กรมชลเตรียมสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่ามรดกโลกแก่งกระจาน

เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ชี้แจงบริเวณน้ำท่วมบนแผนที่

พร้อมก่อสร้างปีหน้าหากบอร์ดสิ่งแวดล้อมและครม.อนุมัติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ น้ำภาชีเผยโครงการจะท่วมป่าต้นน้ำกว่าสองพันไร่ และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าแก่งกระจานที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก “เชื่อไม่กระทบสัตว์ป่าเท่าไร กังวลชาวบ้านที่ถูกอพยพจะหันไปรุกป่ามากกว่า”

พุธิตา ดอกพุฒ รายงานความคืบหน้าและความเห็นจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่อโครงการฯ ในตอนแรกของรายงานพิเศษ 2 ตอน จากราชบุรี

กระทบมรดกโลก อาจสร้างได้แต่ยากขึ้นอีกเท่าตัว

“ถ้ามีเขื่อนมา กระทบมรดกโลกแน่นอน เพราะมันเป็นเงื่อนไขของมรดกโลก แต่ถ้ามีสิ่งก่อสร้างอยู่แล้ว มรดกโลกมาทีหลัง อันนี้ก็ไม่เป็นไร” ชุมพล เกตุแก้ว หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี กล่าวถึงโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ที่มีแผนจะสร้างขึ้นในเขตมรดกโลก

ป้ายมรดกโลก หน้าสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี

อ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ใช้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท ความจุ 48.37 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่รับน้ำ 38,600 ไร่ เป็นโครงการของกรมชลประทาน เพื่อบรรเทาภัยแล้ง-น้ำท่วมในพื้นที่เกษตรกรรม และหนุนรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโต 

ตัวเขื่อนและเขตน้ำท่วมอยู่ในขสป.แม่น้ำภาชีทั้งหมด กินพื้นที่ป่า 2,168 ไร่ ทับซ้อนป่าต้นน้ำแหล่งกำเนิดแม่น้ำภาชี ที่ถูกจัดเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำน้ำชั้น 1A คือมีความอุดมสมบูรณ์ และอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม โครงการดังกล่าวจึงต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

โครงการนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.สวล.) ในปี 2562 โดยที่ประชุมมีมติให้กลับไปทบทวน EIA อีกครั้ง ในหลายประเด็น อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ที่จะได้รับผลกระทบ จำนวนสัตว์ป่าและพันธุ์ไม้ พื้นที่ทับซ้อนกลุ่มป่าแก่งกระจานที่รัฐกำลังเสนอให้เป็นพื้นที่มรดกโลกในตอนนั้น

กลางปี 2564 ผอ.สำนักบริหารโครงการ กรมชลฯ เผยว่าโครงการผ่านสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้คือต้องเข้าสู่กก.สวล. และเข้าครม.เพื่อขออนุญาตเปิดโครงการตามลำดับ และตนคาดว่าภายในปี 66-67 จะได้เริ่มโครงการ

ทว่าวันนี้กลุ่มป่าแก่งกระจาน ที่รวมถึงขสป.แม่น้ำภาชี ได้สถานะเป็นมรดกโลกแล้ว โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งจึงทับซ้อนเขตมรดกโลกอย่างเป็นทางการ เป็นที่น่าติดตามว่าโครงการเขื่อนในมรดกโลกนี้จะเป็นไปได้หรือไม่

“ถ้าถามว่าพอเป็นมรดกโลกแล้ว โครงการจะถูกยกเลิกไหม ผมไม่รู้ แต่กระบวนการจะยากขึ้นอีกเท่าตัว 10 ปี 20 ปี ก็ยังไม่ได้สร้างหรอก เพราะแต่ละกระบวนการช้ามาก” หน.ขสป.แม่น้ำภาชี ให้ความเห็น

กลุ่มป่าแก่งกระจานได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ เป็นแหล่งที่ 3 ของไทย มีพื้นที่ประมาณ​ 2.5 ล้านไร่ ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย 3 อุทยานฯ 1 เขตรักษาพันธุ์ฯ ได้แก่ อช.แก่งกระจาน อช.กุยบุรี อช.เฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และ ขสป.แม่น้ำภาชี

โดยมีคุณค่าผ่านเกณฑ์ ข้อที่ 10 คือ เป็นถิ่นอาศัยทางธรรมชาติในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงพบชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่ายิ่งด้านการอนุรักษ์และวิทยาศาสตร์ โดยมีชนิดพันธุ์สำคัญที่ถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

หากคุณค่าดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนดังที่เป็นตอนขอขึ้นทะเบียน คณะกรรมการมรดกโลกอาจพิจารณาให้ขึ้นทะเบียน “ภาวะอันตราย” หรือถึงขั้นถอดถอนจากการเป็นมรดกโลกได้ในที่สุด

นอกจากโครงการก่อสร้างของกรมชลฯ อย่างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งแล้ว มรดกโลกแห่งนี้ยังมีประเด็นสิทธิมนุษยชนซึ่งกำลังเป็นที่จับตา อย่างกรณี “ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย” ที่ยังมีปัญหายืดเยื้อเรื่อง ที่ดิน การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และคุณภาพชีวิตที่ดี

ชุมพล เกตุแก้ว (ขวา) หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี
ป้ายเขตรักษาพันธุ์ฯ กับรูปปั้นสมเสร็จ สัตว์สงวนประจำถิ่น

เชื่อไม่กระทบสัตว์ป่าเท่าไร

“กระทบสัตว์ป่าไม่มาก เพราะพื้นที่ ๆ เขาขอใช้ประโยชน์ เป็นพื้นที่ทำกินกับที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ถ้าเป็นไปตามโครงการที่กรมชลฯ แจ้ง ก็จะต้องอพยพชาวบ้านออกนอกพื้นที่ และก็จะเหลือแค่เขื่อนกับป่า ไม่มีผู้ล่าอย่างมนุษย์แล้ว” หน.ขสป.แม่น้ำภาชี กล่าว

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี มีพื้นที่กว่า 300,000 ไร่ ทิศใต้เชื่อมกับอช.แก่งกระจาน อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ส่วนทิศตะวันตกติดชายแดนประเทศเมียนมาร์ 

ลำน้ำในพื้นที่มีความสูงชัน เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ทำให้เหมาะสมแก่การกั้นเขื่อน แต่ลักษณะภูมิประเทศนี้ ก็ทำให้มีนิเวศหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และเป็นที่อยู่ของสัตว์หายากมากมาย  

“เรามีความหลากหลายที่มีความสมบูรณ์อยู่ มีทั้งผู้ล่าอย่างหมาไน หมาจิ้งจอก และผู้ถูกล่าอย่างเก้ง กวาง มีสัตว์สงวนอย่าง สมเสร็จ เป็นสัตว์ประจำถิ่น ช่วงนี้เราก็มีวัวแดง กระทิง เยอะกว่าเก่า คิดว่าน่าจะอพยพหนีภัยการสู้รบจากฝั่งเมียนมาร์ และพบรอยเสือโคร่งที่ข้ามมาจากแก่งกระจาน” จารีรัตน์ สุวรรณวงษ์ นักวิชาการป่าไม้ประจำเขตฯ อธิบาย

นกกาฮัง ใกล้หมู่บ้านพุระกำ (ภาพ : พนม ทะโน)

นอกจากนี้ยังพบเห็นนกได้หลายชนิด เช่น นกแก้ว นกแกง นกกาฮัง นกเงือกกรามช้าง นกเงือกกรามช้างปากเรียบ นกเงือกสีน้ำตาล นกแซวสวรรค์ นกแก๊ก นกจาบคาเคราสีน้ำเงิน นกจาบคาเคราแดง และนกชนิดอื่นๆ รวมทั้งสิ้นจำนวน 186 ชนิด 

“พื้นที่ป่าที่จะเสียไปเป็นหย่อมป่าระหว่างที่ทำกิน ลักษณะเป็นป่าริมห้วย หัวไร่ปลายนา ความอุดมสมบูรณ์คือเป็นป่ารุ่น 2 ที่ชาวบ้านปลูกขึ้นมาบ้าง เป็นป่าปลูกคืน ตรงนี้ที่อยู่อาศัยสัตว์เล็กสัตว์น้อยจะหายไป” ชุมพล อธิบายถึงผลกระทบต่อสัตว์ในพื้นที่โครงการ

จากการสำรวจความหลากหลายของสัตว์ป่าในพื้นที่โครงการ รายงาน EIA ระบุว่าพบสัตว์ป่า 247 ชนิด เป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ชนิด คือเลียงผา และสัตว์ป่าคุ้มครอง 179 ชนิด  

พบสัตว์ที่มีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าถูกคุกคามและใกล้ถูกคุกคาม 20 ชนิด ได้แก่ เต่าเหลือง เต่าห้วยท้องดำ ตะพาบน้ำ หมาจิ้งจอก หมาไน เสือปลา นากใหญ่ขนเรียบ ชะมดแปลงลายแถบ หมีควาย กระทิง อึ่งกรายข้างแถบ อึ่งเผ้า กบทูด แย้เหนือ ตะกวด เหยี่ยวเล็กตะโพกขาว นกปรอดหัวโขน นกขุนทอง ลิ่นใหญ่ และเลียงผา 

“การะเปลี่ยนแปลงระดับน้ำจะกระทบนิเวศน้ำจืด เราก็กำลังสำรวจ กบ เขียด ปู สัตว์น้ำต่าง ๆ สปีชีส์ที่เด่น ๆ คือ กบทูด กบภูเขา ที่เป็นกบขนาดใหญ่ แต่การสำรวจสิ่งมีชิวิตสะเทินน้ำสะเทินบกยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ ชี้แจง 

แม้ว่า EIA จะรายงานว่า พบปลา อย่างน้อย 35 ชนิด ความหลากหลายของพันธุ์ปลาอยุ่ในระดับปานกลาง เป็นปลาที่พบทั่วไปในแหล่งน้ำไหลและแหล่งน้ำนิ่ง ทีมสำรวจของมูลนิธิสืบฯ กับ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ และดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ พบว่า บริเวณนี้มีคุณภาพของลำธารและระบบนิเวศที่ดี ไม่เหมาะกับการสร้างเขื่อน

“มีปลาที่คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว แต่อาจพบใหม่ที่นี่ด้วย (Rediscovery species) คือค้อแถบหัวหิน (Schistura myrmekia) ที่พบครั้งแรกจากห้วยแก่งสก ในอำเภอหัวหิน เมื่อ พ.ศ. 2473 และเมื่อ Singe & Page ผู้บรรยายปลาชนิดนี้ กลับไปแหล่งเดิมเพื่อหาตัวอย่างเพิ่มใน พ.ศ. 2554 ก็พบว่าถิ่นอาศัยของมันสูญหายกลายเป็นสนามกอล์ฟและพื้นที่เกษตรไปแล้ว” มูลนิธิสืบฯ ระบุ

อย่าไรก็ตามเขตรักษาพันธุ์ฯ เชื่อว่าโครงการก็มีข้อดีอยู่บ้าง เช่น เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ มีน้ำเพิ่มให้สัตว์ได้ใช้ 

แผนที่แสดงพื้นที่โครงการ และพื้นที่ทำกิน จากขสป.แม่น้ำภาชี

กังวลชาวบ้านที่ถูกอพยพจะหันไปรุกป่ามากกว่า

“คนที่ลำบากก็คือชาวบ้าน เรามีความกังวลว่าถ้าเขาไม่พอใจ เขาไม่ยอมอพยพไปยังที่ ๆ จัดสรรให้ และกลับเข้ามาอยู่ในป่า ก็จะทำให้เราต้องทำงานหนักขึ้น” หัวหน้าขสป. แมน้ำภาชีให้ความเห็น

แปลงเกษตรกรรมของชาวบ้านพุระกำ

ชาวพุระกำ ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปากะญอ มีความสัมพันธุ์เป็นเครือญาติกับกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี และชาติพันธุ์ที่อยู่ฝั่งเมียนมาร์  แต่เดิมอาศัยอยู่กระจัดกระจายในป่า ก่อนจะถูกพามารวมกันเป็นหมู่บ้านพุระกำ มีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ภายในเขตรักษาพันธุ์ 

ชุมผลเผยว่า ชาวบ้านที่นี่เคารพกติกามาก ความเป็นอยู่เขาลงตัวอยู่แล้ว และให้ความร่วมมือดีมาก เวลาทำแนวกันไฟเขาก็อาสามาช่วย ชาวพุระกำไม่เคยมีปัญหากระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่เขตฯ และแทบจะไม่มีการรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติมหรือล่าสัตว์ เหตุผลใหญ่ ๆ ก็เพราะชาวบ้านสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงและมั่งคั่งจากการเกษตร บนแปลงที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง นอกจากนี้หมู่บ้านยังตั้งอยู่ไม่ลึกมากนัก เป็นพื้นที่เปิด สามารถเดินทางไปในเมืองได้ไม่ยาก 

เมื่อมีโครงการอ่างเก็บน้ำเข้ามาจึงมีการต่อต้านจากชุมชน หลัก ๆ คือความกังวลเรื่องที่ดินทำกิน เพราะหมู่บ้านทั้งหมดจะถูกน้ำท่วม หากโครงการสร้างสำเร็จ

ชุมพลยังตั้งข้อสังเกตว่า ชาวกะเหรี่ยงชอบอยู่กับน้ำ หากที่ดินที่จัดสรรใหม่ ไม่อุดมสมบูรณ์เท่าที่เดิม เขาเกรงว่าจะเป็นปัญหา และจะทำให้เสียพื้นที่ป่าไปมากกว่าเดิม

“ตอนนี้เราไม่ได้มีความกังวลเรื่องเขื่อนนี้เลย แต่ถ้าเขื่อนมา ก็เพิ่มงานให้เรานะครับ เมื่อมันเป็นหน้าที่เราก็ต้องทำ เราต้องมาตรวจสอบโน่นนี่ แต่ตอนนี้เราก็อยู่กันได้ปกติ ไม่ได้มีปัญหากับหมู่บ้านนี้เลย

เราบังคับเขาไม่ได้ ลวดหนามกั้นชาติพันธุ์ไม่ได้ ไม่มีอะไรกั้นพวกเขาได้ เขารู้จักป่าดีกว่าเจ้าหน้าที่ เขาสามารถจะเดินข้ามไปฝั่งพม่าตามเส้นทางธรรมชาติ และย้อนกลับมาแอบอาศัยในป่าฝั่งเราก็ได้

แบบนี้เท่ากับว่าเราสูญเสียป่าไปสองทาง เพื่อสร้างเขื่อน และให้คนที่ไม่พอใจ กลับไปอยู่ป่า” นี่คือความคิดเห็นของเขตรักษาพันธุ์ต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการ

ชุมพล เกตุแก้ว หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี