น ศักยภาพที่โดดเด่นของบ้านกลาง คือระบบการดูแลจัดการพื้นที่ป่ากว่า 23,000 ไร่ ซึ่งใช้พื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเพียง 10% ส่วนในทุกช่วงฤดูแล้งต้องเสี่ยงชีวิตในการรับผิดชอบดูแลจัดการแนวกันไฟระยะทางกว่า 36 กิโลเมตร
เป็นหนึ่งในพื้นที่รูปธรรมที่ปรับใช้สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ที่เห็นชอบแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง แต่รัฐไม่สร้างรูปธรรมการแก้ไขปัญหา และได้ร่วมผลักดัน พ.ร.บ.ด้านชาติพันธุ์-ชนเผ่าพื้นเมืองในกลไกรัฐสภาปัจจุบัน

ก็เป๋นดีเงิบ ที่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มากว่ายี่สิบแล้ว ยังมีคนจงใจมองไม่เห็นชีวิตของชุมชนเหล่านี้ ทั้งที่คือหนึ่งในฐานะ “ผู้ดูแลป่า” ที่อยู่นอกตัวเลขงบประมาณประเทศ ไร้เงินเดือนประจำตำแหน่งและไม่มีหัวโขนสังกัดหน่วยใด
และจนแล้วจนเล่า การรักษาป่าที่ดีเกินไปกลับไม่ได้ส่งผลที่เป็นคุณกับชุมชน แต่กลับถูกยัดเยียดข้อหาทางสังคมให้เป็นผู้บ่อนทำลายอยู่ร่ำไป ตกเป็นเป้าหมายของ “ความคิดสีเขียวแบบไทย ๆ” ที่มุ่งปกครองพื้นที่ มากกว่าปกป้องชีวิตและสิทธิชุมชนชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยมาก่อน และการดิ้นรนต่อสู้กับการถูกแย่งยึดวิถีชีวิต และพรากศักดิ์ศรีความคนยังคงดำเนินต่อไป
หากจะบอกว่า นี่คือสภาวะฉุกเฉินของสิทธิชุมชนคนกับป่าก็คงไม่ผิด เพราะหากเดินเข้าสู่อาณาเขต “ความเป็นอุทยานแห่งชาติแบบไทยๆ” หนนี้ อำนาจสิทธิชุมชนที่พวกเขาได้ร่วมสถาปนามาคงถูกปิดสวิตซ์ลง และจิตวิญญาณที่เคยเป็นหนึ่งเดียวกับผืนป่าคงหลงเหลือแต่เพียงกายา ที่ต้องยอมเฉือนเรือนร่างตัวเองให้ลงกล่องโครงการของอำนาจบงการ
ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์
นักวิชาการอิสระ ผู้นิยามตัวเองว่า “แรงงานโลกทุนนิยม ที่ยังพัวพันวิชาการและปัญหาของผู้คน”