GreenOpinion : สมบูรณ์ คำแหง

สถานการณ์ Satun Geopark
อุทยานธรณีโลกสตูลได้รับรองเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง อำเภอละงู และอำเภอเมืองเฉพาะ (อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา) รวมเป็นพื้นที่ 2,597 ตารางกิโลเมตร
มีความโดดเด่นจากภูเขาสู่ท้องทะเล โซนภูเขาโดดเด่นภูมิประเทศแบบคาสต์ (karst topography) ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวได้แก่ ถ้ำภูผาเพชร ถ้ำอุไรทอง ถ้ำทะลุ น้ำตกวังสายทอง และ โซนหมู่เกาะทางทะเลที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ได้แก่ เกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหินซ้อน จุดดำน้ำร่องน้ำจาบัง เป็นต้น ทำให้พื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
และเป็นที่ประจักษ์ว่าผืนดินแห่งนี้มีบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตยุคเก่าอันเกิดจากการสร้างแหล่งออกซิเจนให้กับโลกในช่วงเวลานั้น
ต่อมาเมื่อมีการยกตัวของเปลือกโลกก่อเกิดเป็นเทือกเขาและถ้ำ ซึ่งได้กลายเป็นบ้านหลังแรกของมนุษย์โบราณจนมาถึงยุคปัจจุบัน ที่ยังมีผู้คนดำรงชีวิตในพื้นที่แห่งนี้ภายใต้การพึ่งพาฐานทรัพยากรอันทรงคุณค่า และก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ดังวาทกรรมที่ว่า “อุทยานธรณีโลกสตูล อุทยานธรณีโลกของยูเนสโกแห่งแรกของประเทศไทย จากผืนทะเล 500 ล้านปี สู่ขุนคีรียิ่งใหญ่ ผูกพันวิถีชีวิตผู้คน เดินตามแนวทางอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก”

บทบาทที่คาดหวังของ “จังหวัด”
บทบาทหน้าที่ของจังหวัดสตูล หลังจากการได้รับรองให้เป็น “เมืองอุทยานธรณีโลก” อย่ายน้อย 3 ประการ คือ
ส่งเสริมงานศึกษาวิจัยเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับพื้นที่ ด้วยเพราะผืนดินแห่งนี้มีบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตยุคเก่า อันเกิดจากแหล่งที่สร้างออกซิเจนให้กับโลกในช่วงเวลานั้น
ดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโก (SDGs) เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่นได้ผลิตสินค้าที่เกิดจากภูมิปัญญาดั่งเดิมมาประยุกต์กับวัตถุดิบในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูลและสร้างความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ทาให้ผู้คนในพื้นที่อุทยานธรณีมีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยวเชิงธรณี โดยให้ชุมชนอุทยานธรณีโลกสตูลถูกใช้ประโยชน์เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยาและซากดึกดาบรรพ์ นิเวศวิทยา โบราณคดี เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่มีความสำคัญของคนทั้งโลก

นโยบายที่ไร้ทิศทาง กลางแรงผลักดันสัมปทานเหมืองหิน
ในขณะที่นโยบายการพัฒนาความเป็นเมืองอุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูลดำเนินไปอย่างไร้ทิศทาง ซึ่งไม่ได้ใช้โอกาสดังกล่าวสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ของพื้นที่และประชาชนส่วนรวมตามแนวทางเบื้องต้น ที่สะท้อนออกมาในหลายมิติ ทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน การใช้งบประมาณและระบบบริหารจัดการแหล่งธรณีวิทยาที่ยังไม่มีความโดดเด่นมากพอ ถือเป็นจุดอ่อนที่จะต้องหาทางแก้ไขเร่งด่วน
