นักวิจัยพลังงานคำนวณเบื้องต้น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจะนะ จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาไม่ต่ำกว่า 9 ล้านตันต่อปี และต้องปลูกป่าไม่ต่ำกว่า 9 ล้านไร่เพื่อชดเชยคาร์บอน
เผยวิธีปลูกป่า-เทคโนโลยีดูดซับคาร์บอนยังอยู่ในระดับ “ไม่พร้อมและไม่คุ้ม” ชี้ทางออกที่ดีกว่าสำหรับจะนะ “พัฒนาระบบโซลาร์เซลล์และพลังงานลมเป็นทางเลือกพลังงาน”
ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 9 ล้านตันต่อปี
แผนพัฒนาอ.จะนะ จ.สงขลา ให้เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคตกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นอกจากผลกระทบต่อท้องทะเลที่ในพื้นที่แล้ว อาจรวมถึงการผลิตก๊าซเรือนกระจก
“โรงไฟฟ้าก๊าซจะนะจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่ำ 9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ถ้าจะปลูกป่าเพื่อดูดซับก๊าซจากโรงนี้เพียงโรงเดียวต้องปลูกป่า 9 ล้านไร่” ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยอิสระด้านพลังงานไทย เปิดเผยเมื่อ 27 มกราคม 2565
โครงการดังกล่าว คือ “โครงการโรงไฟฟ้าทีพีไอสงขลา” ดำเนินการโดย บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) กำลังการผลิต 2,900 เมกะวัตต์
เอกสารของบริษัทฯ ระบุว่า จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากต่างประเทศ มีอัตราการใช้ประมาณ 3.5 ล้านตัน/ปี และจะแบ่งการผลิตกระแสไฟฟ้าตามระยะการพัฒนาโครงการและความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 95% จะจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 5%จะใช้ภายในโรงไฟฟ้าและหน่วยสนับสนุนของโครงการ
ศุภกิจ นำตัวเลขกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าจะนะคำนวณกับค่าเฉลี่ยปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของก๊าซธรรมชาติเหลวตามเกณฑ์สากลของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) โดยอ้างอิงรายงาน AR5 ซึ่งเป็นรายงานโลกร้อนฉบับสมบูรณ์ล่าสุด
เกณฑ์ดังกล่าวระบุว่าก๊าซธรรมชาติเหลวจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 490 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์/หน่วยไฟฟ้าตลอดวัฏจักรการผลิต เมื่อประเมินการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตลอดทั้งปี พบว่าโรงไฟฟ้าจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ราว 9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี
“ทั้งหมดนี้เป็นการประเมินขั้นต่ำ” ศุภกิจ อธิบาย “เพราะว่ายังไม่นับกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก๊าซธรรมชาติเหลวไม่ใช่เชื้อเพลิงสะอาดอย่างที่หลายคนคิด แต่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 60% ของถ่านหิน”
เขาชี้ว่า ก๊าซธรรมชาติ “เหลว” นั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าก๊าซธรรมชาติในรูปแบบ “ก๊าซ” แบบเก่าที่ใช้กัน เนื่องจากมักนำเข้าจากประเทศกาต้าร์และมาเลเซีย จึงต้องผ่านกระบวนการทำให้เป็นของเหลวและรักษาความเย็นให้อุณหภูมิติดลบ -162 องศา การขนส่งทางเรือจะต้องเป็นเรือพิเศษและมีท่าเรือรับและแปรสภาพของเหลวกลับเป็นก๊าซโดยเฉพาะ เป็นเหตุให้ก๊าซธรรมชาติเหลวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากตลอดกระบวนการผลิต
“2,900 เมกะวัตต์ถือว่าใหญ่มาก โรงไฟฟ้าจะนะจะกลายเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าก๊าซที่ใหญ่สุดในอาเซียน จากที่เราเห็นกัน โรงไฟฟ้าก๊าซขนาด 800-1,600 ก็ถือว่าใหญ่มากแล้ว”
ทั้งนี้ เอกสารของบริษัทฯ เผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อธันวาคม 2564 เพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นไม่ได้ระบุถึงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่คาดว่าจะปล่อยจากโครงการ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศไทยฉบับล่าสุดไม่ได้ระบุถึงโครงการนี้
ต้องปลูกป่ามากกว่า 9 ล้านไร่ชดเชยคาร์บอน
IPCC ระบุว่า การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ล้านตันต้องใช้ป่าถาวรเขตร้อนขนาดประมาณ 1 ล้านไร่ นั้นเท่ากับว่าจะต้องใช้ป่า 9 ล้านไร่ เพื่อดูดซับผลพลอยได้จากโรงไฟฟ้าก๊าซจะนะ
