ถอนหรือไม่ถอน? คลี่ความซับซ้อนกรณีปตท.และสิทธิมนุษยชนเมียนมา

(ภาพ: EGAT)

“หลังจากการรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในเมียนมา โททาลเอเนอจี้ประนามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่มาโดยตลอด ตั้งแต่นั้น บริษัทตัดสินใจด้วยหลักการที่ชัดเจน เราจะระงับโครงการต่างๆ ของพวกเราที่ดำเนินการอยู่ทั้งหมด”

สุดสัปดาห์ก่อน TotalEnergies บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศสประกาศถอนตัวจากโครงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะเมียนมา ตามติดมาด้วย Chevron อีกหนึ่งขาใหญ่ในวงการจากสหรัฐอเมริกา หากทุกอย่างดำเนินไปตามที่ประกาศ หกเดือนข้างหน้า โครงการที่มีผู้ลงทุนสี่รายจะเหลือผู้ลงทุนเพียงสองราย ได้แก่ ปตท.สผ.และ MOGE รัฐวิสาหกิจเมียนมาที่เป็นประเด็นว่ารัฐบาลทหารปกครองอยู่

นั้นยังไม่นับว่า ปตท.และประเทศไทยเป็นผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิตไฟฟ้าหลักจากเมียนมา

จะถอนหรือไม่ถอน? ระหว่างรอการ “พิจารณา” จากปตท.ว่าจะเอาอย่างไรต่อหลังจากนี้ ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร ผู้ประสานงานคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition) วิเคราะห์ความเป็นไปได้และคลี่ความซับซ้อนของสถานการณ์

บริษัทฝรั่งเศสกับอเมริกันถอนตัวแล้ว คุณคิดอย่างไรบ้าง

เป็นสัญญาณดีที่เราเห็นผลความเชื่อมโยงของภาคธุรกิจกับสถานการณ์ทางการเมืองพม่า แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องรอดูกันต่อ เพราะเป็นแค่คำประกาศ ต้องรอดูการกระทำต่อจากนี้

สิ่งที่น่าจับตาคือพอบริษัทเหล่านี้ออกไปแล้ว จะเปิดช่องให้บริษัทประเทศอื่นที่สนใจเข้ามาเสียบช่องแทน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นจีน เพราะจีนมีแหล่งน้ำมันแหล่งหนึ่งแล้วในรัฐยะไข่ และเราได้รับอัพเดตว่ามิน อ่อง หลาย ก็ไฟเขียวให้จีนเดินหน้าสร้างเขื่อนหลายแห่งในเมียนมา

ที่สำคัญ เราไม่เห็นทิศทางว่าจีนจะคว่ำบาตรไม่คบค้ากับเมียนมาอย่างชัดเจน ล่าสุด ที่แม่สอดซึ่งเป็นชายแดนไทย-เมียนมาที่เกิดการยิงกันต่อเนื่องระหว่างกองทัพกับกองกำลังกะเหรี่ยง ใกล้ๆ กันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชเวโก๊กโก่ของจีน แม่สอดเขายิงกัน ชเวโก๊กโก่ยังสร้างต่อเนื่อง

แล้วนักลงทุนต่างชาติที่เหลืออีกรายอย่างปตท.จะถอนตัวบ้างไหม

ปตท.จะไม่ถอนตัวหรอก เพราะเขาคงไม่ทุบหม้อข้าวตัวเอง แหล่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติยาดานาเหลืออายุใช้งาน 5-6 ปีจากอายุโครงการสามสิบปี 

เราต้องมองว่าเหตุผลที่ TotalEnergies กับ Chevron ถอนตัวเพราะถูกกดดันหลายทาง ไม่ใช่แค่จากภาคประชาสังคมอย่างเดียว แต่เป็นเพราะรัฐบาลประเทศเขาด้วยที่คว่ำบาตรการค้าขายกับเมียนมาและมีการตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง แต่รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงออกว่าอยากเลิกคบค้ากับเมียนมา

ต่อให้ประเทศไทยมีสิ่งที่เรียกว่า “NAP” ย่อมาจาก “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ซึ่งไทยภูมิใจนำเสนอว่าเป็นประเทศแรกที่นำวิสัยทัศน์เรื่องการดำเนินธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมาออกเป็นแผนแห่งแรกในอาเซียน

ปีนี้เป็นปีที่สามแล้วที่ประกาศใช้ แต่เราไม่เห็นผลลัพธ์อะไร แผนนี้ขึ้นชื่อว่าแผน ‘ปฏิบัติการ’ แต่มันนามธรรมมากเลยนะ 

หากเรามองเรื่องความจำเป็นใช้พลังงาน ไทยอาจขาดก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาไม่ได้จริงๆ 

แถลงของปตท.ระบุว่าจะต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงาน แต่เราคิดว่านั้นเป็นข้ออ้างสำหรับทำธุรกิจมากกว่า 

จริงอยู่ว่าสัดส่วนพลังงานไทยอิงอยู่กับก๊าซธรรมชาติมากถึงกึ่งหนึ่ง และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบริเวณภูมิภาคตะนาวศรีของเมียนมา (ยาดานา ซอว์ติก้า เยตากุน) จะเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติสำคัญของไทยถึง 7-8% แต่ในไทยยังมีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติอื่นๆ เช่น อ่าวบงกชในอ่าวไทย 

ที่สำคัญ ไทยยังมีพลังงานไฟฟ้าสำรองสูงมากเกินกว่า 15% จากความต้องการไฟฟ้าใช้สูงสุดที่ท่ัวโลกและกฎหมายกำหนด โควิดทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยลง ต่อให้ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่โอไมครอนระลอกใหม่ก็ทำให้ความต้องการใช้น้อยลง 

หลายคนมองว่ามี “ความมั่นคงทางพลังงาน” ก็ดีแล้ว แต่ลืมคิดว่าความมั่นคงทางพลังงานมันต้องจ่ายมาด้วยอะไร ทั้งค่าไฟที่ผู้บริโภคต้องจ่ายสูงขึ้นและความเสี่ยงละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้คนในประเทศเพื่อนบ้าน กรณีแบบนี้ไม่ได้มีแค่ที่เมียนมา แต่โครงการเขื่อนพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำโขงต่างๆ ฝั่งลาวที่ขายไฟฟ้าให้ไทย ก็เกิดผลกระทบคนในพื้นที่และยังส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังชุมชนริมโขงในไทยด้วย

เมื่อรัฐบาลไทยไม่กดดัน แรงผลักดันจากประชาชนทำอะไรได้บ้าง

พฤษภาคมปีที่แล้ว เราทำสิ่งเดียวกันกับที่ภาคประชาชนต่างประเทศทำกับกลุ่มทุนน้ำมันในประเทศตนเอง ETOs Watch Coalition ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงปตท.ขอให้ระงับและงดส่งจ่ายเงินค่าก๊าซธรรมชาติให้กับเมียนมา เพราะเงินก้อนนี้ต้องผ่านรัฐวิสาหกิจพลังงานที่รัฐบาลทหารเมียนมากำกับอยู่ เรียกว่าอยากให้ “ตัดท่อน้ำเลี้ยง” ทางการพม่านี้

แต่จนถึงวันนี้ยังมีการตอบรับอะไร เขาไม่มีภาระผูกพันทางกฎหมายที่ต้องตอบจดหมายจากประชาชนเหมือนหน่วยงานรัฐ

การถอนการลงทุนเลยอาจเป็นไปได้ยาก แต่เมื่อเห็นตัวอย่างจากประเทศอื่นวันนี้แล้ว เราตั้งคำถามว่าปตท.จะดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยรูปแบบอื่นอย่างไรได้บ้าง จะคุ้มครองพนักงานในโครงการตนเองอย่างไร เพราะพนักงานเมียนมาหลายคนเองก็ลุกขึ้นแสดงออกชัดว่าต่อต้านรัฐบาลชุดนี้ หรือปตท.จะทดลองหาช่องทางจ่ายเงินผ่านบัญชีที่ได้รับการปกป้อง (escrow account) เพื่อไม่ให้เงินค่าก๊าซเข้ากระเป๋าคณะรัฐประหารโดยตรงได้ไหม 

การถอนตัวของ TotalEnergies กับ Chevron ไม่ได้มาโดยเปล่า เพราะตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาเครือข่ายประชาสังคมทั่วโลกล่ารายชื่อผู้สนับสนุนเป็นล้านรายชื่อและกดดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆ กับธุรกิจคว่ำบาตรการค้ากับเมียนมา ดังนั้นจะเรียกว่าชัยชนะเล็กๆ ของภาคประชาสังคมที่กดดันเรื่องนี้มาปีกว่าก็ได้ 

ล้านรายชื่อ มันต้องทำงานหนักมากและ “จุดติด” ขนาดนั้นเลยนะ

ที่ผ่านมา เราเห็นพลังมวลชนไทยก็ “จุดติด” คว่ำบาตรแบรนด์สินค้ากันอย่างจริงจัง อย่างดราม่าน้ำจิ้มปิ้งย่าง?

น้ำจิ้มปิ้งย่างไม่เหมือนน้ำมัน (หัวเราะ) วงการพลังงานไทยไม่เหมือนวงการอาหารที่เรามีทางเลือกบริโภค ถ้าเราไม่อยากกินสินค้าจากแบรนด์นี้เพราะดำเนินธุรกิจแบบเอาเปรียบ เราก็เลือกกินอีกแบรนด์หนึ่ง 

แต่กับพลังงานไฟฟ้าเราใช้จากผู้ซื้อและผู้กระจายสู่สาธารณะรายหลัก คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งรับซื้อจากบริษัทใหญ่อีกที เราคนไทยคนหนึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าก็ไม่อยากจะคุยเรื่องคว่ำบาตรบริษัทผลิตไฟฟ้าหรอก

แต่ถ้าเรามีทางเลือกบริโภคพลังงานเยอะๆ มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายย่อย เราจะกล้าพูดเรื่องนี้กันมากขึ้น นึกออกไหม แต่ปัจจุบันข้อจำกัดทางกฎหมายยังเยอะ

กลายเป็นว่าการผลิตไฟฟ้าของไทยนั้นรวมศูนย์อยู่เพราะรัฐบาลมองว่าพลังงานไฟฟ้าเป็นเรื่อง “ความมั่นคง” อย่างหนึ่งที่ต้องควบคุมเอง