เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ชี้ SEA จะนะเป็น “เรื่องใหญ่” รับปากจะเร่งดำเนินการอย่างรอบคอบ ยอมรับว่า “ยังไม่มีกรอบเวลาและงบ” ด้านนักวิชาการเสนอใช้ SEA จะนะนำร่อง สู่ SEA ทั่วประเทศ

สภาพัฒน์ยอมรับ “ยังไม่มีกรอบเวลา-งบ”
27 มกราคม 2565 ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ชี้แจงว่าการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) กรณีพัฒนาโครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตนั้นกำลังอยู่ระหว่างขั้นดำเนินการ พร้อมยืนยันว่าไม่อยากให้ชาวบ้านจะนะรู้สึกกังวล เนื่องจากจะดูแลอย่างเต็มที่และส่งคนลงพื้นที่เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านโครงการ
โครงการมีแผนพัฒนาอ.จะนะ จ.สงขลา ราว 16,000 ไร่ เป็น “เมืองต้นแบบแห่งที่สี่” ในโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นแหล่งอุตสาหกรรมและศูนย์รวมกระจายสินค้า ทว่าได้รับเสียงคัดค้านหนักช่วงสามปีนี้
ล่าสุด เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเดินทางไปยื่นหนังสือสอบถามความคืบหน้ากับสภาพัฒน์ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่ได้รับมอบหมายให้ทำ SEA หลังจากธันวาคมปีที่ผ่านมา ชาวจะนะปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลร่วมสัปดาห์ เพื่อถามความคืบหน้ากระบวนการทำ SEA ตามที่รัฐบาลได้สัญญาไว้ตั้งแต่ปี 2563
“การทำ SEA เป็นเรื่องใหญ่ ต้องขอเวลาเตรียมการให้รอบคอบรัดกุม”
ดนุชา เผยว่ามีรายละเอียดหลายอย่างต้องคำนึงในการทำ SEA เช่น ขอบเขตพื้นที่สำหรับศึกษาครอบคลุมบริเวณไหนบ้าง ใครจะเป็นผู้ดำเนินการศึกษา จะใช้กลไกและอำนาจหน้าที่ไหนที่เหมาะสม และงบประมาณ จากนั้นจึงจะร่างข้อตกลง (TOR) เพื่อดำเนินการศึกษาได้
“เรื่องกรอบเวลา ยังบอกไม่ได้ เพราะไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้กับสภาพัฒน์ และขึ้นอยู่ที่ชาวจะนะ ทั้งกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นและกลุ่มสนับสนุนนิคม ต้องคุยกันให้หมดทุกกลุ่มถึงขอบเขตการศึกษา ถึงจะระบุขอบเขตการใช้เงินและพื้นที่ได้” ดนุชากล่าว
สำหรับงบประมาณสำหรับศึกษา เลขาสภาพัฒน์ชี้แจงว่า ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะนายกมีนโยบายชัดเจนว่าเรื่องนี้อยากให้ทำการศึกษาให้ชัดเจนว่าชาวจะนะแต่ละกลุ่มต้องการอะไรและหาจุดร่วมให้ได้
รุ่งเรือง ระหมันยะ ตัวแทนจะนะรักษ์ถิ่นแจ้งว่า เครือข่ายยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่กับการทำ SEA โดยไม่ได้เร่งรีบ แต่อยากทราบขั้นตอนที่ชัดเจน นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังได้ส่งข้อเสนอให้การสรรหาคณะกรรมการประเมินการทำ SEA มีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้านให้สภาพัฒน์พิจารณาประกอบด้วยกัน
นักวิชาการชี้ “ไม่ใช่เรื่องใหม่ ถึงเวลาบังคับใช้”
ดร. อาภา หวังเกียรติ คณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายในงานเสวนาวิชาการ “เดินหน้า SEA จะนะ ผลักดัน SEA ประเทศไทย” ที่จัดในช่วงเช้าวันเดียวกันว่า
“การศึกษา SEA นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย เนื่องจากมีการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2546 โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และแผนพัฒนาชาติหลายฉบับได้ระบุถึงเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม การทำ SEA ในไทยยังมีลักษณะเป็นเพียงคำแนะนำที่ไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย” ดร.อาภา กล่าว
ด้าน ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู ผอ.ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) วิเคราะห์ว่าขณะที่มาตราฐานสากลมีการทำ SEA ประกอบการตัดสินใจพัฒนาอย่างแพร่หลาย แต่ไทยยังไม่มี
“หลายครั้ง รัฐบาลพยายามผลักดันอภิมหาโครงการ ซึ่งสร้างผลกระทบวงกว้าง แต่ไม่ได้ศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านก่อน จึงทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างรัฐและประชาชน”

ชง SEA จะนะสู่ SEA ทั่วไทย
การทำ SEA อาจไม่ได้หยุดอยู่ที่จะนะกรณีเดียว เลขาธิการสภาพัฒน์อธิบายว่า สภาพัฒน์กำลังทำระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นตอนการทำ SEA ที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนและคณะรัฐมนตรี
“อยากให้โครงการขนาดใหญ่ในอนาคตที่ดูแล้วมีผลกระทบสูงหรือเป็นการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่น่าจะมีการดูเรื่องนี้ ต้องแยกให้ออกว่า SEA กับ EIA นั้นต่างกัน เพราะ SEA ดูภาพรวมพื้นที่ในการพัฒนาไม่ใช่แค่รายโครงการ” ดนุชา กล่าว
ขณะที่ ศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ อธิบายว่า การทำ SEA ไม่จำเป็นต้องมีเล่มเดียวที่ทีมผู้เชี่ยวชาญจากรัฐทำ หากชุมชนและภาคีเครือข่ายพร้อมสามารถเป็นผู้เริ่มต้นออกแบบและลงมือทำเอง แล้วชวนภาครัฐกับภาคส่วนอื่นๆ เข้าร่วม
“คำว่ายุทธศาสตร์อาจไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะสนใจ เราจะฉุกคิดว่ามันใกล้ตัวเมื่อได้รับผลกระทบ เช่น หมูแพง น้ำมันแพง ก็เป็นผลจากยุทธศาสตร์บริหารจัดการหมูกับน้ำมันของประเทศ”
“ที่ผ่านมาโครงการพัฒนาไม่ได้เปิดให้เห็นทางเลือกการพัฒนาอื่น แต่คำถามเรื่อง SEA เป็นคำถามเดียวกับที่ชุมชนถามตลอดว่า ‘ทำโครงการทำไม’ หรือ ‘พัฒนาโดยไม่ทำนิคมอุตสาหกรรมได้ไหม’” ศุภกิจทิ้งท้าย