บ.บำบัดกากอุตฯ ‘Waste2Energy’ ทิ้งน้ำเสียนอกโรงงาน – คพ.สั่งสอบ

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเผย  “ส่อขยายระบบบำบัดน้ำเสียโดยไม่ได้รับอนุญาต” เบื้องต้นพบลักลอบ นำน้ำเสียไปทิ้งนอกโรงงาน โดยขุดบ่อดิน 4 บ่อ ลึก 4-7 เมตร ในพื้นที่ลาดตะเคียน ปราจีนบุรี 

สั่งสอบ “ใบอนุญาตขุด-การครอบครองที่ดิน-อาจเป็นพื้นที่ป่าไม้-ใบอนุญาตประกอบกิจการ” เผยไม่ใช่ครั้งแรกที่ก่อผลกระทบชุมชน-สิ่งแวดล้อมในพื้นที่

(ภาพ : คพ.)

ลักลอบทิ้ง ?

“ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) เปิดเผยว่า ได้มอบหมาย นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธ์ รองอธิบดี คพ.ผู้อำนวยการ ศปก.พล. ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมบริเวณพื้นที่ตำบลลาดตะเคียน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี

จากการเข้าตรวจสอบ บริษัท จำกัด พบว่า เบื้องต้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565 มีการนำน้ำเสียไปทิ้งนอกโรงงาน เป็นบ่อดินปูด้วยแผ่นพลาสติก จำนวน 4 บ่อ ลึกประมาณ 4-7 เมตร ตัวแทนบริษัทแจ้งว่าเป็นน้ำเสียน้ำชะขยะจากโรงงานประเภท 105 ซึ่งขณะตรวจสอบเมื่อวานนี้ พบว่า มีการนำน้ำเสียกลับเข้าในระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานแล้ว” 

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ประธานอำนวยการ ศปก.พล. เปิดเผยเช้าวันนี้ (6 เม.ย. 2565) อ้างถึงการลงพื้นที่ร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(บก.ปทส.) หน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) กรมป่าไม้  สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 7 สระบุรี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปราจีนบุรี และ องค์การบริหารส่วนตำบลลาดตะเคียน

(ภาพ : คพ.)

เข้าข่าย 4 ความผิด 

“การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด 

  1. การนำน้ำเสียจากการประกอบกิจกรรมประเภท 105 ออกนอกโรงงาน ผิดเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการข้อที่ 1.9 มอบหมายให้ คพ. ทำหนังสือแจ้งกรมโรงงานอุตสาหกรรมและจังหวัดปราจีนบุรีดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ 
  2. มีการขุดดินทำบ่อบำบัดน้ำเสียโดยไม่ได้แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ. ขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 ก่อนดำเนินการให้ตรวจสอบว่าเข้าข่ายเป็นความผิด อบต.ลาดตะเคียนจะไปแจ้งความดำเนินคดีภายในวันที่ 8 เมษายน 2565 นี้ 
  3. มอบกรมป่าไม้ตรวจสอบการครอบครองที่ดินบริเวณก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียภายนอกโรงงานว่าได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ กรมป่าไม้ประสานกรมที่ดินดำเนินการภายใน 15 วัน 
  4. พื้นที่การประกอบกิจการประเภทที่ 105 ไม่ตรงกับเลขโฉนดตามใบอนุญาต มอบ คพ. ตรวจสอบกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าว

    อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (ภาพ : คพ.)

เก็บตย.น้ำเสีย-ส่งหนังสือบริษัท ก.อุตสาหกรรม ขอตรวจใบอนุญาต

“5. ผลการเก็บตัวอย่างน้ำเสีย ของเสียของกรมควบคุมมลพิษ จะแจ้งและมอบให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการต่อไป 

  1. คพ. จะทำหนังสือถึงบริษัท เวสต์ 2 เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ขอเอกสารหลักฐานการนำเข้าของเสียและคุณสมบัติของของเสียที่นำเข้ามาประกอบกิจการประเภท 106 และ 
  2. อาจเป็นการขยายระบบบำบัดน้ำเสียโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่ง คพ. จะแจ้งกรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจสอบต่อไป

การตรวจสอบครั้งนี้ได้รับความยินยอมจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้แทนของสถานประกอบการข้างต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่และคณะได้ลงลายมือชื่อผู้ตรวจสอบผู้ร่วมตรวจสอบและผู้นำตรวจสอบไว้เป็นหลักฐาน” อรรถพลกล่าว

(ภาพ :เวสต์ 2 เอ็นเนอร์ยี่)

ไม่ใช่ครั้งแรก

บริษัท เวสต์ 2 เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด หรือ “Waste2Energy ” ประกอบธุรกิจประเภท การจัดหาน้ำการจัดการน้ำเสียและของเสียรวมถึง กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยให้บริการด้าน การเก็บรวบรวมของเสียที่ไม่เป็นอันตราย รวมถึง บริการกำจัดของเสียโดยวิธีการฝังกลบ บริการรับกำจัดกากอุตสาหกรรมประเภทปรับปรุงสภาพกาก (Blending) ระบบบริการขนส่งกากขยะอุตสาหกรรม และล่าสุดมีโครงการขยายการให้บริการสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย

จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทเมื่อ 27 ตุลาคม 2559 ด้วยทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท มีรายได้ในปี 2563 รวม 277.7 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5.4 ล้านบาท

บริษัทมีความขัดแย้งกับชุมชนในพื้นที่มาตั้งแต่ก่อนปี 2562 ในเรื่องการประกอบกิจการที่ก่อผลกระทบต่อชุมชน นำมาสู่การลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการร้องเรียนของผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

29 สิงหาคม 2562 ชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์กรอกสมบูรณ์และกลุ่มคนรักษ์หนองตลาด จำนวนกว่า 400 คน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีให้มีการตรวจสอบการประกอบกิจการของโรงงานเนื่องจากได้รับความเดือดร้อนเรื่องกลิ่นเหม็นจากการประกอบกิจการของโรงงาน และมีข้อเรียกร้องให้ดำเนินการตรวจสอบการประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวว่าเป็นไปตามเงื่อนไขท้ายในอนุญาตหรือไม่

“ชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นสารเคมีรุนแรง บางรายถึงกับต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีการระบุถึงกองขยะขนาดใหญ่ในที่โล่งแจ้ง ไม่มีการบดอัดกลบทับด้วยลูกรังและมีน้ำไหลซึมมาจากบ่อขยะลงสู่ไร่นาของชาวบ้าน” ส่วนหนึ่งของหนังสือร้องเรียนระบุ

ต่อมาบริษัทได้อ้างจดหมายร้องเรียนดังกล่าว ยื่นฟ้องชาวบ้าน เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท จนนำมาสู่การไกลเกลี่ยคดีในปี 2563 และ ถอนฟ้องในเดือนกันยายน หลังชาวบ้านยอมถอนป้าย “ขยะพิษ” ทั้งหมดและยุติการเคลื่อนไหว