ปลายปีที่ผ่านมา เพื่อรับการประชุมโลกร้อนครั้งสำคัญที่นายกประกาศยกระดับเป้าหมายลดโลกร้อนของไทย กฟผ.ประกาศจะปลูกป่าปีละ 1 แสนไร่ระหว่างปี 2565-2574 รวมจำนวนหนึ่งล้านไร่ โดยร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
“น้ันชดเชยได้แค่ 1 ใน 9 ของโรงไฟฟ้าจะนะเอง” ศุภกิจตั้งคำถาม “ยังไม่นับว่า โครงการจะลงทุนปลูกป่าจริงไหมและจะเอาพื้นที่จากไหน”
การปลูกป่าเพื่อชดเชยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยเป็นวิธีลดโลกร้อนใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมและจริงจังมากขึ้น หลังการประชุมโลกร้อนนานาชาติที่เมืองกลาสโกลว์ ผู้นำนานาประเทศเซ็นตกลงกลไกคาร์บอนเครดิตให้ประเทศที่มีศักยภาพปลูกป่าสามารถขายเครดิตให้ประเทศผู้ก่อมลพิษได้
นายกประกาศเป้าหมายว่าไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเป็นสองเท่า ซึ่งนั้นรวมถึงทั้งการลดการปล่อยก๊าซตั้งแต่ต้นทางและเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซ เช่น ภาคป่าไม้ ประเทศไทยตั้งเป้าจะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้สัดส่วน 55% ของพื้นที่ประเทศ
คำประกาศนี้ทำให้หลายคนกังวลว่าจะยิ่งซ้ำเติมความขัดแย้งเรื่องพื้นที่อาศัยซึ่งเขตอนุรักษ์ได้ประกาศซ้อนทับ ล่าสุด เครือข่ายชาวบ้านที่เผชิญปัญหาดังกล่าวได้รวมตัวชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาลต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังกล่าว
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว GreenNews ถึงความกังวลนี้ว่า
“วิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนจะต้องปรับให้เข้ากับธรรมชาติได้ ไม่ใช่ปรับให้ธรรมชาติเข้ากับวิถีชีวิตเรา เช่น เมื่อก่อนมีการเผาก็เผาเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว ถ้าหากทำได้เช่นนั้น ผมเชื่อว่าผลกระทบกับพี่น้องประชาชนและการที่ป่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์นั้นก็คงจะไม่เกิดขึ้น”

ทางเลือกพลังงานจะนะ : พลังงานแสงอาทิตย์และลม
ศุภกิจเสนอว่า จะนะไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างเดียว ทว่าอาจใช้พลังงานหมุนเวียนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซลาร์เซลล์จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม
“แม้ว่าภาคใต้จะขึ้นชื่อว่าฝนแปดแดดสี่ แต่ผลผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไม่ได้ผลิตได้ต่ำกว่าภาคอื่น” นักวิชาการพลังงานกล่าว “ยิ่งวันนี้เทคโนโลยีรุ่นใหม่มีประสิทธิภาพดีขึ้น แดดออกตอนเช้าหรือพลบค่ำก็ได้ไฟฟ้าเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องการแดดจ้าตอนกลางวันอย่างเดียว”
รายงานของ International Energy Agency (IEA) ที่ศึกษาโครงสร้างพลังงานไทย ระบุว่าประเทศไทยมี “ศักยภาพยอดเยี่ยมในการลดคาร์บอนไดออกไซด์” เพราะมีศักยภาพเหมาะกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กับพลังงานลม
“ปลายทางเราอาจจะได้พลังงานเท่ากัน แต่ว่าวิธีการไปถึงจุดนั้นมีหลายหนทาง สมมุติว่าเราต้องการพลังงานไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ แทนที่เราจะผลิตจากโรงไฟฟ้าในนิคมแห่งเดียว เราก็กระจายให้เป็นโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน 800,000 หลังได้” ศุภกิจว่า
ศุภกิจยังย้ำว่า หลายคนกลัวว่าต้นทุนแบตเตอรี่สำหรับกักเก็บไฟฟ้านั้นสูง ทว่าราคาแบคเตอรี่กำลังถูกลงเรื่อยๆ เพราะใช้แพร่หลายทั้งในโซลาร์เซลล์และรถยนตร์ไฟฟ้า นับเป็นเทคโนโลยีที่คุ้มมากกว่าการลงทุนกับเทคโยโลยีที่มาแก้ปัญหาโลกร้อนภายหลังอย่างการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการกักเก็บ (CCUS: Carbon capture, utilisation and storage) ซึ่งไม่มีทางเป็นจริงได้ในการลงทุน
เขาเสนอว่าทางออกรูปธรรมวันนี้สำหรับความขัดแย้งจะนะ คือ การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ให้รอบคอบเพื่อเปิดทางเลือกพัฒนาด้านพลังงานอื่นๆ รวมถึงประเมินผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกับการทำ SEA ในระดับสากล
“ข้อเสนอเรื่องสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซจะนะจะผลักดันไปสู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างรัฐบาลกับบริษัทถึง 25 ปี แต่ว่าการคิดในระดับยุทธศาสตร์นั้นควรมีความยืดหยุ่นกับบริบทและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป”