GreenDocumentary : บ้านไผ่ อุทกภัยในความทับซ้อนของปัญหา
สารคดีสั้น ส่องความเปราะบาง กลางเหตุการณ์จริง “มหาอุทกภัย สิงหา 62”
นอกจากความเสียหาย-การสูญเสียของคนเกือบ 1,500 ใน 26 ชุมชน(ในบ้านไผ่) และความเสียหายมูลค่าราว 8,000 ล้านบาท (ในเส้นทางมรสุมพาดผ่านภาคอีสาน)
กลุ่มนักวิชาการพยายามมองหาโมเดลการรับมือ
หลายหน่วยงานรัฐพยายามหาทางจัดการเมืองตามอำนาจหน้าที่ในมือ
คนทำสารคดี “ปรีชา ศรีสุวรรณ” ซูมภาพไปยังกลุ่มคนเปราะบาง ที่ทุกวันนี้ยังคงต้องอยู่กับความเปราะบาง อย่างห่างไกลจากคำว่า “ชีวิตที่มั่นคง”
บ้านไผ่ อุทกภัยในความทับซ้อนของปัญหา
จากเหตุการณ์พายุ “โพดุล”เคลื่อนตัวผ่านประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ทำให้เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้หลายหลายจังหวัดได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนั้น ประเมินความเสียหายได้ประมาณ 8,000 ล้านบาท เป็นความเสียหายในภาคเกษตรและภาคธุรกิจการค้ารวมทั้งทรัพย์สินที่ได้สูญเสียไปกับภัยพิบัติอุทกภัยในครั้งนั้น
อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ระดับน้ำท่วมสูงถึง 6 เมตรในชุมชนเมือง จากการสำรวจพบว่าชุมชนที่ตั้งอยู่ติดกับเส้นทางน้ำ ได้รับผลกระทบมากที่สุด และในนั้นพบว่ากลุ่มคนเปราะบาง คือ เด็ก ผู้หญิง คนชรา คนพิการ คนจนเมือง รวมทั้งกลุ่มแรงงานรับจ้างทั่วไปในชุมชนได้รับความเดือดร้อนหนัก เนื่องจากขาดการเตรียมความพร้อมไว้รองรับ อีกทั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบไม่สามารถประเมินผลกระทบล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ
จากการศึกษาของทีมนักวิชาการพบว่าผังเมืองมีความเชื่อมโยงกับปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมา รวมทั้งที่อยู่อาศัยในชุมชนเมืองที่ตั้งอยู่หนาแน่นชิดเส้นทางน้ำทำให้การไหลของน้ำติดขัดไม่สามารถไหลแบบปกติได้ จนทำให้น้ำมีระดับขึ้นสูงหลายเท่าตัว และระบายออกได้ช้าเพราะเส้นทางน้ำถูกขวางกั้นด้วยโครงสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ แทนพื้นที่น้ำหลากเดิมที่เคยมีมาในอดีต นักวิชาการมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขโดยหลายหน่วยงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ต่างกันไป แต่กลับพบว่ากฎหมายของแต่ละหน่วยงานไม่ประสานไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเป็นอย่างยิ่ง
เหตุการณ์อุทกภัยใน อ.บ้านไผ่ที่ผ่านมาทำให้เกิดผลกระทบกับ 26 ชุมชน และมี 1,448 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักคือกลุ่มคนจนเมืองในชุมชนริมน้ำ จึงทำให้นักวิชาการได้วางแผนออกแบบแก้ปัญหาร่วมกันโดยใช้พื้นที่บ้านไผ่เป็นโมเดลศึกษา เพื่อลดผลกระทบในวิกฤตครั้งต่อไปและสามารถเตรียมความพร้อมจัดการปัญหาเบื้องต้นได้ จากการลงพื้นที่ศึกษายังได้พบว่ามีโครงสร้างปัญหาทับซ้อนกันอยู่หลายมิติ ทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาเมืองในด้านการคมนาคม และกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาภัยพิบัติ โครงการวิจัยในครั้งนี้จึงได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและที่สำคัญคือชาวชุมชนผู้มีส่วนได้เสียกับตัวปัญหาอย่างชัดเจน
ขอขอบคุณทีมนักวิจัยในโครงการ Participatory Flood Risk Management: A Case for Policy Implication from Ban Phai Municipality Thailand (2021-2022) ชาวชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับการนำเสนอเนื้อหาในครั้งนี้ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย Sumernet

Ban Phai Municipal – Flooding upon Overlap Complications
In August 2019, the tropical storm “Podul” pushed across northeastern region of Thailand, causing the flash floods that resulted in intensely loss of approximately 8,000 million baht or 250 million USD. The agricultural sector, commercial sector, and personal property were altogether damaged. Ban Phai District at Khon Kaen Province was one of the most affected area. The flood levels heighted up to 6 meters in urban communities, which the communities located nearby the waterways were the most affected zones. The vulnerable groups such as children, women, the elderly, the disabled, the urban poor, and the community general laborers were suffered horrifically due to lack of preparation, supports, and inaccurate beforehand impact assess from the responsible agencies.
The studies from of academicians found that the city plan was linked to the past flooding problems. Due to the fact that people in urban communities are housing densely nearby the waterways, causing the flow of water to be stuck and unable to flow normally. This results the water level to be risen totally higher than usual and can be drained slowly because the water path is blocked by various infrastructures instead of the same old past immerse flooding passage. The academicians view the mentioned complication as an important issue that must be solved correlatively by many agencies with different authority. Unsuccessfully, they discovered that the laws of each agency do not coordinate in the same direction. As a consequence, this becomes a huge obstacle in solving problems.
The past flooding in Ban Phai district affected 26 communities and 1,448 households. The urban poor in the waterfront communities received the hardest hits. Hence, the academicians have planned to design the solutions by using Ban Phai area as a study model site in order to reduce the impact of the next crisis and to be able to prepare to deal with the initial problems according to the disaster. The field studies point out that there are many overlapping complications including social, economic, and urban development in terms of transportation and laws of agencies structures. This research project therefore emphasizes the participation of all relevant agencies and, most importantly, the community stakeholders who are precisely relate to the occurrences and consequences.
Many thanks to all the academicians from the project of Participatory Flood Risk Management: A Case for Policy Implication from Ban Phai Municipality Thailand (2021-2022), the community information providers, and all relevant agencies. Special thank you to the Sustainable Mekong Research Network (SUMERNET) for the supports of researches and media productions.







