ผู้บริหาร SCG เผย 4 ปัจจัยวิกฤตธุรกิจไทยล่าสุด “สงครามยูเครน-วิกฤตเศรษฐกิจ-ต้นทุนพลังงาน-การเมืองโลก” เครือ SCG กระทบหนักสุด “ธุรกิจเคมิคอลส์” กำลังหาทาง “บริหารความเสี่ยง-ปรับแผนลงทุน–ทำตัวให้เบา”
ปักหมุดโอกาส-ทางออกที่ “พลังงานทางเลือกคาร์บอนต่ำ-ตลาดอาเซียน”
4 ปัจจัย “Synergy” แห่งวิกฤต
“สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย มีผลกระทบไปทั่วโลกในหลายด้าน โดยเฉพาะราคาน้ำมันและต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ถือเป็นประเด็นหลักในขณะนี้ ซึ่งเอสซีจีได้ติดตามสถานการณ์มาต่อเนื่อง เพราะราคาน้ำมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับราคาวัตถุดิบหลักในธุรกิจเคมิคอลส์ของเอสซีจี นอกเหนือจากต้นทุนราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น
โดยองค์ประกอบสถานการณ์ที่นำมาวิเคราะห์มี 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.สถานการณ์สู้รบในยูเครน 2.สงครามเศรษฐกิจ (Sanction) ผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน 3. เรื่องพลังงาน ทั้งปริมาณการผลิต (Supply) และความต้องการใช้(Demand) ของน้ำมัน รวมถึงก๊าซ และ 4. แนวโน้มความตึงเครียดทางการเมืองในยุโรป รัสเซีย นาโต สหรัฐฯ และจีน รวมถึงระยะเวลาการจบเรื่องนี้ ซึ่งจะจบแบบไหน และส่งผลอย่างไร” รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผย
ผู้บริหาร SCG เปิดเผยว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนสูงในหลายด้านที่ภาคธุรกิจกำลังเผชิญ ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด 19 เงินเฟ้อและสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย “เอสซีจี” เดินหน้าปรับวิธีการทำงานให้ยืดหยุ่น คล่องตัว เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เข้ามาได้อย่างทันท่วงที พร้อมมุ่งมั่นมองหาโอกาส (Opportunity) และทางออก (Solution) รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกสู่ New Normal ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังวิกฤตถึงจุดสิ้นสุด ตอบโจทย์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
กระทบธุรกิจหลัก “เคมิคอลส์” หนักสุด
รุ่งโรจน์เปิดเผยว่า ผลกระทบต่อ 3 ธุรกิจหลักของเอสซีจีจะมีไม่เท่ากัน โดยธุรกิจเคมิคอลส์ ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะนอกจากแบกรับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นแล้ว วัตถุดิบหลักของธุรกิจยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับราคาน้ำมัน ส่วนธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง จะกระทบในเรื่องของต้นทุนพลังงาน เนื่องจากราคาถ่านหินปรับตัวขึ้นมากเช่นกัน
ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ได้รับผลกระทบน้อยกว่าอีกสองธุรกิจ เพราะพลังงานไม่ได้เป็นต้นทุนหลักของธุรกิจ และการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนยังไม่สะดุด โดยคนส่วนใหญ่มองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องไกลตัว
“ผลกระทบครั้งนี้แรงมาก เพราะธุรกิจเคมิคอลส์เป็นครึ่งหนึ่งของเอสซีจี ต้องเจอทั้งเรื่องราคาวัตถุดิบหลักและต้นทุนพลังงานพุ่งสูงมาก ทั้งสี่ปัจจัยเป็นสิ่งที่เรานำมาใช้ในการวิเคราะห์ว่าต้องรับมืออย่างไร และนำวิธีอะไรมาใช้รับมือตรงนี้ แต่ต้องยอมรับว่าปัจจัยทั้งสี่เรื่องนั้น เราแทบทำอะไรไม่ได้เลย เพราะควบคุมไม่ได้ จึงต้องมาดูว่าอะไรที่เราควบคุมได้และต้องทำ
เช่น การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทางเลือก และเรื่องการลงทุน เป็นต้น ส่วนเรื่องขึ้นราคาสินค้าแม้จะทำได้แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีเรื่องของการแข่งขัน ซึ่งต้องดูว่าตลาดตรงไหนสามารถปรับราคาได้ ไม่กระทบกับผู้บริโภคโดยตรง และการขึ้นราคาต้องโปร่งใสและเป็นธรรม มีการบอกต้นทุนเก่าและใหม่ให้ชัดเจน เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าว

ทิศการรับมือ
“สำหรับกลยุทธ์ในการรับมือกับสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียนั้น เอสซีจีเน้นเรื่องบริหารความเสี่ยง การรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้น และปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ มีความยืดหยุ่น คล่องตัว รวมทั้งทำตัวให้เบา คือ right sizing หรือ slim sizing พยายามบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้สอดคล้องกับความต้องการ
โดยสิ่งที่ทำเป็นอันดับแรกเป็นการปรับแผนการลงทุน ที่แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ หนึ่งโครงการที่ดำเนินการอยู่ใกล้จะเสร็จสิ้นก็พร้อมสานต่อให้จบ สองโครงการที่กำลังเริ่มและต้องใช้เวลานานคงต้องพักไว้ก่อน สุดท้ายโครงการที่ควรลงทุนในระยะยาว เช่น เรื่องพลังงาน energy transition ซึ่งตรงกับ low carbon strategy หรือไปถึง net zero เรื่องของดิจิทัล รวมทั้งทำให้ Supply chain เข้มแข็ง” รุ่งโรจน์กล่าว

ปักหมุด “อาเซียน-พลังงงานคาร์บอนต่ำ” โอกาส-ทางออก
ผู้บริหาร SCG กล่าวว่า ผลกระทบกับเศรษฐกิจในแต่ละกลุ่มประเทศจะไม่เท่ากัน เช่นในอาเซียน ประเทศที่พึ่งพาน้ำมันมากจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศที่พึ่งพาน้อย จึงต้องมาคิดปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานให้น้อยลงและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะในระยะยาวแม้สถานการณ์คลี่คลายแต่ราคาน้ำมันคงไม่กลับมาเท่าเดิม และสงครามเศรษฐกิจอาจยังคงอยู่
ดังนั้น New Normal คือ ราคาต้นทุนพลังงานที่สูง และความร่วมมือแบบเดิมของกลุ่มประเทศต่าง ๆ ก็ยากขึ้น ซึ่งมองว่าอาเซียนจะได้ประโยชน์ เนื่องจากไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด และมีกำลังซื้อสูงจากจำนวนประชากรกว่า 600 ล้านคน หากมีการประชาสัมพันธ์ให้ดีจะมีเงินไหลเข้ามาลงทุน โดยขณะนี้นักลงทุนได้ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ หันไปลงทุนในตลาดที่ตัวเองขาย ไม่ใช่ต้นทุนถูกที่สุด
ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของประเทศไทย จึงต้องทำตัวให้โดดเด่น ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนที่มองหาตลาดแรงงานที่มีความรู้และทักษะพร้อม ที่สำคัญคือมีระบบป้องกันทรัพย์สินทางปัญญาที่ดี เพราะนักลงทุนจะกลัวเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมาก
“ทางรอดของธุรกิจ นอกจากเงื่อนไขเรื่องความเข้าใจในสถานการณ์ความขัดแย้ง และองค์ประกอบ 4 เรื่องแล้ว ในระยะสั้นทุกคนต้องประเมินความเสี่ยงก่อน ว่าทำอะไรได้แค่ไหน และเตรียมพร้อมอยู่เสมอคือ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ นำมาใช้ในการทำงานอย่างรวดเร็ว พร้อมปรับตัวในแง่ธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การลงทุน กลยุทธ์การหาตลาดให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ ทำตัวให้เบา บริหารเงินทุนหมุนเวียนให้ดี ระมัดระวังในการก่อหนี้ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเตือนแล้วว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 6 ครั้งในปีนี้ ตลอดจนทำ supply chain ให้เข้มแข็ง รวมถึงการลดใช้พลังงานในระยะยาว” รุ่งโรจน์กล่าว

ปรับกลยุทธ์รับความท้าทายใหม่
“สถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงหลายด้าน ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด 19 สถานการณ์รัสเซีย ยูเครน ที่ส่งผลต่อต้นทุนพลังงาน และต้นทุนวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ตลอดจนวิกฤตระยะยาวอย่างปัญหาโลกร้อน เอสซีจี ได้เร่งเดินหน้าเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เข้ามาได้อย่างทันท่วงที ดังนี้
กลยุทธ์ระยะสั้น เน้น
1.ปิดทุกความเสี่ยง บริหารต้นทุนพลังงาน และดูแลซัพพลายเชน โดยจัดเตรียมวัตถุดิบให้มีปริมาณเพียงพอและอยู่ในต้นทุนที่เหมาะสม ทำสัญญาซื้อขายพลังงานล่วงหน้า พร้อมบริหารต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และ
2.ยืดหยุ่นปรับตัวตามสถานการณ์ โดยติดตามสถานการณ์ต้นทุนพลังงาน วัตถุดิบที่สูงขึ้นตามกลไกตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้ทันท่วงที และพยายามให้เกิดผลกระทบกับลูกค้าให้น้อยที่สุด
ส่วนกลยุทธ์ระยะยาว
1. เร่งแนวทาง ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ) ในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำ เพื่อมุ่ง Net Zero 2050
2. ปรับแผนโครงการลงทุนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น ยังคงเดินหน้าโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ในเวียดนามที่มีความคืบหน้าตามแผนร้อยละ 91 (ณ สิ้นปี 2564) โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งปีแรกของปี 2566 และพิจารณาทบทวนโครงการลงทุนใหม่ที่กระทบกับการใช้เงินในระยะยาว
เอสซีจีเชื่อว่าสามารถรับมือกับความท้าทายที่เผชิญอยู่ในขณะนี้ได้ เราได้เรียนรู้จากวิกฤตอย่างโควิด 19 เมื่อ 2 ปีก่อน ดังนั้นในปีนี้ มั่นใจว่าสามารถปรับวิธีการทำงาน ปรับองค์กรให้ยืดหยุ่น คล่องตัว ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้ทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะราคาพลังงานและวัตถุดิบที่พุ่งสูง เป็นตัวเร่งให้เอสซีจีทำเรื่องการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น แม้จะไม่ง่าย แต่เรามีแผนที่จะมุ่งสู่ Net-Zero ด้วยกลยุทธ์ ESG ทำให้มั่นใจว่า เราสามารถทำให้เห็นผลได้ ในขณะเดียวกันก็ยังต้องดูแลคู่ค้า คู่ธุรกิจ ชุมชนสังคม ทุกภาคส่วน (Stakeholders) ให้มีความเข้มแข็งเติบโตยั่งยืนควบคู่ไปกับยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าว
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนการผลิตโดย SCG