แต่ที่มากไปกว่านั้นคือการปล่อยให้ผู้ประกอบการสามารถขออนุญาตการใช้แหล่งแร่หินอย่างไร้การควบคุม และแทบจะไม่ได้อยู่ในความสนใจต่อความเป็นเมืองอุทยานธรณีระดับโลกแต่อย่างใด หลักฐานประจักษ์ชัดต่อเรื่องนี้อยู่ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ที่กำลังดำเนินการตามขั้นตอนกฏหมายที่ตนมีอำนาจอนุญาตให้กลุ่มทุนต่างๆสามารถสัมปทานแหล่งหิน (ระเบิดหินอุตสาหกรรม) ในจังหวัดสตูล คราวเดียวกันถึง 3 ลูก(ภูเขา) ดังนี้
เขาลูกเล็กลูกใหญ่ อำเภอทุ่งหว้า (EIA. และการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าจากรมป่าไม้ผ่านแล้ว)
เขาจูหนุงนุ้ย อำเภอละงู (กำลังรังวัดพื้นที่ขอประทานบัตร)
เขาโต๊ะกรัง คาบเกี่ยวระหว่างอำเภอควนโดน-อำเภอควนกาหลง (EIA. เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชำนาญการฯ(อชก.) ที่กำกับเรื่องการทำอีไอเอไปแล้ว 1 ครั้ง และอยู่ระหว่างการปรับแก้เอกสาร)
เป็นที่ทราบกันดีกว่า ในกระบวนการดำเนินการดังกล่าวศึกษาอีไอเอของเขาลูกเล็กลูกใหญ่ และเขาโต๊ะกรัง มีปัญหาและมีข้อร้องเรียนของประชาชนหลายครั้งด้วยกัน อันเห็นได้ถึงความพยายามที่จะรวบรัดขั้นตอน และการปิดการการแสดงออกของประชาชนที่เห็นต่าง อันถือเป็นมีความมิชอบในการดำเนินการโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบที่เห็นได้ชัดเจน
ซึ่งมีการทำหนังสือร้องเรียนไปอย่างเป็นทางการผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลในขณะนั้น แต่ที่มากไปกว่านั้นคือความไม่เข้าใจต่อนโยบายของจังหวัดสตูลต่อความเป็นเมืองอุทยานธรณีระดับโลก ที่ควรเห็นคุณค่าแก่การอนุรักษ์ หรือส่งเสริมให้มีการสำรวจศึกษาแหล่งหินอื่น ๆ ในภาพรวมของจังหวัดเสียก่อน แต่กลับปล่อยให้มีบริษัทเอกชนเข้ามาขอสัมปทานแหล่งหินได้อย่างปกติทั่วไป เสมือนไม่ได้ให้ความหมายสำคัญตามแนวทางที่ให้ไว้กับองค์การยูเนสโกที่กล่าวไว้เบื้องต้น

5 ข้อสังเกตุ
ข้อสังเกตุสำคัญต่อการสัมปทานแหล่งหินทั้ง 3 พื้นที่
1. โครงการสัมปทานเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่มีบริษัทสตูลไมน์นิ่ง จำกัด เป็นผู้ขอสัมปทาน ทราบว่าปัจจุบัน โครงการได้รับอนุมัติผลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA. และการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าจากกรมป่าไม้แล้ว
แต่มีข้อสงสัยถึงการอนุมัติดังกล่าวทั้ง 2 เรื่อง กล่าวคือ 1) ข้อร้องเรียนต่อความไม่ชอบในกระบวนการการศึกษาอีไอเอ ที่ชาวบ้านร้องเรียนไปหายไปไหน และคณะกรรมการชำนาญการฯ(อชก.)ได้รับข้อมูลนี้หรือไม่ 2) เอกสารการสำรวจของกรมป่าไม้ อันเป็นหลักฐานสำคัญสำหรับการอนุญาตหรือไม่อนุญาตนั้น มีความถูกต้องหรือไม่ เพราะในการสำรวจครั้งแรกที่มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้และผู้แทนชาวบ้านร่วมสำรวจด้วยกลับมีข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงกัน อย่างเช่น ในการสำรวจครั้งแรกพบว่าพื้นที่ป่าเขาลูกเล็กลูกใหญ่จัดเป็นป่า zone c ที่หากจะใช้ประโยชน์จะต้องเป็นมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น
2. พบว่าในพื้นที่ขอสัมปทานทั้งเขาลูกเล็กลูกใหญ่ และเขาโต๊ะกรัง มีสภาพเป็นป่าที่มีแหล่งน้ำซับซึม ซึ่งเข้าข่ายมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่ไม่สามารถอนุญาตให้ประทานบัตรได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ชาวบ้านพยายามนำเสนอผ่านเวทีหรือในการสำรวจไปแล้ว หากข้อเท็จจริงดังกล่าวหายไปไหนและถูกนำเข้าประกอบการพิจารณาในขั้นตอนของการทำอีไอเอ และการอนุมัติการใช้พื้นที่ป่าไม้ด้วยหรือไม่ ?
3. กรณีเขาลูกเล็กลูกใหญ่ อำเภอทุ่งหว้า ซึ่งเป็นป่ารอยต่อระหว่างจังหวัดตรัง พัทลุง และสตูล ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์มานิอาศัยอยู่นับร้อยชีวิต และเคยมีหลักฐานการสำรวจ (ภาพถ่าย) พบว่ามี “ทับ” หรือที่อยู่อาศัยของมานิในพื้นที่เขาลูกนี้ด้วย นั่นหมายถึงพื้นที่ป่าแห่งนี้คือถิ่นพำนักและดำรงชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ซึ่งเป็นชนเผ่ากลุ่มน้อยในพื้นที่จังหวัดสตูล ข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำอีไอเอและการอนุมิติการใช้พื้นที่ป่าด้วยหรือไม่อย่างไร ?
4. กรณีเขาโต๊ะกรัง พบว่าในกระบวนการดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA. ได้เคยมีการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่หลายครั้ง แต่กลับไม่มีการนำข้อร้องเรียนเหล่านั้นไปสู่การพิจารณาแต่อย่างใด
แม้แต่ครั้งล่าสุดที่มีการ(แอบ)จัดเวทีเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียสำคัญไม่ได้มีการรับแจ้งหรือเชิญเข้าร่วมแต่อย่างใด และไม่มีใครทราบด้วยซ้ำว่ามีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการของอีไอเอ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดอย่างหนัก
5. ความไม่ชัดเจนของนโยบายจังหวัดสตูล ต่อความเป็นเมืองอุทยานธรณีโลก ที่ไม่ควรปล่อยให้มีการขออนุญาตการสัมปทานแหล่งหินอย่างไร้ทิศทาง
เพราะในเรื่องนี้จังหวัดสามารถทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะกระทรวงฯที่ผลักดันให้จังหวัดสตูลเป็นเมืองอุทยานธรณีฯ และยังเป็นกระทรวงที่กำกับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรณีทั่วประเทศ เพื่อขอให้ละเว้นหรือทบทวนการใช้ประโยชน์แหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรมไว้ก่อน เพื่อทำการสำรวจศึกษาแหล่งธรณีวิทยาเพิ่มเติมอันจะเป็นไปตามแนวทางที่ให้ไว้กับองค์การยูเนสโก และถือเป็นอำนาจหน้าที่พึงกระทำได้ หาใช่ปล่อยให้มีการระเบิดทำลายกันอย่างง่ายดายดังเช่นที่เป็นอยู่
เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดสตูลจะจัดเวทีวันที่ 9 เมษายน 2565 เพื่อที่จะวิเคราะห์และวิพากษ์ถึงภัยคุกคามต่อเมืองอุทยานธรณีโลก และเพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อหาทางออกต่อเรื่องนี้ร่วมกัน และจะทำการรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดส่งให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับต่อไป
* สมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล