จากเทือกเขาตะนาวศรี เขาถูกอพยพตามนโยบายรัฐบาลลงมาอยู่ที่ “พุระกำ” เมื่อ 41 ปีก่อน เขาก้มหน้าก้มตา “ทำตาม” กัดฟันดิ้นรนจนครอบครัวลงตัว ประคับประคองจนลูกคนโตเรียนจบปริญญาตรี ได้ไปฝึกงานด้านเกษตรที่อิสราเอล และคนรองสุดท้องเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยหมาด ๆ
วันนี้พื้นที่หมู่บ้านของเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ผืนป่ามรดกโลกแก่งกระจาน” และรัฐบาลกำลังมีโครงการสร้างเขื่อน โครงการที่จะทำให้ทั้งหมู่บ้านกลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และพวกเขาต้องถูกอพยพอีกครั้ง จากที่เจ้าหน้าที่บอก
พวกเขารู้สึกอะไร คิดอะไร และจะทำอย่างไรต่อ? ทำไมคำพูด “กลับใปใจแผ่นดิน” ถึงหลุดออกมา?
พุธิตา ดอกพุฒ พาไปฟังเสียงครอบครัวกะเหรี่ยงพุระกำครอบครัวนี้ ในตอนที่สองของรายงานพิเศษ 2 ตอน จากราชบุรี ก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจเดินทางเข้ามากรุงเทพ เพื่อแสดงจุดยืนและร้องเรียนขอความเป็นธรรม วันพรุ่งนี้ (8 เม.ย.)

ต้นทางจาก “เทือกเขาตะนาวศรี-ใจแผ่นดิน”
“เขาบอกว่ามาอยู่ที่นี่ ลูกหลานจะได้เรียนหนังสือ เจ็บป่วยไม่ลำบาก”
แฮเคาะ กัวพู้ ชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอญอวัย 64 บ้านพุระกำ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เล่าย้อนเหตุการณ์เมื่อ 41 ปีก่อน วันที่พวกเขาถูกอพยพมาที่นี่
“มีตชด. (ตำรวจตระเวณชายแดน) มาเกลี้ยกล่อมให้เราย้ายจากห้วยจะเอวลงมาอยู่ที่พุระกำเมื่อราว ๆ ปี 2524 พร้อมกับอีก 40 กว่าครอบครัว หนึ่งในนั้นคือครอบครัวภรรยาผม ที่มาจากทางใจแผ่นดิน” คุณพ่อลูกห้าเล่า

“โอย มาอยู่ใหม่ ๆ ลำบากมาก ปีแรกไม่มีข้าวกิน ยุ้งข้าวอยู่ที่จะเอว ต้องกลับขึ้นไปเอา จะลำบากขนาดไหนล่ะ ต้องใช้เวลาเดิน 1 วันเต็มเพื่อไปถึงจะเอว ประมาณครึ่งทางของใจแผ่นดิน ผมยังจำทิศทางได้ดี
แปลงที่นี่ทำยากกว่าไร่หมุนเวียน มีแมลงเยอะ ต้องใส่ปุ๋ยอีก สมัยก่อนไม่ต้องใส่ปุ๋ย แมลงก็ไม่ค่อยมี
41 ปีจากวันที่อพยพลงมาเริ่มต้นจากศูนย์ ผมสร้างครอบครัวกับภรรยา และเลี้ยงดูลูก ๆ ให้เติบโตมาได้จนตอนนี้ ลูกหลานบางคนแยกย้ายไปใช้ชีวิตในเมือง บางคนตั้งใจกลับมาอยู่กับครอบครัวที่พุระกำ” เขาเล่าด้วยภาษาไทยกลางสำเนียงกะเหรี่ยง
วุฒิ บุญเลิศ นักประวัติศาสตร์กะเหรี่ยง กล่าวว่า แต่เดิมบรรพบุรุษของกะเหรี่ยงพุระกำมีถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่บนเทือกเขาตระนาวศรี ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ เมื่อรัฐเริ่มเข้ามาควบคุมความมั่นคงชายแดน พวกเขาจึงต้องลงมาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านตามที่รัฐจัดสรรให้ บางส่วนลงไปทางเพชรบุรี เป็นบ้านบางกลอย บางส่วนลงมาทางราชบุรีเป็นหมู่บ้านพุระกำ
หมู่บ้านพุระกำถูกจัดสรรไว้กลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ที่มีกฎห้ามล่าสัตว์ และห้ามรุกที่ป่าอย่างเคร่งครัด ทำให้การดำเนินวิถีชีวิตแบบปกาเกอญอดั้งเดิม ที่มีการพึ่งพาใช้ประโยชน์จากป่า และทำไร่หมุนเวียน เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป
ชีวิตที่พุระกำจึงต่างจากที่จะเอวมาก ภูมิปัญญาตกทอดจากบรรพบุรุษที่ใช้ในการทำไร่หมุนเวียน ก็ใช้ไม่ได้กับการทำเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวซ้ำ ๆ ในแปลงเดิม ต่างจากการทำไร่หมุนเวียนที่สร้างผลผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือน และปล่อยให้ป่าพักฟื้นด้วยตัวเอง

ชีวิต “ลงตัวและดี” ที่พุระกำ
“เราต้องส่งตัวเองเรียน ช่วงมหาวิทยาลัยก็เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย พี่ชายเรียนเกษตรแล้ว เราก็เลยเรียนรัฐศาสตร์เพราะอยากกลับมารับราชการใกล้ ๆ บ้าน
ตอนเด็ก ๆ ต้องเดินไปเรียน 7 กิโลทุกวันค่ะ ข้ามแม่น้ำไป แล้วเราก็เคยไม่สบาย แต่โชคดีที่ได้เป็นคนไข้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ผ่าตัดหัวใจตอน 3 ขวบ น้องชายก็เป็นเด็กดาวน์ เพราะพระองค์เลยได้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ เราก็เลยพยายามใช้ชีวิตอย่างดี” มิแน๊ะ หรือ จันทกร กัวพู้ หญิงสาววัย 25 ปี ลูกคนรองสุดท้องของแฮเคาะ บัณฑิตรัฐศาสตร์จบใหม่เล่า
มิแน๊ะเล่าว่า พี่ชายคนโตของเธอ สงคาร กัวพู้ หรือ เผือก วัย 34 ปี เป็นนักเรียนทุนในพระบรมราชานุเคราะห์ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาจนจบปริญญาตรีด้านการเกษตร และมีโอกาสไปฝึกงานประเทศอิสราเอลขณะเป็นนักศึกษาอีกด้วย
หลังจากจบการศึกษาและไปทำงานเก็บเงินเป็นนักวิชาการเกษตรอยู่ 2 ปี เขานำเงินก้อนนั้นกลับมาสร้างตัวที่บ้าน ปัจจุบันกำลังทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลอดสารพิษ นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาประยุกต์ใช้กับสวนกว่า 10 ไร่ของพ่อเขา ที่แต่เดิมทำเกษตรเชิงเดี่ยว

“ไม่เคยมีปีไหนต้องอดเลย”
แฮเคาะตอบเมื่อถามถึงข้าว เขาพาเราไปดูยุ้งข้าวของเขา พอปีนขึ้นไปดู มีข้าวเปลือก 2 ศอก หรือประมาณ 200 ถังได้ และมีเหล้าขาวที่เพิ่งใช้ทำพิธีนำข้าวขึ้นยุ้งไปหมาด ๆ วางอยู่กับอุปกรณ์เกี่ยวข้าว ถึงแม้ปีนี้นา 4 ไร่ให้ผลผลิตน้อยกว่าปีก่อน ๆ เพราะข้าวล้มไปกว่าครึ่ง ก็ยังเพียงพอสำหรับเลี้ยง 5 ชีวิตที่บ้าน
“ข้าวปีที่แล้วแกยังกินไม่หมดเลยมั้ง” เพื่อนบ้านของแฮเคาะแซวขึ้นมา
เมื่อถามว่าทุกวันนี้เป็นอย่างไร ได้เงินจากการทำเกษตรปีละเท่าไร แฮเคาะตอบสั้น ๆ ว่า “ก็พอกิน” อย่างไรก็ตาม ที่บ้านปลายสวนของเขา มีรถจอดอยู่ถึง 4 คัน ไม่ว่าจะเป็นรถไถ รถมอเตอร์ไซค์ ยันรถปิ๊กอัพ และเมื่อถามถึงตัวเลขรายได้ต่อปีจากเผือก เราก็ได้คำตอบ
“พวกแตง พวกถั่ว ครอป (ผลผลิต) หนึ่ง กำไรต่อไร่ 50,000 บาทได้เราปลูกสลับ ๆ กันไป รอผลผลิตรอบละ 3 เดือน รายได้ต่อปีถ้าราคาผลผลิตดี อย่างน้อยปีหนึ่งก็ได้กำไร 3-4 แสนบาท”
เผือกเล่าว่า ปลูกผักแม้จะรายได้ดีก็ต้องดูแลเอาใจใส่เยอะ จึงคิดจะมาลงทุนกับไม้ผลแทน เขาเปลี่ยนมาทำทุเรียนได้ 4 ปีแล้ว ถึงแม้ตอนนี้ทุเรียนยังไม่ได้ผลผลิต แต่พืชอื่น ๆ ที่ปลูกแซมไว้ เช่น กล้วย มะเขือ พริก ก็ทำให้เขามีรายได้ไปก่อนระหว่างที่รอทุเรียนได้ผลผลิต
“ชาวบ้านพุระกำมีรายได้มั่นคงจากการทำเกษตร และเลี้ยงสัตว์ ทำให้ไม่ต้องหากินในป่าอีกต่อไป เราไม่เคยมีปัญหากับพวกเขาเลย ถือว่าเขาเคารพกฎมาก ๆ และให้ความร่วมมือช่วยเหลืองานทพแนวกันไฟ ติดกล้องดักถ่ายสัตว์
ทุกวันนี้แทบจะไม่มีการรุกที่ป่าเพิ่มเติม จะ 5 หรือ 10 ปีย้อนหลังไปก็แทบจะไม่มีการล่าสัตว์เกิดขึ้นเลย” เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชียืนยัน
ในขณะที่ชีวิตของชาวกะเหรี่ยงพุระกำกำลังลงตัว พวกเขาละวิถีดั้งเดิมและปรับตัวจนสามารถใช้ชีวิตอยู่ตามวิถีใหม่ได้อย่างไม่ต้องเดือดร้อนอีกต่อไป ก็มีข่าวโครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้งแว่วมา ด้วยหลายเหตุผลทำให้เกิดความกังวลอย่างมากในหมู่ชาวบ้านพุระกำว่าพวกเขาจะไม่ได้รับความยุติธรรม

สั่นสะเทือนวัน “เขื่อน” เข้ามา
“ได้ยินเรื่องเขื่อนก็รู้สึกเสียใจ เพราะเราจะลำบากกันหมด เราอยู่แถวนี้จนปลูกอะไรก็ได้กิน ลูกเราก็กำลังปลูกทุเรียน” ความรู้สึกของพ่อแฮเคาะหากจะต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นครั้งที่สองในหนึ่งช่วงชีวิต
“กังวลเรื่องที่ดินทำกินมากที่สุด เพราะข้างล่างก็ไม่มีที่ดี ๆ แบบนี้แล้ว ไหนจะเรื่องดิน เรื่องความชื้นสัมพัทธ์ เหล่านี้ละเอียดอ่อนต่อการเพาะปลูกมาก เราไม่มั่นใจเลยว่าจะได้ที่ดินทำกินที่ดีเหมือนที่บ้านเรา” เผือกกล่าว
เขายืนยันว่าอยากให้ยกเลิกโครงการให้ได้ เพราะการเลื่อนไม่ได้ทำให้คนที่นี่คลายกังวลได้ ไม่ว่าจะกี่ 10 ปี โครงการนี้จะทำให้ความมั่นคงในการลงทุนใด ๆ ในแปลงของเขาหายไปทั้งหมด อย่างทุเรียนที่กำลังจะโตก็ต้องใช้เวลามาก ถ้าวันหนึ่งต้องทิ้งที่ดินตรงนี้คงไม่คุ้มเสียที่จะลงทุนอะไรเลย
“ถ้าจะทำโครงการจริง ๆ อยากให้เลือกที่ ๆ ไม่กระทบป่า ไม่กระทบชาวบ้าน ข้อมูลจาก EIA ก็บอกว่ามีตัวเลือกข้างล่างอีก ทำไมถึงมาลงที่นี่ เพราะมันกระทบหมู่บ้านเราที่เดียวหรือ มันน่าน้อยใจที่เขาทำเหมือนเราไม่มีค่า” เผือกฝากกึงผู้เกี่ยวข้องในโครงการ
ส่วนมิแน๊ะได้ยินเรื่องเขื่อนครั้งแรกตอนที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัย เธอติดตามข่าวทางโซเชียลมีเดีย ถึงแม้จะไม่ได้อยู่บ้านในช่วงนั้นและไม่ทราบเรื่องกระบวนการสอบถามความคิดเห็นเลย แต่ก็รู้ว่าทุกคนในหมู่บ้านไม่ต้องการเขื่อน
“ปัญหาจากเขื่อนเยอะมาก เราไม่ยอมอยู่ใต้เขื่อนแน่นอน เห็นข่าวมาเยอะว่ามีปัญหาตลอด น้ำแล้งน้ำท่วมก็เพราะเขื่อน แล้วถ้าบอกว่าเราต้องเสียสละให้เกษตรกรอีกพัน ๆ ไร่ ขอถามว่าพัน ๆ ไร่ นี่เพื่อนายทุนหรือเปล่า ใช่ชาวบ้านจริง ๆ หรือเปล่า เราไม่มั่นใจ และไม่คิดว่าเขื่อนจะแก้ปัญหาได้
ที่นี่ชาวบ้านอ่านออกเขียนได้กันเกินครึ่ง ไม่มีปัญหาเรื่องสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ คนรุ่นใหม่ ก็ช่วยผู้เฒ่าผู้แก่อ่านให้เข้าใจได้ แต่ตอนนี้ที่ EIA ถูกตีกลับมาแก้ สองปีแล้วเราก็ไม่เห็นมีใครมาคุยกับชาวบ้านเลย” คือความสงสัยจากมิแน๊ะต่อผู้ดำเนินโครงการ

ปลายทาง อาจเป็น “ใจแผ่นดิน”
“เราผูกพันกับที่นี่ พยายามปรับตัวมาตลอด เขาให้มาอยู่ตรงนี้ เราก็อยู่ตรงนี้ ไม่เคยคัดค้านอะไร” มิแน๊ะบอก
เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรหากโครงการได้รับการอนุมัติ ทั้งครอบครัวตอบเป็นเสียงเดียวว่า “จะกลับขึ้นไปใจแผ่นดิน” เมื่อได้ยินเช่นนี้ก็อดคิดไม่ได้ว่า พวกเขาไม่กลัวชะตากรรมซ้ำรอยชาวบ้านบางกลอยหรือ?
“จับก็จับไป ตายก็ตายไป ลงไปข้างล่างก็ตายเหมือนกัน อายุก็มากแล้ว ขึ้นข้างบนดีกว่า ไม่ลำบาก อากาศไม่ร้อน” พ่อแฮเคาะ คนรุ่นบุกเบิกพุระกำ ตอบด้วยอารมณ์ขันปนกังวล
“เราไม่ได้เป็นคนสร้างปัญหาก่อน เราทำตามกฎมาตลอด เราจะไม่ลงข้างล่าง บรรพบุรุษเราย้ายมาที่นี่แล้ว สภาพแวดล้อมที่นี่ก็เหมาะแก่การทำเกษตร จะเป็นเหมือนบางกลอยก็ไม่กลัว ยอมเป็นแบบนั้นดีกว่าต้องลงไปข้างล่าง” เผือกตอบ
“เราไม่เชื่อมั่นในระบบราชการแล้ว อย่างเรื่องการชดเชย ที่เคยเห็นข่าวมาก็มักจะให้ไม่ได้เท่าที่พูด เราไม่เคยคิดจะไปประท้วงเลย แต่ถ้าไม่ยุติธรรมกับเรา เราก็ไม่ยอม ถ้าวันหนึ่งจะต้องไปกรุงเทพฯ เราก็จะไป” มิแน๊ะทิ้งท้าย

ตัดสินใจ เดินทางมาร้องเรียนในกรุง
ล่าสุด ชาวบ้านพุระกำ ตัดสินใจส่งตัวแทนเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อร่วมกับองค์กรและเครือข่ายพันธมิตรยื่นจดหมายถึงคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้รัฐยุติโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ในวันพรุ่งนี้ (8 เม.ย. 2565)
“สืบเนื่องจากการที่หน่วยงานภาครัฐ ยังคงเดินหน้าผลักดันโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ในกลุ่มป่ามรดกโลกแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ทั้งที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติให้กรมชลประทานกลับไปทบทวนผลการศึกษาในบางประเด็น
แต่เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 เพจประชาสัมพันธ์กรมชลประทาน ได้ชี้แจงประเด็นโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ว่า “ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กรมชลประทาน โดยสำนักบริหารโครงการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ และบริษัทที่ปรึกษาฯ ได้มีการลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คำแนะนำและหารือแนวทางแก้ไขปัญหาจากโครงการดังกล่าว
โดยล่าสุดได้มีการทบทวนรูปแบบของพื้นที่แปลงอพยพ ตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตามข้อทักท้วงของราษฎรบ้านพุระกำที่ว่า แปลงอพยพที่เสนอไว้เดิมไม่เพียงพอและดินไม่อุดมสมบูรณ์ ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกพืช ซึ่งจะได้นำไปชี้แจงราษฎรและนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.)ต่อไป
โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่ซึ่งหากโครงการเกิดขึ้นจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่ป่า 2,097 ไร่ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีซ้อนทับกับป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี และในป่าภาชีแห่งนี้ยังมีชุมชนปากะญอบ้านพุระกำอาศัยและทำกิน โดยมีพื้นที่การใช้ประโยชน์รวม 400 กว่าไร่ จำนวนครอบครัวที่จะได้รับผลกระทบ 86 ครัวเรือน
ซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมและเป็นกลุ่มเดียวกับชุมชนบางกลอยที่ถูกอพยพมาจากบ้านใจแผ่นดิน ปัจจุบันชุมชนได้ใช้เวลาปรับตัวหลายปีจนมีความมั่นคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว อยู่ป่ารักษาป่า มีราษฎรอาสารักษาป่าที่ร่วมทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่าข้ามพรมแดนในทุกๆปีฯ
นอกจากนี้ชุมชนบ้านพุระกำยังได้รับการคัดเลือกให้เป็น “พื้นที่นำร่องคนอยู่ร่วมกับผืนป่าและสัตว์ป่า” ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 121 แต่กลับจะต้องมาถูกอพยพอีกรอบจากโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ที่กรมชลประทานมีแผนจะทำการอพยพเพื่อทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าว
ชาวชุมชนบ้านพุระกำทั้งหมดและบ้านหนองตาดั้ง บางส่วน มีเจตนารมณ์ในการคัดค้านถึงที่สุด โดยเห็นว่าโครงนี้ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชุมชน ป่าไม้และสัตว์ป่า ทั้งยังเห็นว่าโครงการนี้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และควรไปปรับปรุงระบบชลประทานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพจะใช้งบประมาณน้อยกว่าและแก้ไขปัญหาได้จริง” ตัวแทนชาวบ้านกล่าว
ตามกำหนดการ ตัวแทนชาวบ้านจะเข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ สภาผู้แทนราษฎร ในช่วงเวลา 10.00 – 12.00 น. และยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในช่วงเวลา 13.00 – 14.00 น. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้ประสานงานร่วมกับตัวแทนชาวพุระกำในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เปิดเผย
อ่านเนื้อหา เหตุผลการยื่นหนังสือ ฉบับเต็ม https://www.seub.or.th/blo…/event/save-phachi-river-event/